Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สันที ลูกๆ และหลาน : จากมอญไร้รัฐแห่งทะวาย มาสู่คนไร้รัฐแห่งสมุทรปราการ


โดยการเยียวยาดังกล่าว พวกเขาก็จะไม่ไร้รัฐผู้ให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป พวกเขาไม่ใช่ "คนไร้รัฐแห่งสมุทรปราการ" อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังไร้สัญชาติ ก็ยังคงเป็น "คนไร้สัญชาติแห่งสมุทรปราการ" แต่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทอยู่ชั่วคราว .....
          สันทีเป็นหญิงร่างเล็ก ประกอบอาชีพเก็บของเก่าไปขาย สันทีก็เหมือนคนหลายคนที่ติดต่อเข้ามา แล้วบอกเราสั้นๆ ว่า "อยากได้บัตรประชาชน"
          วันนี้ เตือนหรือบงกช นภาอัมพร ลูกศิษย์คนหนึ่งที่วันนี้ทำหน้าที่ครูสำหรับเหล่าคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เชิญสันทีและครอบครัวมาเรียนรู้ "แนวคิดและวิธีการ" ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐของแกและครอบครัว สันทีมีบุตร ๕ คน ทุกคนไม่มีบัตรประจำตัวคนสัญชาติไทย ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศใดเลยบนโลก สามีของสันทีเสียชีวิตไปนานแล้ว
           เกิดอะไรขึ้นกับสันทีและลูกๆ ตลอดจนหลานชายน้อย "พิษณุ"  พวกเขาจึงตกเป็นคนไร้รัฐ
           สันทีบอกว่า เธอเป็นคนมอญเกิดที่รัฐทวายในประเทศพม่า เดินทางเข้ามาที่สังขละบุรีตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๕๑๒
           ก็เหมือนคนมอญจำนวนมากที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า ไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรของประเทศพม่า เมื่อมาถึงประเทศไทย คนมอญกลุ่มที่อาศัยตามแนวชายแดนก็ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่ยังถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่เมื่อมีสิทธิอาศัยอยู่ พวกเขาก็ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและ ทร.๑๓ ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร  เราเรียก "คนมอญที่เข้ามาก่อน พ.ศ.๒๕๑๙" ว่า "ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า" เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยในขณะนั้นก็เข้าใจว่า พวกเขามีสัญชาติพม่า หรือบางที เราเรียกว่า "พวกบัตรสีชมพู" เพราะบัตรประจำตัวที่กรมการปกครองออกให้พวกเขาถือเอาไว้นั้นมีสีชมพู
            ใน พ.ศ.๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรียอมรับนโยบายที่จะให้สิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยถาวรที่มอญที่เกิดนอกไทย และให้สัญชาติไทยแก่บุตรที่เกิดในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลในยุคต่อมาเข้าใจว่า โดยความเป็นจริง พวกเขามิใช่คนสัญชาติพม่า แต่เป็นคนไร้สัญชาติ
          สันทีและครอบครัวก็น่าจะเป็นเหมือนคนมอญไร้สัญชาติดังกล่าวมิใช่หรือ ?
          ก็น่าจะใช่ ถ้าสันทีมิได้พาลูกๆ เดินทางออกจากไทรโยคมาอาศัยอยู่ที่สมุทรปราการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ พวกเขาพอมีหลักฐานอยู่บ้างว่า พวกเขาเคยได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ "ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า"  แต่ในวันนี้ สันทีและบุตรไม่มีบัตรสีชมพู ไม่มีชื่อใน ทร.๑๓ พวกเขาอยากร้องขอสิทธิเหมือนดังคนมอญไร้สัญชาติแห่งภาคตะวันตก ซึ่งเรายังไม่ทราบว่า กรมการปกครองจะเชื่อพยานหลักฐานของเขาหรือไม่ ?
           ในระหว่างเวลาของการพิสูจน์สถานะบุคคลของพวกเขา รัฐไทยในวันนี้ก็อาจยอมรับให้พวกเขามีสถานะเป็น "บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร" ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘(๑) วรรคสอง และมาตรา ๑๖ แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔  และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙ ก็ได้ยืนยันที่จะจัดการปัญหาการรับรองให้สถานะทางทะเบียนราษฎรไทยแก่บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร
             ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ครูสอนวิธีการจัดการปัญหาความไร้รัฐให้แก่คนไร้รัฐ ได้พยายามอธิบายให้สันทีและลูกๆ ถึงความเป็นไปได้ทางกฎหมายในเบื้องต้นที่อาจบรรเทาปัญหาความไร้รัฐของพวกเขา
             โดยผลของกฎหมายและนโยบายที่กล่าวอ้างมา สันทีและครอบครัวก็น่าจะได้รับการลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านที่มีชื่อว่า "ทร.๓๘ ก" และมีเลข ๑๓ หลักตลอดจนบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย .......ในระหว่างการพิสูจน์สถานะบุคคลที่พวกเขากล่าวอ้างข้างต้น
             จะเห็นว่า โดยการเยียวยาดังกล่าว พวกเขาก็จะไม่ไร้รัฐผู้ให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป พวกเขาไม่ใช่ "คนไร้รัฐแห่งสมุทรปราการ" อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังไร้สัญชาติ ก็ยังคงเป็น "คนไร้สัญชาติแห่งสมุทรปราการ" แต่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทอยู่ชั่วคราว ..... ยังคงไม่มีสัญชาติ แต่มีสิทธิในความเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ.๒๕๔๐
หมายเลขบันทึก: 30523เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2006 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วันนี้ อ.แหววรื้อดูกรณีศึกษาเก่าๆ

ครอบครัวของป้าสันที เป็นอีกกรณีศึกษาที่ทำให้เราสามารถสร้างกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อคนไร้รัฐที่เข้ามานานแล้วในสถานการณ์เดียวกับครอบครัวนี้

แต่ความคืบหน้าของกฎหมายและนโยบายกลับยังไม่มีผลเท่าใดนักต่อครอบครัวของป้าสันที

อยากถามบงกชและชลฤทัยว่า เราจะทำอย่างไรกันดี เพื่อที่ซ่อมครอบครัวของป้าสันทีให้กลายเป็น "คนมีรัฐ"  กับเขาบ้าง

ขอบงกชและชลฤทัยช่วยตอบที

  • มาให้กำลังใจอาจารย์
  • ขอให้ต่อสู้ต่อไป
  • ขอให้มีความสุขตลอดปีใหม่
  • มีความสุขกับการทำงานและครอบครัวครับผม

ขอบคุณ อ.ขจิต และคุณผู้ไม่แสดงตน

ต้องการกำลังใจค่ะ

แม้ในวันนี้ ก็ยังแก้ไขปัญหาของครอบครัวนี้ไม่ได้เท่าไหร่เลย

สำหรับวิษณุ บรรลุถึงเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก แต่คนอื่นยังไม่ถึงไหนเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท