Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานางหล้า ม่านจี่ ตัวอย่างของมนุษย์ในสังคมซึ่งมีสิทธิในสัญชาติไทยมูลนิติธรรมประเพณีของรัฐไทย


สำหรับความเป็นคนไทยนั้น เชื่อกันว่า น่าจะมีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งถือว่า เป็นสมัยดั้งเดิมของประเทศไทย ไม่ใช่เพิ่งจะมาเกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งถือว่า เป็นยุคที่ ๔ ของประเทศไทย

แนวคิดเรื่องสัญชาติภายใต้มูลนิติธรรมประเพณีผ่านกรณีศึกษานางหล้า ม่านจี่ แห่ง อำเภอแม่อาย
โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
บันทึกการค้นคว้าเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวแม่อาย ๑๒๔๓ คน ซึ่งถูกถอนชื่อออกจากทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ไปไว้ในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) และบันทึกเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย  
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ปรับปรุงเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐

---------------------------------------------------------
(๑.) แนวคิดเรื่องสัญชาติภายใต้มูลนิติธรรมประเพณี 
-------------------------------------------------------

แนวคิดเรื่องสัญชาติ (nationality) เป็นแนวคิดที่นำเข้ามาในประเทศไทย สังคมไทยในยุคก่อนการคบค้าสมาคมกับโลกตะวันตกไม่รู้จักแนวคิดเรื่องสัญชาติไทย  เราพบคำว่า "สัญชาติไทย" เป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งประกาศใช้โดยในหลวงรัชกาลที่ ๖ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ในหลวงพระราชทานให้แก่สังคมไทย มิใช่กฎหมายที่มาจากการทำงานของรัฐสภา ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงใน พ.ศ.๒๔๗๕


สำหรับความเป็นคนไทยนั้น เชื่อกันว่า น่าจะมีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งถือว่า เป็นสมัยดั้งเดิมของประเทศไทย ไม่ใช่เพิ่งจะมาเกิดขึ้นในยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งถือว่า เป็นยุคที่ ๔ ของประเทศไทย การจำแนกประชากรในยุคก่อน พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นไปโดยหลักสืบสายโลหิต กล่าวคือ คนไทยย่อมหมายถึงคนที่มีบิดามารดาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทย  ความเป็นไทยที่รู้จักในสังคมไทยดั้งเดิมเป็นเรื่องทางสังคม มิใช่เรื่องทางการเมือง


โดยพิจารณากฎหมายจารีตประเพณีไทย ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ เรียกว่า “มูลนิติธรรมประเพณี” ในเรื่องความเป็นคนไทย เราพบว่า ความเป็นคนสัญชาติไทยเกิดขึ้นใน ๓ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา (๒) คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา และ (๓) คนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ


ขอให้สังเกตว่า สัญชาติไทยสองลักษณะแรกเป็นสัญชาติไทยโดยการเกิดและเป็นเรื่องของกฎหมายธรรมชาติ


ส่วนสัญชาติไทยในลักษณะที่สามนั้นเกิดขึ้นโดยกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ในยุคก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ จะประกาศใช้ พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐ การแปลงสัญชาติเป็นไปโดยพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน แต่การแปลงสัญชาติในยุคที่ พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐ มีผลแล้วนั้น ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งรักษาการโดยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งยอมรับให้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติแก่คนต่างด้าวใน ๖ ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ (๑) คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้วและมีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว (๒) คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้วและทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย (๓) คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้วที่เคยมีสัญชาติไทย (๔) คนต่างด้าวที่บรรลุนิติภาวะแล้วซึ่งมีบุพการีเป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ (๕) คนต่างด้าวซึ่งเป็นภริยาของชายต่างด้าวที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย และ (๖) คนต่างด้าวที่เป็ยผู้เยาว์และมีบิดาซึ่งได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย


ขอให้สังเกตว่า สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติใน ๔ กรณีแรกเป็นเรื่องที่ต้องร้องขอให้รัฐบาลอนุญาต ในขณะที่สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติใน ๒ กรณีหลังเกิดขึ้นโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย
-------------------------------
(๒.) กรณีศึกษานางหล้า ม่านจี่ แห่ง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ : ข้อเท็จจริง 
-------------------------------

นางหล้า เกิดที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๕๓ จากนางหนู และนายกอน  นางหล้ามีน้องสาวร่วมบิดามารดา ๑ คน ชื่อ นางตา อินหลู่


ต่อมา นางหล้าได้อยู่กินกันฉันสามีภริยากับนายผาด ม่านจี่ และมีบุตรด้วยกัน ๖ คน กล่าวคือ (๑) นางนาง ม่านจี่  (๒) นางหอมจันทร์ พวงวิไลย์ (๓) นายจาย ม่านจี่ (๔) นางมน (๕) นางสาวจิ่ง ม่านจี่ และ (๖) นายคำ ม่านจี่


โดยการสำรวจชุมชนแม่อาย ฟังได้ว่า นางหนูและนายกอนเป็นคนเชื้อชาติไทยดั้งเดิม และคนในชุมชนทั้งหมดรับรองว่า นางหล้าเป็นสมาชิกของชุมชนนี้มาตั้งแต่เกิด
--------------------------------------
(๓.) กรณีศึกษานางหล้า ม่านจี่ แห่ง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ : ข้อพิจารณา
--------------------------------------

(ก) โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการกำหนดความเป็นไทยของนางหล้า ? เพราะเหตุใด ?
(ข) โดยกฎหมายดังกล่าว นางหล้ามีสัญชาติไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?
(ค) โดยกฎหมายดังกล่าว การถอนสัญชาติไทยของนางหล้าทำได้หรือไม่ ? และโดยศาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ?
---------------------------------------------
(๔.) กรณีศึกษานางหล้า ม่านจี่ แห่ง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ : โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการกำหนดความเป็นคนสัญชาติไทยของนางหล้า ? เพราะเหตุใด ?
----------------------------------------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สัญชาติที่บุคคลธรรมดาได้รับจากรัฐใดรัฐหนึ่งจะมีผลในทางระหว่างประเทศ ก็ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริง (Genuine link) กับรัฐผู้ให้สัญชาตินั้น ทั้งนี้ ดังจะเห็นจากการยืนยันของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีชื่อ Nottebohm นั่นเอง


แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับเอกชนนั้นก็มีอำนาจอธิปไตยที่จะให้สัญชาติของตนแก่เอกชนนั้นหรือไม่ ก็ได้ ทั้งนี้ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติที่มีผลในขณะที่บุคคลนั้นมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า เรื่องของสัญชาติเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น แม้มีลักษณะระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ดังกล่าวก็จะยังตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม กรณีอาจถูกกำหนดเป็นอย่างอื่นโดยกฎหมายของรัฐนั้นเอง


เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า นางหล้าเกิดจากบิดาและมารดาซึ่งมีเชื้อสายไทย จึงสรุปได้ว่า นางหล้าจึงมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิต เพราะประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือบิดามารดาของนางหล้า อำนาจดังกล่าวจึงอาจตกทอดมาสู่บุตรได้โดยหลักสืบสายโลหิต
ในขณะเดียวกัน เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า นางหล้าเกิดในประเทศไทย จึงสรุปได้ว่า นางหล้าจึงมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน เพราะประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนอันเป็นที่เกิดของนางหล้า อำนาจดังกล่าวจึงอาจตกมาสู่บุคคลได้โดยหลักดินแดน


แต่บุคคลนั้นจะได้สัญชาติไทยอันเนื่องมาจากจุดเกาะเกี่ยวทั้งสองหรือไม่ ย่อมจะต้องเป็นไปภายใต้มูลนิติธรรมประเพณี ซึ่งเป็นกฎหมายสัญชาติที่มีผลในขณะที่นางหล้าเกิด กล่าวคือ ใน ปี พ.ศ.๒๔๕๑
---------------------------------------------  
(๕.) กรณีศึกษานางหล้า ม่านจี่ แห่ง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่  : โดยกฎหมายไทยซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นางหล้ามีสัญชาติไทยหรือไม่  ? เพราะเหตุใด ? 
----------------------------------------------

โดยมูลนิติธรรมประเพณี ข้อเท็จจริงที่ทำให้บุคคลได้สัญชาติไทยมีอยู่ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) การมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นไทยในขณะที่เกิด (๒) การมีมารดาเป็นไทยในขณะที่เกิด และ (๓) การที่มีพระบรมราชโองการให้แปลงสัญชาติเป็นไทย


ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า บิดาและมารดาของนางหล้าเป็นผู้มีสัญชาติไทย นางหล้าจึงมีสถานะเป็นคนไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากทั้งบิดาและมารดา แต่จะสังเกตว่า การเกิดในประเทศไทยมิใช่ข้อเท็จจริงที่กฎหมายในยุคนี้รับรองว่า มีผลทำให้บุคคลได้สัญชาติไทยแต่อย่างใด
 --------------------------------------------- 
(๖.) กรณีศึกษานางหล้า ม่านจี่ แห่ง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่  : การถอนสัญชาติไทยของนางหล้าทำได้หรือไม่ ? และโดยศาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ?
 ----------------------------------------------

โดยหลักกฎหมายสัญชาติไทยที่ปรากฏในกฎหมายสัญชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ฝ่ายบริหารของรัฐหรือฝ่ายตุลาการของรัฐจะถอนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตของบุคคลธรรมดามิได้เลย  ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า นางหล้ามีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต กฎหมายจึงมิได้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะมีคำสั่งถอนสัญชาติไทยของนางหล้าได้เลย

--------------

เชิงอรรถ

-------------

[1] เป็นงานเขียนที่ปรับปรุงจากข้อมูลที่ใช้เขียนบทความตามที่  UNHCR เสนอ ซึ่งองค์กรนี้เสนอให้เขียนถึงประเด็นที่มีความสำคัญ ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) พัฒนาการของสัญชาติในประเทศไทย (๒) ความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะแก้ปํญหาความไร้รัฐของมนุษย์ในสังคมไทย และ (๓) ข้อท้าทายที่มีต่อรัฐบาลไทยในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย   ที่มาของข้อมูลในการเขียนบทความนี้ ก็คือ งานวิจัยที่ผู้เขียนทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ มาจนปัจจุบัน และงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งผู้เขียนเริ่มต้นทำอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน

[2] เป็นกรณีจริงที่ร้องทุกข์มายังศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕


<p></p><p></p>

หมายเลขบันทึก: 30921เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2006 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2017 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วชวนให้นึกถึงบรรยากาศคดีบุคฯ...ดีจังได้ทวนด้วย

ป.ล.วันนี้เรียนแล้วเริ่มเห็นความสำคัญของนิติปรัชญาขึ้นมาทันที หนูว่าการเขียนของอาจารย์ทำให้เข้าใจรากฐานของปัญหาจริง...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท