ตอนที่ ๑ จากแนวคิด “ห้าคูณหก” เป็น “ห้าคูณหกคูณหก”


จากแนวคิด “ห้าคูณหก” ในตอนแรก ผมก็ได้รู้ว่าแนวคิดนี้จริงๆ แล้วมีหกสองตัว ดังนั้นก็ต้องมาเรียกกันใหม่ว่า “ห้าคูณหกคูณหก” โดยห้าหมายถึง คนห้ากลุ่มแบ่งตามสถานะทางทะเบียนราษฎร หกตัวแรกหมายถึง ขั้นตอนหกขั้นตอน (หรือวิธีคิดหกวิธี) ในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล และหกตัวที่สองหมายถึง กระบวนการทำงานของคนหกแถว

บันทึกแนวคิดการทำงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล *

ตอนที่ ๑ จากแนวคิด “ห้าคูณหก” เป็น “ห้าคูณหกคูณหก”

 

 

ถ้าจำไม่ผิด ผมเริ่มได้ยินการทำงานโดยใช้แนวคิด ๕ คูณ ๖ ในการแก้ไขปัญหาสถานะ เมื่อครั้งที่อาจารย์แหววและทีมงานได้ชวนให้ไปร่วมงาน สังคายนากฎหมาย ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๑ [๑] ซึ่งก็ต้องขอยอมรับตรงๆ ว่าในครั้งนั้น ผมยังไม่เข้าใจนักว่าแนวคิดนี้เป็นอย่างไร และไม่สามารถที่จะนึกภาพของการทำงานโดยใช้แนวคิดนี้ได้อย่างชัดเจนนัก ก็พูดได้ว่าไปร่วมงานคราวนั้นก็ไม่ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์มากนัก และก็กลับบ้านมาพร้อมกับความไม่รู้และคำถามให้หัวมากมายพอสมควร

 

ต่อมาได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (อาจารย์แหวว) และทีมงานชักชวนให้ไปร่วมอยู่ในทีมงาน  ๕ คูณ ๖ ของทีมงานคลินิกกฎหมายชาวบ้านแม่อาย ซึ่งแม้ว่าในขณะนั้นจะได้ผันตัวเองจากการทำงานองค์กรเอกชนมาทำงานเป็นชาวสวนแล้ว แต่ก็ได้ตกปากรับคำไปเข้าร่วมอยู่ในทีมด้วย สาเหตุที่เข้าร่วมนั้นก็เพราะผมเองยังมีความสนใจในเรื่องปัญหาสถานะบุคคล ปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติ อีกทั้งเห็นว่าลักษณะการทำงานของทีมนี้มีความยืดหยุ่นพอที่จะสามารถเข้าไปร่วมทำได้ เนื่องจากไม่ต้องเข้าไปนั่งทำงานเต็มเวลา แต่เป็นการทำงานที่แยกย้ายกันทำงานตามความรับผิดชอบของแต่ละคน มีการแลกเปลี่ยนหารือกันทางโทรศัพท์หรือทางอินเตอร์เน็ท มีการประชุมร่วมกันเป็นครั้งคราว และเข้าร่วมในการจัดห้องเรียนสำหรับผู้ที่มีปัญหาสถานะ เรียกได้ว่ามีความลงตัวเพราะผมยังสามารถทำงานเป็นชาวสวน ในขณะที่มีโอกาสในการเรียนรู้ และให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย

เมื่อได้เข้าร่วมในทีมก็ได้ทำความรู้จักกับแนวคิด  ๕ คูณ ๖ มากขึ้น ในอีกระดับหนึ่ง โดยที่พอจะนึกออกว่า ๕ ในแนวคิดนี้หมายถึงการแบ่งสถานการณ์ปัญหาทั้งหมดออกเป็น ๕ กลุ่มใหญ่ๆ โดยใช้กฎหมายทะเบียนราษฎร เป็นเกณฑ์ในการจัดแบ่ง ดังนี้คือ ๑) กลุ่มคนที่ยังไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือคนที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร) กลุ่มคนที่ข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่าเป็นคนสัญชาติไทย แต่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยว่าเป็นคนต่างด้าว ๓) กลุ่มคนที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยว่าเป็นคนต่างด้าวเกิดในประเทศไทย ๔) กลุ่มคนที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยว่าเป็นคนต่างด้าวเกิดนอกประเทศไทย และ ๕) กลุ่มที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยว่าเป็นแรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่า ลาว หรือกัมพูชา ซึ่งไม่ว่าข้อเท็จจริงของผู้มีปัญหาสถานะ

 จะเป็นอย่างไร ก็จะสามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน ๕ กลุ่มนี้ได้ (แต่ก็ได้รับการบอกกล่าวเพิ่มเติมว่าถ้าเกิดเจอคนที่ไม่สามารถจัดให้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ก็คงต้องเพิ่มเป็นกลุ่มที่หก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เจอกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด)

ในส่วนของ ๖ นั้น ก็ได้รับการอธิบายในตอนนั้นว่า หมายถึง ขั้นตอนในการจัดการแก้ไขปัญหาสถานะของบุคคล ซึ่งประกอบด้วย การตรวจสอบข้อเท็จจริง การตรวจสอบข้อกฎหมายและนโยบาย การตรวจสอบการได้สถานะ การเสียสถานะ การกลับคืนสถานะ และการตรวจสอบขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็ต้องยอมรับอีกเหมือนกันว่ายังไม่สามารถทำความเข้าใจใน ๖ นี้ได้อย่างถ่องแท้มากนัก แต่ก็คิดว่าทำงานไป เรียนรู้ไปก็น่าจะเข้าใจได้ดีขึ้น ก็เลยไม่ได้เป็นห่วงมากนัก เมื่อทำงานร่วมกับทีมงานไปได้ระยะหนึ่งก็ยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาในประเด็นนี้เท่าไหร่นัก เพราะงานมุ่งเน้นไปที่สามตัวแรก ก็คือประเด็น ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและนโยบาย และการได้ เป็นหลัก

จากแนวคิด ๕ คูณ ๖ ที่พูดถึงในตอนแรกนั้น เมื่อผมได้เริ่มทำงานกับทีมงานผมก็เริ่มมีความสับสน เนื่องจากมีคนพูดถึง ๖ แต่ไม่ใช่ในความหมายของ “ขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล” ตามที่ผมได้รับฟังมาแต่แรก ซึ่งเมื่อนึกย้อนดู ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ๖ ตัวที่สองนี้โผล่ออกมาตอนไหน เอาเป็นว่า ๖ ตัวนี้เกี่ยวข้องกับ “คนทำงานและกระบวนการทำงาน” โดยผมได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมในขณะนั้นว่า ๖ ตัวนี้ เป็นการแบ่งงาน (คนทำงาน) ออกเป็น ๖ แถว ดังนี้คือ คนแถว ๑ ทำงานด้านการทบทวน พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ คนแถว ๒ ทำงานด้านการสำรวจข้อเท็จจริงอันเป็นปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คนแถว ๓ ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คนแถว ๔ ทำงานด้านการปฏิรูปกฎหมายและนโยบาย คนแถว ๕ ทำงานด้านการสื่อสารสาธารณะ คนแถว ๖ ทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม

สรุปก็คือจากแนวคิด “ห้าคูณหก” ในตอนแรก ผมก็ได้รู้ว่าแนวคิดนี้จริงๆ แล้วมีหกสองตัว ดังนั้นก็ต้องมาเรียกกันใหม่ว่า “ห้าคูณหกคูณหก” โดยห้าหมายถึง คนห้ากลุ่มแบ่งตามสถานะทางทะเบียนราษฎร หกตัวแรกหมายถึง ขั้นตอนหกขั้นตอน (หรือวิธีคิดหกวิธี) ในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล และหกตัวที่สองหมายถึง กระบวนการทำงานของคนหกแถว
 

 

ในส่วนของห้ากับหกตัวแรกนั้น ได้มีผู้เขียนบทความไว้แล้ว [๒] สำหรับผู้ที่สนใจจะเรียนรู้ในรายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับ “หกตัวที่สอง“ นั้น เอาไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังคราวหน้าก็แล้วกันนะครับ

* โดย กานต์ เสริมชัยวงค์, ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒ (ขออุทิศให้กับใหญ่ กฤษฎา ยาสมุทร ผู้ล่วงลับ)


[๑] โครงการสังคายนากฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการจัดการประชากร ครั้งที่ ๑  ระหว่างวันที่ ๓-๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โรงแรมริมกก รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรแพลน ประเทศไทย


[๒] ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง ห้าคูณหก : สูตรคูณความคิดและปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย โดย ดรุณี ไพศาลพาณิชกุล

หมายเลขบันทึก: 260107เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2009 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ครูอ้อย ย้อนกลับมาอ่าน ในตอนแรกอีกค่ะ
  • การทำงานแบบ ห้าคูณหกคูณหก

ขอบคุณมากค่ะ

มาอ่านแล้ว

สบายใจที่เราเข้าใจระบบนี้กันลึกมากขึ้นทุกที

ปีนี้ เราคงทำได้มากกว่านี้นะคะ

จันทราภา นนทวาสี จินดาทอง

คุณกานต์คะ อ่านแล้วดีใจมากที่มีคนสรุปเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ แต่สะดุดนิดหนึ่ง ตรงคนกลุ่มสามกับสี่ที่เขียนซ้ำกัน

3) กลุ่มคนที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยว่าเป็นคนต่างด้าวเกิดในประเทศไทย 4) กลุ่มคนที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยว่าเป็นคนต่างด้าวเกิดในประเทศไทย

ที่จริงน่าจะเป็นคนที่ถูกบันทึกว่าเกิดนอกประเทศกับในประเทศใช่ไหมคะ

ขอบคุณคุณจันทราภามากครับ สำหรับการทักท้วงในส่วนที่พิมพ์ผิด

กลุ่มสามเป็นกลุ่มที่เกิดในไทย และกลุ่มสี่เป็นกลุ่มที่เกิดนอกไทยครับ

จะรีบแก้ไขไฟล์และเอาขึ้นใหม่โดยเร็วครับ

กานต์รู้จักแมวจันทราภา ไหมคะ

 http://gotoknow.org/profile/chantarapa_j

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท