“ยุทธการสร้างลูกให้เป็นนักสู้ (ไวรัส) รุ่นใหม่”


“ยุทธการสร้างลูกให้เป็นนักสู้ (ไวรัส) รุ่นใหม่”

“ยุทธการสร้างลูกให้เป็นนักสู้ (ไวรัส) รุ่นใหม่”

                ไม่ว่าจะฟัง จะอ่านข่าวสารผ่านสื่อใด ๆ  ไวรัส 2009 ชั่งร้ายกาจ ชั่งใจร้ายต่อเราเหลือเกิน...เพราะส่วนใหญ่ไวรัสตัวกลม ๆ ตัวเล็ก ๆ

จะเลือกบุกทำร้ายกล่องดวงใจของแม่...ของพ่อ...นั่นคือ...ลูกน้อยของเรา  พยาบาลลองตั้งวงนั่งพูดนั่งคุยกับแม่ ๆ พ่อ ๆ หลาย ๆ คน  เรามีความ

เห็นตรงกันว่าเราต้องฝึกฝนลูกของเราให้รู้จักป้องกันตนเองตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ จะได้มีความรู้ มีความตระหนัก มีความรับผิดชอบต่อตัวเองต่อ

คนอื่น ๆ จนกว้างไกลถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมนุษยชาติ...ที่สำคัญเมื่อเขาเติบใหญ่เท่าเรา...เขาจะได้ไม่ต้องมาเผชิญชะตากรรมแบบเรา...

นี่เป็นที่มาของยุทธการสร้างลูกให้เป็นนักสู้ (ไวรัส) รุ่นใหม่  เป็นเรื่องราวที่พยาบาลขออนุญาตแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยภาระของคุณแม่

(พยาบาล) และลูกสาว ป.3 โรงเรียนอนุบาลสาธิตกับทุกท่านนะค่ะ

 ยุทธการบทที่ 1..... “แม่ ๆๆ 2009 ติดได้ไงแล้วนะ” 

                “แม่ ๆๆ 2009 ติดได้ไงแล้วนะ”

                ...เจ้าตัวเล็กถามด้วยความสงสัย  พยาบาลนึกในใจเมื่อวานเพิ่งไปเป็นวิทยากรให้แก่เด็ก ๆ อนุบาลสาธิต...วันนี้เด็กอนุบาลสาธิต

ดันมาถามว่า...2009 ติดได้ไงแล้วนะ ? ขนาดพูดย้ำแล้วย้ำอีกแถมแสดงละครให้ดูอีกต่างหาก  “ก็ติดจากเพื่อนไอ จาม ใส่เราแล้วก็ติดจาก...”

ไม่ทันที่พยาบาลจะบอกต่ออีกช่องทางก็ถูกนักเรียนอนุบาลสาธิตสวนทันที

                “นั่นแหละแม่...เมื่อวานเพื่อนจาม ฮัดเช่ย!! ...พวกเราอยู่กัน 3 – 4 คน วิ่งหนีวงแตกเลย...”

                เห็นภาพ  ก็เลยค่อยอธิบายว่าสิ่งที่น้องทำถูกต้องค่ะเพราะเราป้องกันตัวเราแต่ถ้าเพื่อนจะไอจะจามรู้จักมีผ้าปิดปากปิดจมูก 

ก็ไม่ต้องวิ่งหนีกันจนวงแตกนะค่ะ....เห็นท่าจะต้องอธิบายกันยาว...ยกหน้าที่ให้คุณครูคนเก่งที่โรงเรียนดีกว่า... “ครูแอ๊ะค่ะ...สิ่งที่พยาบาล

มาพูดคุยกับเด็ก ๆ เรื่อง 2009 เมื่อวานเด็ก ๆ จำได้บ้าง ลืมไปบ้าง ฝากคุณครูช่วยย้ำช่วยซ้ำด้วยเถอะนะค่ะ 

 ยุทธการบทที่ 2..... “แม่ ๆ....รู้ไหม ? เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ นักเรียนเขาไม่จับราวบันไดแล้วนะ”

                “แม่ ๆ....รู้ไหม ? เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ นักเรียนเขาไม่จับราวบันไดแล้วนะ”

                ...เสียงเล่าเรื่องราวบรรยากาศในโรงเรียนของการใช้บันไดขึ้นลงชั้นสองของตึกจากปากลูกสาวที่ชั่งเจรจา “แล้วเด็ก ๆ

ทำยังไงค่ะลูก?” พยาบาลลองถามด้วยความสนใจ

                “เด็ก ๆ เดินเอามือกอดอกวิ่งลงมาข้างล่าง...น้องลืม...เอามือไปจับราวบันได เพื่อนตะโกนมาเลย...เฮ้ยแก้วไม่กลัวติด 2009 หรือ ?”

(เออ! ลืม) น้องรีบหดมือกลับ เอามือกอดหน้าอกแล้วรีบวิ่งลงบันไดตามเพื่อน ๆ ไปเข้าแถว”

                พยาบาลไม่รู้จะดีใจ....ดีหรือจะตกใจ....ดี  เด็ก ๆ จะรอดจาก 2009 เพราะไม่จับราวบันไดสิ่งของสาธารณะที่อาจมีเชื้อติดอยู่หรือเด็ก ๆ

จะตกบันไดเพราะความไม่ระมัดระวัง 2009 ก็ไม่อาจเดาได้...

                “ราวบันไดจริง ๆ เขามีไว้ให้จับเพื่อให้เดินขึ้น – ลง อย่างปลอดภัยนะลูก  แต่ด้วยเราอาจจะติดเชื้อโรคจากบันไดได้เราก็ต้องไม่จับ 

แต่ถ้าจำเป็นต้องจับหรือบังเอิญเผลอไปจับก็ต้องไปล้างมือให้สะอาด  ส่วนถ้าจะเดินขึ้นลงโดยไม่จับ เช่น กอดอกเดินขึ้นเดินลงก็ต้องเดิน

อย่างระมัดระวังให้มาก  ขืนกอดอกวิ่งขึ้นวิ่งลงตรงบันได  แม่ว่าน้องจะตกบันไดเจ็บก่อนเป็นหวัด 2009นะ” 

พยาบาลไม่แน่ใจว่าเด็กอนุบาลสาธิตจะเลือกทำข้อไหน...จึงต้องรายงานครูแอ๊ะเพื่อโปรดพิจารณาอีกเรื่อง

                วันนี้รับทราบว่าโรงเรียนเน้นย้ำให้คุณครูได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ในทุก ๆ วิชาเรียน  ขอบคุณค่ะคุณครู

 ยุทธการบทที่ 3..... “น้อง....ทำไมชอบเอานิ้วแคะจมูก ??”

                “น้อง....ทำไมชอบเอานิ้วแคะจมูก ??”  เสียงดุ ๆ ที่ทำให้ลูกตัวเล็กชะงัก  หันมาบอกด้วยความรู้สึกผิดและตอบว่า

                “ก็...น้องคันในรูจมูกนี่นา!!”

                ....เออนะเด็กมันคันในรูจมูกจะทำยังไง “น้องฟังแม่นะ  เขาบอกว่าเชื้อ 2009 จะเข้าไปในปอดเราเร็วมาก  โดยเฉพาะถ้าเราเอานิ้วที่มี

เชื้อโรค 2009 แหย่เข้าไปในรูจมูก  ถ้าน้องคันรูจมูกและจะแคะจมูกน้องจะต้องทำไงค่ะ??” เด็ก ป.3 คิดนิดนึงแล้วหันไปกดเจลล้างมือที่ตั้งอยู่

ในรถ  ลูบไล้ไปมาในฝ่ามือ หลังมือ เลยมาที่แขนและแทนที่จะตอบกลับถามพยาบาลว่า

                “แม่...มือน้องสะอาดแล้วแคะรูจมูกได้แล้วยัง?”

                พยาบาลอดที่จะขำกับท่าทางเลียนแบบของลูก คล้าย ๆ ตอนเราทำความสะอาดมือด้วยเจลไม่ได้  แต่แม่ (พยาบาล)ก็ขอไว้เชิงตอบไปว่า

“ถ้าคิดว่ามือสะอาดแล้วก็แคะได้เลย!” เจ้าตัวแสบหันมองมือป้อม ๆ เล็ก ๆ อีกครั้ง

                “อีกสักทีดีกว่า...”

                ว่าแล้วก็กดเจลแอลกอฮอล์ล้างมืออีกรอบ  ทีนี้ไม่ทันได้ว่ากระไรต่อ  เห็นนั่งแคะรูจมูกสบายใจ “น้องแม่ว่า...เราลองหาวิธีใหม่แก้คัน

ในรูจมูกดีไหม...แทนการใช้นิ้วแหย่รูจมูกเผื่อเชื้อโรคติดในขี้เล็บ...”  เงียบ....

                “เออ...จริงแม่...เล็บดำเชียว”

                นักสู้ของพยาบาลจะรอดไหมเนี่ย

  ยุทธการบทที่ 4..... “น้อง....พกผ้าขนหนูกับเจลแล้วก็สบู่ไว้ใช้ที่โรงเรียนนะลูก”

                “น้อง....พกผ้าขนหนูกับเจลแล้วก็สบู่ไว้ใช้ที่โรงเรียนนะลูก  ถ้าน้องมีน้ำล้างน้องใช้สบู่ล้างมือนะ  ถ้าหาน้ำไม่ได้น้องค่อยใช้เจลนะ

เพราะเจลมันแพง  ถ้าน้องจะไอ จะจาม ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกด้วยนะจะได้ไม่โดนเพื่อน  แล้วที่สำคัญถ้าใครจะไอ จะจาม น้องก็ต้องเอาผ้าขนหนู

ปิดปาก ปิดจมูก ด้วยล่ะเดี๋ยวน้องจะติดหวัดเพื่อนได้...” พยาบาลพยายามคุยกับลูกทุกวัน  ซักซ้อมความเข้าใจ....ได้ผล....

                “แม่...เดี๋ยวนี้เวลาหมดคาบเรียน 1 คาบ  ครูจะไล่ให้พวกเราไปล้างมือ  น้องจะถือถุงสบู่ไปที่ห้องน้ำแล้วล้างมือ น้องแบ่งสบู่ให้เพื่อนด้วยนะแม่”

                แล้วเจลล่ะน้องใช้ตอนไหน......

                “ตอนเพื่อนขอลองใช้จ๊ะแม่....”

                งง....พยาบาลเป็นงง....คงต้องซ้อมยุทธการบทนี้ใหม่ “น้องถ้าเพื่อนต้องการใช้เจล  บอกเพื่อน ๆ นะที่ห้องพยาบาลแม่แบ่งขาย...ขวดละ 30 บาท...

ลองไปถามเพื่อน ๆ ดู” เห็นเด็กอนุบาลสาธิตยืนคิดอยู่นาน....แล้วถามกลับ

                “แม่ 10 บาทได้ไหม??”

                ลูกเรามันจะช่วยเพื่อนหรือมันจะค้ากำไรนะ  “น้องบอกเพื่อน ๆ นะว่าเจลที่น้องใช้ราคาจะถูกกว่าบางยี่ห้ออยู่ครึ่งหนึ่ง  แต่คุณภาพรับรองเลย...

ที่สำคัญ...แม่ไม่ได้ขายเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง...เงินที่ซื้อมาและเงินที่ขายได้เอาเข้า...มหาวิทยาลัยหมดเลย...” (จะเข้าใจพยาบาล จะเข้าใจแม่ไหมนะ)

                “แม่...น้องจะลองไปถามเพื่อน ๆ ดูนะ”

                เป็นเสียงตอบสั้น ๆ จากนักสู้ตัวเล็กของพยาบาล

 ยุทธการบทที่ 5..... “แม่....เพื่อน ๆ สั่งเจล 13 ขวด....”

                “แม่....เพื่อน ๆ สั่งเจล 13 ขวด พรุ่งนี้แม่เตรียมให้น้องด้วยนะ”

                เสียงสั่ง Order ทางโทรศัพท์สาธารณะของโรงเรียน  “จ๊ะ...แม่จะเตรียมให้”  กลับมาบ้านพยาบาลนำเจลจำนวน 13 ขวด และให้ลูกคิดราคารวม 

คำตอบคือ 390 บาท ด้วยความกังวลว่าลูกจะเก็บเงินไม่ครบ  ทำเงินหาย  มั่วนิ่ม  “น้อง...น้องเอาไปให้ครูนี (คุณครูประจำชั้น) ช่วยขายช่วยเก็บเงินให้ก็ได้นะ

....ตอนเย็นพรุ่งนี้แม่ค่อยไปเอาเงินที่ครูนีเอง”  นี่คือทางออกที่ดีที่สุดของพยาบาล...

                “แม่...ไว้ใจกันหน่อย...น้องจัดการเอง...”

                งานนี้คงต้องยอมขาดทุน...จะฝึกลูกให้เป็นนักสู้ไวรัส...คงต้องยอมขาดทุน...390 บาท เตรียมจ่ายได้เลย “จ๊ะลูก” เป็นคำตอบที่พยาบาลเดาได้ว่า

ลูกเข้าใจว่าเราไว้วางใจให้เขาได้ไปปฏิบัติภารกิจใหญ่ด้วยตนเอง  ตอนเย็นของอีกวัน  ลูกสาวนักสู้ไวรัสของพยาบาลกลับมาเล่าอย่างภาคภูมิใจ

                “แม่นี่ตังค์ 390 บาท ครบทุกบาททุกสตางค์”

                จริงดังคำกล่าว เงิน 390 บาท อยู่ในกระเป๋าสตางค์ของเขาอย่างดี  “แล้วเงินของลูกที่แม่ให้ไปโรงเรียนล่ะ?”  เสียงตอบพร้อมมือน้อย ๆ ล้วงออกจากกระเป๋า

                “น้องแยกแบ่งไม่ให้ปนกันอยู่ในแก้วน้ำนี่” (อ้าว! คงต้องสอนกันอีกบท...)

                พยาบาลอดชื่นชมเขาไม่ได้  “เก่งจัง...น้องจัดการยังไงจ๊ะ ลองเล่าให้แม่ฟังหน่อยสิ”

                “ไปถึงเพื่อน ๆ รุมกันใหญ่....แก้ว ๆๆ ของเราด้วย...ของเราด้วย...ล้อมหน้าล้อมหลังน้องเต็มไปหมด..น้องบอก...ทุกคนเงียบเข้าแถว...ใครจะเอา

จ่ายตังค์มา...จดชื่อ

                เขาเล่าไปอย่างสนุกสนาน  อย่างภาคภูมิใจ  “เออ! น้องทำไมเพื่อนสั่งเยอะจังเลยล่ะ”  นักสู้ไวรัสของพยาบาลหันมามองหน้าและจัดแจงบรรยายว่า

                “น้องบอกเพื่อน ๆ ว่าช่วยซื้อเจลไปทำความสะอาดมือตัวเองหน่อยนะ  แม่เราอยากให้ทุกคนทำความสะอาดมือ  จะได้ไม่ติด 2009 ช่วยซื้อหน่อยนะ 

สงสารแม่เรานะ แม่เราเหนื่อย  เราก็ไม่ได้อะไร  แม่ก็ไม่ได้อะไร  แม่เราเอาเงินให้กองงานหมดเลย...”

                น้องจ๋าผิดหน่วยงานแล้ว  “เอาเข้าหน่วยพยาบาลจ๊ะ...ได้ดังใจจริง ๆ ลูกแม่”  หอมหนึ่งฟอดใหญ่กับการโอบกอดน่าจะเป็นรางวัลสำหรับ

นักสู้ผู้เสียสละตัวน้อยของแม่นะ

 ยุทธการบทที่ 6..... ผู้คัดกรองรุ่นเล็ก

                “น้องจ๊ะ...ถ้าเห็นเพื่อน ๆ เป็นไข้ เป็นหวัด ไอ จาม น้องต้องบอกคุณครูนะค่ะ  ให้คุณครูมาตรวจดู  คุณครูได้โทรบอกคุณแม่คุณพ่อเพื่อน

มารับกลับบ้าน” ตอนค่ำของทุกวันพยาบาลกับคุณยายจะได้ฟังเรื่องราวการคัดกรองของคุณครูอนุบาลสาธิต  พร้อมท่าทางเลียนแบบคุณครูโดยเฉพาะ

คุณครูน้อย

                “แม่วันนี้ครูน้อยมาตรวจเด็ก ๆ พบเด็กเป็นหวัด เป็นตาแดง ครูน้อยพาลงมาข้างล่าง  แล้วโทรบอกพ่อแม่เด็ก ๆ ให้มารับลูกกลับ...แล้วครูน้อย

นะจะบอกเด็ก ๆ เลย”  (ทำท่าทางชี้นิ้วไปข้างหน้าเสมอเหมือนว่ามีลูกศิษย์ยืนอยู่เป็นแถว  แถมเลียนเสียงแบบคุณครูน้อยอีก)... “นี่ พวกเธอ วันหลัง

บอกพ่อกับแม่เธอด้วยนะว่าถ้าเป็นหวัด เป็นตาแดง ให้หยุดเรียน อยู่บ้านก่อน ไม่ต้องมาโรงเรียน เดี๋ยวเอาหวัดเอาตาแดงมาติดเพื่อนหมด...แบบนี้เลยแม่”

                สิ้นเสียงนักสู้ไวรัส  คุณยายสอนด้วยภาษาปักษ์ใต้ทันที  “แก้ว...คอยแล...ครูน้อยจะบีบหมูกเอ้า...ไปทำท่าทำทางแบบครู” แต่ได้ผลจริง ๆ ทุกค่ำจะ

ได้รู้เรื่องการคัดกรองเด็ก ๆ ไม่สบายกลับบ้านระหว่างครูกับลูกศิษย์ประจำห้อง  ที่สำคัญได้รู้การเปลี่ยนแปลงว่าช่วงนี้โรงเรียนมีเครื่องมือใหม่มาวัดไข้เด็ก ๆ

                “แม่ ๆ ผอ.สั่งเครื่องมือใหม่มาวัดไข้ให้เด็กนักเรียน  เห็นว่าสั่งมาจากอิตาลี  เป็นแบบอัตโนมัติ  วัดปุ๊บ  บอกเลยไข้ไม่ไข้  ไม่ไข้เรียนต่อ 

ถ้าไข้ส่งกลับบ้าน  แต่ห้องลูกใช้เครื่องมืออัตโนมือ...(เล่าถึงตรงนี้แม่พยาบาลงง !! แต่ไม่อยากขัดจังหวะฟังต่อ) น้องเอามือแตะคอแตะหน้าผากเพื่อน

(พร้อมแสดงท่าทางใช้หลังมือแตะคอแตะหน้าผากแม่) ไม่ร้อน เข้าห้องเรียนได้...ไม่ร้อน เข้าห้องเรียนได้...ร้อน...รอพบครูก่อน...”

                เป็นไงหล่ะอัตโนมือของนักสู้ไวรัสของพยาบาล  “น้องแล้วเอามือแตะหัวแตะคอเพื่อนเสร็จน้องล้างมือไหม??”

                “ล้างสิแม่ 2009 นะ” คำตอบที่ถูกสวนกลับทันทีโดยไม่ต้องรอ

                เฮอ ! รอดไป  ลืมถามนักสู้ไปว่า “เครื่องมืออัตโนมัติของ ผอ.กับอัตโนมือของหนู  ของใครแน่กว่ากัน...5555

 ยุทธการบทที่ 7..... “แม่....เพื่อนน้องเป็น 2009”

                “แม่...เพื่อนน้องเป็น 2009 แม่หมวยบอกว่าหมวยป่วย...ลาเรียน...เพื่อน ๆ บอกว่าหมวยเป็น 2009  แม่...ถ้าน้องเป็น 2009 เชื้อโรคลงปอด

เหมือนที่ข่าวบอก  ปอดน้องเละเปื่อยหมด  ใครจะช่วยน้อง....น้องต้องตายแน่ ๆ เลย”

                เสียงเล่าแบบเศร้า ๆ ปนตาแดง ๆ เหมือนมีน้ำตาระรื้น ๆ อยู่ในดวงตา  พยาบาลอดสงสัยไม่ได้  นักสู้ไวรัสรุ่นใหม่ของพยาบาลจะมาไม้ไหน 

เรื่องจริงเรื่องปลอมนะเนี่ย  แต่เห็นท่าทางคงต้องเรียกกำลังใจก้อนโตให้แก่นักสู้ก่อนจะดีกว่า  ก่อนที่จะไปกันใหญ่  “น้องว่า....แม่เก่งไหม ? ”  น้ำเสียง

แม่ถามแบบเรียบ ๆ เบา ๆ

                “แม่เก่ง...เพราะแม่ทำงานหลายอย่าง”

                อ้าวคงหมายถึง หุงข้าว ล้างจาน ซักผ้า แน่เลย  “ใช่จ๊ะ แม่ของน้องเก่งมากรู้ไหม”  พยาบาลคงต้องขอโม้กับลูกหน่อยนะเพราะบรรยากาศมัน

จำเป็นจริง ๆ  “น้องรู้ไหม...แม่นะต้องดูแลนักเรียนอนุบาลสาธิต 800 คน พี่สาธิต 800 คน (มองเห็นว่าตาของนักสู้ค่อยโตขึ้นแจ่มขึ้น) พี่นักศึกษา 8,000 คน 

ป้า ๆ น้า ๆ ลุง ๆ ที่ทำงานอีกกว่า 1,000 คน”

                “โอ้โหแม่...มากขนาดนั้นเลยหรือ”

                “ใช่จ๊ะแม่ต้องดูแลคนเป็นหมื่นคน...แล้วกะลูกหมาของแม่คนเดียวนี่นะแม่จะดูแลไม่ได้” (พร้อมกับเอานิ้วจิ้มหน้าผากหยอกเอิ้นเขาเบา ๆ) 

รอยยิ้มในดวงตาของลูกสาว  เสียงหัวเราะที่ดังลั่นรถ  ทำให้พยาบาลรู้ว่า...การสร้างความมั่นใจให้นักสู้ไวรัสตัวเล็กมันจำเป็นจริง ๆ

                                *หมายเหตุ  ส่วนน้องหมวยลาป่วยด้วยไข้ชิคุนกุนยาค่ะ

*** ติดตามยุทธการบทที่ 8 ในฉบับต่อไป >>>ยุทธการบทที่ 8..... “แม่จ๋า....แย่แล้ว....”

***ติดตามงานการรณรงค์ 2009 ของหน่วยพยาบาล ม.อ.ปัตตานี ได้จาก www.pn.psu.ac.th/H1N1/

หมายเลขบันทึก: 290643เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2009 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท