การเสริมประสิทธิภาพการออกฤทธิ์(5)


การเสริมประสิทธิภาพการออกฤทธิ์(5)

การเสริมประสิทธิภาพการออกฤทธิ์(5)

                   โดยทั่วไปแล้วในปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกพืชยังไม่เน้นเรื่องสารเสริมประสิทธิภาพ  หรือ     สารจับใบเท่าใดนัก  ส่วนใหญ่จะมองว่าสิ้นเปลืองทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วมันคือการลดต้นทุนในการปลูกพืชอย่างมหาศาลทีเดียว  ที่พอรู้กันบ้าง  ใช้บ้างก็มี  แต่ยังไม่แพร่หลายและถูกต้องนัก

                   หน้าที่ของสารเสริมประสิทธิภาพคือเป็นตัวกระตุ้นให้สารออกฤทธิ์ที่ใช้ให้มีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานที่กำหนด  เช่น  เพิ่มประสิทธิภาพในการนำสารออกฤทธิ์, ปุ๋ยทางใบ  หรือฮอร์โมนทางใบ         ให้แผ่กระจายและจับแน่นบนผิวใบป้องกันการชะล้างจากน้ำค้างหรือน้ำฝน  เพื่อให้สารหรือปุ๋ยนั้นคงอยู่หรือออกฤทธิ์กับใบพืชนานที่สุด  และสามารถทำให้สารออกฤทธิ์กระจายตัวโดยไม่แขวนลอยบนผิวน้ำในถังที่ใช้พ่น

                   สารที่ใช้ในการจับใบมีทั้งสารที่มีปฏิกิริยาทางเคมี  หรือ ปิโตรเลี่ยมออยล์ (น้ำมัน)  และสาร   ที่สกัดได้จากวัตถุดิบธรรมชาติที่ทำปฏิกิริยา  (จับใบ)  ด้วยประจุไฟฟ้าบวกและลบ  (Cation-Anion)  เช่น       โพลิเมอร์ที่สกัดมาจากไคตินเข้มข้น  ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มมีการนำเอาประจุไฟฟ้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์เช่นการนำประจุลบ (Anions) เป็นตัวจับโปรตีนในผ้าอนามัยสตรีจนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย  เพราะไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์  โดยเฉพาะผิวส่วนที่ละเอียดอ่อนของร่างกาย  เป็นต้น

                   การใช้สารดังกล่าวต้องอยู่บนเงื่อนไขคำแนะนำในแต่ละชนิดของสินค้า  การใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดควรใช้อย่างระมัดระวัง  เช่น  ถ้าเป็นสารจับใบที่ผลิตจากกระบวนการทางเคมี  ควรใช้กับ     สารออกฤทธิ์ที่เป็นเคมี  แต่การใช้กับสิ่งมีชีวิต  (เชื้อรา)  ควรใช้สารที่สกัดได้จากธรรมชาติ  เช่น   โพลิเมอร์   จับใบเพราะไม่เป็นอันตรายกับเชื้อราที่ปกติมีความอ่อนไหวกับสภาพแวดล้อมอยู่แล้ว  ทั้งยังย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

                   การพ่นสารกำจัดวัชพืช,  กำจัดแมลง หรือฮอร์โมนทางใบชนิดต่างๆ แทบจะไม่ได้ผลเลยถ้า  ไม่ใส่สารเสริมประสิทธิภาพ  เพราะสารออกฤทธิ์จะไม่เกาะจับใบที่มีไข (แวกซ์)  ฉาบบนผิว  แรงดึงผิวน้ำที่เป็นเม็ดบนผิดใบจะตรึงเอาสารออกฤทธิ์ไว้ไม่แผ่กระจาย  เมื่อใดที่ลมพัดไหวก็จะหลุดจากใบหล่นร่วงลงดิน   โดยเฉพาะผิวของตัวแมลงศัตรูพืชที่ล้วนแต่มีไข (แวกซ์)  ป้องกันตัวทั้งสิ้น  เมื่อเกษตรกรพ่นสารไปแล้วไม่ได้ประสิทธิภาพก็จะพ่นซ้ำและซ้ำจนแมลงสามารถสร้างภูมิต้านทานได้  (ดื้อยา)  แต่การใช้สารมากๆ แบบทิ้งเปล่านั้น  มันคือต้นทุนที่เกษตรกรมองไม่เห็น  แต่ความชัดเจนที่เห็นคือ  “ผลผลิตที่ได้ต่ำกว่าที่ควรจะได้” 

                   น้ำยาล้างจาน  น้ำสบู่  ไม่ควรนำมาใช้แทนสารจับใบกับสารชีวภัณฑ์  เพราะมีองค์ประกอบของโซเดียมไฮดรอกไซค์เป็นองค์ประกอบ  และจะถูกชะล้างจากน้ำได้เช่นเดียวกับที่นำไปล้างจาน  เพราะถ้าน้ำไม่สามารถล้างออกได้  ก็จะเป็นอันตรายกับมนุษย์  (อย.ควบคุม)  ดังนั้น  การนำมาใช้จึงต้องพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่

พืชอาศัย 

                   พืชอาศัยของเพลี้ยแป้งสีชมพูที่พบคือ  อ้อย  ส่วนที่พบในดินที่อาศัยอยู่กับรากพืช  เป็นเพลี้ยแป้งลายตัวเก่าที่เรียกว่า (firrisia  virgata)  พบแหล่งอาศัยกับรากปาล์มฟอกซเทล  และรากพืชที่อวบน้ำ

                   เพลี้ยแป้งสีชมพูจะหายไปโดยไร้ร่องรอยเมื่อฝนตกหนัก  น้ำฝนจะทำให้หลุดร่วงจากต้นมันสำปะหลังลงไปที่พื้น  น้ำจะพัดพากลุ่มเพลี้ยแป้งไปจากพื้นที่ระบาดไประบาดที่อื่น  กับพืชที่สามารถจะให้อาศัยได้  แหล่งอาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดคืออ้อย  กาบอ้อยจะป้องกันการชะล้างจากน้ำฝนได้เป็นอย่างดี   ไม่ทำให้หลุดร่วงจากต้นอ้อยที่อาศัยได้  เพลี้ยแป้งสีชมพูที่พบจะเกาะและดูดน้ำเลี้ยงของอ้อยที่บริเวณข้ออ้อย   ที่ยังอ่อนและจะย้ายขึ้นไปเมื่ออ้อยย่างปล้องใหม่  เพราะปล้องเดิมที่เกาะอยู่เริ่มแก่และเข็งยากแก่การเจาะดูดได้

                   การค้นพบครั้งนี้  ส่งสัญญาณว่าอนาคตข้างหน้าพืชพลังงานที่คาดว่าจะขยายพื้นที่ปลูกในปีนี้  เช่น อ้อย  ก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการระบาดทำลายของเพลี้ยแป้งสีชมพูได้  และถ้าจะมองทะลุไปถึงพืชใบเลี้ยงเดี่ยวชนิดอื่น  เช่น  ข้าวโพดก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมายมากนัก  ผู้รับผิดชอบต้องจริงจังกับการป้องกันให้เป็นรูปธรรม  มิใช่ทำอย่างที่เป็นมา  ที่ทั้งเชื่องช้าและดูเหมือนไม่จริงจัง  ซึ่งส่วนใหญ่จะทำแบบไฟไหม้ฟางมาตลอด  โดยไม่มีใครรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องจนการกำจัดได้ผลเต็มประสิทธิภาพ  สุดท้ายก็จะกลายเป็นวิกฤตที่นับวันจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนเกินความสามารถที่จะควบคุมได้

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 312366เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2009 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท