Tashiding ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ของสิกขิม


ที่วัด Tashiding  ชาวสิกขิมถือว่าที่นี่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก  การไปวัดแห่งนี้ต้องนั่งรถขึ้นไปด้วยความยากลำบากพอควร ถนนนั้นเป็นถนนลูกรังแคบๆ เลียบไปตามไหล่เขา เมื่อไปถึงบันไดวัด เราจะต้องเดินขึ้นไปอีกไกลไม่น้อย 

ที่วัดนี้มีสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของบุคคลสำคัญ ในจำนวนนั้นคืออัฐิของท่านจัมยัง เคนเซ ซือคิ โลธิ  พระลามะที่ได้รับคำยกย่องว่า เป็นปรมาจารย์สายการปฎิบัติของธิเบต ท่านได้ออกมาจากธิเบตก่อนที่ธิเบตจะแตกเพียงเล็กน้อย ท่านได้จาริกไปยังสังเวชนียสถานในอินเดีย และได้รับการนิมนต์ไปเยือนสิกขิม ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ในฐานะประเทศเล็กๆที่มีกษัตริย์ปกครอง

ที่สิกขิม ท่านจัมยังล้มป่วย ในช่วงเวลาที่มีข่าวว่าธิเบตแตก ท่านละสังขารที่สิกขิม เรื่องราวนี้ข้าพเจ้าได้อ่านเจอในหนังสือที่ชื่อ ประตูสู่สภาวะใหม่ ( The Tibetan book of living and dying ) ซึ่งแต่งโดย โซเกียว รินโปเช แปลเป็นไทยโดยพระไพศาล วิสาโล

เป็นการบังเอิญที่ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องราวของท่านจัมยัง จากหนังสือเล่มนี้ ก่อนที่จะได้ไปสิกขิม ไม่นานนัก

ในหนังสือเล่าว่า ท่านจัมยังละสังขารในท่าสีหไสยาสน์ อาการทั้งหมดบ่งชี้ว่าท่านยังอยู่ในสมาธิ ไม่มีใครแตะต้องร่างท่านตลอด 3 วัน  ตอนที่ท่านออกจากสมาธิและละสังขารไป จมูกของท่านพลันยุบลง ใบหน้าเปลี่ยนสีอย่างรวดเร็ว แล้วศีรษะของท่านก็ตกเอียงไปอีกเล็กน้อย

นี่คือสภาวะของท่านตอนที่ละสังขาร บอกเล่าโดยลูกศิษย์ของท่านเองที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น  ลูกศิษย์ของท่านเล่าในหนังสืออีกว่า ร่างของท่านจัมยังมิได้ส่งกลิ่นหรือทำท่าจะเน่าเลย พวกเขาจึงได้เก็บร่างท่านไว้ถึง 6 เดือน

ในที่สุด Tashiding คือสถานที่ที่พวกเขาใช้เป็นที่ปลงศพของท่าน  หนังสือยังเล่าต่อว่า  ลูกศิษย์ทั้งหมดพากันไปที่นั่น และได้สร้างสถูปบรรจุอัฐิท่านจัมยัง ด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเขาเอง ทุกคนทั้งหนุ่มและแก่ ไม่เว้นแม้แต่พระลามะที่อาวุโสที่สุด หรือคนธรรมดาสามัญ พวกเขาต่างช่วยกันขนหินขึ้นไปบนเขาและสร้างทั้งหมดด้วยมือเปล่า

ในบรรดาสถูปทั้งหลายเหล่านี้ ข้าพเจ้าไม่อาจทราบได้ว่า สถูปใดเป็นของท่านจัมยัง เพราะไม่มีชื่อเขียนบอกไว้เป็นภาษาอังกฤษ  แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกดีใจที่ได้มาที่นี่  ได้มาคารวะสถูปอัฐิของเกจิอาจารย์ดังสายปฎิบัติของธิเบต

 

ที่นี่ ..สายลมเย็นๆ ที่ช่วยโบกสะบัดธงมนต์มากมายให้ปลิวไสว เหมือนจะบอกกล่าวถึงพลังศรัทธาของผู้คนแถบนี้  ที่ยังมีต่อบุคคลสำคัญในทางพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อริยบุคคล
หมายเลขบันทึก: 170255เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2008 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท