เมื่อชีวิตเสมือนยืนอยู่บนคมดาบ


ข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาจากงานภาวนาของคุณวิจักขณ์ พานิช  ในหัวข้อที่ชื่อว่า ภาวนาคือชีวิต  พอกลับมาสักระยะก็มีกัลยาณมิตรไต่ถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าก็ตอบว่า สนุกดี  ทำเอาคนถามทำหน้างงๆ ว่า ไปปฎิบัติธรรมแล้วสนุกหรืออย่างไร ?    หลายคนอาจจะอยากได้ยินทำนองว่า ข้าพเจ้าบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งมามากกว่า  ความสนุกนานไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องไปปฎิบัติธรรมสักเท่าไหร่  หลายคนต่างคิดเช่นนั้น 

พอข้าพเจ้ากล่าวว่า  มีข้อคิดที่น่าสนใจอยากจะเล่าให้ฟัง  แนวทางของวัชรยานนั้น    ก็ไม่ต่างจากเราฝ่ายเถรวาทหรอก  การปฎิบัติธรรมก็คือการไปฝึกจิต  ต้องมีการเจริญสติ การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ แถมมีการนอนสมาธิด้วย   นับว่าหนักหนาสาหัสเหมือนกัน นี่คือการฝึกเข้ม  แม้ครูตั้มจะอนุญาตให้พูดคุยกันได้ก็ตามเถอะ  แต่เวลาฝึกก็ฝึกจริงๆ  แล้วข้าพเจ้าก็แถมท้ายว่า ที่ได้ข้อคิดเตือนใจกลับมาก็คือ  ในมุมมองที่ไปฝึกมานั้น ท่านว่า ชีวิตของเราทั้งหลายนั้นเสมือนยืนอยู่บนคมดาบ และดูเหมือนว่าจะยืนอยู่บนคมดาบด้วยเท้าเปล่าๆ ด้วย  ทำเอาผู้ได้ฟังต่างทำหน้าสยดสยองกันมากมาย พร้อมกล่าวว่า ช่างเปรียบเทียบได้น่ากลัว แลดูร้ายแรงมากทีเดียว แต่ข้าพเจ้าก็ทำหน้าจริงจังบอกว่า  นี่คือคำเปรียบเทียบที่ตรงประเด็นที่สุดและกระแทกใจมนุษย์ผู้ตั้งอยู่ในความประมาทต่อชีวิตทั้งหลายเป็นอย่างดี  เพราะคำกล่าวนี้คือการเตือนสติอย่างตรงประเด็นที่สุด

ในทางเถรวาทนั้น เรามักจะได้ยินครูบาอาจารย์สอนอยู่เสมอว่าให้เห็นภัยในวัฎฎสงสาร  เราต่างอยู่ในโลกของความไม่แน่นอน  ทุกๆสิ่งอยู่ในกฏของไตรลักษณ์ คือมีเกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และก็ดับไป  ชีวิตของเรานั้นมีแต่ความทุกข์ ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป  คำสอนเหล่านี้เราต่างได้ยินกันมาจนเบื่อ แถมบางคนยังกล่าวหาศาสนาพุทธว่า ช่างมองชีวิตในแง่ร้ายอย่างเหลือเกิน   แต่นั่นคือความจริงที่ผู้ปฎิบัติธรรมทั้งหลายต่างรู้ดี  และพระพุทธองค์ก็ทรงสั่งสอนอีกว่า  เราจงดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท   แต่ก็มีคนมากมายที่ไม่สนใจในคำสอนเหล่านี้  แถมต่างก็ยังมีความสุขสนุกสนานกับการใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างสูญเปล่า วิ่งไปมา และว้าวุ่น  หาสมบัติสิ่งของมากมายมาสะสมไว้กับตัว  มองหาบ้านหลังโตๆ หารถคันใหญ่ๆ  มาไว้เป็นสมบัติส่วนตนทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อจะมีและจะเป็นอะไรสักอย่าง  เมื่อชีวิตรู้สึกว่างเปล่าก็วิ่งหาอะไรมาเติมเต็มชีวิต กินและเที่ยว หาสิ่งบันเทิงต่างๆ ซึ่งก็คือสิ่งภายนอกมาทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุข แบบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว  แล้วก็เริ่มชีวิตแบบเดิมๆ ในวันใหม่ ทำงาน หาเงินหาทอง หาอะไรสักอย่างสำหรับชีวิต 

ถ้าจะว่าทางเถรวาทมองชีวิตในแง่ร้าย แต่ทางวัชรยานคงยิ่งร้ายแรงกว่า เพราะท่านว่า  เราต่างเหมือนคนที่มาคนเดียวและเดินทางคนเดินและจากไปเพียงคนเดียว แม้จะมีญาติสนิทมิตรสหายมากมาย แต่เมื่อถึงเวลาตายจากกันก็ไม่เห็นใครติดตามไปด้วยได้  แถมชีวิตเรานั้นต่างเสมือนยืนอยู่บนคมดาบถ้าเราเผลอสติและไม่ระวัง เราก็จะเสียท่าเสียทีได้  นี่คือคำสอนเพื่อเตือนสติเราเพื่อให้ดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท และต้องตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าคิดเห็นไปว่าเท้าเปล่าๆ ที่ยืนอยู่บนคมดาบนั้น ก็คือความทุกข์นานาประการที่เราต้องพบเจออยู่ทุกๆวัน นั่นแหละ  ตัวตั้งของชีวิตคือความทุกข์ ไม่ได้แตกต่างจากคำสอนในทางเถรวาทที่เราได้ยินได้ฟังมา  แต่ว่าอาจจะยิ่งเตือนสติให้เราตื่นรู้ชัดเจนขึ้นว่า  การใช้ชีวิตอย่างตื่นรู้และไม่ประมาทนั้น มีความจริงจังและมีความสำคัญมากแค่ไหน

คุณครูตั้มบอกเล่าต่ออีกว่า  ในปัจจุบันโลกของทุนนิยม วัตถุนิยม และเทคโนโลยี ได้ลุกลามมาเยือนเราทั้งหลายจนไม่รู้ว่าจะหนีไปทางไหน แม้แต่ในวัดในวามันก็ไปถึงจนหมดจนสิ้นแล้ว  ประมาณว่าเราจะถอยหนีไปอยู่ที่ใดได้อีก โลกแห่งความฝันโลกแห่งอาริยะ โลกแห่งสังคมอุดมปัญญา กำลังจะถูกเบียดตกขอบไป  จึงอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหนีไปอยู่ในโลกที่ว่า หรือหนีไปอยู่ป่า หนีไปอยู่วัด เพราะในวัดเทคโนโลยีก็ได้ไปถึงแล้ว อาจจะถึงเวลาที่เราทั้งหลายต้องหันกลับมาสู้กับสิ่งเหล่านี้  แทนที่จะหนีมันไปเรื่อยๆ

จะสู้อย่างไร  ก็สู้ด้วยการสร้างจิตตนให้ตื่นรู้ ฝึกจิตฝึกใจตนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับกระแสวัตถุนิยม กระแสความวุ่นวายปั่นป่วนของโลก  ให้เราสามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางไฟแผดเผา ท่ามกลางโลกที่กำลังลุกเป็นไฟในขณะนี้ แน่นอนการจะสู้ได้  เราต้องฝึกที่จะเป็นนักรบ  นักรบที่ฝึกจิตฝึกใจให้กล้าแกร่งในอันที่จะต่อกรกับความโลภ ความโกรธ ความหลง ความทุกข์ความเศร้านาๆประการที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา    เราจึงต้องตื่นรู้อยู่ตลอดเวลาที่จะต่อสู้ และแน่นอนว่า เราไม่ได้ไปต่อสู้กับใครที่ไหน แต่เราต้องต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเราเอง   หลักการก็ยังเป็นการฝึกจิตฝึกใจของเราเอง ไม่ได้ไปฝึกอะไรที่อยู่ข้างนอกนั่น

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า หลังกลับมาจากงานภาวนา เราหลายๆคนรู้สึกว่าได้กลายเป็นนักรบไปเสียแล้ว  แถมต่างตระหนักรู้ถึงศักยภาพบางอย่างในตัวเองว่า จะสามารถฝึกจิตฝึกใจเข้าสู่ภาวะตื่นรู้ได้ไม่มากก็น้อย

ส่วนข้าพเจ้าก็แอบคุยเล่นๆ กับกัลยาณมิตรว่า  เมื่อชีวิตต้องยืนอยู่บนคมดาบ แถมก็ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้ชีวิตจะเป็นอย่าง ก็จะขอเลือกยืนอยู่บนคมดาบแบบมีความสุขสักเล็กน้อย  เมื่ออดีตก็ไม่น่าจะนำมาคำนึงถึง อนาคตก็ยังไม่อาจรู้ก็จะขอยืนอยู่กับปัจจุบัน  ในขณะที่เท้าอาจจะมีความเจ็บปวดกับคมดาบ แต่ก็จะขอมีความสุขกับการได้มองเห็นฝูงนกขยับปีกบินไปบนท้องฟ้า มีความสุขกับการมองเห็นหยดน้ำค้างเล็กๆ บนต้นไม้ใบหญ้าที่ส่องประกายระยิบระยับยามต้องแสงอาทิตย์ยามเช้า  จะเป็นไรไปถ้าเราจะรู้จักมีความสุขด้วยในขณะที่ชีวิตยังเต็มไปด้วยความทุกข์  แทนที่จะจมอยู่กับความทุกข์ เราก็ควรจะมีความสุขบ้าง  แต่ขอให้เป็นความสุขแบบง่ายๆ และไม่ต้องไปวิ่งแสวงหาที่ไหน

แม้โลกจะเป็นอย่างไร  เลวร้ายแค่ไหน คำสอนของหลวงปู่ติชก็ดังก้องขึ้นมาในจิตใจว่า  ถ้าคิดจะมีความสุขก็จงมีความสุข ณ.ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ( แม้ขณะที่กำลังยืนอยู่บนคมดาบนี่แหละ )

 

คำสำคัญ (Tags): #วัชรยาน
หมายเลขบันทึก: 204397เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

good morning ya

ไปภาวนาครั้งนี้...พี่ก็รู้สึกสนุกเช่นกัน :D

Good morning ค่ะพี่เกียว

ขอบคุณมากๆ ที่แบ่งปันรูปเจ้าโบ้ให้ชมใน Blog. ค่ะ 

โห พี่ รูปประกอบเข้ากั๊นเข้ากัน

ไว้ว่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังเรื่องวัชรยาน

Good morning CC

ที่จริงอยากจะเอารูปคนที่ยืนอยู่บนคมดาบแบบเท้าเปล่าแถมมีเลือดไหลซิบๆ เพราะโดนมีดดาบบาดให้เห็นกันจะๆ มาลง แต่กลัวว่าจะสยดสยองและไม่ผ่าน กบว. หุ หุ ก็เลยเลือกรูปแม่นางเซียวเหล่งนึ่ง ยืนอยู่บนมีดดาบกับเอี๊ยก้วยมาลงแทน จะได้ดูไม่น่ากลัวสักเท่าไหร่

สำหรับเรื่องของวัชรยาน สงสัยต้องให้ CC ช่วยเล่ามากกว่า เพราะเรื่องราวของวัชรยานไม่ค่อยรู้อะไรมากมายนัก ตอนนี้ยังเป็นนักเรียนฝึกหัด หรือประมาณนักเรียนชั้นอนุบาลมากกว่า แต่พี่มีเรื่องเล่าแบบรวมฮิต บางทีอาจจะเขียนเล่าบ้างเร็วๆนี้

เอาล่ะสิ เข้าบล็อกตัวเก่าไม่ได้ เพราะลืมรหัสผ่าน

เอามาเขียนในบล็อกพี่ยาละกันนะ

เช้ามืดวันหนึ่งในช่วงภาวนาที่เชียงใหม่ แอบไปส่องดูหนังสืออาจารย์ตั้ม

เห็นแต่ตรงสันปก ชื่อหนังสือว่า Indestructible Truth:The Living Spirituality of Tibetan Buddhism น่าสนใจดี ไม่รู้ใครเขียน

กลับจากเชียงใหม่ รู้สึกยังเบลอ ๆ กับวัชรยาน เลยหาดูหนังสือของอาจารย์ของอาจารย์เราซะหน่อย เผื่อจะหามาอ่านแก้ความมึน

เคาะชื่อ Reginald Ray เข้าไป อะฮ้า หนังสือเล่มข้างบนก็โผล่ออกมาเป็นเล่มแรกเลย ดูเนื้อหาแล้วน่าสนใจมาก เป็น Introduction ศาสนาพุทธธิเบตที่ดี

เอาละวะ ซื้อมาอ่านหน่อย

สนุกค่ะ สนุก โดยส่วนตัวคิดว่าการมีพื้นฐานความรู้และการปฏิบัติแบบทางเถรวาทช่วยให้อ่านหนังสือเข้าใจง่ายขึ้น แต่หนังสือก็จบลงที่พุทธมหายานเท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงวัชรยานจริง ๆ จัง ๆ แม้จะมีแทรกอยู่บ้างนิดหน่อย (นิดหน่อยจริง ๆ ) อาจารย์เรย์บอกขอเชิญเดินทางต่อด้วยการอ่านหนังสือภาค 2 Secret of the Vajra World

ไว้ว่าง ๆ มาเขียนเล่าเรื่องใน Indestructible Truth สู่กันฟังค่ะ

Dear CC

อย่าลืมนำมาแบ่งปันเด้อ  จะรออ่าน แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้วนะเนี่ย Indestructible Truth

ที่สำคัญอยากให้เปิด blog. ใหม่อีกสักครั้ง จะได้นำเรื่องดีๆมาแบ่งปันกันในวงกว้าง เป็นประโยชน์และได้บุญด้วยเน้อ ขอบอก

 

ระหว่างนั่งรอล้าง Gastroscope

มาสิง ๆ blog ชาวบ้านละกันพี่ เดี๋ยวเปิดใหม่ก็ลืมรหัสอีก อิอิ

blog multiply กับ hi5 เพิ่งเปิดไปแหม็บ ๆ ก็ลืม ๆ ไปแล้ว

ใน Indestructible Truth บทแรก ๆ อาจารย์ Reggie เล่าถึงความเชื่อพื้นฐานทางศาสนาพุทธของชาวธิเบต (ซึ่งเป็นความจริงสำหรับผู้ที่เข้าถึง ) เกี่ยวกับภพภูมิต่าง ๆ 6 ภพภูมิ ( Six Realms ) คือ Hell, Hungry Ghosts, Animals, Human, Demi-Godsและ Gods สำหรับชาวพุทธไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน แขก ฝรั่ง เราคิดว่าก็ล้วนมีความเชื่อเช่นนี้เหมือนกัน เพียงแต่ Demi-Gods ตามความเข้าใจของเรา แปลเป็นไทยน่าจะหมายถึงอสุรกาย ส่วน Gods นั้นเข้าใจว่าหมายรวมทั้งเทวดาและพรหม สำหรับชาวตะวันตกความเชื่อเช่นนี้อาจจะรับได้ยาก เพราะนอกจากมนุษย์และสัตว์แล้ว ภพภูมิอื่นนั้นไม่อาจมองเห็นด้วยตาหรือใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ตรวจวัดได้ ความคิดความเชื่อพื้นฐานอื่น ๆ ที่เหมือนกันคือ มนุษย์เป็นภพภูมิที่ประเสริฐสุดในอันที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความรู้แจ้ง

อาจารย์เรย์ยังได้เล่าถึงการที่ศาสนาพุทธเข้ามาสู่ธิเบต ผ่านทางอินเดีย จากท่านมหาสิทธาทั้งหลายที่ปฏิเสธชีวิตในกรอบของสถาบันวัด อย่างที่อาจารย์ตั้มเล่าให้ฟัง ท่านเหล่านี้ปลีกตัวไปใช้ชีวิตตามป่าเขา เจริญสมาธิภาวนากันเป็นปี ๆ บางท่านก่อนปลีกวิเวก ก็เป็นพระที่บวชเล่าเรียนในวัด มีภูมิความรู้สูง อย่างท่าน Naropa เองนั้น ก็เป็นพระผู้ใหญ่ระดับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยนาลันทา ก่อนที่จะมีนิมิตประหลาดชักจูงให้ท่านออกจากวัดไปตามหาอาจารย์ที่จะถ่ายทอดวิธีการสู่ความหลุดพ้นด้วยวิถีทางของวัชรยาน

ล้างกล้องเสร็จพอดี ว่าง ๆ มาโม้ต่อค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท