วางแผนพัฒนาคุณภาพโดยใช้ O-NET : โรงเรียนปากเกร็ด


การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทราบจุดยืนของเราในวันนี้ เพื่อการวางแผนพัฒนาในระยะต่อไป ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักบริหารมืออาชีพ

วันนี้ไปเป็นวิทยากรในการประชุมปฏิบัติการเพื่อวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของโรงเรียนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  รู้สึกชื่นชมในความมุ่งมั่นของท่านผู้อำนวยการ ธนสิทธิ์  ศิริวรธรรม ที่นำแนวคิดในการวิเคราะห์สถานะภาพของโรงเรียน โดยใช้ผลการสอบ O-NET(ชั้น ม.6)    NT(ผลการสอบระดับชาติ ชั้น ม.3)     และ LT(ผลการสอบระดับท้องถิ่น ที่ดำเนินการโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระดับชั้น ม.2)  มีการคำนวณค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้(X)  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(SD)   สัมประสิทธิ์การกระจาย(C.V.) แล้ว Plot Graph จำแนกคุณภาพกลุ่มสาระการเรียนรู้  เมื่อครูทุกคนมองเห็นแล้วว่า กลุ่มสาระตนเองอยู่ในกลุ่มคุณภาพระดับใด เช่น ระดับดีมาก(ภาษาไทย  สุขศึกษา  การงาน  และ ศิลปะ)    ระดับดี( สังคมศึกษา)  และระดับปานกลาง( คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ)  ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษาตัวอย่างกราฟที่ 

         http://gotoknow.org/file/pibool_kurupatana/view/177372 

ในการประชุมช่วงบ่าย จะเป็นการสัมมนาระดมสมองเป็นรายกลุ่มสาระ เพื่อวิพากษ์สาเหตุของปัญหา และกลยุทธ์แนวทางการแก้ปัญหา หรือวางแผนพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศต่อไป  โดยมีการตั้งเป้าว่า  “จะต้องก้าวสู่การเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพชั้นนำ 100 อันดับแรกของประเทศให้ได้ ในปี 2551”

จากการเห็นความมุ่งมั่นของครู-อาจารย์แล้ว  ผมเชื่อว่า ในปี 2551 ....ถ้าโรงเรียนแห่งนี้ไม่ติดอยู่ในกลุ่มคุณภาพ 100 อันดับแรกของประเทศไทย ก็จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นนอน

หมายเลขบันทึก: 182467เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

อาจารย์ครับผม download กราฟไม่ได้ระบบแจ้งว่าต้องใส่ username กับ password ไม่ทราบว่าจะมีวิธีอื่นไหมครับ

คุณจิรเมธ

  • เปิดดูได้ใช่ไหมครับ
  • ลองใส่ Username และ pw ของ G2K น่าจะได้

พรุ่งนี้ผมจะไปบรรยายเรื่องนี้ให้โรงเรียนสตรีนนทบุรี เลยขออนุญาตนำกร๊าฟนี้ไปเผยแพร่ เป็นทางเลือกในการวิเคราะห์เพื่อหากลยุทธ์พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างเป็นระบบครับ ขอบคุณมากครับ แล้วจะติดตามต่อไป

  • ขอบคุณครับ ที่จะขยายผลต่อ
  • ผมได้เสนอแนวคิดนี้ในที่ประชุมหลายระดับ ทั้งกับ ผอ.สพท ทั่วประเทศ และที่ประชุมตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ แต่ยังไม่เจอที่ใด เป็นรูปธรรม
  • ในทันที่ที่เสนอแนวคิดนี้ ในที่ประชุมกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อ 2 เดือนก่อน  ปรากฏว่า ท่านธนสิทธิ์(ผอ.ร.ร.ปากเกร็ด) เป็นผู้ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างรวดเร็วมาก ทำให้ผมได้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ครับ

ท่านดร.สุพักตร์ครับ ที่แม่ฮ่องสอน เขต 1 เราก็ใช้กระบวนการเดียวกันในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่สำคัญเราให้โรงเรียนกำหนดเป้า โดยวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยของโรงเรียนเทียบกับค่าเฉลี่ยของระดับเขตฯและระดับประเทศ ทั้งนี้ให้โรงเรียนร่วมกันวิเคราะห์ตัดสินใจว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพในกลุ่มสาระนั้นได้เท่าใดในปี 51 แล้วกำหนดเส้นพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพและไปให้ถึงเป้าหมายนั้น บางโรงเรียนวิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคล บางโรงเรียนวิเคราะห์เป็นรายห้องเรียน ในการขับเคลื่อนศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบโรงเรียนก็จะเข้าร่วมคิด ร่วมทำ เสนอแนะในแนวทางแก้ไข เช่น การออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด ซึ่งเป็นทางแก้หนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าทางแก้อื่น เป็นต้น อาจารย์เก

  1. ขอบคุณมากครับท่านอาจารย์เก ที่ให้ข้อมูล ผมจะได้มีตัวอย่างมากขึ้น ในการยกตัวอย่างในโอกาสต่อไป
  2. หลังจาก ร.ร.มีการต้งเป้าและคิดกิจกรรมพัฒนาแล้ว ปีหน้า เราน่าจะสังเคราะห์ สรุปเป็นบทเรียนนะครับว่า ร.ร.ใดทำได้ หรือ ทำไม่ได้ เพราะเหตุผลใด(บางโรงเรียนอาจไม่สูงขึ้น เพราะมีปัจจัยมากระทบหลายตัว)

สวัสดีครับ ท่าน ดร.สุพักตร์

หลังจากได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านเมื่อคราวการประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่นนทบุรี เขต 2 (11 มิถุนายน) ผมนำBlog ของท่านที่เขียนถึงการวางแผนพัฒนาคุณภาพ โดยใช้ O-NET, NT, LT ของโรงเรียนปากเกร็ด มาติดที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ คุณครูชื่นชมท่านมากครับ

เวลานี้ผมขยายผลและเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปอีกระดับหนึ่งครับ ผมประชุมนิเทศท่านหัวหน้าและรองหัวหน้าลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ผลลงลึกถึงแต่ละระดับชั้นเรียน และของคุณครูแต่ละท่าน มีการให้ระดมพลังสมองเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาตามบริบทของแต่ละกลุ่มสาระฯ ครับ ที่สำคัญผมนำเรื่องการสร้าง"ห้องเรียนคุณภาพ" เข้ามาผนวกรวมขับเคลื่อนไปในคราวเดียวกันเลยครับ งานท้าทายครับ เหนื่อยและหนักหนาพอสมควรแน่นอน แต่ผมจะมุ่งมั่น

โอกาสต่อไปจะเขียนมาคุยกับท่านอีกนะครับ

*** ระลึกถึงท่านครับ ***

เรียน ผอ.ธนะสิทธิ์

  • ดีใจมากที่ท่านเข้ามาเยี่ยม
  • "ห้องเรียนคุณภาพ" น่าจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียน
  • ถ้าอาจารย์ประจำชั้น ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ปกครอง ประสานงานและดูแลเด็กอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่า "เด็กจะเกิดการพัฒนาในทุก ๆ ด้านแน่ ๆ"  ค่าเฉลี่ย NT น่าจะสูง และ CV น่าจะต่ำลงแน่ ๆ
  • ผมเองมีความเชื่อว่า "อาจารย์ประจำชั้น คือ บุคคลสำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน"  หากทุกห้องเรียน ดูแลเด็กอย่างจริงจัง และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเล่าสู่กันฟังระหว่างห้องเรียนเป็นระยะ ๆ(นิเทศ) โรงเรียนน่าจะเป็นเลิศได้ ในที่สุด
  • แล้วจะคอยชื่นชมความสำเร็จของคณาจารย์โรงเรียนนี้ครับ
มะลิวัลย์ หล่อสกุล

ทราบผลการสอบ LT ชั้นป.5 ของโรงเรียนแล้วอยากร้องไห้ เพราะต่ำเหลือเกิน ไม่สมกับที่ตั้งใจสอนไว้เลย สอนด้วยกิจกรรมการคิดวิเคราะห์ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ จัดหาจัดทำแบบฝึกที่สนองตอบต่อการคิดวิเคราะห์ แต่ก็ไม่ได้ดังใจท้อแท้ใจมาก ข้อสอบ LT แต่ละ สพท.เหมือนกันหรือไม่คะ มีความรู้สึกว่าข้อสอบยากไปสำหรับเด็กโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ บางครั้งอยากจะลองนำข้อสอบมาวิเคราะห์เหลือเกินค่ะ จะลองพยายามนำข้อบกพร่องในปีนี้ไปพัฒนาใหม่ปีหน้า

อ.มะลิวัลย์

  • ไม่ควรจะท้อใจนะครับ เป็นเรื่องปกติ(เป็นเรื่องท้าทายด้วยซ้ำ) มีตัวแปรแทรกซ้อนได้มากมาย ลองหาสาเหตุ แล้วสร้างนวัตกรรมใหม่ ในปีต่อไป   ถ้าเป็นตัวแปรความตั้งใจหรือความร่วมมือของนักเรียน จะต้องชี้แจง หรือสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อให้เขาสอบอย่างเอาจริงเอาจัง(บางครั้ง ที่ผ่านมา เด็ก เข้าสอบแบบเล่น ๆ ไม่ตั้งใจทำข้อสอบ)
  • ที่บอกว่าต่ำมาก หมายถึงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเขตพื้นที่หรือ หรือว่าพิจารณาจากร้อยละ โดยเทียบกับคะแนนเต็ม

ขอบคุณค่ะสำหรับคำตอบ วันนี้เห็นผลสอบฉบับเต็ม ๆ (วันก่อนฟังจาก ผอ.แค่คะแนนต่ำทางโทรศัพท์ค่ะ)เลยวิตกกังวลไม่กลัวจะถูกตำหนิหรือมีผลกระทบเพราะจะได้รับสิ่งตอบแทนอะไรหรอก เพียงแต่กังวลใจตำหนิตัวเองว่าสอนนักเรียน ถ่ายทอดให้พวกเขาไม่เข้าใจหรืออย่างไร จะหาวิธีการอย่างไรดีในปีหน้าเพราะได้ทำทั้งสอนด้วยเกม สอนด้วยอินเตอร์เน็ต ดูดีวีดี ฝึกทำข้อสอบทางเน็ต สร้างแบบฝึกหัด ทำให้คิดได้ว่าวิธีการเหล่านั้นอาจไม่ดีพอ ได้วิเคราะห์ผลการสอบอย่างถ้วนถี่ พิจารณาจากค่าเฉลี่ยร้อยละ เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของเขตพื้นที่ เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยปีที่ผ่านมา ทำกราฟเปรียบเทียบปรากฎว่าคะแนนค่าเฉลี่ยร้อยละสูงกว่าปีก่อนยกเว้นวิชาภาษาไทยที่ลดลงเล็กน้อย แต่ค่าเฉลี่ยร้อยละยังไม่เป็นที่น่าพอใจต้องได้รับการพัฒนา พิจารณาคะแนนรายบุคคลปรากฎว่านักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ (LD) จำนวน 2 คนในห้องเรียนกลับได้คะแนนแต่ละวิชามากกว่าเด็กปกติ เป็นที่น่าแปลกใจมากเป็นเช่นนี้มา 2 ปีการศึกษาแล้วค่ะ ปีการศึกษาหน้าจะลองวิธีการสอนใหม่ ๆ ขอบคุณค่ะ ไม่ยอมแพ้อยู่แล้วจ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท