สอบเอนทรานซ์ได้...แต่ต้องฆ่าตัวตาย...ตายยกครอบครัว


พ่อ-แม่ ชุมชน อปท. สถาบันอุดมศึกษและ สทศ. จะต้องวิเคราะห์ปัญหา และสาเหตุของปัญหา ในเรื่องเด็กฆ่าตัวตายในช่วงการสอบเอนทรานซ์ กันอย่างจริงจัง และต้องร่วมกันหาทางออกในปีต่อไป อย่าปล่อยให้เกิดการตายแบบยกครัวอีกเลย

 

       อ่านข่าว วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม 2551 นายจิราวัฒน์ เลิศกุลอุยไพศาล  นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์  ได้สมัครสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยและได้รับคัดเลือกแล้ว แต่นักเรียนยื่นสละสิทธิ์และได้ยื่นสมัครในระบบเอนทรานซ์กลาง โดยเลือก ม.เกษตรศาสตร์ ปรากฏว่าช่วงคะแนนที่ตนเองทำได้ อยู่ในช่วงที่มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือก แต่ไม่ปรากฏชื่อว่าได้รับการคัดเลือก ติดต่อใครก็ไม่ได้ ไม่รวดเร็วทันใจ ในที่สุดก็ตัดสินใจ ยิงตัวตาย

 

ข่าววันนี้(19 พ.ค.2551)  ปรากฏข่าว นักเรียน ม.6 โรงเรียนสิงห์บุรี  น.ส.สุขชญา แก้วสมชาติ   ผูกคอตาย ด้วยสาเหตุคือเครียดไม่มีทุนเรียนต่อ หรือไม่มีเงินค่าลงทะเบียน 25,000 บาท โดยพ่อแม่เสนอว่า ค่อยสอบใหม่ ปีหน้า (ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยศิลปากร)

       อ่านทั้ง 2 ข่าว แล้วเศร้าครับ  กรณีนี้ ไม่ใช่เด็กเท่านั้นที่เสียชีวิต พ่อ-แม่  ปู่ ย่า ตา ยาย ผมคิดว่า ตายทั้งเป็นแบบยกครอบครัว  ถ้าเป็นครอบครัวเรา เราจะทำอย่างไร  ผม ภรรยา และญาติ คงตายทั้งเป็นแบบยกตระกูล เช่นกัน

 

       สาเหตุของเรื่องนี้ อยู่ที่ไหน  อาจเป็นเพราะ

1)    เด็กขาดความสามารถในการเผชิญปัญหา ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้

2)    ไม่มีองค์กรที่สามารถปรึกษาได้แบบเร่งด่วน เมื่อมีความเครียดในชีวิต (หรือถ้ามี เด็กก็ไม่ทราบ)

3)    ระบบแนะแนวในโรงเรียน ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง  เด็กไม่รู้ว่า มีทุนการศึกษา/มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ไม่รู้ว่า ในมหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาที่มากพอเกือบทุกมหาวิทยาลัย

4)    ระบบเฝ้าระวังในหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต โดยพ่อ แม่ ชุมชน หรือท้องถิ่น ไม่มีประสิทธิภาพ

5)    มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในฐานะหน่วยรับ(รวมทั้ง สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ สทศ.) ไม่มีการการวิเคราะห์ความเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยง  ประเด็นวิกฤติ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการสอบคัดเลือก เราจะได้ร่วมกันป้องกัน หรือเฝ้าระวังกันอย่างเป็นระบบ(มหาวิทยาลัยควรบอกด้วยซ้ำว่า  สำหรับนักเรียนที่สอบเข้าเรียนได้ หรือไม่ได้ หรือมีข้อสงสัยใด  สำหรับมหาวิทยาลัย.... ให้ติดต่อที่คณาจารย์/เจ้าหน้าที่ ดังรายชื่อต่อไปนี้คือ...)

 

 

ผมอยากให้ พ่อ-แม่  ชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สถาบันอุดมศึกษา  สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หันมามองปัญหาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง วิเคราะห์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละปี แล้วกำหนดบทบาทว่า ในช่วงประกาศผลการสอบเช่นนี้ หรือช่วงเปิดเทอมใหม่ เช่นนี้ ปัญหาอะไรอาจเกิดขึ้นได้บ้าง  และมีทางออกอย่างไรได้บ้าง  หลังจากนั้น ทุกฝ่ายก็ต้องคอยระวัง

 

       ขอให้ใช้ 2 กรณีนี้ เป็นบทเรียนสำหรับทุกคน  ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายเถิด อย่าให้เกิดขึ้นอีกเลย  สำหรับจังหวัดนนทบุรีแล้ว เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจและจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ที่ผมจะนำไปหารือกับเครือข่ายผู้ปกครอง ผมจะพยายามหาทางสัมมนาเพื่อพูดคุยเรื่องเหล่านี้กับผู้ปกครองและโรงเรียนทั้งจังหวัด(ถ้าผมมีโอกาส)  ผมอยากเห็นสังคมแบบเอื้ออาทร  อย่างเช่นปัญหา ขาดเงินลงทะเบียนเรียน เพียง 25,000 บาท ผมเชื่อว่า เพียงแค่ชาวนนทบุรี ร่วมกันทำบุญวันเกิดคนละ 100 บาท ต่อปี ก็จะมีทุนให้เด็กนักเรียน-ลูกหลานชาวนนท์ได้เรียน ประมาณ 80 ล้านบาท ต่อปีแล้ว   ทุกคนในสังคม ต้องมีแนวคิด เรื่อง ลูกตัวเอง   ลูกห้องเรียน   ลูกในซอย  ลูกในชุมชน  เราดูแลลูกเราได้ดีเพียงคนเดียว แต่ลูกชาวบ้านไปไม่รอด  อย่าวังเลยว่าลูกเราจะอยู่รอดในสังคม

 

หมายเลขบันทึก: 183230เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2008 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เฮ้อ .. เศร้าแทนจริงๆค่ะ เขาขาดความสามารถในการแก้ปัญหาก็เป็นอีกเรื่องที่เด็กในสังคมเดี๋ยวนี้น่าเป็นห่วง

หากว่าเค้าผ่านจุดสอบเข้าเรียนได้แล้ว ถึงเวลาทำงานจริงๆ ตกงานอีกเค้าจะแก้ปัญหาได้ไหมเน้อ...

ฟังข่าวแล้วค่ะ....ก็ภาวนาเหมือนอาจารย์ค่ะ...ขอให้เป็นกรณีสุดท้าย...ตอนนี้ครอบครัว โรงเรียน และสังคมคงต้องมามาเร่งสร้างทักษะการแก้ปัญหา หรือทักษะการมองโลกอย่างเข้มแข็ง (คำนี้ได้มาจากการเรียนร่วมกับครูผู้สอนแนะแนว) ด้วยภาวะสังคมบ้านเราตอนนี้ มีปัญหารุมเร้าหลายด้าน...คงต้องทำให้เยาวชน "คิดเป็น" และ "มีความสุขในการดำรงชีวิตตามหลักความพอเพียง"

  • ผมไปแสดงความเสียใจไว้แล้วที่บันทึกหนึ่งเมื่อช่วงเช้า
  • ท่านครับ ให้ช่วยอะไรไหมครับ ผมไม่อยากเห็นอีกครับ
  •  ขอบคุณค่ะ เป็นแนวคิดที่ดีมากค่ะอาจารย์

  •  อันนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่เราต้องตระหนัก และเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข ดิฉันเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องความคิด จิตวิญญาณ ความเป็นอยู่ของคนที่ขาดโอกาส ทั้งด้านความรู้ ความคิด การตัดสินใจแก้ปัญหา และ ปัญหาปากท้อง เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมนี่สำคัญมาก

  •  บางครั้งเราไปส่งเสริมทุ่มเงิน ในสิ่งที่ไม่จำเป็นได้  ในด้านการศึกษา หลายครั้งเห็นงบวิจัยฯ บางทีใช้ในสิ่งที่เกิดประโยชน์ไม่เต็มที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดเพราะ "คุณภาพของคน"

  • ปัญหาเกิดได้เสมอ  บางครั้งปัญหาเกิดกับคนอื่น เราอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย   แต่ถ้าเมื่อไรที่เกิดกับเราปัญหาเล็กน้อย ก็ใหญ่โตขึ้นมาได้   เพียงเราเข้าใจกันนะคะ   เอาใจเขามาใส่ใจเรา .. ช่วยเหลือกันไม่ซ้ำเติมกัน  แก้ไขกันไป โลกคงสันติสุขขึ้น

  • หลายครั้งคนที่ได้รับโอกาสดี ไม่ว่าจะด้านวัตถุเงินทอง การศึกษา ฯลฯ  กลับไม่ได้เล็งเห็นความทุกข์ของเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายฯ

  •  "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ตราบใดที่คนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมรอบกายเราไม่ดี เราก็ไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้...การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน และจิตใจที่ดีงามเท่านั้น ที่จะยังโลกนี้ให้สดใส และเข้าสู่สันติสุขได้"

เรียน  คุณแก่นจัง และคุณ Noktalay  นายทอง และ อ.ปทุมารียา

  • ความสามารถในการเผชิญปัญหา ความสามารถในการแก้ปัญหา ก็คงจะเป็นสาเหตุสำคัญ ประการหนึ่งครับ ซึ่งจะต้องเน้นเป็นพิเศษและฝึกกันอย่างจริงจัง ในอนาคต
  • ปัจจัยอื่น ๆ จะต้องได้รับการปรับปรุง-แก้ไข ด้วยครับ
  • เราจะต้องวิเคราะห์ความเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยง และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ในช่วงการสอบ หรือประกาศผลสอบ ด้วยครับ แล้วทุกฝ่ายต้องคอยเฝ้าระวัง และร่วมแก้ปัญหา
  • เด็กคนแรก ได้พยายามติดต่อผู้เกี่ยวข้องแล้ว ผมคิดว่า "เด็กคงจะรู้สึกว่า ทุกคนเฉย ๆ นะครับ  ไม่มีใครเป็นทุกข์ร้อน"  ส่วนเด็กคนที่ 2  ผมคิดว่า เด็กไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในเรื่องทุนการศึกษา(บวกกับ ขาดความสามารถในการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง)
  • ผมเชื่อว่า เรื่องนี้ น่าจะแก้ไขได้ ถ้าทุกคนตระหนัก อย่างที่ คุณปทุมารียา ปรารภ ข้างต้น

เรียน นายทอง

  • ผมเปิดมาอ่านความคิด ทบทวนเรื่องนี้ อีกครั้งหนึ่ง ประจวบกับคำพูดของท่านที่ว่า "จะให้ช่วยอะไรไหมครับ ไม่อยากเห็นเหตุการณ์เช่นนี้อีก" ผมจึงได้ไปลงปฏิทินการปฏิบัติงานส่วนตัว ใน "ปฏิทิน Google ของ ดร.สุพักตร์ ประจำปี 2552" ว่า ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธุ์ 2552 เราจะต้องกระตุ้น ให้กระทรวงศึกษาธิการ สกอ. มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สทศ. รวมถึงกรมสุขภาพจิต ให้วางแผน เตรียมการ และสร้างกลไกเพื่อป้องกันปัญหานี้ ไม่ให้เกิดขึ้นในปี 2552 อีกต่อไป
  • กลไกการกระตุ้นของเรา อาจใช้ผ่านระบบสื่อสารอินเตอร์เน็ตก็น่าจะได้ หรืออย่างใน เว็บไซด์ G2K ถ้าทุกคนช่วยเขียนและกระจายข่าวให้ถึงหูของผู้เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งครับ ที่เราจะสามารถร่วมป้องกันปัญหานี้ได้ หรือ
  • ในช่วงดังกล่าว เราอาจเปิดตัวเป็นสื่อกลาง มี www กลาง ให้คำปรึกษากับเด็กที่เครียด กลุ้มใจ หรือหาทางออกในชีวิตไม่ได้ ในช่วงเวลานั้นก็น่าจะได้ครับ หรือค่อยหารืออีกทีว่าจะมีทางเลือกอื่นใดบ้าง
  • นายทองกับผม ค่อยประสานงานและร่วมมือกันอีกครั้งนะครับ เมื่อถึงเวลาตามปฏิทิน ตอนนี้เราคอยขายความคิดเรื่องนี้กันไปพลาง ๆ ก่อน นะครับ
  • สวัสดีครับ ดร.สุพักตร์ ผมส่งเมล์ไปหาท่านด้วยแล้วนะครับ
  • ผมยินดีที่จะร่วมขบวนการด้วยครับ และอยากเริ่มเลยครับ เอาเท่าที่ทำได้ด้วยทุนเดิมที่เรามี ๆ กันอยู่แล้วนี่แหละครับ

เรียน นายทอง

  • หรือค่อยหารืออีกทีว่าจะมีทางเลือกอื่นใดบ้าง
  • ตอนนี้ นายทองคิดว่า เราน่าจะเริ่มต้นกิจกรรมอะไรดีละครับ  ผมเองยังนึกไม่ออก ขณะนี้ ได้แต่พูดกระตุ้นเรื่องนี้ ในที่ประชุม ในการบรรยายทั่วประเทศ ในอีกไม่ช้า ถ้าผมได้เจอกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ผมก็จะย้ำเรื่องนี้อีก เป็น 1 ใน จำนวนประเด็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในใจผม(List of Critical Issues)

ท่านดร.สุพักตร์ครับ ข้อคิดเห็น รวมทั้งแนวคิดของท่านดีมากเลยครับ ผมเห็นด้วยทุกประการ ผมพยายามจะบอกสังคมว่า สภาพทางสังคมของเราส่วนหนึ่งมันล้มเหลว ล้มเหลวเพราะเราไม่ดูแลเด็กในเชิงระบบเช่นต่างประเทศ ประจวบกับเด็กของเราไม่แกร่งพอขาด EQ และมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าค่อนข้างสูง มันทำให้สะท้อนให้เห็นสะภาพทางเศรษฐกิจ และกระบวนจัดการเรื่องเด็กของประเทศเราด้วย ทราบว่าหลังจากเกิดเหตุหลายๆตัวอย่าง รัฐ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ได้เปิดสำนักคล้ายๆเป็นที่ปรึกษาของเด็กกรณีมีปัญหาเรื่องการศึกษาต่อเช่น ขาดเงินทุนเป็นต้น ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ที่เราควรช่วยกันดูแลเด็กของเรา ในจังหวัด อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน ผมเชื่อว่าคนไทยใจดี และพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพียงแต่ เราขาดการแชร์ปัญหาให้กันและกันและขาดผู้นำในการจัดการ เท่านั้นเอง ขอบพระคุณมากครับ อาจารย์เก

สวัสดีครับ อาจารย์เก

  • ขอบคุณมากครับที่เข้าไปเยี่ยม และยืนยันความคิดเห็น
  • เราจะต้องช่วยกันนะครับ ช่วยลงปฏิทินไว้ด้วยนะครับว่า    วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 เราจะต้องเริ่มประสานงาน หรือรณรงค์ในเรื่องนี้ อย่างจริงจัง  เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทุกโรงจะต้องเตรียมการป้องกัน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องจัดองค์กร หรือคิดกิจกรรมป้องกัน เช่นกัน...ช่วยกันนะครับ

สวัสดีคะ อาจารย์สุพักตร์

ก้ามปูตามมาจากบันทึกอาจารย์เกคะ และ ได้แลกเปลี่ยนในของอาจารย์เกไว้ว่า  ก้ามปูคิดว่าเป็นส่วนที่เรา ต้องช่วยกันทุกหน่วยงานและทุกสถาบันเลยคะก้ามปูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับชุมชน ในประเด็นการศึกษาขับไล่เราออกจากชุมชน จากการที่  รูปแบบการศึกษาที่ไม่ได้ เอาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาช่วยต่อยอดในเรื่องการศึกษาก้ามปูคิดว่าส่วนนี้ก็เป็นส่วน สำคัญเหมือนกันนะคะ 

  แต่เมื่อมาอ่านบันทันทึกอาจารย์ เหมือนกับว่าอาจารย์ ไปแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเลยคะ หากเป็นเช่นนั้นดีจังเลยนะคะ

สวัสดีครับ คุณก้ามปู

  • ในประเด็นการศึกษาขับไล่เราออกจากชุมชน จากการที่  รูปแบบการศึกษาที่ไม่ได้เอาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาช่วยต่อยอด

        ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณก้ามปูในประเด็นนี้นะครับ ได้เคยพยายามเขียนถึงเรื่องนี้แล้ว ที่ http:// gotoknow.org/blog/sup001/178244

  • สำหรับในเรื่องเด็กฆ่าตัวตาย ผมมองที่ "ระบบเฝ้าระวังของสังคม"  โดยเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน(ในปีต่อ ๆไป) 
  • ขอบคุณมากครับ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ 1 ก.พ.2552 เราจะร่วมมือกันกระตุ้นสังคม หรือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้หันมาป้องกันปัญหานี้นะครับ คุณก้ามปูช่วยด้วยนะครับ

สวัสดีคะ อาจารย์ ก้ามปู ยินดี และดีใจที่อาจารย์ชวนคะ ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่งคะ

  • เอาเป็นว่า เราจะเริ่มรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายคอยเฝ้าระวังปัญหารนี้ เริ่มตั้งแต่  1 ก.พ. 2552 เป็นต้นไปนะครับ คุณก้ามปู

อยากเข้าร่วมด้วยกับอาจารย์ค่ะ จะให้ช่วยยังไงค่ะดิฉันอยู่ประเทศเกาหลีค่ะ ที่นี่ก็มีปัญหานี้เช่นกันแต่ไม่รุนแรงถึงกับฆ่าตัวตายใน 2 กรณีข้างต้นนั้น ถ้าเกิดขึ้นในประเทศเกาหลี ผู้ปกครองจะรวมตัวกันเรียกร้องให้แก้ปัญหา อย่างโดยรวดคะ ซึ่งผลรับออกมาก็เป็นที่น่าพอใจด้วย ดิฉันคิดว่าเราควรรวมตัวกันแบบประเทศเพื่อนบ้านนะค่ะ เพื่อเด็กๆไทยของเรา ดิฉันเองก็ทำงานที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยในเกาหลี และ อบรม วัฒนธรรมไทยให้กล่มเด็กไทยในเกาหลีด้วยค่ะ

คุณกระต่าย

     ขอบคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยม ในปี 2551 ผมได้นำเสนอแนวคิดนี้ในที่ประชุมในประเทศมากกว่า 15 ครั้ง และ เมื่อต้นปี 2552 ก็ได้พยายามให้ข้อมูลไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) ซึ่งผมสังเกต พบว่า เขาระวังมากขึ้น มีการตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาในเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่างจริงจัง และในฤดู Entrance ที่ผ่านมาก็ไม่มีสถิติเด็กฆ่าตัวตาย ในปีนี้ เมื่อถึง ก.พ.2553 เราคงจะต้องส่งข้อมูลและกระตุ้นหน่วยงานต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง(เป็นการเฝ้าระวัง) ผมเองจะพยายามรณรงค์ผ่านเว็บไซด์เล็กๆ ของตัวเองที่ ศูนย์วิชาการเพื่อนครู ในทางเลือกอื่น ๆ ผมเองยังนึกทางออกที่เป็นระบบในเรื่องนี้ได้ไม่ชัดเจนเหมือนกันว่าจะรวมตัวกันอย่างไร เอาเป็นว่า ถ้าผมคิดออกและสามารถทำอะไรที่เป็นระบบมากกว่านี้ ผมจะแจ้งให้ทราบนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท