การส่งเสริมให้มีการนำผลการวิจัยไปใช้


การวิจัยเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างมาก หากได้เพียงข้อสรุป หรือองค์ความรู้ใหม่ แต่ไม่มีการนำไปใช้ ก็ถือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย ไม่คุ้มกับคุณค่าที่ได้ลงทุน ทั้งกำลังเงิน เวลา และกำลังความคิดของนักวิจัย..เรามาช่วยกันส่งเสริมให้มีการนำผลการวิจัยไปใช้กันอย่างจริงจัง จะดีไหม

การวิจัยส่วนใหญ่ เกิดจากความต้องการหรือความอยากรู้ อยากเห็นของนักวิจัย หลังจากดำเนินการวิจัยแล้วเสร็จ ก็อาจมีการเผยแพร่ผลงานวิจัย เช่น จัดทำเป็นบทความวิชาการเผยแพร่ผ่านวารสารต่าง  การนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนา  การมอบหรือให้ไว้สำหรับห้องสมุดเพื่อบริการผู้ที่สนใจ เป็นต้น .....จะอย่างไรก็ตาม มักมีการกล่าวว่า “งานวิจัยส่วนใหญ่มักเก็บไว้บนหิ้ง มีการนำไปใช้น้อยมาก”

การวิจัยเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างมาก  หากผลการวิจัยได้เพียงข้อสรุป หรือองค์ความรู้ใหม่ แต่ไม่มีการนำไปใช้ ก็ถือเป็นการสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย....เรามาช่วยกันคิดดีไหม...ทำอย่างไรจึงจะเกิดการนำผลการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์สมกับคุณค่าที่ได้ลงทุน ทั้งกำลังเงิน เวลา และกำลังความคิดของนักวิจัย

ในที่นี้ ผมจะขอเสนอแนวคิด หรือแนวทางในการส่งเสริม ผลักดันให้มีการนำผลการวิจัยไปใช้ ดังต่อไปนี้

1. ในกรณีของการวิจัยตามความต้องการขององค์กร หรือของหน่วยงานใด ๆ โดยมีการจัดทำ สัญญาจ้างนักวิจัยจากภายนอก(TOR)ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง  ในกรณีนี้ ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ที่ต้องการทราบผลการวิจัยและต้องการนำข้อมูล หรือสารสนเทศจากการวิจัยไปใช้อยู่แล้ว  ปัญหาในเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้จึงไม่น่าจะมีปัญหามากนัก...ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นบ้าง คือ เมื่ออ่านข้อสรุปจากการวิจัยแล้ว ไม่เข้าใจ เนื่องจากสรุปไม่ชัดเจน รวมทั้งข้อเสนอแนะจากการวิจัยก็ไม่คมชัด  ซึ่งทางออกในเรื่องนี้ อาจแก้ปัญหาดังนี้คือ 1) นักวิจัยควรทำการอภิปรายผลการวิจัย และ เสนอแนะทางเลือกในการนำผลการวิจัยไปใช้ในลักษณะที่เป็นทางเลือกหลากหลาย เพื่อหน่วยงานสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายลักษณะ  2) นักวิจัยควรจัดทำบทสรุปสำหรับผู้บริหาร ที่กระชับ อ่านแล้วเข้าใจง่าย เห็นข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม  และ 3) หากเป็นไปได้ ก่อนจบการวิจัย อาจมีการจัดสัมมนาเสนอผลการวิจัยในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งบุคลากรแกนนำขององค์กรผู้ว่าจ้าง ในลักษณะของการจัดสนทนากลุ่ม(Focus Group Discussion)ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ข้อสรุปไปในตัวแล้ว ยังจะสามารถรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการประชุม ทำให้การสรุปผลการวิจัย การอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ฉบับสมบูรณ์มีความคมชัดมากยิ่งขึ้น ด้วย

2. การใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม(Participatory Action Research...PAR)  ในกรณีนี้ นักวิจัย อาจเชิญกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการศึกษา นักวิชาการหรือแกนนำในองค์กรที่ต้องการทราบผลการวิจัย  หรือตัวแทนจากผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาร่วมในฐานะนักวิจัย(เป็นคณะผู้ร่วมวิจัย) หรือเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะ ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เข้าใจกระบวนการวิจัย เข้าใจอย่างลึกซึ้งในผลการวิจัย การอภิปรายผล รวมทั้งข้อเสนอแนะ ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อการนำผลการวิจัยไปใช้

3. การจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้เพื่อการเผยแพร่ผลการวิจัย (ในขั้นของการวางแผนวิจัย) รวมทั้ง องค์กรที่เป็นแหล่งทุนทุนสนับสนุนการวิจัยก็ควรส่งเสริมการกระทำในลักษณะนี้ด้วย

4. การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องหรือน่าจะสนใจผลการวิจัย(Suspect Group) ซึ่งโดยปกติ นักวิจัยมักจะทราบว่า ผลการวิจัยเรื่องนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กรหรือกลุ่มเป้าหมายใดบ้าง ดังนั้น ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เห็นว่าน่าจะสนใจหรือน่าจะได้รับประโยชน์จากการวิจัยโดยตรง ไว้อย่างชัดเจน เมื่อเสร็จสิ้นการวิจัย ควรเผยแพร่ผลการวิจัยไปยังกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น(อาจมีองค์กรกลางทำหน้าที่แทนนักวิจัย เช่น ฝ่าย/ศูนย์ที่ทำหน้าที่แปลงผลิตภัณฑ์หรือผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง หรือ สู่กลุ่มเป้าหมาย)

5. การจัดให้มีตลาดนัดนักวิจัยสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อนำเสนอผลการวิจัยในรอบปี ในกรณีของตลาดนัดในรูปแบบของการประชุมทางวิชาการ ควรมีปฏิทินตลาดนัดอย่างชัดเจนทุกปี เช่น ในสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน ทุกปี(ให้เป็นที่รับทราบตรงกันระหว่างนักวิจัยและผู้สนใจ)

อนึ่ง อาจมีตลาดนัดในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การจัดทำเว็บไซด์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยและผู้สนใจในสาขาวิชาเดียวกัน ผู้สนใจผลการวิจัยใหม่ ๆ ในสาขาวิชาต่าง ๆ สามารถเข้ามาศึกษาได้ที่นี่ ในกรณีนี้ ต้องมีหน่วยงานกลางเป็นผู้ดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)

6. การจัดทำฐานข้อมูลผลงานวิจัยสาขาวิชาต่าง ๆ ไว้ในแหล่งสืบค้นเดียวกัน มีการคัดกรองผลงานวิจัยแล้วรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลเพื่อสะดวกแก่การสืบค้น ซึ่งควรจัดทำในลักษณะฐานข้อมูลเว็บไซด์

อาจจัดให้มีระบบลงทะเบียนสมาชิกผู้สนใจงานวิจัย โดยสมาชิกทุกคนต้องระบุลักษณะผลงานวิจัย หรือสาขาวิชาที่สนใจอย่างชัดเจน เมื่อมีผลงานวิจัยใหม่ ๆ สมาชิกกลุ่มนี้จะได้รับทราบทันที จากระบบเผยแพร่ของหน่วยงานกลาง(เช่น วช.)

7. การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ ส่งเสริมให้องค์กรเป็น“องค์กรแห่งการเรียนรู้” ที่มีการบริโภคผลงานวิจัยประกอบการตัดสินใจตลอดเวลา ดูที่          http://gotoknow.org/blog/sup003/181628  เรื่อง การนำเสนอผลการวิจัยต่อที่ประชุมปกติขององค์กร    หรือที่                  

http://gotoknow.org/blog/sup003/231973  เรื่อง บอร์ดบริหาร..กับ...การตัดสินใจโดยใช้สารสนเทศเป็นฐาน

 

หมายเลขบันทึก: 233273เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2009 07:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ครับ ท่านอาจารย์

     เรื่องการนำผลงานวิจัยไปใช้  ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง  ( อาจไม่เป็นเช่นนี้ก็ได้ครับ)

    ผมคิดว่าที่ไม่ค่อยมีคนนำผลวิจัยไปใช้  โดยเฉพาะในวงการศึกษา  ผมคิดว่าเกิดจาก

   1. การบริหารแบบรวมศูนย์ครับ  ถึงแม้เรามี พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ว่ากระจายอำนาจ แต่ในทางปฏิบัติ  ยังบริหารแบบรวมศูนย์ อยู่ครับ   นั่นคือ เราต้องรอคำสั่ง หรือ นโยบาย จากส่วนกลาง  ดังนั้น จึงแทบทื่จะไม่มีโอกาสนำผลวิจัยไปใช้ได้เลยครับ  แค่ทำงาน รูทีน ที่มาจากส่วนกลาง ก็ทำแทบไม่หวาดไม่ไหวแล้วครับ

 2. งานวิจัยไม่น่าเชื่อถือครับ  ข้อนี้  ไม่ใช่งานวิจัยทั้งหมดไม่น่าเชื่อถือนะครับ แต่ "ปลาตายตัวเดียว ก็จะเหม็นทั้งข้อง" นั่นคือ มีนักวิจัยบางคน  วิจัยแบบ "มั่ว"  "ขอไปที"  "ขายผ้าเอาหน้ารอด"  "มุ่งเงินมากกว่างาน"  เลยทำให้งานวิจัยที่ดีๆ พลอยมามัวหมองไม่น่าเชื่อถือไปด้วย

     ทั้ง 2 ข้อ มาจากประสบการณ์ตรงของผมเองครับ   อาจไม่ใช่เช่นนั้นก็ได้  ต้องขออภัยด้วยครับ

สวัสดีปีใหม่ 2552 ครับ ท่าน Small man

  • จริง ๆ แล้ว ส่วนกลางได้กระจายบทบาทหลายอย่างให้กับ ร.ร.และเขตพื้นที่การศึกษา  โรงเรียนประเภทที่ 1 ควรทำการศึกษา วิจัยและพัฒนาระบบงานให้เหมาะสมกับบทบาทที่ได้รับ ขณะเดียวกันก็เผยแพร่ให้โรงเรียนอื่น ๆ ได้เรียนรู้  ในปัจจุบันมีจุดอ่อน คือ ถ้าเข้าไปในเว็บไซด์ของทุกเขตพื้นที่ เราหาดูได้ยากมากเลยเกี่ยวกับ  Best Practice  ของโรงเรียนหรือเขตพื้นที่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ
  • ผมเองค่อนข้างเชื่อเรื่อง ผลการวิจัย  ในฐานะของหัวหน้าครอบครัว พยายามศึกษาเรื่องบทบาทของครอบครัว  งานวิจัยเกี่ยวกับครอบครัวอบอุ่น ฯลฯ เพื่อนำไปใช้ในครอบครัวของตัวเอง...ทุกส่วน/ทุกองค์กรสามารถทำวิจัยเอง และบริโภคผลการวิจัยจากองค์กรอื่น ๆ ได้
  • ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ที่บอกว่า ผลการวิจัยส่วนหนึ่ง ยังมีข้อบกพร่อง-ไม่น่าเชื่อถือ ...จะอย่างไรก็ตาม หากใช้ผลการวิจัยเป็นเพียง "สารสนเทศประกอบการตัดสินใจ"...ปัญหาอาจจะน้อยลงครับ ทุกครั้งที่อ่านผลการวิจัย เราต้องใช้ดุลยพินิจประกอบเสมอ
  • เราคงต้องช่วยกันผลักดันให้องค์กรเกิดนิสัยในการใช้สารสนเทศหรือผลการวิจัยประกอบการตัดสินใจ ผมเชื่อว่าจะสามารถลดความคลาดเคลื่อนได้ มากกว่า การตัดสินใจโดยใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคล ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท