BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อริยะขัดขืนกับการกระทำเหนือหน้าที่


อริยะขัดขืนกับการกระทำเหนือหน้าที่

ครั้งแรกที่มีการอ้างว่า อริยะขัดขืน ผู้เขียนก็นึกไปถึง การกระทำเหนือหน้าที่ เพราะคิดว่าสองคำนี้ใกล้เคียงกัน... อริยะขัดขืน มาจากคำว่า Civil disobedience สำหรับความหมายเดิมผู้สนใจ คลิกที่นี้... ส่วน การกระทำเหนือหน้าที่ มาจากคำว่า Supererogation ผู้สนใจ คลิกที่นี้ หรืออ่านบางประเด็นจากบล็อกนี้ ซึ่งผู้เขียนก็ได้เล่าไว้หลายประเด็น... สำหรับบันทึกนี้ จะนำมาเปรียบเทียบสั้นๆ พอได้ใจความเท่านั้น

อริยะขัดขืน คือ การปฏิเสธกฎหมาย คำสั่ง หรือความต้องการของรัฐบาล ในเมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นไม่มีความเป็นธรรม โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง

การกระทำเหนือหน้าที่ คือ การกระทำที่เกินเลยขอบเขตของหน้าที่ทางจริยธรรม โดยถ้ากระทำก็จัดเป็นความดีพิเศษ แต่ถ้าไม่กระทำก็ไม่จัดว่าเป็นความผิด

จะเห็นได้ว่าทั้งอริยะขัดขืนและการกระทำเหนือหน้าที่ผูกโยงอยู่กับคำว่า กฎ คำสั่ง ระเบียบ หรือ ข้อบังคับ (ทางกฎหมายหรือทางจริยธรรม) ซึ่งผู้เขียนจะรวมสิ่งเหล่านี้แล้วเรียกสั้นๆว่า กรอบ .... โดยทั้งอริยะขัดขืนและการกระทำเหนือหน้าที่มีความเหมือนกันในแง่ว่า ไม่กระทำตามกรอบ ไม่อยู่ในกรอบ หรือทำลายกรอบที่ควบคุมไว้

สำหรัีบอริยะขัดขืน มีความเห็นว่า กรอบ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือไม่ยุติธรรม จึงจำเป็นต้องฝ่าฝืน...

ส่วนการกระทำเหนือหน้าที่ มีความเห็นว่าถ้ากระทำล่วงเลย กรอบ ที่วางไว้แล้ว จะมีคุณค่าสูงกว่าการกระทำตาม กรอบ ...

ถามว่า...

  • ใครเป็นผู้สร้าง กรอบ ?
  • ใครเป็นผู้ประเมินค่า กรอบ ?
  • ใครเป็นผู้ตัดสิน กรอบ ?

สำหรับอริยะขัดขืน กรอบ ก็คือ กฎหมาย ก็ต้องไปพิจารณาที่มาและแนวคิดของกฎหมาย... ส่วนการกระทำเหนือหน้าที่ กรอบ ก็คือ เกณฑ์ตัดสินจริยธรรม ก็ต้องไปพิจารณาแนวคิดด้านจริยศาสตร์...

ความสัมพันธ์ระหว่าง กฎหมาย กับ จริยธรรม นั้น มีผู้ให้ความเห็นว่า กฎหมายและจริยธรรมเหมือนกันในแง่ว่ากำหนดและตัดสินการกระทำของคนว่าผิดหรือถูก... แต่ต่างกันในแง่ที่ว่า กฎหมายมีสภาพบังคับและถูกลงโทษในเมื่อฝ่าฝืนหรือไม่กระทำตาม ส่วนจริยธรรมไม่มีสภาพบังคับเหมือนดังกฎหมาย เพียงแต่อาจถูกตำหนิติเตียนจากสังคมเท่านั้น

.........

ประเด็นสุดท้ายใคร่จะถามว่า..

  • อริยะขัดขืนจัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ได้หรือไม่ ?

ตามความเห็นของผู้เขียน ถ้าผู้ใช้อริยะขัดขืนมุ่งหวังประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือมวลมนุษยชาติ เล็งเห็นว่า ถ้าใช้อริยะขัดขืนแล้วจะมีคุณค่าสูงกว่าการอยู่ในกรอบ ก็น่าจะจัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ได้... แต่ถ้าใช้อริยะขัดขืนเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อจุดหมายบางอย่างแก่ตนเองหรือพวกพ้องเท่านั้น ก็ไม่น่าจะจัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ได้

สำหรับแนวคิดการกระทำเหนือหน้าที่เข้าได้กับทฤษฎีจริยศาสตร์คุณธรรม แต่ขัดแยังกับทฤษฎีจริยศาสตร์หลักการ (จริยศาสตร์หลักการ แบ่งเป็น จริยศาสตร์คานต์และประโยชน์นิยม)... ฉะนั้น ถ้าจะศึกษาอริยะขัดขืนว่าเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ได้หรือไม่ ก็ต้องค้นไปถึงแนวคิดทฤษฎีจริยศาสตร์

จริยศาสตร์คุณธรรม มีหลายเกณฑ์หลายมาตรฐาน ดังนั้น ผู้อ้างอริยะขัดขืนอาจมีแนวคิดเรื่องกรอบ ต่างไปจากแนวคิดของผู้วางกรอบ...การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ น่าจะต้องค้นหาถึงจุดเด่นของจริยศาสตร์คุณธรรม นั่นคือ ต้องค้นหาว่า ผู้อ้างอริยะขัดขืนและผู้วางกรอบมีจิตใจประกอบด้วยคุณธรรมหรือไม่

ขณะที่่ จริยศาสตร์หลักการ มีเกณฑ์เดียวมาตรฐานเดียว ดังนั้น ผู้อ้างอริยะขัดขืนจัดว่าผิดก็ต่อเมื่อกรอบนั้นมีมาตรฐานเดียว แต่ถ้ากรอบหรือผู้ใช้กรอบไม่เป็นไปด้วยมาตรฐานเดียวก็ไม่ถือว่าผิด... การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ น่าจะต้องค้นหาถึงจุดเด่นของจริยศาสตร์หลักการ นั่นคือ ต้องค้นหาว่า กรอบหรือผู้ใช้กรอบนั้นวางมาตรฐานเดียวเหมือนกันหรือไม่

ส่วนจุดด้อยของแต่ละทฤษฎีจริยศาตร์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อนำมาพิจารณาอริยะขัดขืน ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ...

แต่ผู้เขียนขอละไว้ เพราะเรื่องนี้อาจโยงไปถึงแนวคิดปรัชญากฎหมาย และอาจต่อยอดไปยังประเด็นอื่นๆ ได้อีก เท่าที่นำมาเล่าก็เพื่อว่ามีผู้สนใจนำไปศึกษาต่อเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 206698เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2008 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นมัสการพระคุณเจ้า

อาจารย์หนังบุญธรรม เทิดเกียรติชาติ

เคยให้ความหมายคำว่า อริยะ ตามความหมายปากไต้บ้านเราไว้พันนี้

อริ หมายถึงคนไม่ถูกกัน เป็นศัตรูกัน

ยะ หมายถึง ห่าง รวมความแล้วอริยะหมาย ให้อยู่กันห่างๆกับคนไม่ถูกกัน

Pบังหีม

 

บังหีมความจำเป็นเลิศจริงๆ มีเกร็ดความรู้มาฝากเสมอ...

ที่นายหนังว่ามาเป็นมติหนึ่งของศัพท์บาลี อริ แปลว่า ข้าศึก... ส่วน ยะ นั้น มาจากรากศัพท์ว่า อิ แปลงเป็น ยะ ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า..

  • อริโต อิโตติ อริโย
  • ผู้ใดไปแล้วจากข้าศึก ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อริยะ (ไปแล้วจากข้าศึก

ถามว่า ข้าศึก คือใคร ? ในที่นี้ข้าศึกคือกิเลส ดังนั้น ถ้าวิเคราะห์ให้ถูกต้องจึงต้องใส่อุปมาเข้ามาด้วยว่า...

  • อริโต อิว กิเลสโต อิโตติ อริโย
  • ผู้ใดไปแล้วจากกิเลสเพียงดังข้าศึก ดังนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อริยะ (ไปแล้วจากกิเลสเพียงดังข้าศึก)

กิเลส ที่ได้ชื่อว่าข้าศึกเพราะเป็นผู้ที่คอยจ้องทำลายหรือปิดกั้นมิให้เราไปสู่จุดหมายคือนิพพานได้... นอกจากมตินี้แล้ว ก็ยังมีมติอื่นอีก เอาเป็นว่า อริยะ ศัพท์นี้สามารถนำมาเทศน์ได้ ๑ กัณฑ์ หรือเขียนหนังสือเล่มน้อยๆ ได้สักเล่ม...

แต่ อริยะขัดขืน นี้ เป็นศัพท์ที่บัญญัติมาจากภาษาต่างด้าว จึงมิอาจขยายความตามทำนองศัพท์บาลีไปไทยได้ ต้องว่าไปตามความหมายที่ภาษาต่างด้าวว่าไว้ (..........)

เจริญพร

 

เขาใช้คำว่า อริยะ หรือ อารยะขัดขืนแน่ครับ ผมไม่แน่ใจ

นมัสการพระคุณเจ้า

ถ้าบ้านเราก้าวไปถึงอริยะขัดขืน แบบที่ผมจินตนาการไว้บ้านเราคงจะร่มเย็นมิใช่น้อยนะครับ

คำว่า..อริยะขัดขืน..แบบที่ผมคิด หมายถึงการแสดงท่าทางปฏิเสธต่อสิ่งไม่มีงามในสังคมของเหล่าอริยะบุคคล ถ้าถึงยุคนั้นได้แสดงว่าบ้านเมืองของเราก็ควรจะมีเหล่าอริยะบุคคลกันทั่วบ้านทั่วเมือง

ไม่มีรูป นนท์

 

 

ทั้งสองคำต่างประเด็นออกไป คำแรกมาจากบาลี ส่วนคำหลังบัญญัติศัพท์มาจากภาษาต่างประเทศ...

............

Pข้ามสีทันดร


ตามที่ว่ามา น่าจะเป็นสังคมเฟ้อฝัน เพราะการเมืองเป็นเรื่องความเห็นและกิจกรรมของคนในสังคม ซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง...

........

เจริญพร

คงจะเป็นสังคมอุดมคติ ยูโทเปีย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท