BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑.


ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่

ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑

1. ความหมายและแนวคิดพื้นฐาน               

คำกล่าวของ ฮัทชิสัน (Hutcheson, Frances) ว่า ความสุขสูงสุดเพื่อจำนวนมากที่สุด” (The Greatest Happiness for Greatest Number)[i] ได้กลายมาเป็นคติพจน์ของประโยชน์นิยมปัจจุบัน และการให้ความหมายเกี่ยวกับลัทธินี้ทั้งหมดก็ตกอยู่ภายใต้คติพจน์นี้ เช่นราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า ประโยชน์นิยม ทรรศนะทางจริยศาสตร์ที่ถือเอาประโยชน์สุขเป็นเกณฑ์ตัดสินความผิดถูกชั่วดี กล่าวคือ การกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ถือว่าเป็นการกระทำที่ดี[ii]               

Encyclopedia Britannica ให้ความหมายไว้ว่า ทฤษฎีประโยชน์นิยม ขัดแย้งกับอัตตานิยม เป็นฝ่ายสากลนิยม ซึ่งทฤษฎีเหล่านี้ยึดถือว่าสิ่งที่คนควรทำคือสิ่งที่เสนอความดีสูงสุดเพื่อทุกคน อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นความดีทั่วไป[iii]                 

International Encyclopedia of Ethics ให้ความหมายไว้ว่า ประโยชน์นิยม เป็นวิธีการตัดสินซึ่งให้ความสำคัญที่การสนับสนุนความอยู่ดีกินดีทั่วไป รูปแบบคลาสสิกของประโยชน์นิยมเกี่ยวข้องกับสุขนิยม ผลลัพธ์นิยมและสากลนิยม โดยให้ความหมายการกระทำที่ถูกต้องว่ามีผลลัพธ์เป็นความสุขสูงสุดเพื่อจำนวนมากที่สุด[iv]                

และ Routledge Encyclopedia of Philosophy ให้ความหมายไว้ว่าประโยชน์นิยม เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับความถูกต้อง ตามหลักการนี้ว่าสิ่งที่ดีคือความอยู่ดีกินดี (ความเป็นอยู่ดีหรือประโยชน์) ในแนวทางบางอย่างความอยู่ดีกินดีจะต้องทำให้สูงสุด และผู้กระทำจะเป็นกลางระหว่างความอยู่ดีกินดีของพวกเขาเองกับคนอื่นๆ รวมทั้งสัตว์ที่รู้สึกได้อื่นๆ[v]                 

ตามนิยามเหล่านี้ประมวลแนวคิดของประโยชน์นิยมได้ว่า               

1) ประโยชน์นิยมเป็นผลลัพธ์นิยม คือ ยึดถือผลลัพธ์ของการกระทำเป็นเกณฑ์ ไม่ได้เน้นถึงสาเหตุคือเจตนาของผู้กระทำ และละเลยการพิจารณาคุณสมบัติที่ดีหรือคุณธรรมของผู้กระทำ ดังที่มิลล์กล่าวไว้ว่าแรงจูงใจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของการกระทำ แม้ว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของผู้กระทำ ใครก็ตามที่ช่วยเพื่อนมนุษย์ให้รอดจากการจมน้ำตาย ได้กระทำสิ่งที่ถูกต้องศีลธรรม ไม่ว่าแรงจูงใจของเขาจะเกิดจากหน้าที่หรือเกิดจากความหวังที่จะได้รับค่าตอบแทนคุ้มกับค่าเหนื่อย[vi]               

2) ประโยชน์นิยมเป็นสากลนิยม คือ ให้ความสำคัญสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเท่าเทียมกัน โดยวางผู้กระทำเป็นกลางหรือเสมอภาคกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่ง ขัดแย้งกับอัตตานิยม ที่ยึดถือตนเองคือผู้กระทำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด      

3) ประโยชน์นิยมเป็นสุขนิยม คือ ยึดถือว่าความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตหรือยึดถือว่าจุดหมายสูงสุดของชีวิตก็คือการแสวงหาความสุข ตามนัยนี้ประโยชน์นิยมจะ เหมือนกับอัตตานิยม ในประเด็นที่ยึดถือความสุขเป็นเกณฑ์                

ฟิลด์แมน  (Feldman, Fred) ได้อธิบาย  ความเหมือนและแตกต่างระหว่างประโยชน์นิยมกับอัตตานิยม ไว้ว่า อัตตานิยมเป็นรูปแบบของผลลัพธ์นิยมซึ่งเป็นทัศนะที่ยึดถือว่าสถานภาพเชิงปทัสถานของการกระทำขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการกระทำนั้น  ในประเด็นนี้อัตตานิยมจึงคล้ายคลึงกับประโยชน์นิยม อนึ่ง อัตตานิยมเป็นรูปแบบของสุขนิยมซึ่งเป็นทัศนะที่ยึดถือว่าสถานภาพเชิงปทัสถานของการกระทำขึ้นอยู่กับว่าสุขารมณ์หรือทุกขารมณ์มากเท่าไหร่ที่การกระทำนั้นจะผลิตขึ้นมา ในประเด็นนี้อัตตานิยมจึงเหมือนกับประโยชน์นิยม แต่ สถานภาพเชิงปทัสถานของการกระทำแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับจำนวนของสุขารมณ์และทุกขารมณ์ที่ผู้กระทำจะรู้สึกได้เท่านั้น ไม่ใช่จำนวนโดยรวมของสุขารมณ์และทุกขารมณ์  ดังนั้น ตามทัศนะนี้บางครั้งอัตตานิยมจึงถูกเรียกว่า สุขนิยมเชิงปัจเจกนิยม” (individualistic hedonism) ขณะที่ประโยชน์นิยมถูกเรียกว่า สุขนิยมเชิงสากลนิยม” (universalistic hedonism)[vii] 

4) ประโยชน์นิยมเป็นสัมบูรณนิยม คือยึดถือว่าความถูกต้องของการกระทำขึ้นอยู่กับหลักประโยชน์สูงสุดหรือหลักมหสุขที่วางไว้เท่านั้น ไม่ขึ้นอยู่กับหลักการอื่นๆ นัยของข้อ 4 นี้ ไม่ สอดคล้องกับที่ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความเห็นไว้ว่า ในทางจริยศาสตร์ สัมบูรณนิยมถือว่า ความดีเป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ขึ้นกับความเห็นหรือการกำหนดของผู้ใดหรือกลุ่มชนใดทั้งสิ้น[viii] 

ขณะที่ โบฌองพ์  (Beauchamp) ได้ให้ความเห็นลักษณะสัมบูรณนิยมของประโยชน์นิยมไว้ว่า 

สำหรับมิลล์และนักประโยชน์นิยมอื่นทั้งหมดแล้ว หลักการแห่งประโยชน์มิได้เป็นหลักการที่ใช้แข่งขันกับหลักการอื่นๆ เนื่องจากการพิจารณาเชิงประโยชน์นิยมเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการกระทำการตัดสินทางศีลธรรม หลักการแห่งประโยชน์เป็นหลักการที่ทำให้ได้หลักการอื่นหรือทำให้หลักการอื่นสมเหตุสมผล ดังนั้น หลักการแห่งประโยชน์นิยมนั้นจึงเป็นกฎสัมบูรณ์ที่คอยช่วยเหลือ ดังคำของมิลล์ว่า ผู้ชี้ขาดทั่วไป ในทุกกรณีของข้อผูกพันที่สับสน[ix]  

ตามทัศนะนี้ประโยชน์นิยมเป็นหลักการพื้นฐานเพื่อตัดสินการกระทำทางศีลธรรมทั้งหมด  และคำอธิบายของโบฌองพ์ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ สแครมบัส (Scrembus, John H.) ให้ความหมายของสิ่งสัมบูรณ์และสัมบูรณนิยมในทางจริยศาสตร์ไว้ว่า 

 สัมบูรณนิยม คือ ทฤษฎี จริยศาสตร์บางอย่างที่อ้างว่ามีมาตรฐานทางจริยะที่ถูกต้องได้อย่างเดียวเท่านั้นที่ประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ คน ทุกๆ สถานที่ อีกนัยหนึ่งคือมันเป็นทฤษฎีบางอย่างที่อ้างว่ามีสิ่งสัมบูรณ์ทางจริยะ กล่าวคือ คุณค่าหรือหลักการทางจริยะที่มนุษย์ทุกคนยึดถือได้โดยไม่ต้องพิจารณาสังคม วัฒนธรรม หรือศาสนา[x] 

อนึ่ง สแครมบัส ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประโยชน์นิยมและลัทธิคานต์เป็นสัมบูรณ์นิยมเชิงจริยะ  โดยประโยชน์นิยมอ้างว่าความถูกต้องและความผิดเป็นเรื่องของการคำนวณว่าการกระทำจะผลิตความดีสูงสุดเพื่อสมาชิกจำนวนมากที่สุดเท่านั้น  ส่วนจริยศาสตร์กรณียธรรมของคานต์นั้นอ้างว่าความถูกต้องและความผิดเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลตรวจสอบการใช้คำสั่งเด็ดขาด ซึ่งทั้งประโยชน์นิยมและลัทธิคานต์สามารถประยุกต์ใช้สำหรับทุกคนและทุกสถานที่เช่นเดียวกัน[xi] 

สรุปได้ว่าประโยชน์นิยมเป็น ผลลัพธ์นิยม สุขนิยม สากลนิยม และสัมบูรณนิยม แต่นักคิดประโยชน์นิยมหลายท่านก็มีความเห็นปลีกย่อยแตกต่างกันไป เช่น เบนธัมเน้นปริมาณของความสุข ส่วนมิลล์เน้นคุณภาพของความสุข แต่ทั้งเบนธัมและมิลล์ก็ยังยึดถือว่าความสุขอย่างเดียวเท่านั้นเป็นจุดมุ่งหมายของมนุษย์ ดังนั้น กลุ่มนี้จึงได้ชื่อว่า ประโยชน์นิยมเชิงเอกนิยม” (Monistic Utilitarianism) หรือ ประโยชน์นิยมเชิงสุขนิยม” (Hedonistic Utiltarianism) ขณะที่นักประโยชน์นิยมบางท่าน เช่น มัวร์มีความเห็นว่ายังมีอย่างอื่นนอกจากความสุข เช่น มิตรภาพ ความรู้ ความรัก หรือความงามก็เป็นจุดมุ่งหมายของมนุษย์ได้ ดังนั้น กลุ่มนี้จึงได้ชื่อว่า ประโยชน์นิยมเชิงพหุภาพ (Pluralistic Utilitarianism)[xii] 

แม้ว่านักประโยชน์นิยมจะมีความเห็นปลีกย่อยแตกต่างกันไป แต่หลักสำคัญในการตัดสินการกระทำทางศีลธรรมของประโยชน์นิยมก็คือผลลัพธ์และประโยชน์ เพราะผลลัพธ์เป็นเครื่องบ่งบอกว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด ดีหรือเลว มิใช่วิธีการ กล่าวคือ ผลลัพธ์เป็นเครื่องบ่งชี้วิธีการนั่นเอง และประโยชน์จะเป็นเครื่องวัดผลลัพธ์นั้นว่าถูกหรือผิด ดีหรือเลวอีกครั้ง ดังเช่นแนวคิดของเบนธัมว่า ถ้าการกระทำนั้นนำมาซึ่งความพึงใจมากกว่าความเจ็บปวดก็ถูกต้อง แต่ถ้าการกระทำนั้นนำมาซึ่งความพึงใจน้อยกว่าความเจ็บปวดก็ผิด เป็นต้น[xiii]



[i] คติพจน์นี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ An Inquiry Concerning Moral Good and Evil ของฮัทชิสันนักปรัชญาชาวสก็อตต์ (.. 1694-1749)
[ii] พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2532), หน้า 117.
[iii] Encyclopedia Britannica vol.18 (Chicago : Encyclopaedia Britannica,Inc, 1985), p. 645.
[iv] International Encyclopedia of Ethics (London : Selem Press, 1995), p. 894.
[v] Routledge Encyclopedia of Philosophy (London : Routledge, 2000), p. 909.
[vi] วิทย์ วิศทเวทย์. จริยศาสตร์เบื้องต้น : มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2528), หน้า 90.
[vii] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978), p. 82.
[viii] พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2532), หน้า 1.
[ix] Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics (New York : McGraw-Hill, 1991),  pp. 137-138.
[x]International Encyclopedia of Ethics. (London : Selem Press, 1995), pp.6-7.
[xi]Ibid.
[xii]Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics. (New York : McGraw-Hill, 1991), pp. 140-141.
[xiii] Louis P. Pojman. Ethics : Discovering Right and Wrong.(Belmont : Wadsworth Publishing Company, 1995), p.109.

หมายเลขบันทึก: 67240เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท