BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่ ๑.


ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่

ลัทธิคานต์               

ผู้วิจัยจะนำเสนอความหมายและแนวคิดพื้นฐานลัทธิคานต์ด้วยคำเฉพาะในลัทธิคานต์เป็นลำดับแรก และประมวลรูปแบบคำสั่งเด็ดขาดซึ่งเป็นลักษณะเด่นของลัทธิคานต์มาแสดงไว้อีกต่างหาก เพราะมีความเห็นว่าจะทำให้แนวคิดของลัทธิคานต์ชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนการนำเสนอแนวคิดเรื่องอธิกรรมในลัทธิคานต์เป็นประการสุดท้าย  

1. ความหมายและแนวคิดพื้นฐาน               

คำว่า ลัทธิคานต์ (Kantianism) หรือ จริยศาสตร์คานต์ (Kantian Ethics) คือ แนวคิด จริยศาสตร์ของ คานต์  (Kant, Immanuel) ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะได้รับการยอมรับและยกย่องกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่านักจริยศาสตร์ร่วมสมัยได้ขยายความและนำมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมก็ตาม แต่ยังคงยึดถือหลักการตามที่คานต์วางไว้และให้เกียรติแก่คานต์โดยเรียกว่าลัทธิคานต์หรือจริยศาสตร์คานต์ โดยแนวคิดนี้มาจากหนังสือที่เขาได้เขียนไว้เป็นภาษาเยอรมันชื่อ “Grundlegung zur Metaphysik der Sitten”[1]               

ลินเด็น (Linden, Harry Van Der) ได้อธิบายไว้ว่า หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่ชัดเจนและรัดกุมที่สุดในงานวิจัยพื้นฐานทางจริยศาสตร์ของคานต์ ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นกระบวนทัศน์ของนักเหตุผลนิยมใน จริยศาสตร์กรณียธรรม เนื้อหาของหนังสือใช้โครงสร้างพื้นฐานของกฎทางอภิปรัชญาครอบคลุมประสบการณ์ทางศีลธรรม นั่นคือ ความมีอยู่ของเหตุผลบริสุทธิ์ก่อนประสบการณ์โดยปราศจากการอ้างอิงทางจิตวิทยา ซึ่งคานต์ได้วางไว้เป็นหลักการสูงสุดของกฎทางศีลธรรม               

สาระของหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสามส่วน ในส่วนแรกคานต์โต้แย้งว่าเจตนาอาจเป็นสิ่งที่ดีได้โดยปราศจากความหมายเชิงคุณภาพ เจตนาดี  (good will) คือการกระทำตามหน้าที่ ซึ่งคานต์ได้ให้ความหมายของหน้าที่และวางรูปแบบของหลักการเพื่อครอบคลุมเจตนาดีไว้ด้วย เขาเรียกหลักการนี้ว่า คำสั่งเด็ดขาด(categorical imperative) นั่นคือ การกระทำตาม คติบท (maxim) ที่ต้องการให้เป็น กฎสากล(universal law) เท่านั้น ในส่วนที่สองเขาได้ขยายความคำสั่งเด็ดขาดและการได้มาของรูปแบบคำสั่งเด็ดขาดนั้น และเขาได้อธิบายเรื่อง ภาวะอิสระ (autonomy) ของเจตนาไว้ในส่วนสุดท้าย[2] 

วิทย์ วิศทเวทย์ ได้สรุปแนวคิดของคานต์ไว้ตอนหนึ่งว่า  

สำหรับคานท์ การกระทำที่ถูกคือการกระทำที่เกิดจากเจตนาดี การกระทำที่เกิดจากเจตนาดีก็คือการกระทำที่เกิดจากสำนึกในหน้าที่ การกระทำที่เกิดจากหน้าที่คือการกระทำที่เกิดจากเหตุผล การกระทำที่ตั้งอยู่บนเหตุผลคือการกระทำที่เกิดจากกฎศีลธรรม ปัญหาก็คือกฎศีลธรรมนี้คืออะไรและได้ตอบว่า สำหรับคานท์กฎศีลธรรมต้องมีลักษณะเป็นคำสั่งเด็ดขาด [3]                

กีรติ บุญเจือ ได้ประมวลแนวคิดเรื่องคำสั่งเด็ดขาดของคานต์ไว้ว่า                

ความสำนึกในหน้าที่จะสั่งด้วยคำสั่งเด็ดขาด ไม่เสนอเงื่อนไขหรือเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น จึงไม่ใช่คำสั่งโดยมีเงื่อนไข ซึ่งไม่ผูกมัดผู้ใดนอกจากผู้ต้องการเงื่อนไขนั้น ผู้มีเจตนาดีจะตัดสินใจกระทำตามความสำนึกในหน้าที่ทันทีโดยไม่รอชั่งดูทางได้ทางเสีย                คำสั่งเด็ดขาดจะกำชับให้กระทำภายใต้หลักการต่อไปนี้ ซึ่งก็เป็นคำสั่งเด็ดขาดด้วยในตัว1) จงกระทำโดยความสำนึกว่าเป็นกฎสากล2) จงกระทำโดยความสำนึกว่า บุคคลเป็นจุดหมาย มิใช่วิถีไปสู่จุดหมายอื่น3 )จงกระทำโดยความสำนึกว่า ตนมีเสรีภาพ และมนุษย์ทุกคนต่างก็มีเสรีภาพ[4] 

จะเห็นได้ว่าการเข้าใจจริยศาสตร์คานต์อยู่ที่คำเฉพาะของเขา ดังนั้น ผู้วิจัยจะเสนอแนวคิด จริยศาสตร์คานต์ตามลำดับแห่งคำเฉพาะเหล่านี้ คือ เจตนาดี หน้าที่ คติบท กฎสากล และคำสั่งเด็ดขาด                 

. เจตนาดี

แปตัน (Paton, H.J.) ได้อธิบายเจตนาดีตามนัยลัทธิคานต์ไว้ว่า เป็นเจตนาที่ปราศจากคุณภาพและการจำกัดขอบเขต กล่าวคือ เป็นเจตนาดีในทุกสถานการณ์ เป็นความดีที่สัมบูรณ์หรือความดีที่ไม่มีเงื่อนไข เป็นความดีในตัวเอง ความดีที่ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นๆ

แปตันได้ขยายความต่อว่า มิใช่ว่าเจตนาดีอย่างเดียวเท่านั้นจะเป็นสิ่งที่ดี แม้สิ่งเจริญรุ่งเรืองอื่นๆ ก็เป็นความดีในประเด็นต่างๆ ได้มากมาย แต่สิ่งเหล่านั้นมิได้เป็นความดีทุกสถานการณ์ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นสิ่งที่เลวเมื่อมีเจตนาเลว สิ่งเหล่านั้นจึงเป็นความดีที่มีเงื่อนไขหรืออยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง มิใช่สิ่งที่ดีอย่างสมบูรณ์หรือสิ่งที่ดีในตัวเอง[5] 

ชัชชัย คุ้มทวีพร ได้อธิบายเจตนาดีตามนัยลัทธิคานต์ไว้ตอนหนึ่งว่า 

ค้านท์เสนอว่า การกระทำที่ถูก (หรือการทำดี) คือ การทำตามเจตนาดี เขาขยายความต่อไปว่า เจตนาดี ในที่นี้มิใช่หมายความว่า มีความตั้งใจดีโดยมิได้ปฏิบัติอะไรและมิใช่การกระทำที่ก่อให้เกิดผลดีทั้งต่อตัวผู้กระทำและผู้อื่น หรือกล่าวว่า ไม่ใช่การกระทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นเอง ถ้าเช่นนั้น (เราอาจสงสัยว่า) การทำตามเจตนาดีคืออะไร ค้านท์ตอบว่า คือ การกระทำที่เกิดจากสำนึกแห่งหน้าที่ หรืออาจจะกล่าวว่า การกระทำที่ถูก (หรือการทำดี) คือ การทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หมายความว่า เรากระทำสิ่งนั้นโดยไม่ใส่ใจกับผลของการกระทำที่เกิดขึ้น เช่น มีผลดี-ไม่ดี กับตัวเราเองหรือผู้อื่น หรือการกระทำนั้นจะทำให้เราได้รับคำชมหรือถูกตำหนิจากคนอื่น[6] 

สำหรับคานต์สิ่งที่ดีอย่างสมบูรณ์หรือสิ่งที่ดีในตัวเองได้แก่เจตนาดีอย่างเดียว กล่าวคือ เป็นความดีที่ปราศจากเงื่อนไขโดยประการทั้งปวง ซึ่งคานต์ได้ขยายความต่อว่าเจตนาดีดังกล่าวคือความสำนึกในหน้าที่                 

. หน้าที่

คานต์ได้วางประพจน์เพื่อกำหนดหน้าที่ตามเจตนาดีไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ

. การกระทำของมนุษย์เป็นสิ่งที่ดีทางศีลธรรม มิใช่ว่ากระทำขึ้นจากความโน้มเอียงขณะนั้น มิใช่ว่ากระทำขึ้นจากผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เพราะเป็นการกระทำหน้าที่เพื่อหน้าที่[7]

. การกระทำที่เป็นหน้าที่เพื่อหน้าที่ [จะเป็นสิ่งที่] มีค่าทางศีลธรรม มิใช่จากผลลัพธ์ที่พึงประสงค์หรือการแสวงหาผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ แต่มาจากหลักการของรูปแบบหรือคติบท กล่าวคือ หลักการของการกระทำตามหน้าที่ของเราที่อาจจะเป็นได้[8]

. หน้าที่เป็นความจำเป็นเพื่อการกระทำจากความเคารพกฎ[9]  

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า นัยประพจน์เกี่ยวกับหน้าที่ตามที่คานต์วางไว้นี้สามารถสรุปได้ว่าการกระทำโดยเจตนาดีตามความสำนึกของหน้าที่ก็คือ การกระทำตามหน้าที่เพื่อหน้าที่ โดยหน้าที่นั้นเป็นไปตามคติบทหรือหลักการของความจำเป็นในการกระทำ  

อนึ่ง คานต์ได้จำแนกหน้าที่ออกเป็น หน้าที่สมบูรณ์ (perfect duty) กับ หน้าที่ไม่สมบูรณ์(imperfect duty) และ หน้าที่เพื่อตนเอง (duty to self) กับ หน้าที่เพื่อผู้อื่น (duty to others) ซึ่งประเด็นนี้ผู้วิจัยจะนำเสนอต่อไปข้างหน้า                 

 . คติบท               

ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายคติบทตามแนวคิดของคานต์ไว้ว่า 

คติบท ... ในจริยศาสตร์ของคานต์ หมายถึง หลักความประพฤติที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งยึดถือปฏิบัติเฉพาะตน กล่าวคือ การกระทำโดยเจตนาแต่ละครั้งย่อมเป็นไปตามคติบทอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ในการที่บุคคลละเมิดคำมั่นสัญญา ก็เพราะถือตามคติบทที่ว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้รับประโยชน์ ข้าพเจ้าก็จะให้คำมั่นสัญญา โดยจะไม่ทำตามคำมั่นสัญญานั้น การกระทำของบุคคลใดจะถูกต้องหรือไม่ สุดแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นมีเจตนาที่จะให้คติบทนั้นเป็นกฎสากลได้หรือไม่[10] 

ฟิลด์แมนได้วางรูปแบบคติบทที่เรายึดถือให้เป็นกฎสากลตามแนวคิดลัทธิคานต์ไว้ว่า

(1) เมื่อไรก็ตามที่ฉันเป็น _,ฉันจะ _” ( Whenever I am ___ , I shall ___ )

(2) เมื่อไรก็ตามที่บางคนเป็น _, หล่อนจะ _” (Whenever anyone is__, She will __)[11] 

(1) คติบทส่วนตัว จะเป็นสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติเฉพาะตน

(2) คติบทสากล จะเป็นสิ่งที่วางไว้เป็นกฎสากล

อธิบายการตามคติบทนี้ได้ว่า การกระทำที่ถูกต้องตามนัยลัทธิคานต์ก็คือมีเจตนาที่จะให้คติบทตามนัย (1) เป็นคติบทตามนัย (2) กล่าวคือ มีเจตนาที่จะให้สิ่งที่เราทำขณะนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องกระทำอย่างนั้นด้วย                 

. กฎสากล               

ฟิลด์แมนสันนิษฐานว่า แนวคิดเรื่องกฎสากลทางศีลธรรมหรือกฎศีลธรรมของคานต์มาจากแนวคิดทางอภิปรัชญา โดยคานต์ได้จำแนกกฎสากลออกเป็นสองนัย คือ  กฎสากลของธรรมชาติ (universal law of nature) และ กฎสากลของเสรีภาพ (universal law of freedom) ซึ่งฟิลด์แมนอธิบายไว้ว่า

กฎสากลของธรรมชาติ หรือ กฎธรรมชาติ กฎชนิดนี้นอกจากจะบอกว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอยู่อย่างไรแล้วยังบอกว่าสิ่งทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างไรด้วย เช่น อุณหภูมิในถังแก๊สจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีความดันภายในมากขึ้นเสมอ ลักษณะนี้คานต์เรียกว่า ความจำเป็นทางกายภาพ (physical necessity)

กฎสากลของเสรีภาพ กฎชนิดนี้จะบอกว่าคนควรจะกระทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับหรือเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจ เพราะว่ากฎชนิดนี้มิได้คล้อยตามกฎหมายหรือคำสั่งของผู้มีอำนาจเสมอไป เช่น ถ้าเราทำสัญญา ก็จงรักษาสัญญา ลักษณะนี้คานต์เรียกว่า ความจำเป็นทางศีลธรรม (moral necessity)

ฟิลด์แมนให้ความเห็นว่าคำสั่งเด็ดขาดของคานต์มาจากแนวคิดเรื่องกฎทั้งสองนี้[12] 

ชัชชัย คุ้มทวีพร ได้อธิบายแนวคิดของคานต์ในประเด็นนี้ว่า 

ค้านท์พยายามหากฎจริยธรรมโดยการเปรียบเทียบกับกฎธรรมชาติซึ่งมีลักษณะสากล เขากล่าวว่า กฎธรรมชาติเหล่านี้เป็นข้อความทั่วไปที่ไม่เพียงบอกว่าสิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างไรเท่านั้น แต่ทว่ากฎเหล่านี้ยังบอกอีกว่าสิ่งต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างไรด้วย ซึ่งเขาเรียกว่า ความจำเป็นทางกายภาพ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกันค้านท์จึงเสนอว่ากฎจริยธรรม (ซึ่งบางครั้งเขาก็เรียกว่า กฎแห่งเสรีภาพ) เป็นหลักการสากลที่อธิบายว่า คนทุกคนควรทำอย่างไรในสถานการณ์หนึ่งๆ กฎเหล่านี้เป็นข้อความทั่วไปที่แสดงถึง ความจำเป็นทาง จริยธรรม[13] 

 สรุปได้ว่า กฎสากลทางศีลธรรมของคานต์มาจากแนวคิดเรื่องกฎธรรมชาติทางอภิปรัชญาของเขา นั่นคือ มีความจำเป็นทางศีลธรรมที่จะต้องให้คติบทในการกระทำของเราเป็นกฎสากลเหมือนกับความจำเป็นทางกายภาพที่เป็นไปหรือจะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ความจำเป็นทางศีลธรรมที่จะต้องเป็นไปตามกฎสากลนี้เองที่คานต์เรียกว่าคำสั่งเด็ดขาด                

. คำสั่งเด็ดขาด               

ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำสั่งเด็ดขาดและคำสั่งมีเงื่อนไขไว้ว่า  

คำสั่งเด็ดขาด ในจริยศาสตร์ของคานต์ได้แก่กฎทางศีลธรรม อันเป็นคำสั่งที่บุคคลจะต้องปฏิบัติตาม โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่ต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าผลนั้นจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ และไม่ว่าผลนั้นจะเกิดกับตนหรือกับผู้อื่น เพราะเป็นการทำหน้าที่ทางศีลธรรม ต่างกับคำสั่งมีเงื่อนไข (hypothetical imperative)” [14] 

คำสั่งมีเงื่อนไข ในปรัชญาของคานต์ หมายถึง คำสั่งที่ให้กระทำการโดยมุ่งจะให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งจากการกระทำนั้น เช่น ถ้าอยากให้คนไว้ใจ จงซื่อสัตย์ คำสั่งนี้ไม่ใช่คำสั่งทางศีลธรรม เพราะคานต์ถือว่า คำสั่งทางศีลธรรมนั้นเป็นคำสั่งเด็ดขาด ที่สั่งให้ทำความดีโดยไม่มีเงื่อนไข เช่น จงซื่อสัตย์ (ไม่ว่ากรณีใดๆ ) บางที่ใช้ว่า conditional imperative” [15]                

แปตันได้ประมวลแนวคิดของคานต์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของคำสั่งเด็ดขาดที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบและตัดสินการกระทำทางศีลธรรมไว้ว่า ผู้กระทำซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลจะต้องพิจารณาตัวเขาเองในสองประเด็น คือ ในฐานะเป็นสมาชิกของ โลกทางพุทธิปัญญา (intelligible world) และในฐานะเป็นสมาชิกของ โลกทางประสาทสัมผัส (sensible world)               

แปตันได้ขยายความประเด็นนี้ว่า ถ้าเราเป็นสมาชิกของโลกทางพุทธิปัญญาอย่างเดียว การกระทำของเราทั้งหมดก็จะขึ้นอยู่กับหลักการของภาวะอิสระอย่างจำเป็น และถ้าเราเป็นสมาชิกของโลกทางประสาทสัมผัสอย่างเดียว การกระทำเหล่านั้นก็จะขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติอย่างจำเป็น แต่ตามแนวคิดของคานต์ โลกทางพุทธิปัญญารวบรวมซึ่งพื้นฐานของโลกทางประสาทสัมผัสและกฎทั้งหลายของมันไว้อีกด้วย ดังนั้น คานต์จึงอ้างว่ากฎควบคุมเจตนาของเราในฐานะเป็นสมาชิกของพุทธิปัญญาแล้วก็ ควรจะ (ought to) ควบคุมเจตนาของเราตามข้อเท็จจริงว่า เรายังเป็นสมาชิกของโลกทางประสาทสัมผัสอีกด้วย[16]                

ตามแนวคิดของคานต์ที่แปตันประมวลไว้ จะเห็นได้ว่าแปตันมีความเห็นสอดคล้องกับความเห็นของฟิลด์แมน ในเรื่องที่มาของคำสั่งเด็ดขาด และสอดคล้องกับที่ชัชชัย อธิบายไว้ว่า คานต์พยายามค้นหากฎศีลธรรม (กฎจริยธรรม) โดยนำมาเปรียบเทียบกับกฎธรรมชาติ

ผู้วิจัยมีความเห็นว่าตามแนวคิดของคานต์ โลกทางกายภาพหรือโลกทางประสาทสัมผัสมีกฎธรรมชาติควบคุมไว้ แต่กฎนี้มีพุทธิปัญญาของเราซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลประมวลไว้ ดังนั้น พุทธิปัญญาของเราก็ควรมีกฎควบคุมเจตนาไว้ด้วยซึ่งคานต์เรียกว่าคำสั่งเด็ดขาด นั่นคือที่มาและความเป็นไปได้ของคำสั่งเด็ดขาดตามแนวคิดของคานต์ ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบและตัดสินการกระทำทางศีลธรรมของจริยศาสตร์คานต์ 

ประเด็นที่มาและความเป็นไปได้ของคำสั่งเด็ดขาดเกี่ยวโยงอยู่กับแนวคิดอภิปรัชญาของคานต์และอยู่นอกขอบเขตของการวิจัยครั้งนี้ ดังนั้น ผู้วิจัยจะทิ้งประเด็นนี้ไว้ โดยจะนำเสนอแต่เพียงรูปแบบของคำสั่งเด็ดขาดเพื่อจะทำให้จริยศาสตร์คานต์ชัดเจนยิ่งขึ้น

อนึ่ง ยังมีคำว่า ภาวะอิสระ ซึ่งเป็นคำเฉพาะในจริยศาสตร์คานต์ ผู้วิจัยจะอธิบายในลำดับต่อไป เพราะความหมายของคำนี้เป็นรูปแบบหนึ่งคำสั่งเด็ดขาด



[1] ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.. 1781 ฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมีชื่อแตกต่างกัน เช่น “The Fundamental Principles of the Metaphysic of Ethics”, “The Moral Law”, “Kant’s Groundwork of the Metaphysic of Morals”, “Foundations of the Metaphysics of Morals”.
[2] International Encyclopedia of Ethics (London : Selem Press, 1995), p. 472.
[3] วิทย์ วิศทเวทย์. จริยศาสตร์เบื้องต้น : มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2528), หน้า 113.
[4] กีรติ บุญเจือ. จริยศาสตร์ (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2528), หน้า 53.
[5] Immanuel Kant. The Moral Law, tanslated and analysed by H.J. Paton (London : Hutchinson, 1969), p.7.
[6] ชัชชัย คุ้มทวีพร. จริยศาสตร์ : ทฤษฎีและการวิเคราะห์ปัญหาจริยธรรม (กรุงเทพฯ : บริษัทเคล็ดไทย, 2540), หน้า 126.
[7]Immanuel Kant. The Moral Law, translated and analyzed by H.J. Paton (London: Hutchinson, 1969), p.19.
[8] Ibid, p. 20.
[9] Ibid, p. 21.
[10] พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2532), หน้า 69.
[11] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978), pp. 101-102
[12] Ibid, p. 102.
[13] ชัชชัย คุ้มทวีพร. จริยศาสตร์ : ทฤษฎีและการวิเคราะห์ปัญหาจริยธรรม (กรุงเทพฯ: บริษัทเคล็ดไทย, 2540), หน้า 123-124..
[14] พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2532), หน้า 15.
[15]  อ้างแล้ว, หน้า 49-50.
[16] Immanuel Kant. The Moral Law, translated and analyzed by H.J. Paton (London: Hutchinson, 1969), pp. 27-29.
หมายเลขบันทึก: 68680เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท