การประชุมแนวร่วมการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษาประจำปี 2008 (Adult Higher Education Alliance - AHEA 2008)


ผมเป็นตัวแทนโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
ไปร่วมประชุมประจำปีแนวร่วมการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษา (Adult Higher
Education Alliance - AHEA
) ที่เมืองโมบิล มลรัฐอลาบาม่า ประเทศสหรัฐอเมริกา
ระหว่างวันที่ ๑ - ๔ ตุลาคม ๒๕๕๑

AHEA มีสมาชิกประเภทสถาบันการศึกษาและสมาชิกประเภทบุคคล
สถาบันการศึกษาที่เป็นสมาชิกคือสถาบันที่มีหลักสูตรสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว
กลับสู่ระบบการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
ส่วนสมาชิกบุคคลซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์สถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้ใหญ่

สถาบันอุดมศึกษาที่รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนี้คือ มหาวิทยาลัยเซาท์อลาบาม่า
มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ๗๐ คน ที่มาจากต่างประเทศมีอังกฤษ ๒ คน และไทย ๑ คน

 

บรรยากาศในห้องประชุมรวม

การประชุมมีทั้งการบรรยายรวมและการนำเสนองานวิจัยและประสบการณ์จากการปฏิบัติงาน
จัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ในระดับอุดมศึกษาที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถเลือก
เข้าร่วม session ต่างๆ ได้ตามสนใจ ตั้งแต่หลักสูตร วิธีจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล

เขาถือโอกาสของการประชุมประจำปีเลือกกรรมการและประธาน AHEA คนใหม่ด้วย
ซึ่งผู้ที่ได้เลือกก็คือ ดร.เอเลียต เลาเดอเดล (Elliott Lauderdale) จากสาขาวิชา
สหวิทยาการศึกษา (Interdisciplinary Studies) มหาวิทยาลัยเซาท์อลาบาม่า

ดร.เอเลียต เลาเดอเดล ประธาน AHEA
ดร.เอเลียต เลาเดอเดล ประธาน AHEA

หลังจากที่ผมได้ฟังการบรรยายรวมและได้เข้าร่วมบางหัวข้อแล้ว ทำให้เข้าใจว่า
โครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่ สสวช.ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย ๘ แห่งในบ้านเรา
ใช้แนวคิดเดียวกันกับที่อื่นเขาทำกันในบ้านเมืองอื่น
นั่นคือ แนวคิดที่เชื่อว่าผู้เรียนผู้ใหญ่มีความรู้และประสบการณ์ทั้งชีวิตและงาน
ที่ผู้สอนต้องให้ความเคารพต่อประสบการณ์นี้ของผู้เรียน
หน้าที่ของผู้สอนคือทำอย่างไรให้เขาสามารถตั้งคำถามและค้นพบคำตอบด้วยตนเอง
ซึ่งเป็นอิทธิพลความคิดของการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดให้ผู้เรียน
สร้างความรู้ใหม่(constructivism) ด้วยตนเอง ไม่ใช่แนวคิดการถ่ายทอดความรู้
(transfer of knowledge) ของผู้สอน ที่ต่างกับของเราก็ตรงที่ของเขาเป็นระบบที่
ผู้เรียนต้องมาเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ของเราเป็นระบบที่มีศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น

ผมได้มีโอกาสนำเสนอในห้องสัมมนาย่อยในหัวข้อ โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต:
กรณีศึกษาจากประเทศไทย ในวันที่สามของการสัมมนาด้วย เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง
การนำเสนอนี้เป็นรายการที่ไม่ได้อยู่ในกำหนดการสัมมนา แต่เพิ่มขึ้นมาหลังจากที่ได้
เล่าเรื่องโครงการมหาวิทยาลัยให้กรรมการคนหนึ่งฟัง คือ ดร.คอร์เนล ไรน์ฮาร์ท
(Cornel Reinhart) จากโครงการ University Without Wall เขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
จึงจัดเวลาและห้องให้

Surachet & Corky
ผมกับอาจารย์ Cornel Reinhart กรรมการคนหนึ่งของ AHEA
ที่ช่วยให้ผมได้นำเสนอกรณีศึกษาจากประเทศไทย

ดร.ไรน์ฮาร์ท บอกผมว่า ประหลาดใจมากที่มีการพูดกันมากในวงการนี้
เรื่องทฤษฎีการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษาที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง
แต่ไม่ค่อยได้เห็นการปฏิบัติจริงที่มีผู้เรียนมากถึง 7 - 8 พันคน
อยู่ในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งทำให้เขาอยากฟังประสบการณ์นี้

ในการนำเสนอ ผมขอให้ผู้ที่สนใจมาเข้าร่วมจัดห้องใหม่โดยเอาโต๊ะชิดผนัง
แล้วเอาเฉพาะเก้าอี้มานั่งล้อมเป็นวงกลม แล้วก็นำทำสมาธิแบบตามลมหายใจในท่านั่งหลังตรง
บนเก้าอี้ เพราะคิดว่าเขาคงไม่สะดวกที่จะนั่งขัดสมาด ใช้เวลาเพียง ๓ นาที 
จากนั้นก็ชวนทำ reflection บางคนก็บอกว่าแม้ใช้เวลาสั้นๆ ก็รู้สึกผ่อนคลายมาก
บางคนบอกว่าเป็น ๓ นาทีที่นานมาก บางคนบอกว่ารู้สึกได้อยู่กับปัจุบันขณะมาก (be present) 

จากนั้นก็จัดกิจกรรมสี่ทิศ โดยผมได้แปลการจำแนกคนเป็นสี่แบบ คือ หมี หนู อินทรี กระทิง
(หรือธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ) จากเว็บไซต์เยาวชนจิตอาสา มาถ่ายเอกสารให้แต่ละคนอ่าน
เพื่อวิเคราะห์ตัวเอง ก่อนวิเคราะห์ตัวเองก็ให้ทำกิจกรรมกระต่ายกระแตก่อน (ให้จับคู่หันหน้าเข้า
หากัน สมมุติคนหนึ่งเป็นกระต่าย คนหนึ่งเป็นกระแต ทั้งสองคนยกฝ่ามือมาไว้ใกล้ๆ กัน  หาก
ผมร้องว่ากระต่าย คนที่เป็นกระต่ายเป็นฝ่ายใช้ฝ่ามือตีฝ่ามือของคนที่เป็นกระแต คนที่เป็นกระแต
ต้องยกฝ่ามือหลบให้ทัน ผมก็ร้องกระต่ายบ้าง กระแตบ้าง จนสนุกสนานกันพอสมควรแล้วก็ให้
แสดงความรู้สึกอีก ทุกคนบอกว่าสนุกพร้อมๆ ไปกับการที่ต้องใช้สมาธิ บางคนก็บอกว่าได้สัมผัสกับ
ความรู้สึกในวัยเด็ก

จากนั้นก็ให้ทุกคนอ่านเอกสารสี่ทิศ (หน้าเดียว) แล้วก็อยู่กับตัวเองสักครู่เพื่อวิเคราะห์ตัวเอง 
แล้วผมก็ให้แสดงท่าทางที่สัมพันธ์กับทิศ(หรือธาตุ)ของแต่ละคน(ที่ผมประยุกต์จากทฤษฎีทาง
จิตวิทยาของนักครอบครัวบำบัดชื่อ เวอร์จิเนีย ซาเทียร์) โดยกระทิงก็ให้เท้าสะเอวชี้นิ้ว
หนูก็ให้ทำท่าคุกเข่ายกมือขึ้นขอความกรุณา หมีก็ให้ยืนเท้าชิดก้มหน้ามือกอดหน้าอกแน่น
อินทรีก็ให้ทำท่าบินไปบินมา แล้วก็ให้จับคู่กันทำท่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของตัวเอง
แล้วก็ลองคิดถึงสมาชิกที่บ้านหรือที่ทำงานในความคิดของเราว่ามีใครเป็นประเภทไหนใน
ความคิดของเราบ้าง แล้วก็ขออาสาสมัครมาแสดงบทบาทสมมุติ(role play)

Role Play
กิจกรรมที่ผมจัดให้ผู้เข้าร่วม session ผมทำ

จากนั้นก็ทำ reflection กันอีก ทุกคนบอกว่าเขาได้เห็นภาพตัวเองชัดขึ้น พร้อมกับคิดว่า
คนอื่นก็คงเห็นตัวเขาแบบนั้นโดยเขาไม่ทันคิด ผมก็สรุปว่า เราล้วนเป็นทุกอย่าง แต่มีบางอย่าง
ที่เราแสดงออกอย่างอัตโนมัติบ่อยที่สุด แต่เราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ โดยเริ่ม
จากการสังเกตตัวเอง (พยายามมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวทุกขณะ) ค่อยๆ ทำค่อยๆ ไป

แล้วผมก็บอกว่ากิจกรรมที่ทำกันนี้เป็นตัวอย่างการจัดกระบวนการเรียนรู่ในกลุ่มวิชา การจัดการชีวิต
ในหลักสูตรมหาวิทยาลัยชีวิตที่ผมทำอยู่ ซึ่งเราเน้นการเรียนจากการปฏิบัติจริง
การเรียนโดยไม่ได้ลงมือทำไม่ทำให้ใครรู้จริง และสิ่งที่ทำนั้นก็เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับชีวิตจริง
ของผู้เรียน ในท้องถิ่นของแต่ละคน เรียนแล้วทั้งชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และชุมชนต้อง
เปลี่ยนแปลงดีขึ้นในขณะเรียนเลย (ไม่ใช่เรียนจบแล้วค่อยนำความรู้ไปใช้) อันเป็นการนำเข้าสู่
การบรรยายประกอบสไลด์ โดยส่วนใหญ่ก็ให้ดูภาพกิจกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในกลุ่มวิชา
การจัดการชีวิตและกลุ่มวิชาการจัดการชุมชน แล้วก็จบด้วยการถาม-ตอบ

ช่วงพักเที่ยง มีหลายคนเดินมาที่โต๊ะที่ผมนั่งรับประทานอาหาร บอกผมว่าเขาไม่ได้เข้าร่วม session
ที่ผมนำเสนอเพราะไปร่วม session อื่น แต่เพื่อนมาเล่าว่าน่าสนใจมาก บางคนก็มาบอกว่าอยากฝึก
การทำสมาธิแบบพุทธ บางคนก็บอกว่าอยากมาดูงานบ้านเรา ก็เลยถูกแซวจาก ดร.ไรน์ฮาร์ท ว่า
หลังการนำเสนอผมกลายเป็น the star ของการประชุมปีนี้ ปีหน้าจะลุ้นให้เป็น keynote speaker
(เขาพูดเล่น) ผมก็บอกว่าผมมิบังอาจ ที่มานี้ก็เพื่อมาเรียนรู้ ไม่ได้คิดว่าจะมีโอกาสได้นำเสนอเพราะ
เพิ่งมาร่วมครั้งแรก (งานนี้เขาจัดมาเป็นปีที่ ๒๘ แล้ว)

ความคิดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการไปร่วมงานนี้คือ ผมอยากให้มีการสร้างเครือข่าย
แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ในระดับอุดมศึกษาขึ้นในบ้านเรา เพราะขณะนี้มี
๘ สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นภาคีความร่วมมือในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต มีศูนย์เรียนรู้เกิดขึ้นแล้ว
กว่าร้อยศูนย์ และมีอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริงอยู่กว่า
๑,๐๐๐ คน ประสบการณ์เหล่านี้มีคุณค่ายิ่ง น่าจะมีการจัดตั้งกรรมการของเครือข่ายจัดให้
มีการประชุมวิชาการประจำปีแบบที่ AHEA ทำ เพื่อเป็นเวทีให้สมาชิกได้นำเสนอประสบการณ์และ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน โดยผมจะเป็นตัวกลางประสานให้เกิดเครือข่ายนี้ก่อนในระยะเริ่มต้น
ต่อจากนั้นเมื่อได้กรรมการที่มาจากผู้สนใจเรื่องนี้แล้วกรรมการก็จะร่วมกันทำหน้าที่ต่อไป
ก็คิดว่าจะเชิญตัวแทน ๘ มหาวิทยาลัย ศูนย์เรียนรู้ อาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่สนใจมาประชุม
ราวกลางเดือน ธ.ค.๕๑ นี้ หากเห็นร่วมกันก็ตั้งกรรมการเพื่อเดินหน้าต่อ แล้วค่อยขยายวงไปสู่
สถาบันอื่นที่ทำหรือสนใจเรื่องการศึกษาผู้ใหญ่ระดับอุดมศึกษาต่อไป

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๒๗ ต.ค.๕๑

หมายเลขบันทึก: 219209เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2008 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

เป็นการนำเสนอ ที่น่าสนใจมากครับ ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมได้ลงมือปฎิบัติจริง

ขอบคุณที่ให้ความรู้ น่าสนใจมาก ๆ แต่ทางพุทธ ไม่ทราบตรงกับข้อธรรมข้อไหน

สวัสดีคะอาจารย์เชษฐ (ในรูปดูหล่อเพราะความสดใสออกมาจากตาเช่นเคย)+สวัสดีน้องMมณฑล (รูปหล่อเชียว ไม่ได้เจอกันนานคงสบายดึนะคะ)

ผึ้งอ่านแล้วรู้สึกภูมิใจกับตัวแทนจากประเทศไทยท่านนี้มากๆคะ อ่านแล้ว..อยากเข้าไปนั่งฟังในห้องนั้นด้วยจัง อยากไปฟังการบรรยายประกอบสไลด์part ของพี่เชษฐ และpart อื่นๆ ด้วยจัง (น่าจะทำพื้นที่ใส่เนื้อหาเพิ่มเติมให้ติดตามได้บ้าง)

อ่านแล้วประทับใจมากกับงานประเทศไทยที่เล่าว่า "หน้าที่ของผู้สอนคือทำอย่างไรให้เขาสามารถตั้งคำถามและค้นพบคำตอบด้วยตนเอง " "แต่ของเราเป็นระบบที่มีศูนย์เรียนรู้ในท้องถิ่น" "เรียนจากการปฏิบัติจริง" "การเรียนโดยไม่ได้ลงมือทำไม่ทำให้ใครรู้จริง " อ่านแล้วนึกแวบๆถึงหนังสือ Man's search for meaning นิดนึงคะ.

อ่านแล้ว ที่ว่า"โครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่ สสวช.ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย ๘ แห่งในบ้านเรา" หากผึ้งหรือเพื่อนๆเกิดรู้สึกสนใจอยากอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน และผลงานจะตามไปย้อนอ่าน หรือติดตามต่อไปได้จากที่ไหนคะ อยากให้อาจารย์ส่ง link ให้บ้าง (มีเพื่อนฝากถามมาเหมือนกันคะ)

สุดท้ายเห็นด้วยกับ idea p'CHET ที่ว่าอยากให้มีการสร้างเครือข่าย

แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ในระดับอุดมศึกษาขึ้นในบ้านเรา

จะให้ความประสงค์ปรารถนาดีจงสำเร็จผลนะคะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

อ้อ! และหากใครอยากติดตามอ่านงานของ AHEA สำหรับผลงานของหลายๆรัฐ หรือประเทศ มี link ไหมคะ

แล้วเค้ามีพื้นที่ รวมผลงานshare กันระหว่างสมาชิก ใน AHEA ไหมคะ

ตอบคุณฮาร์ท
P  ฮาร์ท
เมื่อ อ. 28 ต.ค. 2551 @ 09:08

ผมไม่มีความรู้เรื่องทางทฤษฎีทางพุทธหรือหลักธรรมที่เขียนในพระไตรปิฎก แต่ที่พยายามใช้ปฏิบัติอยู่ก็คือเรื่องของ "สติ" โดยการสังเกตตัวเอง ตามที่ได้เคยเข้ารับการฝึกอบรมมา ๓ - ๔ ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นคอร์ส enneagram (มีที่มาจากความรู้ของปราชญ์อิสลาม + จิตวิทยาตะวันตก) จัดโดยมูลนิธิโกมลคีมทองบ้าง สมาคมนพลักษณ์ไทยบ้าง และก็เคยเข้าคอร์สซาเทียร์ที่มหาวิทยาวิทยาลัยมหิดลจัด (ก็อิงจิตวิทยาตะวันตกอีก) แล้วก็นำกิจกรรมบางอย่างที่ตัวเองทำแล้วเห็นว่าได้ผลมาจัดให้ผู้เรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต

ตอบ peung - anchana
เมื่อ อ. 28 ต.ค. 2551 @ 15:25

  • หากใครอยากติดตามอ่านงานของ AHEA ก็สามารถดูที่เขาเก็บรวบรวมงานวิจัยและเอกสารที่แจกในที่ประชุม (hand-out paper) ในการประชุมประจำปีย้อนหลังไปได้ (ของปีนี้เขายังไม่ได้เอาลง ผมก็ได้กลับมาเฉพาะ session ที่ไปเข้าร่วม) โดยคลิก link ไปที่ http://www.ahea.org/conference/proceedings.htm
  • การ share กันระหว่างสมาชิก ใน AHEA เขามี Forum อยู่ แต่ส่วนของ forum ดูเหมือนจะ down อยู่ ลองคลิกดูที่ http://www.skidmore.edu/resources/phorum/list.php?f=167 มีบางคนที่เขามี blog และทำตัวเป็นสื่อกลางในประเด็นที่เขาสนใจ เช่น http://randomstrands-corky.blogspot.com/2008/10/adult-higher-education-conference-2008.html 

มีเพื่อน +ผึ้ง สนใจอ่าน งานที่ผ่านมา ความเป็นมา และติดตามผลงาน ของ "โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต"เมืองไทย จะมี web ให้เข้าเยี่ยมชมไหมคะ

สวัสดีคะ คุณทรงศักดิ์ เสาวัง :)

ที่ว่าทางพุทธ ?

จากการอ่านน่าจะประมาณว่าผู้เข้าร่วมประชุมบางท่าน อาจสนใจฝึกและติดตาม การฝึก

การทำสมาธิแบบพุทธ จากกิจกรรมที่อาจารย์เชษฐนำก่อนทำกิจกรรม โดยให้ทำสมาธิแบบตามลมหายใจในท่านั่งหลังตรง บนเก้าอี้ สัก ๓ นาที เป็นไปได้ไหมคะ ฟังจากreflection ของผู้เข้าอบรม ที่อาจารย์เขียนเล่า อาจทำให้เพื่อนร่วมประชุมสนใจกิจกรรมฝั้งตะวันออกขึ้นมา?

ประมาณนี้หรือไม่คะอาจารย์

ส่วนตัวเคยนำกิจกรรมนี้ทำสมาธิในเวลาสั้นๆ ไปนำก่อน workshop บ้าง ก็ได้รับการตอบรับ reflection หลากหลาย ได้รับความสนใจมากเหมือนกันคะ ทั้งจากเพื่อนร่วมประชุมคนไทย และต่างชาติ

ตอบ peung -anchana
เมื่อ อ. 28 ต.ค. 2551 @ 20:39

เว็บโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตและเว็บที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ครับ

  • เว็บสำหรับแจ้งข่าวสารทั่วไป ข่าวสารรายวิชา และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา www.rulife.net
  • เว็บสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน สำหรับเผยแพร่ประสบการณ์ต่างๆ ในด้านการจัดการชีวิตและชุมชน www.lifethailand.net
  • เว็บไซต์ที่เป็นโฮมเพจของ ดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน www.phongphit.com

 

ภูมิใจจริงๆค่ะ เป็นโอกาสที่ดีมาก

ตอบ peung -anchana เมื่อ อ. 28 ต.ค. 2551 @ 20:39 อีกครั้ง ที่ทำงานผมเขาช่วยถอดเทปเสียงบรรยายของผมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ต.ค.๕๑ ก็เลยคิดว่าอาจเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจว่าโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตจัดการเรียนการสอนอย่างไร คลิกลิงก์ไปที่บันทึกนั้นได้ที่ http://gotoknow.org/blog/surachetv/219554?page=1

  • อาจารย์สุรเชษฐ์ เวชชพิทักษ์ ที่เคารพ
  • ภูมิใจจริง ๆ ครับ กับท่านที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในครั้งนี้
  • ภูมิใจจริง ๆ ครับ กับโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตของเรา
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดของท่านอาจารย์ และหากมีโอกาสก็ยินดีครับ
  • ขอให้โชคดีมีความสุขครับ

อาจารย์ครับ ผมอ่านแล้วดีใจอย่างลึกซึ้งมากเลย มหาวิทยาลัยชีวิตทำได้ไม่น้อยหน้าในสายตาของชาวต่างชาติเลยใช่ไหมครับอาจารย์

และผมเห็นด้วย ยินดีด้วย ที่อาจารย์มีแนวคิดจะสร้างเครือข่าย ขอให้สำเร็จเร็วๆนะครับ

ผมคนแรกที่จะสมัครเป็นสมาชิกในเครือข่าย

ดีใจและรู้สึกทราบซึ้งในเจตนาที่ดีของอาจารย์

ขอขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท