คุณลักษณะหนึ่งของครูคือความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะครูไม่ได้รู้ทุกอย่าง


ไม่มีใครที่รู้ทุกอย่าง ไม่มีใครที่ไม่รู้อะไรเลย ทุกคนรู้บางอย่างและไม่รู้บางเรื่อง

ได้อ่านหนังสือชื่อ "ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม: จดหมายถึงผู้ที่กล้าสอน" ที่เขียนโดย Paulo Freire (1921 - 1997) แปลโดยอาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา - เกษียณแล้ว แต่ยังช่วยสอนอยู่พร้อมทำงานแปลไปด้วย ผมเพิ่งพบท่านที่ มรภ.สงขลา เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ.๕๐)

http://gotoknow.org/file/surachetv/FriereSodsai.jpg

ในจดหมายฉบับที่ ๔ ว่าด้วยคุณลักษณะอันจำเป็นสำหรับครูหัวก้าวหน้าที่จะทำหน้าที่ของตนให้ดีกว่าเดิม เปาโล แฟร์ บอกว่า ความอ่อนน้อมถ่อนตน เป็นคุณลักษณะสำคัญ เพราะ "ไม่มีใครที่รู้อะไรไปหมดทุกอย่าง ไม่มีใครที่ไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง เราทุกคนรู้บางอย่าง ไม่รู้บางอย่าง" (หน้า ๗๙)

ในความเห็นของเปาโล แฟร์ ความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ใช่การขาดความนับถือตนเองหรือเป็นความขลาดกลัว แต่ตรงข้ามเป็นความกล้า มั่นใจในตนเอง เคารพในตนเองและเคารพผู้อื่น คุณลักษณะนี้ไม่ใช่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่จะเกิดขึ้นจากการค่อยๆเรียนรู้การปฏิบัติ

ผมเห็นว่าอาจารย์ทุกคนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ประจำวิชาจากมหาวิทยาลัยหรือจาก สสวช. รวมทั้งอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ประจำศูนย์เรียนรู้ ต้องเรียนรู้ให้เกิดคุณสมบัติอันนี้จากการปฏิบัติจริงในกระบวนการเรียนการสอน คุณสมบัติอันนี้ของอาจารย์จะช่วยเรียกความมั่นใจในตัวเองของนักศึกษาในโครงการนี้ของเราซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใหญ่กลับคืนมาได้ดังเจตนารมณ์ของโครงการ

http://gotoknow.org/file/surachetv/Lampang_Wirunsak_tacitknowl.jpg

ภาพข้างบนผมถ่ายขณะให้นักศึกษาเล่าเรื่องชีวิตและงานของเขาที่ห้องประชุม อบจ.ลำปางเมื่อกลางปีที่แล้ว คนที่กำลังยืนเล่าอยู่หน้าห้องพร้อมฉายวิดีโอประกอบคือ คุณวิรุฬศักดิ์ เป็นเกษตรกรเลี้ยงกบ วิดีโอนี้ถ่ายโดยเจ้าหน้าที่เกษตร คุณวิรุฬศักดิ์เป็นผู้ที่มีความรู้ชำนาญเรื่องการเลี้ยงกบมาก ขนาดพูดภาษากบได้ (หมายความว่าอยู่กับกบมานานมากจนฟังออกหมดว่าเสียงร้องของกบแต่ละเสียงหมายถึงอะไร เป็นตัวผู้หรือตัวเมีย พวกมันต้องการอะไร ฯลฯ) ซึ่งทุกคนก็ต้องเคารพเขาในเรื่องนี้ (แม้แต่อาจารย์ที่ไปสอน)

http://gotoknow.org/file/surachetv/cpru_booth_tacitknowledge.jpg

ภาพที่สองถ่ายจากงาน "สัมมนาวิชาการมหาวิทยาลัยชีวิต นำวิชาการสู่การพัฒนายั่งยืน" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิเมื่อ ๑๑ พ.ย.๔๙ เป็นภาพของนักศึกษาผู้ใหญ่ของเราคนหนึ่งนั่งทอเสื่อกกให้ผู้มาร่วมงานดูอย่างชำนิชำนาญ ทอไปก็ตอบคำถามแก่ผู้ที่สนใจไปด้วย

http://gotoknow.org/file/surachetv/surin_prasat_tacitknowledge.jpg

ภาพทีสามถ่ายจากขบวนพาเหรดเข้าสนามกีฬาในวันงานกีฬาสัมพันธ์โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว เป็นภาพของพืชผลการเกษตรจากอำเภอปราสาทที่นักศึกษาจัดมาแสดงให้เห็นศักยภาพของพวกเขา มีมะขาม(ดูด้านบนของภาพ)ที่ข้อสวย พริกที่ยาวหลายนิ้ว แตงกวาที่สวยงามน่ากินฯลฯ

 นักศึกษาผู้ใหญ่ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่กระจายกันอยู่ใน ๒๓ จังหวัด กว่า ๕,๕๐๐ คน จึงไม่ใช่คนที่ไม่รู้อะไรเลย ทุกคนรู้บางเรื่อง และรู้ดีเสียด้วยเพราะไม่ได้รู้จากการฟังการอ่านมาอย่างคนเรียนหนังสือทั่วไป แต่รู้จากการทำด้วยมือ-สรุปบทเรียน-ทำใหม่ พัฒนาต่อเนื่องมานานปี

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปพบกลุ่มเรียน หัวหน้ากลุ่มลุกขึ้นบอกให้นักศึกษายืนขึ้นทำความเคารพอาจารย์ (ทำนอง "นักเรียนเคารพ") ในตอนเลิกกลุ่มในวันนั้น ผมเลยขอนักศึกษายืนขึ้นเพื่อรับการเคารพจากอาจารย์!

หมายเลขบันทึก: 81766เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เห็นด้วยในประเด็นความอ่อนน้อมถ่อมตนของคนที่เป็นครู 
  • ดีใจที่ได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ในเวทีนี้ 
  • น่าจะชวนพวกเรามาแลกเปลี่ยนในเวทีนี้ มากๆครับ
  • การอ่อนน้อมถ่อนตน..เมื่อปฏิบัติแล้ว...ไปอยู่ที่ไหน..ก็มีแต่คนชื่นชอบค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ตาม อ มาโนชมา ชอบเรื่องเล่าของอาจารย์ค่ะ

เห็นด้วยค่ะอาจารย์ ว่าเราต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน.....เราไม่ได้รู้ทุกอย่าง

อะไรที่ไม่รู้ต้องถาม...การถามวันนี้เพื่อที่จะได้รู้ตลอดไป (เพื่อนบอกว่า โง่วันนี้ เพื่อที่จะไม่ได้โง่ตลอดไป)....

ขอบคุณทุกท่านครับ สำหรับข้อคิดเห็น

ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตสัปดาห์ละเรื่องเป็นอย่างน้อยครับ

เทอมหน้าวิชาการจัดการความรู้ มีใบงานให้นักศึกษาทุกคนในหลักสูตรนี้ของทุกมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากกว่าหมื่นคนทั้งรุ่นที่เรียนอยู่แล้วและรุ่นที่กำลังจะเข้ามาใหม่ สมัครเป็นสมาชิก gotoknow.org และต้องเขียนเล่าเรื่องต่างๆ สัปดาห์ละครั้ง (มิฉะนั้นจะไม่ได้คะแนนฝึกปฏิบัติ) ไมทราบเว็บนี้จะล่มหรือไม่ จะเขียนบอก อ.จันทวรรณ น้อยวัน ไว้ล่วงหน้าให้เตรียมรับมือ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท