เล่าเรื่องโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต (๒) : ฟังเรื่องดีๆ ที่น่าทึ่ง (best practice) จนแทบสำลัก


นักศึกษาที่ทำเรื่องดีๆ ที่น่าทึ่ง (best practice) กับตัวเองได้สำเร็จนี้ มีแนวโน้มว่าจะ "เสพติด" ความสำเร็จ หลายคนบอกว่าจะไม่หยุดแค่วันนำเสนอ แต่จะทำเรื่องนี้ต่อไปอีก ให้ดีขึ้นไปอีก บางคนก็บอกว่าจะไปหาเรื่องดีๆ เรื่องอื่นทำต่อไปด้วย

"เรื่องเล่าเร้าพลัง" จากนักศึกษาผู้ใหญ่ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต 

วันเสาร์ที่ ๒๔ มีค.๕๐ ผมได้ร่วมฟังนักศึกษานำเสนอผลของโครงงานวิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน ๑ (สปช.๑) ที่ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต อ.แหลมงอบ จ.ตราด ก็มีทั้งทำสำเร็จมากสำเร็จน้อย

การพบกลุ่มเพื่อรายงานผลโครงงาน สปช.๑ ของ นศ.โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ศูนย์เรียนรู้ อ.แหลมงอบ จ.ตราด 24 มีค.50

นักศึกษาคนหนึ่ง เป็นทหารเรือที่นั่น ก่อนเรียนวิชา สปช.๑ เลิกงานแล้วก็ตั้งวงก๊งเหล้ากับเพื่อนฝูงเป็นประจำ พอต้องทำโครงงาน สปช.๑ ที่แต่ละคนต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น แกคิดทำโครงงานสร้างเสริมสุขภาพตัวเองโดยลดการร่วมวงก๊งแล้วออกกำลังกายหลังเลิกงาน เพราะรู้สึกสุขภาพแย่ เหนื่อยง่าย วิ่งเหยาะๆ นิดหน่อยก็เหนื่อยหอบ จุกเสียดท้อง ทำมาได้พักหนึ่งแข็งแรงขึ้น มาพบว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้อยู่ในสายตาผู้บังคับบัญชาเพราะเย็นวันหนึ่งผู้บังคับบัญชามาชมในขณะกำลังวิ่งอยู่ในชุดกีฬา แกดีใจมากเพราะไม่เคยได้รับคำชมจากผู้บังคับบัญชามาก่อน ถือว่า "ผมได้ปริญญาไปแล้ว" แล้วก็เกิดกำลังใจทำให้ดีขึ้นอีก ต่อมาได้รับคัดเลือกจากผู้บังคับบัญชาให้ร่วมทีมไปฝึกการรบพิเศษ ในการฝึกครั้งหนึ่งต้องเดินเท้าหลายสิบกิโลเมตรตลอดทั้งคืนให้ถึงที่หมายก่อนตะวันขึ้น ทุกคนจะคอยถามแกว่า "ไหวไหมพี่" ปรากฏว่าสบายมาก ไปถึงที่หมายทันเวลาและก่อนคนอื่นอีกหลายคน ก็เลยกลายเป็นว่าชีวิตทางกายภาพดีขึ้นแล้ว การงานก็ดีขึ้นด้วย

นศ.ที่เป็นทหารเรือชีวิตเปลี่ยนหลังทำโครงงานออกกำลังกายในวิชา สปช.๑ ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิต อ.แหลมงอบ จ.ตราด 24 มีค.50

นอกจากเรื่องของทหารเรือคนนี้แล้ว ยังมีเรื่องดีๆ ที่น่าทึ่งอีกหลายเรื่อง ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ ตราดมีนักศึกษาอยู่ ๗๐ คน แต่ละคนทำเรื่องดีๆ กับตัวเองที่ล้วนแล้วแต่น่าทึ่ง ผมเองก็ได้เรียนรู้มากมาย 

โจทย์ที่ผมให้คือให้ทำกับตัวเอง ชื่อโครงงานบังคับว่าต้องมีคำว่า "...ของข้าพเจ้า" ห้ามทำโครงงานพัฒนาคนอื่น(เด็ดขาด) ห้ามพัฒนาชุมชนหรือสังคมด้วย เพราะอันนั้นจะอยู่ในกลุ่มวิชาจัดการชุมชน ที่มีแผนแม่บทชุมชน วิสาหกิจชุมชน กองทุนและสวัสดิการชุมชน ฯลฯ ส่วนวิชานี้อยู่ในกลุ่มวิชาจัดการชีวิต(ตัวเอง) จะพัฒนาชาวบ้านต้องพัฒนาตัวเองก่อน

วันต่อมา ๒๕ มีค.ผมได้ไปฟังการนำเสนอโครงงาน สปช.๑ ที่ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตแม่กลอง (สมุทรสงคราม) ก็ได้ฟังเรื่องดีๆ ที่น่าทึ่ง (best practice) จนแทบสำลัก เลือดลมพลุ่งพล่าน ขนลุกตลอดเวลา

นักศึกษาคนหนึ่งเป็นบุรุษไปรษณีย์ทำโครงงานออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เล่าว่าไม่ได้คิดหรือเขียนในเค้าโครงของโครงงานก่อนทำว่าจะมีผลกระทบอะไรกับงาน แต่มาพบว่าเมื่อตัวเองมีร่างกายแข็งแรงขึ้น ตื่นเช้าไม่เพลีย กระปรี้กระเปล่า สามารถจัดเรียงจดหมายได้เร็วและแม่นยำขึ้น ลากและยกถุงเมล์ได้คราวละมากขึ้น ไม่เหนื่อย จากที่เคยขี่มอเตอร์ไซต์ส่งจดหมาย ๔ ชั่วโมงต่อวัน ทุกวันนี้ใช้เวลาแค่ ๒ ชั่วโมงครึ่งเสร็จ

นักศึกษาที่เป็นพนักงานไปรษณีย์ทำงานได้เร็วขึ้นหลังฟิตซ้อมร่างกายจนแข็งแรง ศรร.แม่กลอง 25 มีค.50

นักศึกษาอีกคนหนึ่งทำโครงงานลดการสูบบุหรี่หลังจากที่สูบมา ๒๔ ปี ปรากฏว่าไม่เพียงแต่ลดกลับเป็นเลิกได้ ลูกสาวนำเรื่องเลิกบุหรี่ของพ่อไปทำนิทรรศการที่โรงเรียน ผมถามว่าให้คะแนนตัวเองเท่าไร (วิชานี้ผมให้นักศึกษาให้คะแนนตัวเองด้วยโดยมีแบบฟอร์มให้กรอกพร้อมบอกเหตุผลว่าทำไมจึงให้เท่านั้น) แกบอกว่าอาจารย์จะให้เท่าไรให้ไปเลย แกไม่สนใจแล้ว เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือได้คะแนนเต็มจากลูกสาวและครอบครัวแล้ว

นักศึกษาอีกคนหนึ่งเป็นแม่บ้านลูกสาม ทำโครงงานประหยัดพลังงานในบ้าน โดยค่าไฟฟ้า(ตามใบเสร็จ)ที่ลดลงได้แต่ละเดือนจะฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของลูกๆ ปรากฏว่านอกจากลูกๆ จะคอยปิดไฟ ปิดพัดลม วิทยุ ทีวี ทุกครั้งที่ออกจากห้อง หรือเมื่อไม่ใช้แล้ว จะคอยบอกผู้ใหญ่ในบ้านให้ปิดด้วย "แม่ยังไม่ปิดไฟ" เพราะแม่เองก็ลืมบ่อย

ส่วนนักศึกษาที่อายุมากหน่อยที่กินยาลดความดัน ลดไขมัน ลดเบาหวาน ลดปวดข้อปวดเข่า ภูมิแพ้อยู่หลายสิบคน สามารถลดยาลงได้ โดยหมอสั่งให้ลดยาลงหลังจากทำโครงงานออกกำลังกายและกินอาหารถูกหลัก

ทั้งหมดนี้เป็น "เรื่องเล่าเร้าพลัง" จริงๆ

สิ่งที่ผมพบอีกอย่างคือ แม้ว่าวิชานี้ไม่มีการบรรยายความรู้ใดๆ โดยอาจารย์นอกจากการบรรยายลงแผ่นวีซีดีเพื่อแนะนำวิธีเขียนเค้าโครงของโครงงานและวิธีเขียนรายงานผลโครงงาน(ตามแบบที่คณะกรรมการรายวิชากำหนด) แต่ปรากฏว่าในขณะที่นำเสนอกันนั้นมีเนื้อหาสาระในเชิงความรู้ที่นักศึกษาแต่ละคนไปค้นคว้ากันมาเองมากมายทั้งจากหนังสือ จากเน็ต และจากการไปเที่ยวถามผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องตัวเองทำโครงงาน ล้วนเป็นความรู้ดีๆ ทั้งนั้น หลายเรื่องผมก็ไม่รู้มาก่อน

สิ่งที่ผมรู้สึกได้อีกอย่างคือ นักศึกษาที่ทำเรื่องดีๆ ที่น่าทึ่ง (best practice) กับตัวเองได้สำเร็จนี้ มีแนวโน้มว่าจะ "เสพติด" ความสำเร็จ หลายคนบอกว่าจะไม่หยุดแค่วันนำเสนอ แต่จะทำเรื่องนี้ต่อไปอีก ให้ดีขึ้นไปอีก บางคนก็บอกว่าจะไปหาเรื่องดีๆ เรื่องอื่นทำต่อไปด้วย

ขณะนี้โครงการมหาวิทยาลัยชีวิตมีศูนย์เรียนรู้อยู่ ๗๙ ศูนย์ใน ๒๓ จังหวัด ผมกำลังรวบรวมประสบการณ์จากศูนย์ต่างๆ อยู่ว่าวิธีการสอนแบบ "สอนน้อย เรียนมาก" และเรียนโดยไม่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่เอา "ชีวิต" เป็นตัวตั้ง (ตามชื่อและปรัชญามหาวิทยาลัยชีวิต) นี้จะทำให้เกิดปัญญามากกว่าระบบการศึกษากระแสหลักที่เน้นที่ตัววิชาความรู้ เน้นการท่องจำความรู้ แค่ไหน



ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ อ.สุรเชษฐ

อ่านแล้วขนลุก..น้ำตารื้น..แต่ยิ้ม..ม

เบิร์ดมีความสุข ปิติ และตื้นตันเมื่ออ่านบันทึกนี้..ขอบคุณค่ะอาจารย์..ที่ทำให้เบิร์ดยิ่งเชื่อ ( มากกว่าเดิมที่เคยเชื่อ ) ว่า " การศึกษาพัฒนาคน "..

สวัสดีค่ะอาจารย์สุรเชษฐ์

       น่าดีใจแทนคนที่พัฒนาชีวิตได้ดีขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น ทำตนให้อยู่ในสังคมได้อย่างน่าภูมิใจ และเป็นตัวอย่างต่อไป ดีใจแทนอาจารย์ด้วยนะค่ะ  อ่านแล้วรู้สึกดีมากเลยค่ะ สุดยอด best practice จริง ๆ ค่ะ

  • ผมก็รู้สึกเช่นที่เล่าให้ฟังจริงๆ เรื่องดีดีอย่างนี้ควรเผยแพร่ครับ
  • รู้สึกดีมาก

ขอบคุณครับที่ช่วยแสดงความคิดเห็น

ทุกครั้งที่ไปพบกลุ่มนักศึกษาที่ศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ผมรู้สึกดีมากครับ บางครั้งก่อนไปมีเรื่องเครียดๆ อะไรไปจาก กทม. พอเจอเรื่องดีๆ ที่นักศึกษาทำก็หายเครียด แถมยังรู้สึกว่าเรื่องที่เครียดอยู่เป็นเรื่องไร้สาระไปเลยก็มี

วิชา สปช.๑ นี้ นอกจากรายงานให้อาจารย์และเพื่อนฟังในกลุ่มแล้ว ยังต้องส่งตัวรายงานฉบับสมบูรณ์เป็นเล่มด้วย ซึ่งขณะนี้เริ่มทะยอยเข้ามาแล้ว (หากมาหมดจะมีประมาณ ๕,๕๐๐ เล่ม ผมตั้งใจจะดูหมดทุกเล่มเพื่อวิเคราะห์ประเภทโครงงานและผลที่เกิดขึ้น

อีกอย่างหนึ่งก็คือเพื่อปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนวิชานี้ต่อไป

โอ้โฮ ตั้ง 5,500 เล่ม !!

นี่เอาเนื้อหามาวิเคราะห์ทำ thesis ได้เลยนะครับนี่   เรื่องที่เล่าน่าประทับใจมากครับ การเห็นความสำเร็จจริงๆ อยู่ตรงหน้าเรา ตัวเป็นๆ เลยเนี่ย มันเป็นเรื่องที่เสริมสร้างพลังใจได้อย่างดียิ่งเลยนะครับ ขอแสดงความชื่นชมด้วยใจจริงครับ

  • ตามมาช้าไปหน่อยครับ แต่บอกได้ว่าประทับใจทุกตอน ทุกปฏิบัติการครับ
  • สิ่งเหล่านี้หล่ะครับ ที่ควรส่งเสริมแล้วตีฆ้องจากคนทำจริง แล้วน่าทึ่งเอาไปประชาสัมพันธ์ครับ
  • น่าจะมีทีวีซักช่อง ที่ชื่อว่า มหาวิทยาลัยชีวิต นำเสนอสิ่งเหล่านี้ จากประสบการณ์จริง นำเสนอเป็นตอนๆ ไปครับ
  • ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ความคิดและทุกๆคนที่ปฏิบัติจริงจนเกิดเป็นแนวทางของตัวเองที่เกิดเป็นผลดีครับ
  • บางทีคนเราจะนับถือตัวเองก็ตอนที่เราเป็นผู้ทำเอง ทำแล้วเกิดความน่าทึ่งในตัวเองนี่หล่ะครับ ถึงจะหยุดหรือทำอะไรบางอย่างที่ดี
  • ยกตัวอย่างพ่อผม เคยดื่มเหล้าเมา ใครๆ เตือน ลูกๆ เตือน ไม่ได้ผลอะไรครับ จนวันหนึ่งหยุดเองเพราะคิดอะไรได้ก็ไม่ทราบของท่าน แต่ท่านหยุดแล้วน่าทึ่ง เลิกไปเลยครับ สิ่งดีๆ ก็กลับมาสู่สุขภาพของท่านเอง
  • ขอบคุณมากนะครับ ที่นำมาเล่าและควรจะขยายต่อนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์ สุรเชษฐ์  ที่เคารพ

      ก่อนอื่นคงต้องขอกราบขอบพระคุณอาจารย์สุรเชษฐ์เป็นอย่างสูงที่อาจารย์ช่วยจุดประกายความรู้ในด้านต่างๆให้กับกระผมอีกทั้งยังถ่ายทอดความรู้ให้กับตัวกระผมและเพื่อนๆของกระผมผมเป็นหนึ่งในนักศึกษามหาลัยชีวิตอำเภอแหลมงอบ ผมเองคงไม่มีอะไรจะบอกอาจารย์มากไปกว่านี้เพียงแต่พวกเราคอยอาจารย์กลับมาเพิ่มความรู้ให้กับพวกเราอีกครั้งนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์สุรเชษฐ ที่เคารพเช่นกัน

ผมดีใจมากครับที่ได้กลับมาเรียนอีกครั้ง และไม่ใช่เป็นการเรียนที่เอาตำราเป็นตัวตั้ง แต่เป็นการเอาชีวิตของเราเป็นตัวนำ ดีใจครับที่สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนมาตั้งที่บางคนที สมุทรสงคราม ผมได้เพื่อเยอะครับ มีทั้งรุ่นน้อง รุ่นพี่ รุ่นแม่ รุ่นปู่ครบ ทุกคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มันน่าทึ่งมากสำหรับบางคนเวลาเล่าถึงโครงงานที่ทำ ผมหวังว่าอาจารย์จะมาได้เยี่ยมศูนย์นี้บ้างนะครับ

รักนะครับจุฟฟ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท