ความมุ่งมั่นเอาชนะความไม่รู้คือแรงบันดาลใจ


ตามความเห็นของผู้เขียน การลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ อยู่ที่ตัวผู้เรียนรู้เป็นสำคัญ จากประสบการณ์ตรงที่เติบโตในชนบท จนย่างก้าวเข้าเมืองกรุง ผู้เขียนพบความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาภายใต้หลักสูตรเดียวกัน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในฐานะของนักเรียน เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ระบบ โรงเรียน หรือผู้สอนที่เป็นปัจจัยภายนอกได้ จึงคิดด้วยตนเองตามวัยในขณะนั้นว่า ทำอย่างไร จึงจะขวนขวายเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ ทั้งครูผู้รู้และคลังความรู้ นั่นแสดงว่าผู้เขียนคิดลึก ๆ ในใจว่าส่วนหนึ่งที่เราผลการเรียนไม่ดี ไม่ใช่เราสติปัญญาไม่เท่าเทียมกับเด็กอื่น ๆ

แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกนี้มาจากการอ่านพบข้อความต่อไปนี้ค่ะ

บางวิธีคุณได้ทำจนเป็นกิจวัตรประจำวันหรือเป็นนิสัย   บางวิธีคุณได้ทำเมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมกับผู้อื่น  บอกเล่าเรื่องเล่าแห่งความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณได้เคยทำนี้ผ่านทางบล็อกเราจะทำหน้าที่รวบรวมและเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป ในหนังสือ  "เรื่องเล่าจากคนทำงาน เพื่อการร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้"

จากบันทึก “หยุด! คิดสักนิด เพราะเรายังไม่หยุด เขียนและขุด เรื่องความเหลื่อมล้ำทาง  ความรู้”  ของท่านอาจารย์ ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ใน Blog “Tutorial.GotoKnow.org” จาก http://gotoknow.org/blog/tutorial/260354  ...ขอขอบพระคุณค่ะ

ผู้เขียนมีความเชื่อว่าแรงบันดาลใจมีพลังในการขับเคลื่อนสมองให้คิด และขับเคลื่อนกายให้ลงมือกระทำในสิ่งที่เราตั้งมั่น  โดยอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะทำสิ่งใดก็ได้ที่ปรารถนา  หากเรา “รู้”  ก่อนว่าเรามีศักยภาพอะไรแล้วใช้ให้ถูก  ใช้ให้เป็น  ใช้ให้สุดพลัง

ในหัวข้อเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้”  ผู้เขียนขอเล่าประสบการณ์ตนเองในวัยเรียนสำหรับบันทึกนี้  ส่วนบันทึกครั้งต่อไป จะเล่าประสบการณ์ในการทำงาน

                                                     วัยเด็ก

              

ผู้เขียนเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ย้ายตามบิดามารดาซึ่งเป็นข้าราชการ ไปใช้ชีวิตวัยเด็กเกือบ 10  ปีที่จังหวัดชลบุรี เลยและหนองคาย  สิ่งที่จำได้แม่นยำคือเมื่อมีการย้ายโรงเรียนจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง  ผลการเรียนจะตกต่ำอย่างเห็นได้ชัดโดยผู้เขียนจะต้องปรับตัวเข้ากับระบบการศึกษาของโรงเรียนที่เพิ่งย้ายเข้าไปใหม่  นอกจากนี้ยังจะต้องปรับตัวเข้ากับคุณครูและเพื่อน ๆ ในโรงเรียน

คำถามที่เกิดขึ้นในใจตามประสาเด็กในตอนนั้นก็คือ ทำไมวิธีการเรียน การสอนในแต่ละแห่ง จึงไม่เหมือนกัน  ทั้งที่ เป็นโรงเรียนของรัฐเหมือนกันและใช้หลักสูตรเดียวกัน เพียงแต่ตั้งอยู่คนละจังหวัด  ยกตัวอย่างวิธีการเรียนที่แตกต่างกันเช่น 

-      วิชาวิทยาศาสตร์  โรงเรียนหนึ่งเน้นตำราโดยไม่ค่อยเน้นการปฏิบัติในห้องทดลอง    อีกโรงเรียนหนึ่งมีการทดลองจริงทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ 

-      วิชาอังกฤษ   โรงเรียนหนึ่งมีอาจารย์ชาวต่างชาติร่วมสอนด้วย  อีกโรงเรียนหนึ่งไม่มีอาจารย์ชาวต่างชาติเลย 

ในวัยเด็ก  ผู้เขียนมองไม่เห็นว่าตนเองมีศักยภาพในเรื่องอะไร  ถนัดวิชาอะไรเป็นพิเศษ  เนื่องจากผลการเรียนแต่ละวิชาก็ดูธรรมดาเหลือเกิน ไม่มีวิชาอะไรที่ได้คะแนนโดดเด่น    ส่วนหนึ่งโทษที่ตัวเอง สมองไม่ดี  เป็นเด็กสมาธิสั้น  เมื่อคุณครูให้ท่องจำตำราเรียนเพื่อใช้ในการสอบ  ก็ไม่มีจิตตั้งมั่นจดจ่ออ่านหนังสือนาน ๆ  ถึงเวลาสอบก็ไม่มีเนื้อหาในสมองไปตอบ  อาศัยจินตนาการในการตอบข้อสอบ  หากว่าเป็นข้อสอบปรนัย  มักจะได้คะแนนไม่ดี  แต่หากว่าเป็นข้อสอบอัตนัย  อาศัยการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ด้วยตนเอง  จะได้คะแนนดีมาก

ข้อสังเกตที่ผู้เขียนเห็นในวัยเด็กก็คือการสอนของคุณครูจะเป็นแบบการสื่อสารทางเดียว (One Way Communication)  พอเข้าห้องเรียนก็ขีดเขียนบนกระดาน  ให้นักเรียนจดตาม ท่องตาม และถามบ้าง  ซึ่งคำถามก็แน่นอนว่าเป็นคำถามปลายปิด มีคำตอบไว้แน่นอน  หากไม่ได้อ่านท่องจำมา ตอบผิดอยู่แล้ว   สำหรับการสอนของบิดาผู้เขียน ซึ่งในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้าคุณครู (ผู้อำนวยการโรงเรียน) นับว่าเป็นคำสอนที่เหมาะกับเด็กที่อยู่ห่างไกลแหล่งความรู้อย่างผู้เขียนมาก  ท่านสอนให้นักเรียน “เอาชนะความยากลำบาก” ในชีวิต  คำสอนนี้ ทำให้เรามีความพร้อมรับมือกับความเหลื่อมล้ำใด ๆ เพราะหากจะกล่าวไปแล้ว  “ใจ” ที่อยากเอาชนะอุปสรรคนั้นเป็นนาย  ส่วน “สมอง” ที่เรามองว่ามีข้อด้อยในความเหลื่อมล้ำทางความรู้นั้นเราใช้อาศัยเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาศักยภาพตัวตนของเราต่อไปได้                 

                              วัยรุ่น  (ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย)

                                      

ผู้เขียนโชคดีที่ได้ย้ายเข้ามาเรียนในกรุงเทพชั้นมัธยมปลายก่อนสอบเอ็นทรานซ์ในสมัยนั้น  ซึ่งเป็นการตัดสินใจของตนเองและได้รับการสนับสนุนจากบิดามารดา  สิ่งที่ค้นพบสำหรับเด็กวัยรุ่นคือการใกล้แหล่งข้อมูล คลังความรู้ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดที่รวบรวมตำราหลากหลายนอกเหนือจากหนังสือเรียนตามหลักสูตร โรงเรียนกวดวิชา  และคุณครูที่สอนหนังสือนอกเวลาเรียนโดยไม่คิดค่าสอนพิเศษ

ผู้เขียนค้นพบความจริงในเวลานั้นว่าไม่ใช่เราสมองไม่ดี  เด็กทุกคนหากมีความเป็นปกติทางร่างกาย สติปัญญาและจิตใจ ไม่ใช่กรณีเด็กพิเศษแล้วล่ะก็  สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ได้รับโอกาส  ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ถูกอุดช่องว่างให้ลดลงมา ด้วยความเพียรพยายาม ขวนขวาย และเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้

ในช่วงเวลาแห่งการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ในกรุงเทพบ้านเกิดเราเอง ได้แก่ การตื่นแต่เช้ามืดนั่งรถเมล์ไปโรงเรียน การช่วยเหลือตัวเองทุกอย่างตั้งแต่ซักผ้า รีดผ้า หาซื้ออาหารทานเอง หาโรงเรียนกวดวิชา  อ่านหนังสือหนักกว่าเดิมหลายเท่า  แต่อ่านด้วยความเข้าใจในวิธีการอ่านมากขึ้น โดยได้รับคำชี้แนะเทคนิคการอ่านจากคุณครูว่าให้อ่านอย่างมีเป้าหมาย สรุปใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้าที่อ่านด้วยตนเอง  อ่านและคิดตาม ทำความเข้าใจด้วย  จากนั้นให้จดจำเฉพาะ  “คำสำคัญ”  หรือ “key words”  การอ่านให้เข้าถึงใจ จะต้องปิดหนังสือแล้วสามารถนึกถึงประเด็นสำคัญที่อ่านมาแล้วได้  รวมทั้งอธิบายออกมาได้จากความเข้าใจของตนเอง

ผู้เขียนเลือกคณะและมหาวิทยาลัยที่จะสอบด้วยตนเอง  สมัยนั้น ให้เลือกได้ 6 คณะ/สาขาวิชา   และผู้เขียนสอบได้ในคณะที่เลือกไว้อันดับ 1  ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต หากมองย้อนกลับไปจากวันนี้ ต้องขอบอกว่าสอบได้เพราะเข้าถึง “แหล่งความรู้” บวกกับ “ความเพียร” ที่ไม่เคยย่อท้อเลย

ขณะที่ผู้เขียนอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ  เชื่อไหมว่าไม่เคยคิดล่วงหน้าหรือวางแผนอะไรทั้งสิ้นว่า หากสอบไม่ได้ จะต้องไปเรียนที่ไหน หรือทำอะไรต่อ  ทั้งที่โอกาสที่จะสอบไม่ได้ก็มีสูงมาก  โดยพิจารณาจากผลการเรียนสมัยอยู่ต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยดีนักไม่เคยได้ติดอันดับท็อปเทนของห้องเรียนเลย...สิ่งที่ผู้เขียนคิดตลอดเวลาที่อ่านหนังสือก็คือ “อ่านให้เข้าใจในเนื้อหาที่อยู่ตรงหน้า” เพิ่งเข้าใจเมื่อได้ทบทวนในวันนี้ว่า พลังของวัยเรียนที่มุ่งมั่นและอยู่กับปัจจุบันนั้นมีอานุภาพที่สูงจริง ๆ

สำหรับผู้เขียนแล้ว การอ่านที่ดีจะต้องปราศจากความวิตกกังวลกับคำว่า “จะทำได้หรือไม่” “จะรู้มากน้อยแค่ไหน”   ณ เวลานั้น มีหน้าที่อะไร ก็จงทำให้ดีที่สุด

                                 วัยรุ่น - วัยผู้ใหญ่ (เรียนมหาวิทยาลัย)

            

                                          

วิธีการเรียนในมหาวิทยาลัย  คงไม่ต้องกล่าวในรายละเอียดมากนัก ทุกท่านทราบกันดีอยู่แล้ว  เพียงแต่ขอสรุปตามความเข้าใจของผู้เขียนว่าวิธีการเรียนในมหาวิทยาลัยเน้นการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก  เป็นวิธีการเรียนที่ได้ผลดีมาก สามารถนำไปปลูกฝังให้กับเด็กนักเรียนในวัยก่อนเข้ามหาวิทยาลัยได้

ผู้เขียนค้นพบศักยภาพตนเองว่าเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ก็ต่อเมื่อได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย….ท่านอาจารย์มีคำถามปลายเปิดให้เป็นการบ้านมาขบคิดต่อยอดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นย้ำว่า “ห้ามคิดซ้ำ ห้ามเลียนแบบใคร จงคิดอะไรใหม่ ๆ ด้วยตนเอง อยู่เสมอ”

แม้กระทั่งการคิดค้นทฤษฏีใหม่ ๆ ด้วยตนเอง และการลองผิด ลองถูกท่านอาจารย์กระตุ้นให้นักศึกษามีความกล้าที่จะคิด แม้ว่าสิ่งที่คิด คนฟังฟังแล้วเหลือเชื่อ  แต่ท่านก็ไม่ปิดกั้นใด ๆ ที่สำคัญคือการฝึกให้ตั้งโจทย์เองและตอบเอง ผู้ตั้งโจทย์เองย่อมต้องรับผิดชอบต่อโจทย์ที่ตั้ง ไม่ให้ไกลเกินไปกว่าการค้นคว้าหาข้อมูลคำตอบเพื่อพิสูจน์สมมติฐาน  อีกทั้งการฝึกฝนทักษะในการสรุปรวบยอดความคิดออกมาเป็นองค์ความรู้ใดองค์ความรู้หนึ่งให้ชัดเจน

ท่านอาจารย์บอกเสมอว่าทฤษฎีสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ตลอดเวลา อย่าพึงเชื่อทฤษฎีใดทฤษฎีเดียวหรือเชื่อเพราะเขาเป็น authority ในเรื่องนั้นอ้างอิงได้แต่ให้คิดเอง

นอกเหนือจากความรู้ทั้งนอกตำราและในตำรา  ประสบการณ์จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกรั้วมหาวิทยาลัยก็นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง  มูลค่าเพิ่มของประสบการณ์ที่วัดเป็นเกรดเฉลี่ยในวิชาเรียนไม่ได้นั้น เป็นที่ต้องการและยอมรับของโลกแห่งการทำงานมากมายนัก  สำหรับผู้เขียนเอง เคยทำกิจกรรมต่าง ๆ  และทำงานพิเศษระหว่างเป็นนักศึกษา  ได้แก่ การสอนหนังสือในชุมชนแออัด การแปลหนังสือ การร่วมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การผลิตสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร การร่วมทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับสื่อการเมืองเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ

ผู้เขียนเคยมีส่วนในการพิจารณาคัดเลือกคนมาสอบเข้าทำงานในองค์กร  นอกจากการพิจารณาเกรดเฉลี่ยของสาขาที่จบมาแล้ว  ประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้จบการศึกษาก็มีความสำคัญ  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น  ขอเพียงให้คุณเคยลงมือปฏิบัติมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อวัดความสนใจพิเศษ ความสามารถพิเศษ การรู้จักทำงานเป็นทีม การปรับตัวและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ...แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ตัดเชือกเลือกคนเข้าทำงาน หลังจากผ่านเกณฑ์ "ความรู้" มาแล้ว นั่นก็คือ "ทัศนคติต่อการทำงาน" หรือ "วิธีการมองโลก" ของผู้สมัครเข้าทำงาน...เชื่อหรือไหมว่า "ความมุ่งมั่น" สัมผัสกันได้

สรุปชีวิตในมหาวิทยาลัย  ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี 2 ใบ และระดับปริญญาโท 3 ใบ ไม่รวมที่ไปเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรต่าง ๆ ซึ่งมีอีกพอสมควร  ทั้งนี้ ขณะที่เรียนอยู่ ก็ทำงานไปด้วยตลอดเวลาคู่ขนานกันไป ถามว่าทำไมไม่เรียนในระดับปริญญาเอกคงมาจากบุคลิกภายในของผู้เขียนเองที่เป็นคนชอบหลากหลายศาสตร์  หากจะเรียนระดับปริญญาเอก นั่นหมายความว่าจะต้องผูกพันตนเองในศาสตร์ที่ตนรักมากที่สุด  ซึ่งหากวันหนึ่งที่ผู้เขียนค้นพบว่าตนเองรักศาสตร์ใดมากเป็นพิเศษ อาจจะทุ่มเทให้กับศาสตร์นั้นโดยเฉพาะก็ได้

การศึกษาหลากหลายศาสตร์อาจจะมาจากความพยายามในการ  “ลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้” ในเรื่องที่ตนไม่รู้  ซึ่งคงมีอยู่ในใจลึก ๆ มานานแล้ว เพียงแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร  โดยคิดเองว่าหากมีโอกาส ก็จะเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้นในหลาย ๆ ด้านที่เรายังไม่รู้  ตามคำที่ว่า “หลุมฝังศพ เป็นจุดจบของการศึกษา”

ดังนั้น ตามความเห็นของผู้เขียน การลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ อยู่ที่ตัวผู้เรียนรู้เป็นสำคัญ  จากประสบการณ์ตรงที่เติบโตในชนบท จนย่างก้าวเข้าเมืองกรุง ผู้เขียนพบความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาภายใต้หลักสูตรเดียวกัน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในฐานะของนักเรียน เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ระบบ โรงเรียน หรือผู้สอนที่เป็นปัจจัยภายนอกได้  จึงคิดด้วยตนเองตามวัยในขณะนั้นว่าทำอย่างไร จึงจะขวนขวายเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ ทั้งครูผู้รู้และคลังความรู้  นั่นแสดงว่าผู้เขียนคิดลึก ๆ ในใจว่าส่วนหนึ่งที่เรามีผลการเรียนไม่ดี ไม่ใช่ว่าสติปัญญาเราไม่เท่าเทียมกับเด็กอื่น ๆ

ในปัจจุบันนี้ มีโลก Cyberspace ที่ไม่มีพรมแดน ทำให้น้อง ๆ ในวัยเรียน คนทำงานที่อยู่คนละที่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้... จากการเข้ามาสัมผัสในโลกสังคมออนไลน์  G2K มองเห็นพลังความคิดของคุณครู อาจารย์ แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ นักเกษตรกร เจ้าของกิจการ ฯลฯ ซึ่งมีมากมายมหาศาลอยู่ในตัวของกันและกันอยู่แล้ว  แต่ก็ยังไม่เท่ากับพลังใจ หรือ "หัวใจ" ของผู้ให้ซึ่งกันและกัน การให้เช่นว่านี้คือการอุดช่องว่างของความไม่รู้ของอีกฝ่ายหนึ่ง  รวมไปถึงการรวมพลังกันเพื่อ "ให้" แก่สังคม ชุมชนต่างๆ ดังคำที่เราเห็นกันบ่อย ๆ คือคำว่า"จิตอาสา G2K"  จากพลังของชุมชนที่หล่อหลอมรวมเป็นหนึ่งนี้เอง จึงเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำโดยตัวมันเองจนในที่สุดคงจะไม่มีความแตกต่างทางความรู้ใด ๆ หลงเหลืออีกต่อไป   เว้นแต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแนวนอน  ซึ่งไม่ใช่การถ่ายโอนความรู้จากบนลงล่าง

จึงขอกล่าวว่าแรกเริ่มควรมาจากผู้เรียนรู้นั่นเองที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้  โดยใช้แรงบันดาลใจ ให้ “ใจ” ของเราเป็น “นาย” ที่จะมุ่งมั่นเอาชนะอุปสรรคคือความไม่รู้   เพื่อกำหนดชะตาชีวิตตนเอง  ส่วน “สมอง” ก็ถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการแสวงหาความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  และ “กาย”  คือ “การลงมือปฏิบัติจริง”    ในทุก ๆ เรื่องที่เราได้เรียนรู้มา  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคำตอบของผู้เขียนที่เรียบง่ายและได้ใช้กับตัวเองมาแล้ว เพื่อ “การลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้” จากเดิมที่ไม่รู้อะไรเลยมาก่อน        และเมื่อก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนออนไลน์ G2K ก็พร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนผลักดันความรู้สู่โลกกว้างด้วยพลังใจของผู้ให้แก่กันและกัน

บันทึกต่อไปจะเป็นประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับ“การลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้”

                          -------------------------------------------

 

 

หมายเลขบันทึก: 260484เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2009 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

สวัสดีค่ะ

  • น้อง Sila เป็นตัวอย่างของคนที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ตัวจริงเสียงจริงคนหนึ่ง
  • แต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ของตนเอง
  • ปริญญาตรี 2 ใบ  ปริญญาโทอีก 3 ใบ  (น้องจ๋า...ศรัทธามากในความพยายาม)  และ  จะตามมาอีกถ้าต้องการเพราะ  “หลุมฝังศพ เป็นจุดจบของการศึกษา”
  • มีสิ่งหนึ่งที่น้อง Sila ได้เปรียบคนอื่นๆในวัยเดียวกัน (วัยรุ่น)
  • นั่นก็คือ...การรู้จักความต้องการของตนเอง นั่นคือชัยชนะ
  • ขออนุญาตนำไปเป็นแบบอย่างให้แก่นักเรียนด้วยนะคะ

 

มายกจอกแห่งความชื่นชมเป็นพิเศษ คารวะความคิด 1 จอกค่ะ

น้องศิลา อย่างนี้ซิ จึงลดช่องว่าง อย่างนี้ซิจึงเป็นการให้ด้วยใจ

สังคมไทยหากมุ่งหมายตัวเองเป็นใหญ่แล้วเมื่อไรช่องว่างจะแคบลง

จงอย่ารอให้ตัวเองสำเร็จ ก่อนทำ เพราะนั่นมันง่ายเกินไป

ลองเดินไปด้วยกัน และจูงกันไปซิ

แล้วจะรู้ว่าช่องว่างหน้าตาเป็นอย่างไร

อย่าก้าวแล้วมองลงมา แม้เห็นช่องว่าง

ก็มิอาจชดเชยได้ดังใจคิด

ขออนุโมทนาในกุศลจิตนี้ด้วยค่ะ

  • สุดยอด ๆ ...
  • Miss you. .....

ชยพร แอคะรัจน์

ความเหลื่อมล้ำทางความรู้

เกิดจากโอกาส และ ความขยันหมั่นเพียร

ผมคิดแบบนี้ครับ

สวัสดีค่ะ

 ต้องขอชื่นชมและขอบคุณที่มีพ่อแม่เลี้ยงดูมาดี ให้กำลังใจ...

เด็กๆพร้อมที่จะเป็นคนเก่ง...

 การค้นพบตัวเอง...มุ่งมั่น... อ่านเพื่อเอาความรู้...

 ไม่แปลกเลยที่คุณศิลามีบันทึกที่หลากหลาย...

 

สวัสดีค่ะ

  • มีความรู้สึกเช่นเดียวกันค่ะ
  • เมื่อคุณพ่อได้ย้าย พวกเราหมายถึงคุณแม่และพี่คิมเป็นทุกข์ค่ะ
  • ที่ต้องย้ายติดตาม เพราะคุณพ่อชอบอยู่กับครอบครัวมากกว่าอยู่กับคนอื่น
  • แต่พี่คิมเป็นคนเรียนไม่เก่ง สอบผ่านได้เพราะอ่านหนังสือ  อ่านซ้ำ ๆซาก ๆ เรียนกวดวิชาบ้าง
  • ทัศนคติกับครูผู้สอนก็เจอมาหลากหลาย  และมีความฝันว่าโตขึ้นจะเป็นครู
  • รออ่านตอนต่อไปค่ะ..ใจจดจ่อ..ค่ะ

ความมุ่งมั่น คือ พลังที่ดีของชีวิต ที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จ

มีความสุขมากมายนะคะ

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะคุณพี่อรวรรณ P  ขอบพระคุณหลาย ๆ ค่ะ สำหรับการช่วยนำไปเผยแพร่ต่อให้นักเรียน  ถูกใจมากค่ะ เพราะศิลาเขียนขึ้นโดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก ๆ เป็นหลักค่ะ
  • อยากให้เด็ก ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะความยากลำบาก ไม่ว่าจะอยู้ที่แห่งใด ขอเพียงมีความมุ่งมั่นเพียรพยายามก็เติมส่วนที่ขาด ลดความเหลื่อมล้ำใดๆ ได้
  • ในวัยเด็ก เราจะไม่รู้สึกว่ามีหรือไม่มี หากไม่เกิดการเปรียบเทียบ  ...ซึ่ง ณ วันนี้ สิ่งที่วัดค่าไม่ได้คือพลังใจที่ยิ่งใหญ่ค่ะ  อยู่ที่ไหน ไม่สำคัญเท่ารู้ตัวเองว่าต้องการอะไร เหมือนคำกล่าวของคุณพี่อรวรรณเด๊ะเลยค่ะ
  • "มีสิ่งหนึ่งที่น้อง Sila ได้เปรียบคนอื่นๆในวัยเดียวกัน (วัยรุ่น)
  • นั่นก็คือ...การรู้จักความต้องการของตนเอง นั่นคือชัยชนะ"
    • สรุปได้สุดยอดค่ะ คุณพี่อรวรรณ
    • P มาอีกรอบหนึ่ง ที่สรุปได้สุดยอดไม่ใช่คำชมที่มีต่อศิลานะคะ  แต่หมายถึงคำว่า "การรู้จักความต้องการของตนเอง นั่นคือชัยชนะ"  ค่ะ อิอิ...

    สวัสดีคะคุณศิลา

    พี่ชอบอ่านบันทึกของน้องมากนะคะ

    อ่านแล้วได้ความรู้สึก เข้าใจงาย

    ลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ให้พี่ประกายมากๆคะ

    • สงสัยว่าศิลาจะเขียนอะไรตรงใจกัลยาณมิตร และกัลยาณมิตรก็เขียนตอบกลับมาได้ตรงใจศิลากันอย่างละจุดสองจุด จุดสำคัญทั้งเลยค่ะ คุณพี่ krutoi P กล่าวได้โดนใจสุด ๆ
    • ลองเดินไปด้วยกัน และจูงกันไปซิ

      แล้วจะรู้ว่าช่องว่างหน้าตาเป็นอย่างไร

      อย่าก้าวแล้วมองลงมา แม้เห็นช่องว่าง

      ก็มิอาจชดเชยได้ดังใจคิด

    • มาด้วยกัน ไปด้วยกัน เลือดสุพรรณ...

    • ไม่เขียนต่อนะคะ เพราะตรงเป้าหมายแล้วค่ะ

    ดีครับ  ผมอ่านแล้วเอามาเป็นหลักการในการพัฒนาตัวเอง และ ลูก

                      ขอบคุณครับ

    เหรียญรางวัล..เหล่านี้ เหมาะกับบันทึกคุณภาพ

    บันทึกหนึ่ง

    ผมฝากมาตั้งที่นี่ด้วย นะครับ

     

    สวัสดีค่ะพี่ศิลา

    คิดถึงอิอิ

    กอรู้สึกเพลีย ๆ

    รักน่ะหอยขม

    • มาลดความเหลื่อมล้ำทางปัญญาด้วยคนค่ะ
    • จะรออ่านตอนต่อไปนะ
    • เพราะยังอยู่ในวัยเดียวกัน  ฮา....
    • สวัสดีค่ะ คุณพี่ P ที่แสนดี 
    • ขอบพระคุณค่ะ แม้เป็นสุดยอด (หญ้า) ในสายตาคุณพี่ก็ดีใจเหลือเกิน...รู้สึกนึกถึงตอนที่ตนเองกำลังยังเด็ก ๆ กว่าคุณพ่อจะชม จะให้กำลังใจสักครั้ง ก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเองอยู่นาน
    • สวัสดีค่ะคุณ Phornphon   P 
    • ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ เกิดจากโอกาส และ ความขยันหมั่นเพียร

    • ถูกต้องแล้วคร๊าบบบบบ ถูกใจด้วยค่ะ ความเพียรทำให้เรามีแสวงหาโอกาสมาใส่ตัวได้อีกทางด้วยค่ะ  ขอบพระคุณค่ะที่มาต่อเติมบันทึกนี้ให้มีเหลี่ยมมุมคม ๆ หลายหลายขึ้นค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณศิลา

    ขอบคุณนะคะ...กำลังใจจากคนไกล

     พี่แดงเพิ่งทำกลุ่ม(14พค.52)...แม่พ่อที่ลูกเป็นมะเร็งมาคุยกัน

    บอกเล่าความรู้สึก...

    บางคนสะเทือนใจร้องไห้

    บางคนไม่อยากพูดถึง

    แม่บอกว่าลูกไปโรงเรียน เพื่อนมารุม... ผ่าสมองเจ็บมากไหม...หัวก็โล้น...จึงเปิดหมวกให้เพื่อนๆดู

     พ่อ แม่หลายคนบอกว่าไม่มั่นใจที่ลูกจะหาย

    ขออย่างเดียว อย่าให้ทรมานเลย...

    • สวัสดีค่ะคุณพี่แดง P ตอบความเห็นที่ 5 ของคุณพี่นะคะ
    • ความมุ่งมั่นของเด็ก ๆ เกิดขึ้นได้ค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังให้ลูกรู้จักการเอาชนะความยากลำบากและตระหนักรู้ถึงความต้องการ ความใฝ่ฝันของตนเอง  ฝันไกลและไปให้ถึงค่ะ
    • ได้หรือไม่ ขอให้ลงมือกระทำค่ะ
    • ขอบพระคุณนะคะที่แวะมาให้กำลังใจศิลาในหลาย ๆ บันทึก รู้สึกดีใจที่เขียนแล้วมีกัลยาณมิตรที่มีจิตใจเมตตานึกถึงผู้อื่นอยู่เสมออ่านและเม้นท์ได้ประทับใจอย่างยิ่งค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณศิลา

    มาอ่านบันทึกดี ๆ ขนาดกำล้งดี....^_^...

    ชื่นชมในความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงของคุณศิลาเลยค่ะ

    อ่านแล้วได้แรงกำลังและพลังใจมากมาย...

    ขอบคุณนะคะ

    ฝากคาถประจำใจไว้ให้ด้วยค่ะ....

    สู้ต่อไป...ทาเคชิ...!!!!

    (^___^)

    สวัสดีคะ พี่อาจารย์ศิลาขา....

    เขียนดีจังลยค่ะ ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ ให้พอลล่าได้เรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นะคะ

    เหนื่อยไหมคะ

    คิดถึงเสมอค่ะ

    สวัสดีค่ะอาจารย์ศิลา

    • แวะมาทักทายและอ่านบันทึก
    • ขอชื่นชมค่ะ

    น้องศิลาคะ

    กลับมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้งหนึ่ง รู้ซึ้งเลยค่ะ กับข้อความที่ว่า "ความมุ่งมั่นเอาชนะความไม่รู้คือแรงบันดาลใจ"

    เพราะพี่อรวรรณ เป็นอีกคนที่มุ่งมั่นเอาชนะในการเขียนบันทึก เขียนไม่เป็น จึงเกิดแรงบันดาลใจจากการอ่าน blog ของหลายๆท่าน รวมทั้งของน้องศิลาด้วย

    และสุดท้าย ก็ได้แรงบันดาลใจ จากบันทึก “หยุด! คิดสักนิด เพราะเรายังไม่หยุด เขียนและขุด เรื่องความเหลื่อมล้ำทาง ความรู้” ของท่านอาจารย์ ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ นี่เช่นกันค่ะ

    จึงเริ่มมีบันทึกขึ้นมาได้บ้าง ขอบคุณน้องศิลา ที่คอยเป็นกำลังใจให้นะคะ

    สวัสดีค่ะ

    • ขอชื่นชมกับความรักการเรียนรู้
    • และมุ่งมั่นหาแหล่งเรียนรู้อยู่เสมอค่ะ
    • อ่านบันทึกแล้วชื่นชมค่ะ น้องมีโอกาสดี ๆ มากมายค่ะ

    น้องคะ บังเอิญมากเลยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราสองคน..พ่อแม่ กำลังถก สัมนาย่อย ๆ กันว่า

    ทำไม เด็ก ๆ บางคน ไม่ต้องไกล ลูกของเราเอง..ลูกศิษย์คนพิเศษ ถทำไมไม่มี Drive (ในหลาย ๆ แขนงวิชา) อย่างที่พ่อเขาอยากให้มี หรือพูดใหม่ว่า ไม่เท่ากับใจพ่อของเขาอยากให้มี

    ทั้งที่เขามีโอกาส มากกว่าหลายคน(เช่นเราสองคน)

     

    เราคุยกันเยอะ จนพี่คิดว่าน่าเรียบเรียง คิด และตกผลึกออกมาเพราะน่าจะเป็นตุ๊กตาแก่เด็กคนอื่น ๆ ได้

    สักพัก ค่ะ

     

    ขอบคุณบันทึกที่ดี ๆ นี้มาก ๆ ค่ะ

    คุณศิลาคะ..อ่านแล้วดีจัง..เขียนได้ดีมากมาก..สุดยอดค่ะ

    “ใจ” ที่อยากเอาชนะอุปสรรคนั้นเป็นนาย  ส่วน “สมอง” ที่เรามองว่ามีข้อด้อยในความเหลื่อมล้ำทางความรู้นั้นเราใช้อาศัยเป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาศักยภาพตัวตนของเราต่อไปได้                 

    • สวัสดีค่ะคุณพี่ครูคิม P ฟังดูแล้วคุณพี่ครูคิมมีความเพียรมากเลยนะคะ  ศิลาจำคำอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งบอกว่าเก่งไม่กลัว กลัวขยันค่ะ... เราเพียรพยายาม อ่านซ้ำ ทำซ้ำ จนเข้าถึงใจ ก็คือความขยัน... ความสำเร็จที่ได้คือความสุขทางใจที่รับ...ไม่ใช่วัดจากสถานภาพหรือทรัพย์สินใด ๆ ค่ะ
    • ณ วันนี้ สิ่งที่เห็นรอบตัวคุณพี่ครูคิม ...กับผลที่ได้รับสะท้อนถึงความเพียรที่เสมอต้นเสมอปลาย คุ้มค่าสำหรับการทำความดีจริง ๆ ค่ะ
    • สวัสดีค่ะคุณสายธาร P ชอบคำ ๆ นี้จังค่ะ ความมุ่งมั่นคือพลังของชีวิต...จริงด้วยค่ะ  เวลาเรารู้สึกมุ่งมั่นทำอะไรสักอย่าง มันเหมือนมีพลังภายในคล้าย ๆ ลมปราณไหลเวียน ขับให้เราทำอะไรต่อมิอะไรตั้งมากมาย สำเร็จหรือไม่ไม่ใช่ปลายทาง ขอเพียงได้ลงมือ
    • ขอบพระคุณค่ะสำหรับคำคมน่ารักและมีความหมาย
    • ขอบพระคุณค่ะคุณพี่ประกาย P สำหรับคำชมที่แสนประทับใจ
    • อยากบอกว่าบันทึกนี้กลั่นมาจากหัวใจ หยดออกมาเป็นน้ำพิสุทธิ์ ยิ่งกว่าน้ำกลั่น crystal เลยนะคะ อิอิ...
    • เขียนอะไร เขียนด้วยความรู้สึกเสมือนว่าเรายังเด็ก ๆ ทำให้รู้สึกว่าเขียนง่ายค่ะ  ไม่ต้องใส่วาทะอะไรมาก  รู้สึกสบายใจมากเลยค่ะที่เขียนบันทึกนี้ และก็ยิ่งมามีความสุขมากที่คุณพี่ประกายชอบค่ะ
    • ขอบพระคุณท่าน small man P ค่ะที่แวะมาเยี่ยมชม  อยากเขียนอะไรง่าย ๆ เรื่อย ๆ ให้น้อง ๆ วัยเรียนอ่านค่ะ จะได้มีความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยโทษสติปัญญาตนเองว่าไม่ดี ...หากคุณพ่อคุณแม่สนใจส่งต่อให้คุณลูก ๆ อ่าน ศิลาก็จะรู้สึกดีใจอย่างมากค่ะ  อยากให้เด็กไทย ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก
    • สวัสดีค่ะคุณแสงแห่งความดี P  ขอถือว่าเหรียญรางวัลที่มอบให้นี้คือความผูกพันของกัลยาณมิตรที่งดงามน่าประทับใจแล้วกันนะคะ  ไม่ถือว่าเป็นบันทึกดีเด่นอะไร  รู้สึกกระดาก ศิลาเห็นว่าท่านอื่น ๆ ก็เขียนเล่าประสบการณ์การลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกันทุกคน  ที่เขียนมานี่ ก็เป็นเพียงการนั่งไทม์แมชชีนเล่าอดีตให้ลูกหลานฟังเท่านั้น ...วัยเดอะ ก็ไม่เกี่ยงค่ะ อิอิ
    • น้องกอก้าน P พักผ่อนมาก ๆ นะคะ รู้สึกช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง พี่ศิลาเป็นไข้มาสองรอบแล้วค่ะ  รอบแรกเดือนที่แล้ว  รอบใหม่เริ่มเดือนใหม่อีกแล้ว ... สงสัยจะเป็นไข้หวัดรายเดือน สายพันธุ์ใหม่  อย่าลืมออกกำลังกายเยอะ ๆ นะคะ
    • เห็นทักทายด้วยหอยขมอย่างนี้  ไม่กล้าทานแกงกะทิหอยขมเลย รู้สึกสงสาร เก็บไป จุ๊บ ๆ ดีกว่า
    • สวัสดีค่ะคุณพีเขี้ยว P จะรออ่านตอนต่อไปน่ะ ไม่ขัดข้องค่ะ แต่ว่า เพราะยังอยู่ในวัยเดียวกัน  ฮา....
    • ฮา ด้วยคนค่ะ  ศิลาแก่แล้วแหละ ยอมรับ เชื่อเถอะ รูปภาพไม่สื่ออะไรหรอกค่ะ ของจริงซิน่ากลัว อิอิ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท