การค้นหาความดี(ทุนทางสังคม)ผ่านประวัติศาสตร์ชุมชน.....เวทีAARตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น(5)


เป็นสำนึกความเป็นชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน เกิดการตระหนักในคุณค่าแห่งพวกตน จนสรุปเป็นเอกลักษณ์หรือ อัตลักษณ์ของชุมชนผ่านเรื่องเล่า เป็นตำนานของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ

ผมนึกย้อนถึงตอนที่เริ่มให้คำปรึกษาการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาความสุขมวลรวมของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกเมื่อช่วง 2 ปีที่แล้ว  นอกจากการปรึกษาหารือถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และ การวางแผนการดำเนินงานแล้ว  ผมคิดว่าขั้นตอนการสำรวจสิ่งที่ดีๆหรือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนในชุมชนและการค้นหาประวัติศาสตร์ของชุมชนเป็นขั้นตอนที่สำคัญ  เป็นกระบวนการที่ทำให้คณะทำงานมีอะไรบางอย่างที่เป็นสำนึกความเป็นชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน  เกิดการตระหนักในคุณค่าแห่งพวกตน  จนสรุปเป็นเอกลักษณ์หรือ อัตลักษณ์ของชุมชนผ่านเรื่องเล่า  เป็นตำนานของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ      นี่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าที่เป็นตำนานที่สะท้อนอัตลักษณ์ของคนบ้านเลือก

 

                            

ตามคำบอกเล่าสืบสานต่อกันมาชาวชุมชนตำบลบ้านเลือกสืบเชื้อสายมาจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยชาติพันธุ์สามกลุ่มหลักใหญ่ๆ คือ ลาว มอญ จีน โดยจากประวัติความเป็นมาอันยาวนาน สืบสาวตามประวัติศาสตร์ในสมัยธนบุรีในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะดำรงพระอิสริยยศตำแหน่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เดินทางยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ แห่งอาณาจักรล้านช้างและได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทน์ให้มาอาศัยอยู่บริเวณเมืองสระบุรี ราชบุรี โดยเฉพาะเมืองราชบุรีจะมีชาวลาวจากเวียงจันทน์ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวลาวที่อพยพมาอยู่ที่เวียงจันทน์นี้ถูกเรียกว่า ลาวเวียง อันเป็นชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่ได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวชุมชนตำบลบ้านเลือกในกาลต่อมา

กลุ่มชาติพันธุ์มอญ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณชายน้ำแม่กลองและขยายต่อมายังบริเวณที่เป็นที่ตั้งชุมชนตำบลบ้านเลือก ซึ่งจากประวัติศาสตร์มอญกลุ่มนี้ได้เข้ามาอยู่ในชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่สมัยอยุธยา การอพยพครั้งนี้สืบเนื่องมาจากสงครามและการแสวงหาที่ทำกิน

                กลุ่มชาติพันธุ์จีน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากอาศัยอยู่บริเวณโพธาราม ซึ่งสาเหตุของการเข้ามาของกลุ่มชาวจีน ได้รับการบอกเล่าว่า เดินทางเข้ามาเพื่อการค้าขายโดยการนำสินค้า เช่น กะปิ น้ำปลา อาหารทะเล เกลือ ครกกระเดื่องตำข้าว ฯลฯ ขนสินค้าใส่เรือ เอี๊ยมจุ๊นเข้ามาตามแม่น้ำแม่กลองและลำน้ำสาขา เช่น คลองตาคต คลองวัดโพธิ์ คลองปลาดุก คลองดำเนินสะดวก ฯลฯ ซึ่งจากสาเหตุการเดินทางเข้ามาเพื่อการค้าชาวจีนหลายคนได้แต่งงานและตั้งรกรากอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้และได้กลายเป็นบรรพบุรุษอีกชนกลุ่มหนึ่งของชุมชนบ้านเลือก

                         

    นอกจากประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ชุมชนตำบลบ้านเลือกยังมีประวัติศาสตร์การบอกเล่าสืบต่อกันมาถึงที่มาของการตั้งชื่อชุมชน ว่าที่มาของการตั้งชื่อชุมชนบ้านเลือกนั้นมีที่มาจากชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีความเก่ง มีชื่อเสียงในวิชาชีพการเลี้ยงม้า โค กระบือไว้ใช้งานและหลายครั้งที่ม้า โคจากชุมชนที่นี่ได้ถูกคัดเลือกถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงษ์ เจ้านายชั้นสูง เพื่อนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่กล่าว ขวัญถึง คือ ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ได้เสด็จประพาสบริเวณชุมชนบ้านเลือกแห่งนี้ พระองค์ได้ทอดพระเนตรม้า โคจากชุมชนแห่งนี้ทรงเห็นว่า ม้า โคจากที่นี่  เป็นม้า โคที่มีลักษณะดี สวยงาม เหมาะสำหรับใช้ในการศึกหรือราชการงานทั่วไป พระองค์จึงทรงคัดเลือกม้าจากชุมชนแห่งนี้เข้าไปใช้ในราชการ และเพื่อเป็นอนุสรณ์คุณความดีของชุมชนแห่งนี้ จึงได้มีการขนานนามชุมชนแห่งนี้ว่า ชุมชนบ้านเลือก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากการมีอาชีพทำนา ทำสวน เป็นลูกจ้างโรงงานแล้ว บางครัวเรือนได้มีการสร้างอาชีพเสริมนอกจากการทำสวน   การเลี้ยงโคนม   โดยเฉพาะ การปลูกข้าวโพดแปดแถวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีคำกล่าวกันว่าข้าวโพดแปดแถวพันธุ์นี้นำไปปลูกที่ไหนก็รสชาติสู้ปลูกที่ชุมชนบ้านเลือกไม่ได้ ซึ่งคำกล่าวดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจว่า พื้นที่ชุมชนบ้านเลือกเป็นพื้นที่ที่มีดิน มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ มีน้ำเพียงพอที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของข้าวโพดนั่นเอง นอกจากนี้ที่บ้านเลือกยังขึ้นชื่อในเรื่งอุตสาหกรรมในครัวเรือนทั้งหลาย และการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม คือ มีทั้งการมีอาชีพเสริมด้านอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน และการมุ่งผลิตเพื่อการค้า เช่น การทำตุ๊กตาผ้า   ลูกประคบสมุนไพร การประดิษฐ์ของชำร่วย การทำปลาหวาน  โดยเฉพาะการทำตุ๊กตาผ้า   ลูกประคบสมุนไพร  จากกิจกรรมในครัวเรือนต่อมาได้เกิดการขยายจากครัวเรือน เป็นการส่งเสริมการทำในหลายครัวเรือนและจากหลายครัวเรือนเป็นการรวมกลุ่มทำร่วมกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำร่วมกันได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product) ของชุมชนบ้านเลือกในเวลาต่อมา และมีผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายผลิตภัณฑ์ที่ต่อมากลายเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศได้

               

กระบวนการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นนั้น  ผมคิดว่าขั้นตอนการสำรวจสิ่งที่ดีๆหรือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนในชุมชน(ทุนทางสังคม)และการค้นหาประวัติศาสตร์ของชุมชนเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เพราะนี่คือรากฐานที่เป็นจิตวิญญาณหรือชีวิตจิตใจของชุมชนนั่นเอง 

หมายเลขบันทึก: 264624เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2009 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท