การสร้างองค์กรแห่งความสุขและการจัดการความรู้......เป็นบุญวาสนาที่ได้มาพบคนดีๆ สถานที่ดีๆและเรื่องราวที่ดีๆ(3)


พวกเราได้ทราบว่าการมีแว่นตาชนิดพิเศษของนักจัดการความรู้นี้เองที่ทำให้พวกเขาที่ "เพลินพัฒนา"สามารถมองเห็นสิ่งธรรมดาว่าไม่ธรรมดา ทำให้พวกเขาสามารถมองเห็นความสำเร็จเล็กๆที่เกิดขึ้นกับผู้คนแล้วแปรให้เป็นการชื่นชมที่ยิ่งใหญ่ และทำให้พวกเขามองเห็นว่าจะต้องนำความสำเร็จเล็กๆนั้นมาพุดคุยขยายผลกันต่อ และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กว้างออกไปอีก ที่สำคัญคือเพราะแว่นตาชนิดพิเศษนี้เองที่นำพามาซึ่งความสุข และความภาคภูมิใจในความสำเร็จทั้งของตน และผู้คนที่อยู่รอบข้าง ซึ่งเมื่อมารวมกันแล้วก็กลายเป็นความสุข ความสำเร็จขององค์กรนั่นเอง

18 ก.ย.52 ผมพร้อมทีมงานและผู้บริหารในองค์กร ได้เดินทางมาเยี่ยมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างองค์กรแห่งความสุขและการจัดการความรู้” ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนจัดการความรู้แบบสร้างสุข    ด้วยความคิดการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม  พวกเรามาพบกับคุณครูใหม่_ครูวิมลศรี  ศุษิลวรณ์  เพื่อนบ้านในชุมชนชาวBlog_G2K ของเรานี่เอง   ครูใหม่มีบันทึกประสบการณ์การจัดการความรู้ของครูอยู่ใน Gotoknow.org/blog/krumaimai นับว่าเป็นบุญวาสนาครับที่ได้มา "เพลินพัฒนา"ได้มาพบกับคนดีๆ กับสถานที่ที่ดีๆและกับเรื่องราวที่ดีๆ ในจังหวะที่ผมกำลังสนใจในเรื่องนี้พอดี ช่วงนี้นอกจากผมจะได้มีโอกาสได้พบกับชุมชนท้องถิ่นที่มีกระบวนการเสริมสร้างความสุขมวลรวมโดย"การจัดทำตัวชี้วัดความสุข"แล้ว   เป็นเพราะบุญนำพา จึงทำให้ได้มาพบกับองค์กรที่สร้างความสุขด้วยกระบวนการจัดการความรู้แบบ "เพลินพัฒนา"  น่าสนใจและถือว่าเป็นบุญวาสนาครับ

การจัดการความรู้ในแบบ“การเพลิดเพลินในการพัฒนา”

โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นหนึ่งในหลายองค์กรในสังคมบ้านเราที่ได้นำกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้จากทฤษฎี การบริหารองค์กรที่เรียกกันว่า Knowledge Management มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาองค์กรและบุคลากรในองค์กรไปพร้อมๆกัน   จุดที่เราสนใจโรงเรียนเพลินพัฒนา  ก็ด้วยเห็นว่าที่นี่มีกระบวนการจัดการความรู้ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ คือการที่ “เพลินพัฒนา”ได้ใช้การเรียนรู้นั้นมาสร้างสุขให้เกิดขึ้นกับบุคลากรในองค์กร จากการได้ลงมือทำ ตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตัวเอง(โดยมี สคส.เป็นที่ปรึกษา)ในลักษณะเป็นการเก็บเกี่ยวความสุข  แบบเก็บเล็กผสมน้อย จนกลายมาเป็นการจัดการความรู้แบบ“เพลินพัฒนา”หรือ“การจัดการความรู้ด้วยความเพลิดเพลินในการพัฒนา”ในที่สุดครับ

การจัดการเรียนรู้ในแบบ “เพลินพัฒนา” คือการสร้างสุขในองค์กร

คุณครูใหม่ได้ล่าให้พวกเราว่า ผู้บริหารของเพลินพัฒนา หรือที่ทุกคนเรียกท่านว่า “ครูกล้า” ได้สรุปวิธีการจัดการความรู้หรือการจัดการเรียนรู้ในแบบ “เพลินพัฒนา” ก็คือการเรียนรู้ที่จะสร้างสุขให้ขึ้นในองค์กรนั่นเอง ซึ่งมุมของ "เพลินพัฒนา"มีอยู่ 4 สุขด้วยกัน

สุขแรก เรียกว่า สุขมาจากการได้เรียนรู้ความสำเร็จของคนรอบข้าง

สุขที่สอง คือ สุขที่เมื่อได้เรียนรู้ความสำเร็จแบบชื่นชมซึ่งกันและกันแล้วเกิดเป็นพลังที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กันและกัน จนเกิดพลังในองค์กร

สุขถัดมา คือ สุขที่ได้รู้สึกว่าเราอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย แวดล้อมด้วยคนที่ประสบความสำเร็จ แวดล้อมด้วยคนที่มีวิถีความคิดที่เห็นความสำเร็จเล็กๆแล้วมีความชื่นชมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะทำให้พวกเรารู้สึกผ่อนคลาย และทำงานออกมาได้ดี เป็นสุขที่สร้างให้เกิดพลังในการทำงานได้ทุกวัน

และสุขสุดท้าย คือ เรื่องการนำความสำเร็จของเพื่อนๆ ไปปฏิบัติ ไปทดลองทำ  ในการนี้จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและต่อยอดความรู้ให้เป็นเครือข่ายการเรียนรู้  ที่จะนำไปสู่การสร้างผลสัมฤทธิ์อีกมากมายในภายหน้า

ท้ายที่สุดความสุขส่วนตัว ความสุขของทีมงานและความสุขขององค์กรก็จะผนึกเป็นเรื่องเดียวกัน

เพราะระบบการเรียนการสอนตามแบบฉบับโรงเรียนทางเลือก จำเป็นต้องออกแบบตลอดเวลา และอยู่นิ่งไม่ได้ ดังนั้น การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น และจะจำเป็นมากยิ่งขึ้นเมื่อเราต้องสร้างความสุขในการทำงานคู่ขนานไปกับมันด้วย  ปลายทางของการสร้างความสุขจากการแลกเปลี่ยนความรู้กันก็คือ ความสุขส่วนตัว ความสุขของทีมงาน ความสุขของนักเรียน  ความสุขของผู้ปกครองและความสุขขององค์กร"เพลินพัฒนา" ซึ่งท้ายที่สุดก็จะผนึกเป็นเรื่องเดียวกันมุ่งความสุขของสังคมในที่สุด 

ครูใหม่บอกเราว่า "หากเราได้เรียนรู้ที่จะมีความสุขจากการได้ฟังเสียงตนเองและได้ฟังเสียงผู้อื่นจนอยู่ในวิถีแล้ว ในที่สุดแล้วองค์กรก็จะเดินไปข้างหน้าด้วยความสุขของฝีพายอย่างพวกเรานั่นเอง"  แน่นอน ความสุขที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ย่อมเกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในลักษณะการพุดคุยกันแบบสุนทรียสนทนา(Dialogue) เหมือนกับที่กลุ่มครูของ “เพลินพัฒนา”กำลังเดินก้าวไปด้วยกันอย่างมีความสุข

คุณครูใหม่ เน้นย้ำว่า “ปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญที่สุดคือ วิสัยทัศน์ของผู้นำที่มีความเชื่อมั่นในคุณค่าความเท่าเทียมของคน และเชื่อมั่นในการเรียนรู้ร่วมกัน ต้องการให้คนทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเคารพกัน”

“เงื่อนไขในทางปฏิบัติการที่สำคัญ คือ การมีทีมงาน KO- Knowledge officer กระจายตัวอยู่ในทุกช่วงชั้นในลักษณะของการสนธิพลัง  ซึ่งคนเหล่านั้นยังคงสังกัดช่วงชั้น  และเป็นกำลังหลักของช่วงชั้น  แต่พวกเขาได้สวมแว่นตาของนักจัดการความรู้ติดตัวไว้ตลอดเวลา”

อยากได้แว่นตาชนิดพิเศษทำอย่างไร? แว่นตานักจัดการความรู้นี้ไม่มีขายอยากได้ต้องร่วมกันสร้าง

พวกเราได้ทราบว่าการมีแว่นตาชนิดพิเศษของนักจัดการความรู้นี้เองที่ทำให้พวกเขาที่ "เพลินพัฒนา"สามารถมองเห็นสิ่งธรรมดาว่าไม่ธรรมดา  ทำให้พวกเขาสามารถมองเห็นความสำเร็จเล็กๆที่เกิดขึ้นกับผู้คนแล้วแปรให้เป็นการชื่นชมที่ยิ่งใหญ่  และทำให้พวกเขามองเห็นว่าจะต้องนำความสำเร็จเล็กๆนั้นมาพุดคุยขยายผลกันต่อ และก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กว้างออกไปอีก ที่สำคัญคือเพราะแว่นตาชนิดพิเศษนี้เองที่นำพามาซึ่งความสุข  และความภาคภูมิใจในความสำเร็จทั้งของตน และผู้คนที่อยู่รอบข้าง ซึ่งเมื่อมารวมกันแล้วก็กลายเป็นความสุข ความสำเร็จขององค์กรนั่นเอง  หลายคนฟังแล้วชักอยากได้แว่นตาชนิดพิเศษนี้แล้วสิ 

ครูใหม่บอกว่า"แว่นตาชนิดพิเศษนี้ไม่มีขายอยากได้ต้องร่วมกันสร้าง" ที่สำคัญแว่นนี้สร้างได้ทันทีเลย แว่นตาแบบนี้เริ่มต้นสร้างขึ้นได้ด้วยสุนทรียสนทนาหรือที่เรียกกันว่าDialogueค่ะ” คุณครูใหม่ให้คำแนะนำในท้ายที่สุดกับทีมงานพวกเราก่อนการอำลา

AAR_การทบทวนการเรียนรู้  เริ่มต้นสร้างแว่นตาชนิดพิเศษขึ้นด้วยสุนทรียสนทนา

    หลังแยกย้ายจากครูใหม่ พวกเรามาที่ “คุ้มหม่อมไฉไล”รีสอร์ทสวยริมแม่น้ำท่าจีน อ.บางเลน จ.นครปฐม  เรามาพุดคุยกันต่อทำ AAR_การทบทวนหลังการปฏิบัติในแบบการสวมแว่นตาชนิดพิเศษด้วยสุนทรียสนทนา  ตามคำแนะนำของครูใหม่กันครับ นี่คือเสียงสะท้อนจากเพื่อนร่วมเวทีครับ

  • รู้สึกเพลิดเพลินกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เรียบง่ายเป็นกันเอง
  • รู้สึกได้กับบรรยากาศของความสุขรอบข้างที่ได้รับจากครูใหม่
  • รู้สึกยินดีที่มาพบกับ “เพลินพัฒนา”  ประทับใจรอยยิ้มของครูใหม่
  • ชอบการชื่นชมความดีเล็กๆความสำเร็จเล็กๆที่คนในเพลินพัฒนามีให้กันได้ทุกๆวันเหมือนการเก็บสะสมเหรียญบาทเมื่อทำต่อเนื่องก็จะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ได้
  • สัมผัสได้กับความนิ่ง ไม่ร้อนรนเวลาเจอปัญหาอุปสรรค เมื่อสติมาปัญญาก็จะเกิด
  • เข้าใจและประทับใจการทำให้KMอยู่ในวิถีชีวิตอยู่ข้างในตัวของคนและทำให้KMเนียนไปกับชีวิตการทำงานในแต่ละวัน
  • ชอบที่ครูใหม่บอกว่าถ้าเอาความสำเร็จสมบูรณ์ 100%เป็นตัวตั้ง เราจะเป็นทุกข์ เราสามารถสร้างสุขได้ทุกวันจากความสำเร็จเล็กๆ
  • ได้เห็นการใช้KMจากเรื่องง่ายๆให้เนียนไปกับงานปกติ
  • ที่ทำงานของเราก็มีเรื่องดีๆ เยอะแยะเลยเราน่าจะมาชื่นชมกันบ้าง
  • กลับไปเราสามารถทำได้เลยอย่างน้อยเราก็สามารถชื่นชมให้กำลังใจกับตัวเองและคนรอบข้าง
  • การสร้างความสุขของแต่ละคน  ทุกคนสามารถสร้างเองได้ทุกวัน   จากความสุขส่วนตัวของเราแต่ละคนสู่ความสุขกับเพื่อนร่วมงาน   กับทีมงาน   รวมกันจะกลายเป็นความสุขขององค์กรได้ต่อไป 
  • กลับไปจะเขียนBlog ฟังครูใหม่แล้วเห็นความสำคัญกับการเขียนBlog
  • ได้มาเห็น “เพลินพัฒนา” ทำให้มีความเชื่อว่า KM ขององค์กรเรา  เราน่าจะทำได้ เริ่มได้เลยจากจุดเล็กๆ ไม่ต้องรอความพร้อมหรือความสมบูรณ์KMในที่ทำงานเราก็จะเป็นจริงขึ้นได้
  • ฯลฯ

เป็นบุญวาสนาครับ ที่ได้มาพบกับคนดีๆอย่างครูใหม่ และยินดีกับการได้มาเยี่ยมสถานที่ที่ดีๆที่มีการสร้างความสุขกันอย่างเช่น“เพลินพัฒนา”ครับ ท้ายนี้ยินดีอีกครั้งครับกับการได้รับรู้เรื่องราวที่ดีๆ  การได้เรียนรู้วิธีการจัดการความรู้แบบง่ายๆเพื่อการสร้างความสุขของแต่ละคน ทั้งจากสร้างความสุขส่วนตัว  สู่การสร้างความสุขกับเพื่อนร่วมงาน   การสร้างสุขกับทีมงาน   รวมเป็นความสุขขององค์กร  อันจะนำไปสู่ความสุขมวลรวมของสังคมได้ในที่สุดต่อไป

หมายเลขบันทึก: 298859เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2009 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ผมอ่านบันทึกนี้ แล้วกลับไปอ่านบันทึกของครูวิมลศรี

มีหลายช่วงหลายตอนที่ประทับใจ

แต่มีบางช่วงบางตอนที่อ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ

ผมนั่งคิดอยู่พักใหญ่ว่าทำไม... ทำไมจึงไม่เข้าใจ

เพราะรู้ว่าไม่เข้าใจ

จึงเป็นการบ้านให้ไปคิดต่อ

ขอบคุณบันทึกนี้ ที่ทำให้ย้อนกลับไปอ่านบันทึกนั้น และทำให้ได้คิดต่อครับ

สวัสดีครับคุณหนานเกียรติ

มีคนเล่าเรื่องครูใหม่ให้ผมฟังนานแล้วว่ามีเรื่องที่ดีๆ

จากประสบการณ์การทำKMของเพลินพัฒนา

ผมอ่านบันทึกของครูใหม่อยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่จุใจ

เลยต้องพาทีมงานมาดู ว่าจะเป็นเหมือนดั่งคำเล่าลือไหม

มาวันนี้ทำให้เห็นมิติKMที่เพลินพัฒนาชัดขึ้น มีความลึกซึ้งน่าชื่นชมยินดี

มีความสุข มีความเพลินเพลิน ได้แนวทาง ได้แรงใจครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแนวทางการจัดการความรู้บนฐานความสุขและมิติการให้เกียรติ การเห็นคุณค่าของคน

สำหรับชุมชนชาวG2Kที่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมครูใหม่โดยตรงนั้น

สคส.ได้จัดทำหนังสือ"วิถีKMไท:โรงเรียนจัดการความรู้"พร้อมVCDเผยแพร่แล้วครับ

โดยเฉพาะกับVCDแล้ว จะช่วยให้เห็น ได้สัมผัสกับความสุขของครูใหม่ชัดเลยครับ

ขอชื่นชมฝีมือทีมงานบ.จินตนาการ ทำสื่อชุดนี้ได้เยี่ยมมากครับ

ขอบคุณครับ

เดินทางมาไกลและใจเหน็ดเหนื่อย

จึงแวะมาพัก มาอ่านเรื่องราวดีๆของท่านครับ

ขอบคุณมากครับ

* ดีใจนะคะ...ที่มีการพัฒนาองค์กรแห่งความสุขและกระบวนการจัดการความรู้... ชื่นชมค่ะ
* ช่วงนี้  Pually ...ยังจัดการกับตนเองไม่ได้เลย....นั่งคิดและพิมพ์ข้อสอบยังไม่เสร็จค่ะ....Deadline มันผ่านมา(นาน)แล้ว ....ต้องใช้จริงสัปดาห์หน้านี่แหละค่ะ...
ขอพัก Break มาอ่านบันทึกดีๆของคุณสุเทพ สักหน่อย.....!
                                                

แวะมาอ่านและ ทำความรู้จักแนวความคิดครับ

แวะมาอ่านด้วยคนค่ะ ยังไม่ได้ลงมือเขียนของตัวเองเลย แต่กะว่าจะลงมือเร็ว ๆนี้ อยุ่ในบรรยากาศการเรียนรู้วันนั้นด้วยอ่านที่พี่สุเทพเขียนแล้วทำให้ได้ทบทวนไปในตัว เข้าใจเรื่องการนำ km ไปใช้ในแบบที่ง่ายกว่าเดิม

สวัสดีครับ คุณเสือภูเขา,อ.Pually,อ.สมบัติ,น้องพัช พอช. ยินดีต้อนรับคุณเสือภูเขาสู่ Happyness station เดินทางมาไกลแวะมาพักใจให้ผ่อนคลายแล้วค่อยเดินทางต่อ ผมชื่นชอบภาพถ่ายเมืองเก่า "ซากังราว"ของอ.Puallyครับ ผมแวะเยี่ยมชมอยู่บ่อยครั้งครับ ทราบว่าอาจารย์สมบัติเป็นเพื่อนบ้านคนใหม่ใน G2K ยินดีต้อนรับครับ ยินดีกับน้องพัช พอช.ครับที่ได้แรงบันดาลใจจากครูใหม่ เอาใจช่วยครับน้องพัชมีBlog อยู่แล้ว ท้ายนี้มีภาพครูใหม่วันไปลปรร.มาฝากครับภาพโดยคุณเสาวลักษณ์เพื่อนร่วมงาน  ขอบคุณครับ

ภาพจากริมแม่นำท่าจีน ที่ "คุ้มหม่อมไฉไลรีสอร์ท" ที่อ.บางเลน นครปฐม ครับ สถานที่จัดสัมมนา ทำAAR_ทบทวนหลังปฏิบัติ ภายหลังจากดูงาน ที่ "เพลินพัฒนา"ครับ วันสัมมนายังได้พบกับหม่อมไฉไลด้วยครับ

    

สวัสดีครับคุณ สุเทพ คนเมืองลุง ตามน้องพัช พอช.มารอเรียนรู้ เรื่องจัดการความรู้ นำสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชนครับ

  • ตามมาทักทายและขอบคุณครับ
  • ฝากทักทายครูใหม่ให้ด้วยครับ
  • พลาดกันไป
  • พลาดกันมาเลยอดพบกัน

สวัสดีครับ

มาเรียนรู้เรื่องของการสร้างองค์กรแห่งความสุขด้วยคนหนึ่งครับ

ขอบคุณครับ

มาเยี่ยม ได้ฟังพี่พัชณี เล่าที่ตรัง และได้อ่านของพี่ ทำให้เข้าใจ มากยิ่งขึ้น

คุณวอญ่า อ.จขิต คุณบินหลาดง และคุณรุสดีครับ

ขอบคุณครับกับการแวะเยี่ยมทักทาย

สำหรับผมแล้วการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือองค์กรแห่งความสุขนั้น

แม้จะมีตำราวิชาการเขียนไว้มากมาย

แต่เวลาจะเริ่มต้นทำจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยครับ

การที่พวกเราตัดสินใจว่าจะต้องลงมือช่วยกันสร้าง

"องค์กรแห่งความสุขและองค์กรแห่งการเรียนรู้โดยเริ่มจากการจัดการความรู้”แบบที่เราไม่ต้องลังเลใจ

ก็สืบเนื่องมาจากทีมงานและผู้บริหารในองค์กร ได้เดินทางมาเยี่ยมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การสร้างองค์กรแห่งความสุขและการจัดการความรู้”ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา เมื่อครั้ง๑๘ ก.ย. ๕๒ ในครั้งนี้แหละครับ

“การจัดการความรู้เป็นเรื่องที่ง่ายๆ ใครๆก็ทำได้และทำได้ตอนนี้เลย โดยไม่ต้องรอความพร้อม....”

คุณครูใหม่บอกเล่าประสบการณ์กับพวกเราไว้

จึงเป็นที่มาของการจัดหลักสูตรการอบรมนักจัดการความรู้โดยชุมชนนักปฏิบัติ เรื่อง การถอดองค์ความรู้ในงานพัฒนา ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ นี้ ณ ภูเขางามรีสอร์ท ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

ขอบคุณครับ

เชื่อมั่นว่า การเรียนรู้ที่เริ่มต้นด้วยความรัก เปิดใจ ใส่ความเพลิดเพลิน มีประสิทธิภาพ ผลที่ดีค่ะ

ส่วนความสุขจากความสำเร็จในเป้าหมายของส่วนรวม องค์กร ปัจเจกชน ถ้าสอดคล้องกันได้ คงเยี่ยมยุทธ์ที่สุดเลยกระมังคะ

ขอบคุณความรู้ใหม่ๆ จากบันทึกนี้ค่ะ

สวัสดีครับคุณปู

...

ที่ "เพลินพัฒนา" ซึ่งเป็นโรงเรียนจัดการความรู้แบบสร้างสุข

ด้วยแนวความคิดการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรมนั้น

สิ่งที่สำคัญของที่นั่น คือการเรียนรู้ที่จะมีความสุขจากการได้ฟังเสียงจากด้านในของตนเอง

และได้ฟังเสียงผู้อื่นด้วยการเปิดใจจนอยู่ในวิถีการทำงาน

แล้วในที่สุดองค์กรก็จะเดินไปข้างหน้าด้วยความสุข

เป็นความสุขร่วมทั้งองค์กรและปัจเจกชน แต่ละคนอย่างสอดคล้องกลมกลืนกัน

แน่นอน ความสุขที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้

จะต้องเกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันอย่างมีสุนทรียะครับ

.....

"เชื่อมั่นว่า การเรียนรู้ที่เริ่มต้นด้วยความรัก เปิดใจ ใส่ความเพลิดเพลิน มีประสิทธิภาพ ผลที่ดีค่ะ"

.......

กับบรรยากาศการทำงานในองค์กรอุดมคติ...ที่ประกอบด้วยมวลมิตรที่มีแต่ความเข้าใจ รู้ใจกัน และไว้วางใจกัน

การทำงานในแต่ละวันก็จะเป็นความเพลิดเพลินเปรียบเหมือนการได้อ่านกวี ที่ดีๆ ที่ช่วยจรรโลงใจ

ดุจการได้อยู่ในท่ามกลางบรรยากาศของดนตรี..หรือเสียงเพลงอันแสนไพเราะ

หรือการได้เพลิดเพลินกับภาพถ่ายงามๆที่ชวนให้หลงไหล

ขอบคุณครับสำหรับมิตรภาพ

มีความสุขความเพลิดเพลินกับกิจกรรมที่เรารักเราชอบเช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท