แนวคิดจังหวัดจัดการตัวเอง กรณีของจังหวัดเชียงใหม่...... เวที “ระบบจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ”


วันที่ 7 - 8 พ.ค. 53 ผมมาเชียงใหม่ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ "ระบบจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อการขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ" ช่วงเช้าไปเยี่ยม ชุมชนบ้านโป่ง อ.สันทราย ไปศึกษาบทเรียนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จากกรณีการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ด้วยแนวคิดโฉนดชุมชน ช่วงบ่ายกลับมาที่ Green Lake Resort ในตัวเมืองเชียงใหม่ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยการยกรูปธรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง จากหลากหลายพื้นที่ในเชียงใหม่

การพุดคุยต่อเนื่องถึงช่วงเย็นโดย คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ชวนพูดคุย ถึงข้อเสนอ "มหานครเชียงใหม่ เหลียวมองประวัติศาสตร์ แลหน้าสู่การจัดการตัวเอง"  การจัดการตัวเองชุมชนท้องถิ่น จังหวัดจัดการตัวเอง เป็นการสร้างนโยบายสาธารณะจากรูปธรรมของชุมชนและท้องถิ่น

การจัดการตัวเองชุมชนท้องถิ่น จังหวัดจัดการตัวเอง จะเป็นทางออกหนึ่งได้ไหม...เป็นเรื่องที่ได้คุยกันที่เชียงใหม่ ในวันนี้  ...ในเวทีจัดการความรู้นโยบายสาธารณะ บนฐานประสบการณ์ตรงของชุมชนท้องถิ่นครับ

เรื่องนี้น่าสนใจครับสอดคล้องกับยุคสมัยที่จะทำให้เราก้าวพ้น ไฟเหลือง ไฟแดง ที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา ในตอนนี้

พี่ชัชได้นำเสนอแนวคิดจังหวัดจัดการตัวเอง กรณีของจังหวัดเชียงใหม่  บอกว่าในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนเชียงใหม่ได้มีการพูดคุยกันมาอย่างต่อเนื่องแล้ว  จนมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายคนเชียงใหม่ที่สนใจเรื่องนี้ “คณะทำงานขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตัวเอง”  จึงถือโอกาสเวทีนี้นำความคิดเห็นจากคณะทำงานขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตัวเองมานำเสนอในเวที

 ผมจึงขอนำข้อเสนอของพี่ชัช จากเวทีในวันนี้ มานำเสนอในพื้นที่สาธารณะที่G2K แห่งนี้ครับ

 กระบวนทัศน์ใหม่  ; ยอมรับความหลากหลาย ยอมรับอำนาจท้องถิ่น

        สังคมไทย คือ การอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย สมัยก่อนเรียกว่า “สยาม” ซึ่งชัดกว่า คือ การอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ สังคมไทยตอนนี้ น่าจะมีอย่างน้อย 60 ชาติพันธุ์ แต่ถามว่าใครรู้บ้าง ไม่ค่อยมีใครรู้ เพราะกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมาจากบนลงล่าง หรือรวมศูนย์อยู่ที่ตรงกลาง แล้วเอาคนกลุ่มเล็กที่เรียกว่า “คนไทย” คนไทยที่อยู่กลุ่มนิดเดียวที่อยู่ภาคกลางมาเป็นหลักในการที่จะไปกำหนดคนอื่น จึงทำให้กลุ่มต่างๆ เกิดความรู้สึกด้อย ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง จึงเป็นปัญหาหลายเรื่องราวที่เป็นความขัดแย้งเยอะแยะ ต้องมองใหม่ว่า “สังคมไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย” ถ้าเกิดการคิดจากข้างบนลงล่าง มันก็จะทำใช้ความพยายามให้เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ หลักสูตรการศึกษา การพัฒนา เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ มันก็ไปทำลายความหลากหลายเพื่อต้องการความเป็นหนึ่งตรงส่วนกลางจะได้มีอำนาจมากที่สุด ซึ่งวิธีนี้ล้าสมัยแล้ว ต่อไปเขาจะไม่ยอม เขาจะลุกขึ้นมาสู้ แล้วถ้าเกิดว่ายังทำอย่างนี้อาจเลยเถิดไปถึงขั้นแบ่งแยกดินแดนทั้งหมดก็ได้

ฉะนั้นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ หรือ หลักคิดใหม่ ทำให้แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีอัตลักษณ์ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ส่งเสริมสนับสนุนให้เขามีความเข้มแข็ง สร้างความภาคภูมิใจ ให้เขาภาคภูมิใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยด้วย จะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ยกตัวอย่าง จังหวัดเชียงใหม่ มี 20 กลุ่มชาติพันธุ์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตลอด ไม่มีการฆ่าฟันในความแตกต่างทางชาติพันธุ์ หรือ ในความต่างทางศาสนาหรือความเชื่อ เราอยู่ด้วยกันด้วยดี ทำให้เกิดความงดงาม ความเข้มแข็ง เพราะเรามีทางเลือกมากมาย

ยิ่งมีความหลากหลายยิ่งมีความมั่นคง นี่คือฐานคิดของ “เชียงใหม่จัดการตนเอง”

 . มหานครเชียงใหม่ ; เหลียวมองประวัติศาสตร์ แลหน้าสู่การจัดการตัวเอง

 เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 714 ปี มีภาษา และวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ทุกคนอยากจะให้เชียงใหม่รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเองไว้ ไม่อยากให้เชียงใหม่เป็นเหมือนกับกรุงเทพฯ แต่เชียงใหม่ก็เหมือนกรุงเทพฯขึ้นทุกวัน เพราะว่าเชียงใหม่ถูกจัดการโดยส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลางก็อยู่ที่กรุงเทพฯ

การรวมศูนย์อำนาจการบริหารการปกครอง หรือการบริหารแผ่นดินอยู่ที่ส่วนกลาง นโยบาย กฎหมาย แผนพัฒนาต่างๆ ส่งออกมาจากส่วนกลาง เพราะฉะนั้นมันก็ลากทุกจังหวัดไปเหมือนที่ส่วนกลางหรือกรุงเทพฯต้องการ รูปแบบนี้เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด เพราะจริงๆ แล้วทุกจังหวัดมีทุนทางสังคม มีประวัติศาสตร์ ศาสนา ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายเฉพาะถิ่น

ฉะนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเกิดจากการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ และทุนทางสังคมที่แต่ละท้องถิ่นมีอยู่ นี่เป็นแนวคิดที่สำคัญ

ในส่วนของเมืองเชียงใหม่ ตอนนี้กำลังถูกคนอื่นที่อยู่ส่วนกลางมาจัดการพัฒนาเมืองให้ ซึ่งไม่ได้พัฒนาให้เป็นไปตามความต้องการของคนท้องถิ่น หรือคนเชียงใหม่อย่างแท้จริง

 กระบวนการที่นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริงต้องทำอย่างไร

 คนเชียงใหม่ทั้งหมดจะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการจัดการเชียงใหม่ หรือเรียกว่า “การจัดการตนเอง” เพราะจะทำให้สอดคล้องกับปัญหา วัฒนธรรม จารีตฮีตฮอยต่างๆ เพราะเชียงใหม่มีอัตลักษณ์ของตัวเองชัดเจนมาก

กระบวนการเชียงใหม่จัดการตัวเอง ก็คือ การนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ขึ้นมา

แต่เดิมเวลาคิดถึงเรื่องมีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง คนมักจะคิดถึงเรื่อง “จังหวัดบูรณาการ” หรือ “การวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด” แต่เอาจริงเข้ายังเป็นแนวคิดจากตรงกลางอยู่ดี เพียงแต่ให้คนในท้องถิ่นเข้าไปมีสัมพันธ์กับหน่วยราชการ ซึ่งอำนาจการตัดสินใจยังอยู่ที่ราชการเป็นหลัก ยังไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนของจังหวัดเชียงใหม่อย่างกว้างขวางได้

หลายครั้งมีข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ

ถามว่า ถ้าเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่แล้ว จังหวัดเชียงใหม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเดิมไหม

คำตอบ ก็คงจะไม่ หรือบางคนอาจจะมองเลวร้าย เช่น เกิดมาเฟียท้องถิ่นจะทำอย่างไร นักการเมืองที่เคยผูกขาดการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับเลือกขึ้นมาจะเป็นอย่างไร มันก็จะอยู่แค่นั้น

ฉะนั้น หัวใจสำคัญของเชียงใหม่จัดการตัวเองคือ การที่คนเชียงใหม่จากทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ มีความตระหนัก มีความเป็นเจ้าของ แล้วก็อยากจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเชียงใหม่

 ๒ .เชียงใหม่จัดการตนเอง ; การบริหารจัดการท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม

 เลือกตั้งผู้ว่าอาจจะเป็นแนวคิดหนึ่งของเชียงใหม่จัดการตนเองก็ได้ แต่คงยังไม่ใช่คำตอบเดียว

เราต้องชัดเจนว่ารูปแบบ การมีส่วนร่วมของคนจังหวัดเชียงใหม่จากทุกกลุ่มคืออะไร

ในเบื้องต้นที่น่าจะมีความเป็นไปได้ และมีการพูดคุยกันมาบางระดับแล้ว คือ “สภาประชาชน” “สภาประชาสังคม” หรือ “สภาองค์กรชุมชน” ที่มีตัวแทนจากคนในจังหวัดเชียงใหม่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นเวทีมาพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาของเชียงใหม่ วิเคราะห์ต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งกำหนดทิศทาง และแผนงานที่จะจัดการในแต่ละเรื่อง ทั้งเรื่อง ทรัพยากร เศรษฐกิจ การผลิต สวัสดิการ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ

เดิมได้มีความพยายามที่จะทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ เอาไปเอามาก็มี ผู้ว่าราชการ หอการค้าจังหวัด กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเป็นกลไกหลัก ภาคประชาชนเป็นเพียงไม้ประดับไม่ได้มีสิทธิมีเสียงจริง อย่างแท้จริง

ฉะนั้นรูปแบบที่เรียกว่า สภาองค์กรชุมชน สภาประชาสังคม หรือ สภาประชาชน ในจังหวัดเชียงใหม่น่าจะเป็นรูปแบบของการมีส่วนร่วมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือ ลุ่มน้ำ ตามระบบภูมินิเวศน์วัฒนธรรมก็ได้ ต้องเริ่มจากฐานล่างที่เข้มแข็งแล้วมาเชื่อมโยงกันในระดับจังหวัด น่าจะทำให้เรื่องจังหวัดจัดการตัวเองนั้นเป็นจริง

ในกลุ่มที่สนใจเรื่องเชียงใหม่จัดการตนเอง มีความสนใจที่จะทำการศึกษาวิจัยการปกครอง หรือ การดูแลตนเองของต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น หรืออาจจะมีอีกหลายประเทศที่มีการจัดการการปกครองท้องถิ่นได้อย่างดี อาจจะนำเข้ามาศึกษาด้วย ก็หมายความว่า ดูทั้งความพยายาม ข้อเสนอแนวคิดของการจัดการตนเองในประเทศด้วยว่าเป็นอย่างไร ทั้งในระดับตำบล ระดับจังหวัดก็แล้วแต่ และอาจจะต้องดูจากประสบการณ์ บทเรียนจากต่างประเทศด้วย ซึ่งเราอาจทำการศึกษา

ตอนนี้เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย ชาวบ้านในเครือข่ายประเด็นต่างๆ เช่น ข่ายแรงงาน ข่ายทรัพยากร ข่ายเยาวชน ข่ายการศึกษา ข่ายชุมชนเมือง ภาคีคนฮักเจียงใหม่ และอีกหลายกลุ่มได้เริ่มมีเวทีพูดคุยกัน และขยายเวทีไปสู่กลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักพัฒนาเอกชน กลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มศิลปวัฒนธรรม กลุ่มธุรกิจ

การพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อทำให้เรื่องเชียงใหม่จัดการตนเองอยู่ในใจของทุกคน

ฝ่าไฟเหลืองแดง สู่ จังหวัดจัดการตนเอง คือกระบวนการคิดใหม่ ลองจินตนาการการปกครอง หรือ การจัดการตัวเองใหม่ และเรียนรู้ไป พูดคุย แลกเปลี่ยน สร้างความตื่นตัว สร้างความเป็นเจ้าของ สร้างการมีส่วนร่วมไปด้วยกัน เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมีพลังมากกว่าที่อยู่ดีๆ มีคนหนึ่งๆ มาบอกว่าเอาแบบนี้ แล้วก็พยายามยัดเยียดให้คนนั้นคนนี้ คงไม่ใช่อย่างนั้น

 เท่าที่ไปคุยแต่ละกลุ่ม ดูเหมือนทุกกลุ่มตอบรับเรื่องนี้ค่อนข้างดี เพราะว่าโดยลึกๆ แล้ว ทุกคนเห็นปัญหาแล้วว่าเชียงใหม่ถูกจัดการโดยส่วนกลาง ซึ่งมีปัญหามากขึ้นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ปัญหาหลายเรื่อง เกิดจากการที่การถูกกำหนด หรือ จัดการจากภายนอก

ทั้งที่จริงๆ แล้วเชียงใหม่มีคนที่มีศักยภาพเยอะมาก มีกลุ่มที่หลากหลายมาก แต่ยังไม่สามารถนำความรู้ความสามารถมาใช้ในการดูแล หรือ จัดการเชียงใหม่อย่างเต็มที่ ไม่มีพื้นที่ ไม่มีช่องทาง ทุกคนมีความตระหนัก เห็นปัญหา แล้วทุกคนก็เห็นอีกว่า เชียงใหม่มีต้นทุนทางสังคมสูง ทั้งด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในฐานะที่สามารถดูแลตัวเองได้ มีความพร้อมที่จะดูแลได้ แต่โดยโครงสร้าง กฎระเบียบ จึงทำให้คนเชียงใหม่ทั้งหมดไม่มีพื้นที่ ไม่มีบทบาท ไม่มีอำนาจที่ชัดเจน ฉะนั้นเราต้องสร้างกระบวนนี้ขึ้นมา

 รูปแบบของเชียงใหม่จัดการตัวเองคงยังไม่มีใครให้คำตอบสำเร็จรูปได้ แต่อยากให้เป็นกระบวนการค้นหาคำตอบร่วมกันของคนเชียงใหม

ฉะนั้นแนวคิดเรื่องเชียงใหม่จัดการตัวเองมันจึงเป็นแนวทางที่เรากำลังเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนาสังคมโดยที่ฐานราก ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคคล ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม แล้วก็ทิศทางก็จะสอดคล้องกับบริบทสังคม และวัฒนธรรมของไทยมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อเราพัฒนาก้าวไกลไปถึงขนาดนั้นได้ เราก็จะต่อรองกับนานาประเทศได้ คือ เราสามารถพัฒนาประเทศภายใต้อัตลักษณ์ของเราได้ ภายใต้แบบแผนความเป็นสังคมของเราได้

 ในเรื่องจังหวัดจัดการตัวเองนี้ ทางสถาบันการจัดการความรู้ทางสังคมจะจัดพิมพ์เอกสารเป็นรูปเล่มในโอกาสต่อไป

หมายเลขบันทึก: 356746เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

แม้บทความจะยาว แต่ประเด็นแนวคิดเรื่องนี้น่าสนใจมาก
เจริญพร

นมัสการท่านพระมหาแล ขำสุข

  • ยาวไปหน่อยครับ
  • เห็นว่าเรื่องนี้ประจวบเหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองเราในตอนนี้
  • เป็นข้อเสนอเพื่อก้าวให้พ้นไฟเหลือง ไฟแดง สู่การถางทางทางใหม่ครับ
  • เพื่อการครุ่นคิดและไตรตรองครับ

น่าสนใจครับ จังหวัดจัดการตนเอง เสียดายจริงๆตอนแรกจะไปด้วยแล้ว สืบเนื่องจากติดพันงานอื่นเลยไม่มีเวลาไปเลย และเมื่อวานไปที่เวปไซด์ สกว. ดาวโหลดงานวิจัยมาอ่านเล่นปรากฏว่า เจองานนี้ครับ เป็นงานวิจัยที่สามารถปรับใช้ได้จริง

เป็นงานวิจัยดีเด่นปี 2552 ของ สกว. เรื่องแผนพัฒนาจังหวัด :  โมเดลบริหารราชการแนวใหม่    
    
ชื่อผลงาน : การพัฒนาระบบและกระบวนการจัดทำแผนจังหวัดบนพื้นฐานยุทธศาสตร์ข้อมูลและการมีส่วนร่วม    
    
หัวหน้าโครงการ : คุณจิริกา  นุตาลัย และคณะ    
    
จากการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้แต่ละจังหวัดสามารถตั้งของบประมาณได้เอง โดยไม่ต้องรองการตั้งงบประมาณจากหน่วยงานส่วนกลาง ทำให้แต่ละจังหวัดต้องจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดขึ้นเอง เพื่อเตรียมการรองรับระบบบริหารราชการแนวใหม่โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป    ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ได้แก่ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย  ต่างเห็นความจำเป็นที่จะต้องหาทางสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนของบประมาณที่มีประสิทธิภาพ  ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งจากหน่วยงานท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน  เพื่อให้เกิดข้อมูลความรู้ที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด    
    
เพื่อตอบโจทย์ข้างต้น  “โครงการวิจัยการพัฒนาระบบและกระบวนการจัดทำแผนจังหวัดบนพื้นฐานยุทธศาสตร์ข้อมูลและการมีส่วนร่วม”   จึงได้เริ่มศึกษาวิจัยในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ชัยนาท ยโสธร ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสตูล   โดยเน้นศึกษาศักยภาพของทีมจังหวัดในการพัฒนาระบบแผนงบประมาณ   ศึกษากระบวนการกำหนดวาระการพัฒนาจังหวัดบนยุทธศาสตร์ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ   รวมถึงกระบวนการวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนงบประมาณจังหวัด    
    
ผลการวิจัย ทำให้เกิดข้อค้นพบที่นับเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการวางรูปแบบการบริหารราชการแนวใหม่หลายประการ ได้แก่  การใช้แนวคิดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการวางแผนพัฒนาจังหวัด การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของยุทธศาสตร์จังหวัดและการวิเคราะห์คำของบประมาณ  รวมถึงการวิเคราะห์จุดอ่อนและข้อจำกัดของกระบวนการจัดทำแผนงบประมาณจังหวัด ที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์จังหวัด กับส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้จังหวัดพัฒนาไปสู่วิสัยทัศน์ของจังหวัด   ได้คู่มือการจัดทำแผนงานโครงการซึ่งจะถูกบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด      
    
นอกจากนี้ข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถของทีมจังหวัด การวางกลไกและโครงสร้างการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมถึงได้ข้อเสนอต่อหน่วยงานส่วนกลางในการวางระบบสนับสนุนการจัดทำแผนงบประมาณของจังหวัด อาทิ การปรับปรุงโครงการอัตรากำลังของอำเภอและจังหวัด  การเชื่อมโยงข้อมูลจากงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตและผลผลิตในพื้นที่แต่ละจังหวัด  การเชื่อมโยงข้าราชการที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแผนจังหวัด แต่มีจิตอาสาและมีเจตนาดีที่จะทำประโยชน์ให้แก่จังหวัด เข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้กระบวนการวิจัย เป็นการส่งเสริมให้เกิด Think Tank Team ในการพัฒนาแผนจังหวัด    ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการออกแบบกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำแผนงบประมาณจังหวัดที่สอดคล้องกับเงื่อนไขสภาพที่เป็นจริง  ลดความซ้ำซ้อน  และมุ่งไปสู่การพัฒนาผลผลิตหลักของจังหวัดในอนาคต

 

นายหมูแดงอวกาศครับP

  • แนวคิดเรื่องจังหวัดจัดการตัวเองเป็นการต่อเนื่องจาก "จังหวัดบูรณาการ"ครับ
  • เป็นการมุ่งเน้นไปที่การให้ขบวนท้องถิ่นเป็นหลัก  มิใช่แค่การใภคชุมชนท้องถิ่นไปบูรณาการกับภาครัฐ
  • ทั้งสองความคิดเสริมกันได้ครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณสุเทพฯ

  • ต้นสัปดาห์ วันที่ 3 เม.ย.ที่น่าน มื้อค่ำ ที่เฮือนจ้าวนาง มีโอกาสพบกับคุณสุพัฒน์ฯ และคณะทราบว่า ในวันรุ่งขึ้นจะมีกิจกรรมตามบันทึกนี้ แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองการสนทนาทราบว่ามีทีมของคุณสวิงฯ มาร่วมโต๊ะด้วย
  • วันที่ 4 พ.ค.ที่ สนง.โครงการปิดทองฯ บ้านไผ่เหลือง ทราบว่า ได้ประชุมระดมสมองมีคนร่วม 40 คน ผมไปไม่ทันเพราะติดกิจกรรมเครือข่าย ทสม.อ.ภูเพียงและเทศบาล ที่ห้องโสต รร.สตรีศรีน่าน ได้ตามไปแต่เขาเลิกไปก่อนหน้า
  • ผู้เข้าร่วมเป็นคนหน้าเดิม และหน้าใหม่  เป็นพี่ ๆ น้อง ๆ เครือข่าย เท่าที่ติดตามสังคมไทยชอบใช้คำใหม่ ๆ  มักลืม " ทุนทางสังคม " ( ได้หน้าลืมหลัง ) ไม่เป็นไรเข้าใจกัน  เพราะหากใช้คำเดิมอาจไม่ได้งบประมาณมาขับเคลื่อน
  • ไม่ึึควรลืม ท้องที่ - ท้องถิ่น ( เจ้าถิ่น เจ้าที่ ต่าง ๆ ) ภาคีเครือข่าย และไม่ควรทำลายความเข้มแข็งโดยการประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีสาระใด ๆ โดยไม่เห็นร่องรอยของการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ขอบคุณคนเมืองน่านครับP

  • ผมชื่นชมยินดีกับคนน่านและกับทุนทางสังคมของเมืองน่านครับ
  • นานทีปีหนจะได้ไปเยี่ยมไปสัมผัส  รู้สึกผมจะเคยไปน่านแค่สองครั้งหรือสามครั้งเท่านั้น
  • ยิ่งได้ชมรายการ "พินิจนคร" ช่วงเรื่อง "นันทบุรีศรีนครรัฐน่าน"ยิ่งทำให้เห็นตำนานความเป็นมาของนครรัฐแห่งนี้  ทึ่งและชื่นชมครับ

คุณทำเหมือนว่าประชากรไทยพร้อมที่จะเลือกตั้งผู้ว่า
องค์กรภาคพลเมืองไม่มีอะไรทำก็เพ้อเจ้อไปวันๆโดยไม่ดูบริบทประชาสังคมที่เป็นจริง

ดูอย่างการระดมคนมากรุงเทพด้วยเงินที่ราชประสงค์ เงินคือพระเจ้า

ขอบคุณครับคุณมนัสนันท์P

  • เราเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับทั้งคนที่มีความเห็นสอดคล้องและความเห็นต่าง
  • ความเห็นของของคุณมนัสนันท์ผมเห้นด้วยในหลายประเด็นครับ
  • เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่า ก็เป็นประเด็นที่คงต้องมองบริบทเงื่อนไข ผมคิดว่าเรื่อง "การปฏิรูปประเทศไทย" คงมีหลายมิติ  เรื่องที่สำคัญอาจจะไม่ใช่อยู่ที่การเลือกตั้งผู้ว่า ก็ได้    คงต้องสร้างการมีส่วนร่วมพุดคุยที่หลากหลาย
  • การพูดคุยกัน การมีเวทีปรึกษาหารือกัน  ในเรื่องสร้างอนาคตข้างบ้านมืองผมคิดว่าเป็นเรื่องคนเราน่าจะคุยกันให้มากขึ้น  รับฟังกันให้มากขึ้น เรียนรู้กันให้มากขึ้น
  • ตอนนี้คงเห็นพ้องกันแล้วว่าบ้านเรายังไม่มีความพร้อมในหลายเรื่อง แต่ก็มีเรื่องราวที่ดีๆหลายเรื่อง..เราจะทำบ้านเมืองเราให้มีความพร้อมให้มากขึ้น เราจะสร้างความร่วมมือเรียนรู้ที่จะสร้างอนาคตที่ดีงามร่วมกันอย่างไร  เป็นเรื่องที่จะหาคำตอบร่วมกันครับ

กันมาเสวนากันของประชาชนภาคพลเมืองเป็นสิ่งที่ดีหากเรารับฟังความเห็นแค่สมาชิกน้อยๆด้วยการสุนทรีสนทนา
นั่นหมายถึงว่าอย่างน้อยมีคนคิดเหมือนเรา คิดในสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้
ไทยเรายังไม่พร้อมในเรื่องประชาธิปไตย
เพราะประชาธิปไตยก็เป็นการปกครองโดยทุนนิยมอยู่ดี
ดังนั้นระบอบประชาธิปไตยคือเครื่องมืออ้างความชอบธรรมของระบบทุนนิยมที่เข้ามาหาผลประโยชน์ครับ

สรุปคนไทยยังไม่พร้อมเรื่องประชาธิปไตยครับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชนบทชาวอิสานครับ

  คุณกำธรครับP 

มาเสวนากันของประชาชนภาคพลเมืองเป็นสิ่งที่ดีหากเรารับฟังความเห็นแค่สมาชิกน้อยๆด้วยการสุนทรีสนทนา

  • การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ๋มักจะเกิดจากความไม่พร้อมครับ
  • การมองพี่น้องคนอิสานก็มองได้หลายมุมครับ  มองเป็นพลังปชต.ที่ก้าวล้ำหน้าก็ได้
  • ผมมีดอกาสไปเรียนรู้กับพี่น้องคนอิสาน  บทเรียนการปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็เกิดจากความไม่พร้อมเลย  ไม่ว่ากรณีเสรีไทอิสานที่นำโดยนายเตียง ศิริขันธ์หรือกรณีเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว นครพนม  ชาวบ้านที่นั่นก็ไม่ได้มีความพร้อมเลย
  • มาเรียนรู้ร่วมกันท่ามกลางควมไม่พร้อมนี้แหละครับ ที่จะก่อให้เกิดปัญญา เป็นการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติการ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท