การอภิวัฒน์สังคม ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนท้องถิ่นฐานราก


    กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย   น้ำเต้าน้อยจะถอยจม 

ผู้ดีจะเดินตรอก              ขี้ครอกจะเดินถนน

คำพังเพยคนสยามโบราณ ที่กล่าวถึงสังคมในยุคศรีอริยเมตไตรย

จากหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม

ของท่านดร.ปรีดี  พนมยงค์ เมื่อ ปี 2500

                  

      ผมมาร่วมเวทีการสัมมนา “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์  กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2553 ตลอดการสัมมนาทั้ง 2วัน ได้มีการระดมความคิดเห็นของขบวนองค์กรชุมชนต่อแนวทางการมุ่งสร้างชุมชนท้องถิ่นให้มีบทบาทในจัดการตัวเองให้มากขึ้น   ในท่ามกลางกระแสการปฏิรูปประเทศไทย ในขณะนี้ครับ  นอกจากนี้ช่วงเช้าวันแรกมีปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จินตภาพใหม่  ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง” โดย อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม กรรมสมัชชาปฏิรูปและประธานกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป

รวมทั้งในวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันที่สองของการสัมมนา(วันที่ 15 กันยายน 2553) ศจ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะมาร่วมเวทีรับฟังข้อเสนอของภาคประชาชนและให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

การปาฐกถาพิเศษของอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม ในหัวข้อ “จินตภาพใหม่  ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง” ในครั้งนี้อาจารย์มาด้วยความแปลกใหม่ครับ ทั้งด้านเนื้อหาและลีลาใหม่ในการปาฐกถาครับ บางคนบอกว่าครั้งนี้ดูราวกับว่ากำลังนั่งฟังอาจารย์กล่าวสุนทรพจน์ หรือกล่าวปราศรัยทางการเมืองอย่างมีพลัง  ด้วยลีลาการยืนอยู่กลางเวทีท่ามกลางมวลชนที่นั่งฟังรายล้อมรอบทิศ

“จินตภาพใหม่  ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง”ในทัศนะของอาจารย์ไพบูลย์  คือการอภิวัฒน์สังคม ตามทัศนะของท่านดร.ปรีดี  พนมยงค์ ที่เคยกล่าวไว้นั่นเอง เพียงแต่การอภิวัฒน์สังคมในยุคนี้เรามีความหวังที่จะ อภิวัฒน์สังคม  ด้วยการร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงจากขบวนชุมชนท้องถิ่นฐานราก ซึ่งเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยคนธรรมดา ด้วยคนตัวเล็กตัวน้อย  มากกว่าที่จะคาดหวังรอคอยการอภิวัฒน์สังคมจากภาครัฐ หรือจากกลุ่มผู้นำในสังคม การอภิวัฒน์สังคม  

อาจารย์ไพบูลย์  กล่าวว่าการอภิวัฒน์สังคมที่มุ่งสู่ การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การสร้างสังคมที่มีความ “อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” หรือการสร้างสังคมพระศรีอารย์ให้เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และที่สำคัญการปฏิรูปนั้นคือการปฏิรูปตัวเอง ซึ่งเราจะต้องมองเลยข้ามการปฏิรูปสังคมแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือการปฏิรูปที่เป็นไปเพื่อตอบสนองรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หากขบวนชุมชนท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจำเป็นต้องเรียนรู้ ประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สังคมของประชาชนในเชิงพัฒนาการ ซึ่งอาจารย์ไพบูลย์ท่าน ได้แบ่งการอภิวัฒน์สังคมไทยเป็น 3 ยุคดังนี้

                                 

ยุคที่หนึ่ง   การอภิวัฒน์สังคมยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช  มาสู่ระบบการปรกครองโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎร ภายใต้การนำของ ดร.ปรีดี  พนมยงค์  รัฐบุรุษอาวุโส (วันที่ 24 มิถุนายน เคยเป็นวันชาติของสยามประเทศในระยะแรก)  แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจะสำเร็จ แต่ช่วงเวลาแห่งการพัฒนาประชาธิปไตยที่จะสร้างระบบการเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ตามอุดมการณ์หรือหลักการปกครอง 6 ประการที่คณะราษฏรใฝ่ฝัน รวมทั้งตามเค้าโครงเศรษฐกิจที่ถูกยกร่างขึ้นในเวลาต่อมา หากแต่ภารกิจการสร้างประชาธิปไตยและการสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ราษฎรนั้น แทบไม่มีโอกาสเป็นจริงได้เลย เพียงไม่กี่ปีภาคประชาชนก็ถูกช่วงชิงอำนาจไป เค้าโครงเศรษฐกิจถูกฉีกทิ้ง ประชาชนก็ยังคงทุกข์ยากเหมือนเดิม  ขณะที่ผู้นำการอภิวัฒน์อย่าง ดร.ปรีดี  พนมยงค์ เองถึงแม้จะเป็นถึงรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย ผู้มีคุณูปการหลายๆอย่างต่อสังคมไทยก็ต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ อย่างไม่มีวันได้กลับ  การอภิวัฒน์สังคมยุคนี้นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475เป็นต้นมา การพัฒนายังไม่มีความก้าวหน้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 40 ปี จนถึงปี 2515

ในยุคนี้ ดร.ปรีดี  พนมยงค์ เป็นสามัญชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของบ้านเราอย่างยิ่งคนหนึ่ง ในมิติที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง  แม้ภารกิจของท่านปรีดี จะยังไม่อาจฝ่าฟันให้บรรลุเป้าหมายตามที่มุ่งหวังไว้ แต่ท่านดร.ปรีดี คือผู้ริเริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยด้วยคนธรรมดาสามัญ ความคิดและเจตนารมณ์เพื่อสร้าง “ประชาธิปไตย  เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน” ยังจะต้องมีการสืบสาน

                  

ยุคที่สอง  ยุคการพัฒนาเพื่อประชาชนสู่การพัฒนาของประชาชน

ยุคนี้เริ่มเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว การพัฒนาในยุคนี้ภาครัฐเริ่มมีการจัดตั้งกรมการพัฒนาชุมชน ที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อการช่วยตนเองของประชาชน  ในภาคประชาสังคมเริ่มมีการก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชน(NGO)ขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยท่าน อ.ป๋วย  อึ้งภากรณ์คือมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย   มีการจัดทำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองโดยภาคีวิชาการ 3 มหาวิทยาลัย มีโครงการบัณฑิตอาสาสมัครเป็นครั้งแรก   ผลการพัฒนาในยุคนี้จนถึงปัจจุบันทำให้เกิดขบวนการพัฒนาของประชาชนและภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวและเกิดการขับเคลื่อนสังคมในมิติต่างๆนอกจากการเกิดกลุ่มองค์กรชุมชนที่หลากหลาย กว้างขวางและครอบคลุมแล้ว ขบวนชุมชนยังสามารถยกระดับองค์ความรู้ ไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งในระดับชุมชนและในระดับนโยบายที่มากขึ้น

การพัฒนาในยุคการพัฒนาเพื่อประชาชนสู่การพัฒนาของประชาชนนี้มีหลักการการพัฒนาที่คล้ายกันโดยมีหลักการสำคัญที่เรียกว่าการพัฒนาแบบผสมผสาน 4 ข้อ ที่เสนอโดยท่าน อ.ป๋วย  อึ้งภากรณ์มีดังนี้

  1. การพัฒนาอาชีพรายได้ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจ(อ.หมอประเวศ เรียกการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่)
  2. การพัฒนาสุขภาพอนามัย ซึ่งหมายรวมถึงการพัฒนาสุขภาวะ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณ
  3. การพัฒนาทางด้านการศึกษา การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการความรู้  รวมถึงการวิจัยและพัฒนา
  4. การสนับสนุนให้ประชาชนรวมกลุ่มพัฒนาช่วยตนเอง หรือปกครองตนเอง(Self Goverment) โดยในยุคแรกๆไม่สามารถแปลกันตรงๆปกครองตนเองโดยตรงได้ ท่านอ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ท่านจึงเรียกว่า “อัตตประชาภิบาล”

การอภิวัฒน์สังคมโดยการพัฒนาของประชาชนในยุคนี้นับว่ามีความก้าวหน้าในทุกๆด้าน เพียงแต่การทำให้ประชาชนมีการปกครองตัวเอง หรือการจัดการตัวเองของชุมชนท้องถิ่นบรรลุเป้าหมายตามที่มุ่งหวังไว้  สิ่งที่ทำได้เป็นเพียงการรวมตัวกันเป็นกลุ่มองค์กรชุมชนและรวมตัวกันเป็นขบวนการของภาคประชาชนหลากหลายขบวนการ ซึ่งเป็นการสะสมพลังการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะก้าวต่อไป ในช่วงนี้มีเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมืองเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการลุกขึ้นมาทวงประชาธิปไตยโดยประชาชน คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การอภิวัฒน์สังคมในยุคนี้กินเวลา 40 ปีเช่นกันรวมกับยุคแรกด้วยแล้วประมาณ 80 ปี

                 

 ยุคที่สาม  ยุคชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างมีคุณภาพและรอบด้าน(การอภิวัฒน์โดยชุมชน หรือ ชุมชนาภิวัฒน์)

 กุญแจสำคัญในการแก้วิกฤตชาติอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น

เพราะว่าชุมชนท้องถิ่นนั้น คือชาติที่แท้จริง

เนื่องจากชุมชนท้องถิ่นดูแลพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย

ดูแลคนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ ดูแลต้นไม้ใบหญ้า ดูแลทรัพยากรทั้งหมด

ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ดูแลวัฒนธรรม ศาสนาธรรมและอื่นๆ

 ชุมชนคือระบบการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม

ชุมชนจึงเป็นความจริงของแผ่นดินที่จริงที่สุด

ศ.นพ.ประเวศ  วะสี

ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป

 

การอภิวัฒน์สังคมผ่านกระบวนการพัฒนาของขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน โดยอาจจะเริ่มนับได้ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง ปี 2550 เป็นต้นมา  เป็นการขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงการปฏิรูป ที่จะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและโครงสร้างในด้านต่างๆจากชุมชนท้องถิ่นฐานราก โดยใช้พลังขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชน และกระบวนการทางสังคมให้ทกภาคส่วน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดการความรู้อย่างกว้างขวาง โดย ศ.น.พ.ประเวศท่านเรียกว่า เป็นการอภิวัฒน์ของชุมชน หรือชุมชนาภิวัฒน์

“จินตภาพใหม่  ชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย” คือการที่ขบวนชุมชนจะต้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่น ซึ่งก็คือการปฏิรูปตัวเองของขบวนชุมชนด้วย  สู่การเป็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างมีคุณภาพและรอบด้าน ซึ่ง อ.ไพบูลย์ได้มีข้อเสนอดังนี้

     1.การพัฒนาคุณภาพของการวางแผน การกำหนดเป้าหมายละตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าการพัฒนา

     2. การรวมพลังสร้างสรรค์ภายในขบวนองค์กรชุมชนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในความหมายใหม่ร่วมกันของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน

     3. การรวมพลังสร้างสรรค์กับสังคมหรือภาคีการพัฒนาเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในความหมายใหม่ร่วมกันกับเครือข่ายทางสังคม หรือภาคประชาสังคม

     4. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การวิจัยและพัฒนาและการจัดการความความรู้

     5. การสร้างความร่วมมืออย่างเป็นขบวนการ เป็นขบวนการบนฐานของคุณภาพหรือความสามารถ  เป็นขบวนการที่มีคุณธรรมความดีงาม และเป็นขบวนการแห่งการสร้างความสุขสมบูรณ์(สุขภาวะ)ร่วมกัน

ดังนั้นการการอภิวัฒน์สังคมในยุคนี้จึงเป็นการปฏิรูปประเทศไทยด้วยการจัดการตัวเองอย่างมีคุณภาพและรอบด้านของขบวนชุมชนท้องถิ่น ซึ่ง อาจมีได้หลายระดับ ตั้งแต่หมู่บ้านจัดการตัวเอง ตำบลจัดการตัวเอง  เทศบาลจัดการตัวเอง หรือจังหวัดจัดการตัวเอง หากนับระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน 40 ปี ก็จะอยู่กับการเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่ปี 2555  อ.ไพบูลย์บอกว่าในเรื่องจินตภาพชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเองนี้  ตามรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าท้องถิ่นไหนมีความพร้อมก็สามารถพัฒนารูปแบบการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ได้ เพียงแต่ว่ายังไม่มีการริเริ่มอย่างจริงจัง

การอภิวัฒน์สังคมในยุคการปฏิรูปประเทศไทยด้วยการจัดการตัวเองอย่างมีคุณภาพและรอบด้านของขบวนชุมชนท้องถิ่นนี้ อ.ไพบูลย์  มีความหวังน่าจะใช้เวลาไม่มากเท่าการอภิวัฒน์สังคมในยุคที่หนึ่งและยุคที่สอง ซึ่งแต่ละยุคใช้เวลาถึง 40 ปี  ส่วนจะเป็นไปได้แค่ไหนและใช้เวลาเท่าไหร่ เป็นเรื่องของอนาคตที่อยู่ที่ขบวนชุมชนท้องถิ่นจะรวมพลังกันเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์

                     

“ดอ ปื่อ แหว่ เป่อ ซะ เหม่ คู

บอ ก่อ ดอ แล ถ่อ ชุ มู

ถ้าเราพี่น้องเอาใจมากองรวมกัน

เราสามารถทำเป็นบันไดปีนขึ้นสู่สวรรค์ได้”

สุภาษิตโบราณชาวปปาเกอญอ

นำเสนอในเวทีสัมมนาโดย ชิสุวิชาน  พัฒนาไพรวัลย์

ผู้ประสานงานสภา "แอะมือเจะคี"

อำเภอ กัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

หมายเลขบันทึก: 394311เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2010 01:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ดอ ปื่อ แหว่ เป่อ ซะ เหม่ คู

บอ ก่อ ดอ แล ก่อ ชุ มู

" ถ้าเราพี่น้องเอาใจมากองรวมกัน

เราสามารถทำเป็นบันไดปีนขึ้นสู่สวรรค์ได้”

ชอบมากๆครับ...

เป็นอุดมคติ ที่สุดยอดมากๆ...

สวัสดีครับ อ.ดร.ภิญโญIco32

“ดอ ปื่อ แหว่ เป่อ ซะ เหม่ คู

บอ ก่อ ดอ แล ถ่อ ชุ มู

ถ้าเราพี่น้องเอาใจมากองรวมกัน

เราสามารถทำเป็นบันไดปีนขึ้นสู่สวรรค์ได้”

  • ครับอาจารย์นั่นเป็นสุภาษิตโบราณชาวปปาเกอญอครับ  คุณชิสุวิชาน  พัฒนาไพรวัลย์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานสภา "แอะมือเจะคี" อำเภอ กัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอในเวที
  • คุณชิสุวิชาน  พัฒนาไพรวัลย์เป็นศิลปินพื้นบ้านขับขานบทเพลงแห่งขุนเขา ของชาวปปาเกอญอ ด้วยเครื่องดนตรีท่านเรียกว่าเตหน่ากู
  • มีบทเพลงเป็นอัลบั้ม มาแล้ว 3 อัลบั้ม คือเพลงนกเขาป่า  เมล็ดพันธ์แห่งขุนเขาและเตหน่าแลมิตร
  • ขอบคุณครับ

อ.หมอประเวศ นำเสนอในเช้าวันนี้(15 มิ.ย.53)ไว้ว่า

  • สิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิรูปประเทศไทยคือ ต้องลดอำนาจรัฐรวมศูนย์ แล้วเพิ่มอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นนการจัดการตัวเอง
  • การปฏิรูปประเทศไทย ที่ผ่านมา มักเน้นตั้งความหวังไว้ที่นักการเมือง ภาครัฐ นักวิชาการและผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ซึ่งมักจะไม่ประสบผลสำเร็จ
  • การปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้ ควรให้ประชาชนเป็นผู้ปฏิรูปเนื่องจากชุมชนท้องถิ่นดูแลพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยดูแลคนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ ดูแลต้นไม้ใบหญ้า  ดูแลทรัพยากรทั้งหมดที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย  นี่เป็นความจริงของแผ่นดินที่จริงที่สุด
  • การปฏิรูปคือการพลิกกลับรูปแบบใหม่(ปฏิแปลว่าการพลิกกลับ) คือการจัดรูปประเทศไทยใหม่  ด้วยการเรียนรู้จากชุมชนท้องถิ่น เรียนรู้ที่จะเอาชีวิตของผู้คนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ด้วยศีลธรรมพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
  • อีกความคิดเห็นหนึ่งคือแนวทางหนึ่งมหาวิทยาลัยเรียนรู้กับชุมชนท้องถิ่นหนึ่งจังหวัดครับ

ขอบคณครับ

  • เหมือนได้ไปนั่งฟังการประชุมกับพี่เลย
  • รออ่านในวันนี้เพิ่มเติม
  • โดยเฉพาะเรื่อง มหาวิทยาลัยเรียนรู้กับชุมชนท้องถิ่นหนึ่งจังหวัด
  • ขอบคุณมากครับ

อ.ดร.ขจิตครับIco32

  • มหาวิทยาลัยเรียนรู้กับชุมชนท้องถิ่นหนึ่งจังหวัด เป็นเรื่องที่คุณหมอพูดถึงในเช้านี้ 
  • อาจารย์หมอประเวศให้ทัศนะว่าเรามีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง หากแต่ละมหาวิทยาลัย รวมพลังกันภายในจากคณะต่างๆ แล้วจัดเป็นทีมเรียนรู้จากชุมชนหรือทีมจัดการความรู้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น  ตั้งแต่ระดับกลุ่มองค์กร หมู่บ้าน ตำบลหรือเทศบาล จนถึงระดับจังหวัด  อย่างต่อเนื่อง  จะทำให้เกิดพลังปัญญาของแผ่นดินอย่างมหาศาล(มิใช่เป็นการถ่ายทอดความรู้จากมหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นอยู่ครับ)
  • คงจะหาเวลาบันทึกเพิ่มเติมครับ 
  • ขอบคุณครับที่มาแวะเยี่ยม
  • รออ่านครับ
  • ผ่านมาแถวนี้ส่งข่าวมาให้ผมทราบบ้างจะเลี้ยงสเต็กพี่ครับ
  • ชอบการเรียนรู้แบบนี้ครับ
  • มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง หากแต่ละมหาวิทยาลัย รวมพลังกันภายในจากคณะต่างๆ แล้วจัดเป็นทีมเรียนรู้จากชุมชนหรือทีมจัดการความรู้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น  ตั้งแต่ระดับกลุ่มองค์กร หมู่บ้าน ตำบลหรือเทศบาล จนถึงระดับจังหวัด  อย่างต่อเนื่อง  จะทำให้เกิดพลังปัญญาของแผ่นดินอย่างมหาศาล

วันที่20 -21 ก.ย.53 มาเชียงใหม่ ร่วมเวที "ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศไทยภาคประชาชน(จังหวัดจัดการตัวเอง) 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน" มีการนำเสนองานวิชาการและแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในแต่ละจังหวัดครับ
           ผมสนใจบทเรียนการจัดการตัวเองของท้องถิ่น โดยการปกครองท้องถิ่นในต่างประเทศ โดย อ.ชำนาญ จันทร์เรือง การทบทวนงานวิชาการว่าด้วยการจัดการตัวเองโดย อ.ไพสิฐ พานิชย์กุล จาก มช.ครับ

          ผมพบว่า หากวิเคราะห์ปรากฏการณ์การอภิวัฒน์สังคมที่เกิดขึ้น  เราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆในสังคมมักจะมีแบบแผนการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆในห้วงเวลาในระยะเวลา 40 ปี

         ในเวทีครั้งนี้ได้มีคนเสนอว่าเราคงต้องมองย้อนไปก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไปก่อนหน้านั้นอีกเป็นเวลา 40 ปีด้วย เราจะพบว่าในปี 2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่อำนาจระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์ โครงสร้างนี้ได้ถูกออกแบบโดยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นเพื่อป้องกันสยามประเทศให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารประเทศให้มีความทันสมัยเพื่อรับกับสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น

          การรวมศูนย์อำนาจโดยส่งเจ้านายที่ได้รับความไว้วางใจจากส่วนกลางไปปกครองท้องถิ่น ก่อให้เกิดการต่อต้าน หรือเกิดกบฏของประชาชนในท้องถิ่นที่ไม่พอใจต่อการถูกปกครอง การไม่ได้รับประโยชน์จากการปกครองของส่วนกลาง หรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เช่น ภาคอีสาน เกิดกบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 กบฏโดยพวกข่า เกิดขึ้นหลังจากนโยบายของรัฐที่ขยายอำนาจเข้าไปในภาคอีสาน, กบฏผู้มีบุญ พ.ศ. 2444 – 2445 ได้เกิดจากสภาพชีวิตของราษฎรอีสาน ความผันผวนทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงหันไปหาความเชื่อท้องถิ่นเรื่องผู้มีบุญที่จะมาแก้ไขความทุกข์เข็ญให้กับตนเอง ภาคเหนือ เกิดกบฏพญาผาบ พ.ศ. 2432 เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บระบบภาษีหมาก พลู มะพร้าวที่ทำให้ราษฎรต้องเสียภาษีทั้งที่ยังไม่มีการซื้อขาย ทำให้ราษฎรเดือดร้อน ภาคใต้ เกิดกบฏผู้วิเศษ พ.ศ. 2442 – 2454 ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความไม่พอใจต่อการออกข้อบังคับสำหรับปกครองจากส่วนกลาง

         ครับ การอภิวัฒน์สังคมในยุคการปฏิรูปประเทศไทยด้วยการจัดการตัวเองอย่างมีคุณภาพและรอบด้านของขบวนชุมชนท้องถิ่นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2555นี้  เราน่าจะมีความหวังได้ว่า การจัดการตัวเองของชุมชนท้องถิ่นในครั้งนี้จะเกิดขึ้นได้จริง  และคงไม่ต้องรอการอภิวัฒน์สังคม อีกครั้ง

        ซึ่งการอภิวัฒน์สังคมในแต่ละยุค อาจต้องใช้เวลาถึง 40 ปี  รอคงไม่อยากรอขนาดนั้น ส่วนจะเป็นไปได้แค่ไหนและใช้เวลาเท่าไหร่ เป็นเรื่องของอนาคตที่อยู่ที่ขบวนชุมชนท้องถิ่นและผู้คนทุกภาคส่วนจะได้มารวมพลังกันเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์การการอภิวัฒน์สังคมในครั้งนี้ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท