ร่วมประชาพิจารณ์ Creative Commons ภาษาไทย เพื่อรากฐานสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาติ


ข่าวที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งของสัปดาห์นี้ก็คือ "สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบยอมรับสิทธิ ไม่ใช้เพื่อการค้าและอนุญาตแบบเดียวกัน ๓.๐ ประเทศไทย" ได้เข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์แล้วครับ

ขอเชิญอ่านรายละเอียดและร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ หน้านี้ ครับ ในส่วนตัวสัญญานั้นสามารถอ่านได้ที่ หน้านี้ ครับ

Creative Commons หรือที่เรียกย่อกันว่า CC นั้นเป็นสัญญาที่อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันงานสร้างสรรค์ระหว่างกันได้อย่างเสรี โดยมีระบบและระเบียบของการแลกเปลี่ยนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม CC นั้นออกแบบไปตามกฎหมายของอเมริกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการ "แปล" CC เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศต่างๆ ไปกว่า 34 ประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักกฎหมายธรรมนิติ ร่วมกับ TRN ได้จัดแปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้บังคับใช้ได้ตามกฎหมายของประเทศไทย และในตอนนี้ CC แบบ Attribution-NonCommercial-ShareAlike ได้พร้อมรับฟังความเห็นจากสาธารณะแล้วครับ

สัญญาอนุญาตของ CC ที่กำลังทำประชาพิจารณ์นั้นสำคัญมากต่องานสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะของประเทศไทยครับ เพราะ CC นี้อนุญาตให้งานสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะสามารถนำไปใช้ต่อเนื่องได้โดยเสรีอย่างถูกกฎหมาย โดยมีข้อแม้ว่าผู้นำไปใช้นั้นต้องยอมรับสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ไม่นำไปใช้เพื่อการค้า และหากดัดแปลงเพิ่มเติมจากงานชิ้นนั้นแล้ว จะต้องแผยแพร่โดยสัญญาอนุญาตแบบเดียวกัน

เจตนาของการสร้างสัญญาแบบ CC นั้นสำคัญมากต่อสิ่งที่ทุกท่านเขียนใน GotoKnow.org, Learners.in.th, และ Researchers.in.th ครับ เพราะสิ่งที่ทุกท่านเขียนนั้น ทุกท่านเขียนด้วยเจตนาที่ดีที่อยากแบ่งปันความรู้ฝังลึกให้ผู้อื่นได้นำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามทุกท่านก็คงไม่อยากให้ใครถือโอกาสที่งานเขียนเหล่านี้ซึ่งอยู่ในพื้นที่สาธารณะถูกใครนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือนำไปดัดแปลงโดยไม่แจ้งแหล่งที่มาแน่นอนครับ

ในปัจจุบัน หากมีใครนำงานเขียนที่ปรากฎในไซต์นี้ไปใช้ประโยชน์ทางการค้าผิดจากวัตถุประสงค์ที่ผู้เขียนตั้งใจไว้ ผู้เขียนคงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะตัวบทกฎหมายที่คุ้มครองงานเขียนนั้นๆ ก็ไม่ชัดเจน

ตัวอย่างเช่น ถ้ามาวันหนึ่งมีใครตีพิมพ์พอคเก็ตบุ๊ค "รวมบันทึกดีๆ จากบล็อกทั่วประเทศไทย" แล้วเอาบันทึกจาก GotoKnow บ้าง Exteen บ้าง BlogSpot บ้าง และบล็อกอิสระอื่นๆ โดยอ้างว่าเกิดจากการค้นคว้ารวบรวมของเขา เราก็คงทำอะไรเขาไม่ได้อย่างถนัดนัก เพราะเราไม่ได้เตรียมการไว้ตั้งแต่ต้น

ในขณะเดียวกัน งานเขียนดีๆ ที่เกิดจากความรู้ฝังลึกเหล่านี้ หากได้นำไปเผยแพร่ต่อไปในวงกว้างเพื่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ย่อมเกิดผลดีเป็นที่สุด แต่ผู้ที่จะเอาไปทำเช่นนั้น ก็ไม่มั่นใจที่จะทำอย่างนั้น เพราะกลัวว่าจะละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เขียน เพราะเขาไม่รู้ว่าอะไรที่เขาสามารถทำได้ อะไรที่เขาทำไม่ได้

เหตุการณ์แบบนี้ที่จริงแล้วเกิดขึ้นบ่อยมากครับ เพราะที่ผ่านมาเราได้รับอีเมลหลายต่อหลายฉบับที่ถามว่า หากจะพิมพ์บทความในไซต์ไปติดบอร์ดในที่ทำงานจะต้องขออนุญาตใครบ้าง บางครั้งเราก็แนะนำให้อีเมลไปถามผู้เขียนโดยตรง บางครั้งถ้าเราเห็นว่าเป็นอีเมลที่มาจากสถานศึกษาหรือหน่วยงานราชการเราก็เอาความเร็วเข้าว่าโดยตอบไปเลยว่าทำได้ เรียกว่าตอบทันแบบไหนเราก็ตอบไปแบบนั้น ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะไม่มีมาตราฐานและไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน แต่เราก็ทำพอให้ผ่านไป เพราะเรารู้ว่าวันหนึ่งสิ่งที่ดีกว่าจะต้องมาถึงประเทศไทย

แล้ววันนั้นก็มาถึงครับ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาสิ่งที่พวกเรารอคอยมาตลอดคือ CC ที่ใช้งานได้ในกฎหมายไทยนี่เองครับ

CC แบบ Attribution-NonCommercial-ShareAlike จึงเป็นสิ่งที่เหมาะกับการจัดการความรู้ในความหมายของการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" อย่างมากครับ เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีนั้น ควรสามารถทำต่อยอดต่อเนื่องได้อย่างเสรีโดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด แต่ต้องให้เกียรติผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Attribution) ต้องไม่นำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นไปหาโอกาสทางการค้าโดยมิชอบ (NonCommercial) และต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดต่อไปในแบบอย่างเดียวกัน (ShareAlike)

ด้วยเหตุนี้เอง หลังจาก CC นี้ประกาศใช้อย่างถูกต้องแล้ว พวกเราอยากจะขอปรึกษาทุกท่านว่าจะนำ CC นี้มาใช้เป็นมาตราฐานสำหรับในไซต์ทุกไซต์ (default license) เพื่อเป็นรากฐานของการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ในระดับประเทศซึ่งก็คือการจัดการความรู้ในบริบทที่ สคส. สนับสนุนนั่นเองครับ

เมื่อ CC นี้ประกาศใช้ เราจะได้เห็นเอกสารมากมายที่มีประโยชน์ต่อคนไทยใช้ CC โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวกับการศึกษา เช่นเดียวกับในต่างประเทศดังที่มีตัวอย่างที่ ลิงค์นี้ ครับ

ดังนั้นในโอกาสนี้ ผมจึงขอเรียนเชิญทุกท่านช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อ CC ที่กำลังทำประชาพิจารณ์จนถึงวันที่ 11 ธันวาคมนี้เพื่อการปรับปรุงก่อนจะมีการใช้งานจริง โดยคลิกได้ ที่นี่ และอ่านตัวสัญญาได้ ที่นี่ ครับ

หมายเลขบันทึก: 149733เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2007 01:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • สวัสดีครับอาจารย์

เรื่องที่ว่า...

"ตัวอย่างเช่น ถ้ามาวันหนึ่งมีใครตีพิมพ์พอคเก็ตบุ๊ค "รวมบันทึกดีๆ จากบล็อกทั่วประเทศไทย" แล้วเอาบันทึกจาก GotoKnow บ้าง Exteen บ้าง BlogSpot บ้าง และบล็อกอิสระอื่นๆ โดยอ้างว่าเกิดจากการค้นคว้ารวบรวมของเขา เราก็คงทำอะไรเขาไม่ได้อย่างถนัดนัก เพราะเราไม่ได้เตรียมการไว้ตั้งแต่ต้น"

  • อันที่จริงแล้ว พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 คุ้มครองอยู่ครับ คือเริ่มคุ้มครองตั้งแต่ทันทีที่เผยแพร่สาธารณชน และมีผลใช้ทั่วโลก (ยกเว้นประเทศที่ไม่เข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์)
  • มาตรการการจัดการใด ๆ เป็นการทำเพิ่มเติมเพื่อสะดวกในการนำพิสูจน์ข้อเท็จจริงของการเผยแพร่ (เช่น การพิสูจน์ authen. ของ archive)
  • คือ มาตรา 6  งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใดการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบหรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์
  • และ มาตรา 8  ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้(1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น(2) ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอกราชอาณาจักรหรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากได้มีการโฆษณางานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ใน (1) ในขณะที่มีการโฆษณางานครั้งแรกในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

สวัสดีครับ

หมายความว่า อาจารย์กำลังคิดว่า งานเขียนในนี้ น่าจะกำหนดลิขสิทธิ์เป็นแบบ CC ใช่ไหมครับ

การเขียนในเว็บไซต์แบบนี้ มีโอกาสจะนำไปใช้ได้ง่าย เพราะสะดวก ทั้งตัวหนังสือ และภาพ โดยเฉพาะภาพนั้น เป็นที่ต้องการกันมาก

อาจจะมีช่องไว้เลือกสำหรับแต่ละบทความ ว่าจะให้เป็นลิขสิทธิ์เสรี ใครเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ หรีอว่า ลิขสิทธิ์แบบใช้ได้แต่ไม่ใช่เพื่อการค้า หรือแบบอื่นๆ ก็สะดวกดีครับ

 

  • สวัสดีครับ
  • ตามปรกติ ถ้าไม่ประกาศอะไรเลย ข้อเขียนที่เผยแพร่สู่สาธารณะ ก็ได้รับความคุ้มครองเต็มที่ตาม พรบ. ลิขสิทธิ์อยู่แล้ว เพียงแต่อาจยุ่งยากตอนนำพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า เผยแพร่ที่ไหน เมื่อไหร่ โดยใคร มีพยานไหม ซึ่งคนที่เขาตระหนักเรื่องพวกนี้ เขาจะไม่กล้านำข้อความยาว ๆ ไปใช้ต่อ โดยถ้าใช้ ก็ต้องใส่อ้างอิงกับเต็มพิกัด และมีระดับที่เหมาะสมดูดี ที่ดูแล้วไม่น่าเกลียด ซึ่งเรียกว่า "fair use"

ตาม พรบ.ฯ นี้ กล่าวถึง fair use ไว้ว่า

"มาตรา 32  การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ"

  • เช่น ถ้าผมเขียนหนังสือเอง แล้วยกคำของคนอื่นเขียนมา ปรกติ ไม่กล้ายกมาเกินพารากราฟขนาดสั้น และใส่อ้างอิง + ใส่สัญลักษณ์ให้เห็นว่านี่เป็นข้อความที่ยกมา ไม่ได้ตีขลุมว่าพูดเอง
  •  CC ทำให้เรื่องง่ายขึ้น เพราะเป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์ แสดงเจตจำนงแบบมีรายละเอียดเงื่อนไข เป็นเหมือนนิติกรรมแบบ checklist ซึ่งสะดวกกับทุกฝ่าย
  • ประเภทที่ หน้ามืด พอที่จะถือวิสาสะ "คัดเรื่องเด็ด" รวมเล่ม แบบนั้น ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์เอาเรื่อง รับรอง คางเหลือง 
  • แต่ CC จะทำให้การ "คัดเรื่องเด็ด" ไปทำเล่มโดยวัตถุประสงค์ที่ไม่ขัดกับที่เจ้าของลิขสิทธิ์เขาระบุไว้ก่อนอย่างชัดเจนถี่ถ้วนด้วย CC เกิดขึ้นได้ง่าย และไม่มีปัญหาตามหลัง หรือถ้ามี ก็จะไม่มาก
  • ซึ่งจะทำให้การกระจายเนื้อหาออกไป เกิดแบบตามธรรมชาติได้ง่าย และเร็ว สมดังเจตนารมณ์ของการทำเว็บนี้
  • ข้อเสนอของผมคือ ในระยะยาว G2K เอง อาจทำ checlist ให้ผู้เขียน blog ได้กาเลือกเงื่อนไขของ CC แล้วระบบก็เลือก icon ของ CC มาใส่อัตโนมัติ

 

ขอขอบคุณอาจารย์วิบุลมากครับสำหรับข้อมูล

เดี๋ยวเราจะทำเป็นระบบให้เลือก license ตามที่อาจารย์แนะนำครับ โดยจะให้ผู้ใช้สามารถเลือก license สำหรับแต่ละบันทึกและไฟล์ครับ

ดีทีเดียวครับอาจารย์ ผมอยากรู้เรื่องนี้มานานแล้วครับ  ขอบคุณครับ

ที่อ.ธวัชชัย ใช้คำว่า "ลิขสิทธิ์แบบ CC" อาจจะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนกันได้

ควรจะใช้คำว่า "สัญญาอนุญาตแบบ CC" ครับ

(ลิขสิทธิ์ = copyright ; สัญญาอนุญาต = license)

 

เรื่องลิขสิทธิ์นั้น งานสร้างสรรค์ใด ๆ (ตามก.ม.ลิขสิทธิ์) เมื่อได้เผยแพร่แล้ว ก็ย่อมได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์โดยทันที โดยอัตโนมัติ

แต่ในส่วนของสัญญาอนุญาต (เช่น CC หรือ GPL ฯลฯ) นั้น จะเป็นเรื่องของการกำหนดว่า คนอื่นจะนำงานอันมีลิขสิทธิ์ชิ้นนี้ไปทำอะไรได้บ้าง ในเงื่อนไขไหน -- ซึ่งสัญญานี้ จะทำอยู่บนพื้นฐานของก.ม.ลิขสิทธิ์อีกที (จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการ "port/แปล" ตัวสัญญา เพื่อให้เข้ากับก.ม.ลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศครับ)

 

สอบถามหน่อยครับ อย่างถ้าเราเอางานลิขสิทธิ์มาติดป้าย CC แล้วงานจะเป็น CC อัตโนมัติไหมครับ พอดีเห็น

http://fuse.in.th/node/791

และอีกหลายหน้าในเว็บนี้มี เลยคิดว่าน่าจะเอา CC ไปใช้ในเว็บตัวเองบ้างครับ

 ----------------

บล็อกฉันอยู่นี่ - http://itshee.exteen.com 

การนำปัาย CC ไปติดเป็นการแสดงว่าเราอนุญาตให้นำงานนั้นไปใช้ต่อได้ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบ CC ครับ
  • ผมไปเห็นที่คุณป้อม เขียนไว้ใน share ว่ามี web archive ตามลำดับประวัติศาสตร์เวลา ช่วยให้เรากลับไปดูหน้าเว็บในอดีตได้ ก็นึกขึ้นได้ ว่า จริง ๆ แล้วเราเอาตรงนี้มาช่วยพิสูจน์การเผยแพร่ได้ ซึ่งปัญหาใหญ่ของลิขสิทธิ์ มักอยู่ที่การนำพิสูจน์นี่แหละ หากมี web archive ที่มีผนึกประทับเวลาที่น่าเชื่อถือได้หลาย ๆ แห่ง ก็จะทำให้การนำพิสูจน์ง่ายขึ้นมาก
  • ตามกฎหมาย เผยแพร่ปุ๊บ ก็ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ปั๊บ ส่วน CC เป็นการประกาศต่อสาธารณะว่าใครเอาไปใช้ต่อแค่ไหน ใช้ต่ออย่างไร จึงจะไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องมาทำสัญญากันให้วุ่นวาย
  • การประชาพิจารณ์ CC จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญแบบขาดไม่ได้...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท