GotoKnow ไม่สนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์


เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการดำเนินงาน GotoKnow มาในตลอดสามปีที่ผ่านมาคือการมุ่งมั่นให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยที่เป็นคนทำงานในทุกสาขาวิชาชีพได้ใช้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และทัศนคติที่เกิดจากการทำงานเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่นที่ทำงานในสาขาวิชาชีพที่ใกล้เคียงกันและผู้อ่านโดยทั่วไป

ประโยคหลักของเว็บไซต์นี้ที่ว่า "คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้" ที่เราใช้ตลอดสามปีที่ผ่านมา ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "แบ่งปันประสบการณ์ผ่านมิตรภาพ" อย่างในปัจจุบัน สะท้อนถึงเป้าหมายของเราได้เป็นอย่างดี

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" คือการให้เกียรติแก่เจ้าของความรู้ในลิขสิทธิ์ของผู้เขียนในฐานะผู้ที่เป็น "ครู" ผู้นำความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้และจากการปฎิบัตินั้นมาถ่ายทอดแก่ผู้อื่นโดยไม่ปิดบัง

ในวัฒนธรรมตะวันตก "ลิขสิทธิ์" คือการให้เกียรติแก่เจ้าของความคิด ในวัฒนธรรมตะวันออก "ความเคารพ" คือการให้เกียรติเช่นเดียวกัน

GotoKnow สนับสนุนการให้เกียรติแก่เจ้าของความรู้โดยไม่สนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนทุกประเภทโดยทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการนำบันทึกใน GotoKnow ไปเขียนที่ไหนโดยอ้างว่าเป็นของตัว หรือการนำบันทึกจากที่อื่นมาเขียนใน GotoKnow โดยอ้างว่าเป็นผู้เขียนเองก็ตาม การกระทำเหล่านี้เรียกว่าเป็น "การโจรกรรมทางวรรณกรรม" (Plagiarism)

การให้เกียรติในงานเขียนนั้นเป็นสำนึกโดยปกติ (common sense) ที่ผู้มีการศึกษาทุกคนรับรู้อยู่แล้ว แต่ในบางครั้งอาจเกิดความผิดพลาดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้

ผู้ที่เรียนรู้ความผิดแล้วไม่ทำซ้ำอีก ควรค่าแก่การให้อภัย เพราะถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตของผู้นั้นที่จะไม่ผิดพลาดซ้ำสองอีกแล้ว

มิตรภาพของชุมชนที่ดีก่อเกิดความให้อภัยซึ่งเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทุกศาสนา

แต่ผู้ที่เรียนรู้ว่าเป็นความผิดแล้วยังทำซ้ำอีกโดยไม่กลัวเกรงกับความผิดนั้น การให้อภัยอาจไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องที่พึงกระทำ

ความผิดครั้งแรก หากผู้กระทำผิดบอกว่าไม่รู้ย่อมควรค่าแก่การให้อภัย แต่หากยังทำความผิดนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อไป การให้อภัยหมายถึงความอ่อนแอของผู้ให้อภัย เพราะหมายถึงความขลาดเขลาและกลัวผู้กระทำผิด

การให้อภัยที่ผิดน่ากลัวกว่าการทำผิด

ที่จริงเรื่องเหล่านี้เราเห็นได้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว พ่อแม่ที่ดีย่อมรักลูกไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม แม้ลูกจะเป็นโจรขโมยพ่อแม่ก็ยังรัก

แต่ความรักไม่ได้หมายถึงการยอมให้ลูกกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะพ่อแม่ที่ดีควรลงโทษให้ลูกได้เรียนรู้ในความผิด ความรักที่กล้าหาญที่จะลงโทษต่างหากเล่าที่ยิ่งใหญ่กว่าความรักใดๆ ของพ่อแม่ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความชัดเจนในความสัจจะที่จะยืนหยัดเป็นเสาหลักของครอบครัวได้

แต่พ่อแม่ที่ยอมแพ้แก่ความรัก ปลอบประโลมลูกแม้ว่าจะกระทำความผิดซ้ำอีก เป็นการแสดงความอ่อนแอที่ไม่สามารถเอาชนะใจในความรักนั้นได้ ความรักเช่นนี้ไม่ใช่คุณสมบัติที่จะนำมาซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจจากบุคคลอื่นในวงกว้างได้

การทำผิดในลิขสิทธิ์โดยการแอบอ้างงานเขียนของคนอื่นมาว่าเป็นของตัวนั้น เป็นความผิดที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะสำหรับบุคคลที่อยู่ในระบบการศึกษานั้น เป็นความผิดที่ร้ายแรงที่สุด

GotoKnow เจตนาสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของความรู้ความคิดที่เป็นต้นฉบับ ไม่ใช่ความรู้ที่คัดลอกมาและดัดแปลงคำพูดให้เป็นของตัว ในเรื่องจริยธรรมนั้นก็เป็นที่รู้ทั่วไปว่าเป็นความผิด ส่วนในแง่กฎหมายก็ยิ่งเป็นความผิดร้ายแรง

ยกตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์ต่างๆ ให้ความสำคัญแก่ลิขสิทธิ์ของตนมาก อาทิเช่น นิตยสารสารคดี เป็นต้น หากมีใครแอบอ้างตัดตอนบทความ "ปั้นดินเป็นบ้าน กลับสู่ความรู้เก่าที่ฝังไว้ในยีนของเรา" ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 มาใช้ไม่ว่าในงานเขียนใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะเป็นบันทึกหรือเป็าความเห็นแล้ว ย่อมหมายถึงการกระทำผิดทางกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มากเกินกว่าจะให้อภัยได้

หากมีใครทำเช่นนั้นแล้วถามหาการให้อภัย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากผู้นั้นเคยทำความผิดนี้ด้วยเหตุผลว่าไม่รู้มาแล้ว การทำผิดครั้งที่สองย่อมไม่ควรจะเกิดขึ้น

การให้อภัยซ้ำซ้อนในเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดเช่นนี้ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้

การทำผิดอีกครั้งในเรื่องที่ผู้กระทำรู้แล้วว่าผิด สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในตัวเองในทางผิดในเหตุผลที่ไม่อาจเข้าใจได้ เพราะไม่ได้หมายถึงการทำผิดลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่แสดงถึงการไม่ให้เกียรติแก่สังคม อาจด้วยเหตุผลที่เข้าใจสังคมผิดเพราะคงทนงไปในความรู้ของตนว่าเข้าใจจิตใจผู้คนจนถึงขั้นโน้มน้าวได้

ในกรณีเช่นนี้การให้อภัยยิ่งไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง แต่การลงโทษกลับเป็นการเอื้ออารีเพื่อเปิดโอกาสให้เรียนรู้ที่จะไม่กระทำความผิดและลดความทนงตนของบุคคลนั้นไป การลงโทษเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นเรียนรู้ในความไม่รู้ของตนและไม่กลายเป็นบุคคลที่อาจก่อความผิดหวังต่อสังคมต่อไปในวงกว้าง

GotoKnow ยืนยันในนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของเราตลอดมา GotoKnow ไม่ยอมรับการทำผิดลิขสิทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกของใครก็ตาม

แม้การตัดสินยืนยันในจุดยืนของ GotoKnow จะหมายถึงการไม่มีใครมาใช้ GotoKnow อีกต่อไป คุณค่าของการได้มีจุดยืนในความคิดอย่างมั่นคงมีคุณค่ามากกว่าการยอมโอนอ่อนเพียงเพื่อใครที่ดูเหมือนจะโน้มน้าวสังคมได้

ในเรื่องการทำผิดลิขสิทธิ์นั้น GotoKnow ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และไม่สนับสนุนให้มีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นในเว็บไซต์นี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 190731เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2008 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เหมือน gotoknow กลับมามีพลัง... ซึ่งเป็นพลังแห่งความดีงาม ต่อกระบวนการขัดเกลา "มนุษย์"...ดั่งความเชื่อในเรื่อง KM ที่เป็นมากกว่า...การทำตามนโยบาย หากแต่ว่าทำเพื่อพัฒนาคน งาน องค์กร สังคม และโลกอย่างแท้

ตลอดเวลาของกระบวนการขัดเกลานี้เพื่อดำเนิน...ไปในเรื่องภายในแทบทั้งสิ้น หากภายในไม่ได้รับการขัดเกลา ยากยิ่งที่เราหนึ่งคนจะช่วยอะไรภายนอกได้ ดังนั้นหน้าที่เราอยากช่วยสร้างสรรค์สังคมและโลก นั่นก็คือ การน้อมนำกลับเข้ามาสู่การขัดเกลาภายในตนเอง แล้วพลังที่เรานำออกมาใช้ในสังคม จะเป็นพลังที่ดีงามมากขึ้น

"พลังแห่งความดีงามและเมตตา ต้องพึงช่วยสนับสนุนให้บุคคลนั้นได้รับการปรับเปลี่ยน และพัฒนาไปในทางที่ดีสู่ความเจริญงอกงามในจิตใจ (Growth)"

นี่คือความปรารถนาอย่างแท้จริงต่อการช่วยเหลือกันและกันในสังคม...

มาให้กำลังใจคนทำงานเพื่อ gotoknow ครับ...

ขอบคุณครับผม...

ความหมายของคำว่า "โจรกรรมทางวรรณกรรม" อ่านได้ที่นี่ค่ะ http://th.wikipedia.org/wiki/โจรกรรมทางวรรณกรรม

อยากขอรบกวนชาว GotoKnow ทุกท่านมาช่วยกันกำจัดการโจรกรรมทางวรรณกรรมค่ะ หากพบเห็น ท่านสามารถแจ้งทีมงานได้ทันทีค่ะที่ http://gotoknow.org/email/webmaster 

 

ตัดตอน..แล้วมาวิเคราะห์ วิจารณ์ บอกแหล่งที่มา ไม่น่าผิดใช่ไหมครับ..

สำหรับประเด็นนี้ ทางทีมงานขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นค่ะ

  • กรณีที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระทำเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำในลักษณะดังกล่าวหลายครั้งค่ะ
  • ลักษณะการเขียนที่พบส่วนใหญ่ จะเป็นการคัดลอกข้อความมาโดยมีลักษณะคำและรูปประโยคตรงกับเว็บไซต์อื่นที่ได้ตรวจสอบพบ และได้มีการแก้ไขคำลงท้ายเล็กน้อย เช่น จากครับ เป็น ค่ะ เป็นต้น
  • สำหรับการคัดลอกในลักษณะข้างต้นทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ว่าเจ้าของบล็อกเป็นผู้เขียนข้อความนั้นเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการนำข้อความมาจากเว็บไซต์อื่น ซึ่งถือเป็นการลอกเลียนบทความของผู้อื่นมาค่ะ และเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนดังที่เขียนอธิบายไว้ในบันทึกนี้ค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากให้ลองศึกษาจาก http://www.faylicity.com/porch/porch64.html ค่ะ

ซึ่งจะช่วยตอบข้อสงสัยที่หลายๆ ท่านยังไม่ทราบได้ระดับหนึ่งค่ะ

ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งครับที่ลอกบทความผู้อื่นมาลงบล็อกตัวเอง

โดยไม่ให้เกียรติเจ้าของที่แท้จริงเลย

  • ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
  • ถ้าเป็นนักวิชาการ
  • คงไม่ทำและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
  • อ่านที่นี่นะครับ
  • ของคุณหมอวิจารณ์
  • โจรกรรมทางวิชาการ
  • http://gotoknow.org/blog/council/190263

สวัสดีครับท่านอาจารย์ และทีมงานครับ

    ขอบคุณมากครัีบสำหรัีบเรื่องราวและกรณีศึกษานะครัีบ ต่อไปนี้ก็เริ่มสแกนกันได้ทีละบล็อกเลยครัีบ อาจจะต้องใช้มาตรการเดียวกันกับทุกๆบล็อกครัีบ เพื่อความเป็นมาตรฐานของนโยบายของโกทูโนว์นะครับ

ปั่นเหรียญเมื่อไหร่ ย่อมเกิดผลได้สามทางเสมอ คือ ออกหัว  ออกก้อย และเหรียญไม่ล้ม ครัีบ

ขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานและสมาชิกโกทูโนว์ทุกท่านนะครับ ผมอยากจะบอกว่าน่าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นครัีบ

ขอบคุณมากและนับถือครัีบ

เม้งครัีบ

 

สวัสดีค่ะ ทุกท่าน

เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและให้ทุกท่านได้ทราบความเป็นมาของเรื่องราวที่ทำให้ทางทีมงานดำเนินการเขียนบันทึกนี้ขึ้นมา ทั้งนี้ทางทีมงานต้องการให้ทุกท่านได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องราว"การโจรกรรมทางวรรณกรรม" หรือการคัดลอกงานเขียนที่เกิดขึ้นค่ะ

และวันนี้หลังจากที่ทางทีมงานได้เขียนบันทึกนี้ขึ้น เจ้าของบล็อกได้ดำเนินการลบบันทึกในบล็อกดังกล่าวจนหมด และดำเนินการปิดบล็อกไปแล้วค่ะ

เหตุเริ่มจากบันทึกเกี่ยวกับพืชพลังงานที่เจ้าของบล็อกท่านหนึ่งใน GotoKnow.org ได้เปิดบันทึกพืชพลังงานทดแทน..จะเอายังไงกันดี ? ระยะหนึ่ง จากนั้นเจ้าของบทความดังกล่าวจึงตามมาเจอ ดังที่เจ้าของบทความตัวจริงได้เขียนบล็อกที่มีหัวข้อ ไม่ได้หวงนะ แต่ขำอ่ะ (http://baansuan.wordpress.com/2008/06/12/carbon-paper/ ) และได้มีการไก่เกลี่ยและทำความเข้าใจกันแล้ว โดยเจ้าของบล็อกใน GotoKnow.org ได้แก้ไขข้อความและใส่ที่มาเพื่อให้เครดิตดังภาพ

ดังนั้นทางทีมงานจึงได้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติมจากบันทึกเก่าๆ ของเจ้าของบล็อก และได้พบว่ามีบันทึกอื่นๆ ที่ได้ทำการคัดลอกมาเช่นกัน ทางทีมงานขอนำตัวอย่างมาให้ชมดังภาพ

  • บันทึกที่พบ อยากให้ G2K เป็นอย่างไร?และหากลองอ่านข้อความจะเห็นว่า มีการใส่คำลงท้าย "ค่ะ" เข้าไปทำให้เห็นความตั้งใจของการนำเอาความรู้ของผู้อื่นมาเป็นของตนค่ะ

ท่านผู้อ่านสามารถลองอ่านเพื่อเปรียบเทียบบทความได้ดังตัวอย่างที่นำมาให้ดูค่ะ

นอกจากนี้ในส่วนของการแสดงความคิดเห็นเช่นกัน ก็มีการนำบทความมาจากแหล่งอื่น ซึ่งดิฉันจะนำเสนอในความคิดเห็นถัดไปค่ะ

สวัสดีครับ

แวะมาอ่านอีกรอบ เข้าใจมากขึ้น ตอนแรกก็งงๆ ;)

เพิ่มเติมจากที่มะปรางได้แสดงไว้นะค่ะ

จะเห็นได้ว่า มีความพยายามในการทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ข้อความในบันทึกเป็นของตนเอง โดยใช้การเติมคำว่า "นะค่ะ" ต่อท้ายจากของต้นฉบับค่ะ

หลังจากที่ได้ลองตรวจสอบบันทึกแล้ว

ทางทีมงานได้ทำการตรวจสอบความคิดเห็นบางส่วน ที่ได้มีการแสดงความคิดเห็นไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์พืชพลังงานทดแทนข้างต้น และก็ได้พบว่ามีการนำบทความมาจากเว็บไซต์อื่นมาเขียนเป็นความคิดเห็นด้วยค่ะ

ซึ่งมีรายละเอียดดังภาพ รายละเอียดของข้อความที่คัดลอกได้เน้นประโยคด้วยสีเหลืองค่ะ

จากการตรวจสอบข้อความดังกล่าว ทางทีมงานได้ไปพบข้อความที่ http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=mr-forever&date=24-06-2005&group=9&gblog=7 ค่ะ ซึ่งขอยกข้อความตัวอย่างมาให้ดู ดังภาพ

และหลังจากเกิดเหตุการณ์ในกรณีบันทึกพืชพลังงานทดแทนที่เจ้าของบทความได้ตามมาเจอและได้ไกล่เกลีย์กันแล้ว ทางทีมงานได้ตรวจสอบความคิดเห็นที่ได้แสดงหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว พบว่ามีการแสดงความคิดเห็นที่นำข้อความมาจากเว็บไซต์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกดังภาพ โดยมีรายละเอียดข้อความดังที่ได้เน้นข้อความไว้แล้ว

และเมื่อตรวจสอบ จึงพบว่าข้อความดังกล่าวที่เว็บไซต์ http://www.sarakadee.com/feature/2002/06/cob_house.htm ซึ่งมีรายละเอียดดังภาพ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบ ทางทีมงานขอนำตัวอย่างบางส่วนที่ตรวจสอบเจอมาแสดงให้สมาชิกได้รับทราบ และเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ทำให้ทางทีมงานดำเนินการเขียนบันทึกนี้เพื่อแจ้งให้ทุกท่านทราบค่ะ

ดังที่มะปรางได้แสดงให้เห็นไว้ในรูปชุดที่สอง จะเห็นได้ว่า แม้จะมีการไกล่เกลี่ยตักเตือนกันไปแล้ว เจ้าของบล็อกก็ยังคงกระทำการ copy ข้อความจากที่อื่นมาใส่เป็นความคิดเห็นและเติมคำว่า "นะจ้ะ" ไปอีกเช่นเดิม เหมือนไม่ได้พยายามเข้าใจเรื่องการโจรกรรมทางวรรณกรรมเอาเสียเลย

สำหรับตัวอย่างข้างต้น เป็นข้อมูลที่ตรวจสอบเจอ และนำมาเสนอให้เป็นตัวอย่างบางส่วน จากข้อมูลที่มีทั้งหมด ค่ะ

หากสมาชิกท่านใดพบเจอบันทึก หรือความคิดเห็นที่เข้าข่าย และอยากให้ทางทีมงานตรวจสอบ สามารถแจ้งให้ทางทีมงานทราบ ด้วยการส่งอีเมล์ผ่านระบบได้ที่ http://gotoknow.org/email/webmaster ค่ะ

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์และทีมงานทุกท่านค่ะ

  • ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ
  • ป้าแดงก็อ้างอิงจากที่อื่นบ่อยครั้งแต่ก็มักจะเขียนไว้ว่าเอามาจากที่ไหน เพราะวัตถุประสงค์หนึ่งอยากเอามาเก็บไว้อ้างอิงสำหรับงานและวิถีชีวิตค่ะ
  • -----
  • เคยรู้สึกเหมือนกันว่า บันทึกและเรื่องราวแบบนี้เคยอ่านเจอที่ไหนนะ แต่ไม่ได้ติดตาม เพราะส่วนหนึ่งก็เรื่องของการยอมรับในตัวเจ้าของบันทึก(ความรู้ ความสามารถ การงาน และแฟนคลับ) ว่าต้องไม่ลอกเค้ามาทั้งหมดแน่ แต่คิดว่าคนอื่นอาจจะมาลอกเค้าไปด้วยซ้ำ
  • -----
  • อยากให้ที่นี่เป็นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านมิตรภาพอย่างแท้จริงค่ะ
  • ขอบคุณทีมงานอีกครั้งค่ะ

 

แวะมาอ่านค่ะเพราะเป็นน้องใหม่ มีความรู้มากขึ้นค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ธวัชชัยและทีมงาน G2K ที่เอาจริงในเรื่องนี้และนำข้อมูลมาเปิดเผย ทำหลายครั้งหลายหนแบบนี้แสดงถึงเจตนาของผู้กระทำ การอ้างว่าได้ข้อมูลมาจากเพื่อนทางเมล์ ฟังไม่ขึ้นจริงๆ

ขออนุญาตเอาตัวอย่างนี้ไปสอนนักศึกษาปริญญาโท ที่ปัจจุบันมักพบว่าชอบไปลอกข้อความของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง

เทอมนี้มีนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งมาขอให้ดิฉันเป็นที่ปรีกษาสารนิพนธ์เกี่ยวกับด้าน LO & KM

ดิฉันจึงถามเห็นผลว่าทำไมถึงสนใจด้านนี้ คำตอบของเขาคือ ง่ายดี และมีงานสารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ตัวอย่างอยู่ในมือแล้ว เอ... หมายความว่าอย่างไรนี่?

ดิฉันได้ถามต่อไปว่าเคยรู้เรื่อง LO & KM มาก่อนหรือไม่ คำตอบคือ เคยอบรมอยู่บ้าง

ดิฉันถามต่อว่า ทำไมจึงให้ดิฉันเป็นที่ปรึกษา คำตอบคือ เพราะอาจารย์เป็นผู้ชำนาญการด้านนี้ เอ...หมายความว่า เป็นผู้ชำนาญการแล้วจะทำให้งานสารนิพนธ์ง่ายขึ้นอีกอย่างนั้นกระมั่ง?

หลังจากอธิบายกระบวนการทำสารนิพนธ์แล้ว ดิฉันบอกให้กลับไปคิดว่าจะให้ดิฉันเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ แล้วให้ติดต่อกลับมา ปรากฎว่า จนบัดนี้ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

หนิงเองก็มีความรู้สึกไม่ต่างกับป้าแดงค่ะ 

อ.อาทิตย์ (bact') เป็นผู้ใช้คนแรกๆ ของ GotoKnow ตั้งแต่สมัยอาจารย์เขาเรียนอยู่ที่อังกฤษ และได้เขียนบันทึกนี้ "Data, Information, Knowledge, Understanding, and Wisdom" ไว้ตั้งแต่สามปีที่แล้ว (เป็นบันทึกหมายเลขที่ 141) โดย post ไว้ทั้งสองที่คือใน GotoKnow และใน http://bact.blogspot.com/2005/06/data-information-knowledge.html ครับ

สวัสดีครับทุกท่าน

  • ส่วนตัวผม หูหนวก ตาบอดอยู่ตั้งนาน เห็นเขาพูดถึงกันในบางบันทึก ก็ยังมึนๆ งงๆ
  • ได้มาอ่านในบันทึกนี้หูตา สว่างขึ้นมาหน่อย
  • เป็นบันทึกที่มีประโยชน์แก่มวลสมาชิกดีครับ ถ้าเนื้อหาซ้ำๆ กันจะมาเขียนทำไมให้เปลืองทรัพยากร ใช่ไหมครับ ทำลิ้งค์อย่างเดียวก็พอแล้ว

ขอบคุณครับ

 

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท