ซำเหนือเมื่อหน้าหนาว(๔)


ประชากรของหัวพันมีทั้งลาวลุ่ม ลาวสูงและลาวเทิง

การที่แขวงหัวพันเต็มไปด้วยภูดอยและมีป่าไม้หนาทึบ  อีกทั้งตั้งอยู่ในบริเวณที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านแบบซื่อๆ  ทำให้บริเวณพื้นที่สูงมีอากาศหนาวเย็นกว่าที่อื่นๆ และหนาวเป็นระยะเวลานาน เช่น เมืองซำเหนือของเรานี้ในฤดูหนาวจะมีหมอกหนาจนมองไม่เห็นแสงอาทิตย์ ต้องปลูกพืชผลเมืองหนาว เช่น มะจอง มะคาย ฝิ่น และผักกาดหัว   ส่วนบริเวณพื้นที่ราบริมแม่น้ำจะมีอากาศอบอุ่นกว่าเช่น เมืองเชียงค้อ สามารถปลูกพืชเขตร้อน เช่น มะม่วง ขนุน กล้วย อ้อย มะพร้าว และหมากแหน่ง

              ประชากรของแขวงหัวพันมีประมาณ ๒๖๗,๑๘๕ คน ในจำนวนนี้ร้อยละ ๖๔ เป็นลาวลุ่มซึ่งหมายรวมเอากลุ่มไตดำ ไตแดง และไตขาว ร้อยละ ๒๓ เป็นลาวสูง  ส่วนใหญ่เป็นม้ง และร้อยละ ๑๓ เป็นลาวเทิง คือ พวกขมุ  ยังมีชาวเวียตนามอยู่ด้วยจำนวนหนึ่งเพราะมีอาณาเขตติดต่อกับเวียตนาม  ทั้งแขวงมีแปดอำเภอและ๘๖๔ หมู่บ้าน

              เรามักจะได้ยินชื่อหัวพันทั้งห้าทั้งหกมาตั้งแต่สมัยเรียนประวัติศาสตร์ยามเป็นเด็กละอ่อนท่องเป็นนกแก้วนกแล  นึกไม่ออกหรอกว่าอยู่ที่ไหน  แต่ได้รับการสอนว่าเป็นดินแดนที่เราเสียให้ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทำไมเรียกว่าทั้งห้าทั้งหกก็ยังไม่เคยถามอาจารย์ผู้สอนสักที  กลัวถูกเขกหัว  มาพบในบทความของอาจารย์วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริมและท่านอื่นว่า  หัวพัน หมายถึงจำนวนประชากรที่ขึ้นอยู่กับเจ้าผู้ปกครองดินแดนนี้ในอดีต  ซึ่งมีตั้งแต่ห้าพัน หกพัน หรือมากกว่านั้น  ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี  ต่อมาก็เรียนรู้อีกว่า จริงๆแล้วต้องเรียก หัวพันห้าทั้งหก คือ เป็นหน่วยการปกครองที่เรียกว่า หัวพันห้า แล้วมีหกแห่ง  คนที่ไม่รู้ก็เรียกเป็นหัวพันทั้งห้าทั้งหก รัวกันไปเลย ที่สิบสองปันนามีหัวสิบซึ่งเป็นการรวมกลุ่มหมู่บ้าน ครือๆกับตำบล คงจะคล้ายๆกันอยู่  ฟังมาว่าในอดีตหัวพันเคยปกครองตนเองมีเมืองต่างๆหลายเมืองอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์องค์เดียวกัน  ภายหลังมารวมอยู่ภายใต้อาณาจักรล้านช้างร่มขาวนี้เอง  แต่การที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นไตแดง ไตดำ และไตขาว  ซึ่งมีเป็นจำนวนมากอยู่ในเขตเวียดนามตอนเหนือทำให้พื้นที่นี้มีความสัมพันธ์กับเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

              โครงสร้างพื้นฐานของหัวพันยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาหลังจากสงครามอินโดจีนที่ยืดเยื้อมากว่ายี่สิบปี  ขณะนี้หัวพันมีไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนใหญ่  มีสนามบิน น้ำประปา โทรศัพท์  มีถนนหมายเลขหนึ่งและหมายเลขหกผ่านไปจังหวัดทันห์หัวของเวียตนาม ซึ่งเดิมน่าจะเป็นถนนสายยุทธศาสตร์ เพราะในช่วงสงครามลาวรับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามมาก  แต่ถนนที่ติดต่อภายในแขวงหรือกับแขวงอื่นๆยังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมหรือสร้างใหม่  ที่หัวพันนี่ยังมีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก  เพราะระยะทางไกลจากเมืองหลวงหรือเมืองหลักๆของลาว  มีเครื่องบินจากเวียงจันทน์มาซำเหนือใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงสิบนาทีทุกวันอังคาร วันพฤหัส วันเสาร์และวันอาทิตย์  หรือหากต้องการชมวิวทิวทัศน์และนั่งนับยอดดอยของหัวพันซึ่งหลายคนอยากจะเปลี่ยนชื่อให้เป็นหัวภู  รวมทั้งไม่รังเกียจฝุ่นที่จะฟุ้งกระจายตลอดเส้นทาง  ก็ขึ้นรถเมล์จากเวียงจันทน์ไปเซียงขวางเสียก่อนแล้วนั่งต่อมาซำเหนือใช้เวลาไม่มากไม่มายเพียงสิบสี่ชั่วโมงเท่านั้น (ถ้ารถไม่เสีย)   หรืออยากนั่งนานกว่านั้นให้ไปสายเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ซำเหนือ จะได้นั่งเต็มที่ไม่น้อยกว่าสิบแปดชั่วโมง   เป็นการสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านลาวอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง

              ห้องพักของโรงแรมแคมซำสบายดีมาก  มีห้องน้ำในห้องทำให้ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนกระโจมอกตุ๊มผ้าเช็ดตัวออกไปใช้ห้องน้ำรวม แม้จะหนาวไปสักหน่อยแต่ก็นอนหลับสบาย(อีกนั่นแหละ)  พอลืมตาเห็นแสงสว่างว่าเช้าแล้วแม่นกกางเขนน้อยก็กระวีกระวาดล้างหน้าแต่งตัวลงไปชมตลาด ยังอุตส่าห์มีคนตื่นก่อนเรา คุณอำนวยเดินยิ้ม ทำท่าเป็นหน่วยลาดตระเวน บอกว่าคนบ่หลาย  ภาพที่เห็นทำให้คิดถึงดอยสะเก็ดบ้านเฮาขึ้นมาทันที  ตลาดเช้าเมืองซำเหนือเหมือนตลาดในอำเภอที่ห่างไกลของเชียงใหม่ที่ชาวบ้านนำสินค้าของตนเองมาขายแต่เช้า เป็นสินค้าสดใหม่ผลิตเองขายเองในท้องถิ่นโดยไม่ต้องอาศัยยุทธวิธีOTOP  หมอกบางๆ  อากาศหนาวเย็นทำให้รู้สึกสดชื่น  แม่ค้านั่งเป็นแถว แก่บ้างสาวบ้างนุ่งผ้าซิ่นลวดลายต่างๆกัน คลุมผ้าให้ร่างกายอบอุ่น เดินไปได้สักหน่อยก็เริ่มหิว  เพราะแผงที่เห็นอยู่นั้นมีทั้งอาหารปรุงสำเร็จกับข้าวนึ่งร้อนๆ เช่น ไก่ต้ม ยำไก่ ยำผักส้ม ปลาแอป หมูทอด เนื้อเค็ม ไส้อั่วห่อนึ่งประเภทต่างๆ  ชี้ให้คุณอำนวยดูไส้อั่วเป็นนัยๆว่าอยากกิน  แต่คุณอำนวยสั่นหัวดิกบอกว่า มันหลาย  โถ สหายยังมีใจเป็นห่วงน้ำหนักและไขมันส่วนเกินของเรา  ก็อดกินนะซิ  เขาไม่ซื้อให้ แถมจะแอบซื้อก็ไม่ได้เพราะชาวซำเหนือยังไม่รับเงินไทย  ไม่เหมือนหลวงน้ำทาหรือเมืองลาวอื่นๆที่อยู่ใกล้เขตแดนไทย มีการติดต่อค้าขายกันอยู่ จึงยินดีรับเงินไทย  เดินไปเรื่อยๆพบว่ายังมีขนมที่คล้ายกับขนมอีตุยของเรา  ชาวบ้านเรียกว่า ขนมเอียบตุย เป็นแป้งปั้นเป็นลูกกลมๆและรีๆทอดน้ำมัน  มีไส้เค็มกับไส้หวาน  มีทั้งแบบธรรมดาและข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ ไม่บอกคุณอำนวยอีกแล้วเพราะสหายคงจะบอกว่าน้ำมันเยอะอีก  ของทอดคนอ้วนกินบ่ดี  อีกด้านมีผักสดและผลไม้ขาย  จำนวนที่วางขายแสดงว่าเป็นผลผลิตในครัวเรือน  ไม่ได้มีการรับมาขายเพราะมีอย่างละเล็กละน้อยเท่านั้น  มีเนื้อไก่ เนื้อหมู ปลาสดมากมายเพราะอยู่ใกล้แม่น้ำและยังมีตัวอ้นยังเป็นๆอยู่วางขาย  ดูท่ามีคนสนใจกันพอประมาณ  แม้ว่าลาวจะมีกฎหมายห้ามจับสัตว์ป่าขาย  แต่ก็มีผู้ลักลอบอยู่เสมอ  เพราะความพอใจบริโภคเนื้อสัตว์ป่ามีมาก  เนื้อเก้งเป็นเนื้อยอดนิยมของชาวบ้านที่เดียว มีพืชผักที่เป็นของเก็บหาจากป่าอยู่ เช่น หน่อไม้ที่เป็นหน่อขม รับประทานกับน้ำพริกอร่อยดีมาก  มีหวายที่ชาวบ้านเอามาเผาตำกับน้ำพริก หลายเจ้าขายไคน้ำซำ  เป็นไคสด คือ สาหร่ายค่ะ ไม่เหมือนกับที่เคยเห็นที่หลวงพระบางที่ทำเป็นแผ่น เป็นไคแห้งเอาไปจืนน้ำมันกินได้  ถ้าอยู่นานอีกหน่อยคงจะได้ลองกินบ้าง

              เช่นเดียวกับตลาดอื่นๆที่นี่มีร้านขายเฝอในตลาดสองสามร้าน  ถัดจากบริเวณขายของสดเป็นร้านขายของชำเล็กๆ  ตั้งอยู่ติดๆกัน  มีปลาแห้งปลาเค็มจากเวียดนาม สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ   สินค้าเวียดนามและจีนมีอยู่ในตลาดซำเหนือมากกว่าสินค้าไทยเพราะมีความสัมพันธ์กันมานาน  และมีราคาถูกกว่าสินค้าไทย  ร้านขายผ้าและเครื่องใช้ขนาดกลางๆอยู่ห่างออกไป  ห่างจากตลาดออกไปอีกหน่อยมีลาวสูงมาขาย เครื่อง ส่วนลาวเทิงก็เป๊อะตะกร้าใส่สินค้าพืชผัก ฟืน และของป่าเข้ามาขายในตลาด  ตอนสายอีกหน่อยเริ่มมีนักเรียนเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียน  เด็กผู้หญิงสวมผ้าซิ่นสีน้ำเงินกับเสื้อขาวเป็นเครื่องแบบที่ดูน่ารักทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 200988เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2008 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 20:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • สนใจเรื่องลาวอ่ะค่ะ ขอติดตามบทความของอาจารย์นะคะ
  • อาจารย์เขียนได้ชวนติดตามมากค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์แม่

ชื่อแขวงหัวพัน น่าสนใจนะครับ แล้วมีชื่อแขวงหัวหมื่น : จมื่น (ยศทางทหาร?) ด้วยมั้ยครับ หรือว่าคำว่า หัวพัน นี่มาจาก พันหัว (เอาผ้ามาผูก/พัน ที่หัว หรือเปล่าครับ)

คุณมณีแดงคนสวยคะ

ยินดีมากค่ะ มีเรื่องลาวอีกเยอะค่ะ เพราะอาจารย์ชอบไปลาว ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมช่วยส่งมาแบ่งปันกันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

กวินเจ้า

แขวงหัวหมื่นบ่มีเจ้า เพราะการแบ่งหน่วยการบริหารของบ้านเมืองไทแบ่งตามจำนวนไพร่บ้านพลเมืองในแต่ละแห่ง หัวพันหรือหัวพันห้าอาจจะเป็นจำนวนครัวเรือนของกำลังคน หรือเป็นจำนวนหมู่บ้านในสังกัดของเมืองก็ได้ ของล้านนามีระบบการควบคุมกำลังคน โดยให้มีหัวหน้านับตั้งแต่ นายสิบ นายซาว นายห้าสิบ.....คุมกำลังคนตามจำนวนนั้น หรือแบ่งตามพื้นที่นาเช่นที่สิบสองปันนา มีปันนาสิบสองแห่งที่รวมเอาเมืองจำนวนหนึ่งไว้ภายใต้เก๊าปันนาซึ่งเป็นเมืองหลักของปันนา ที่เรียกว่า ห้าเมืองวันตก หกเมืองวันออกของ บวกเอาเชียงรุ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงก็เป็นสิบสอง ส่วนสิบสองจุไทกลับไปเอาเจ้าเป็นหลัก อาจจะเป็นสิบสองเจ้าไท หรือบ้างก็ว่าเป็นสิบสองโจว (ภาษาเวียด แปลว่าเมือง)ไทเจ้า แล้วหัวพันกับพันหัวนี่คนละเรื่องเจ้า อ่านไปอ่านมาชักเมาหัวแล้วแม่นบ่อ

อาจารย์แม่

ขอบคุณครับอาจารย์แม่ที่ให้ความกระจ่าง ยังไม่เมาครับพอดีมีสมุนไพร ต้นลางจืด แก้เมาพกใส่ย่ามด้วยครับ

ขอบคุณอาจารย์แม่ที่ให้ความกระจ่างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท