จุดศูนย์กลางแห่งสารทิศ


ทำเช่นนี้เรื่อยไป เบา ๆ นาน ๆ เนือง ๆ ชีวิตจะดีขึ้น ๆ ๆ จนรู้สึกได้ และถ้าเมื่อไหร่รู้สึกตนเองว่า "รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล รู้ชุมชน" แล้วหละก้อ เมื่อนั้นแหละ "สัตตบุรุษ" แล้วครับ ท่านพร้อมที่จะขับเคลื่อนโลกทั้งโลกนี้ได้แล้ว และลืมคำว่าเสียใจได้เลย

          ทิศ, ทิศา น. ด้าน, ข้าง, ทาง, เบื้อง, (หมายเอา เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก เป็นต้น). (ส. ; ป. ทิส) นี่คือความหมายของทิศตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ตามความหมายนี้จะมีทิศหลักอยู่ 4 ทิศตามที่ปรากฎในวงเล็บ และจะมีทิศรองอีก 4 ทิศ โดยเติมเฉียงเหนือ-เฉียงใต้เข้าไปตามที่ทราบ รวมมี 8 ทิศ มีทิศเพื่อบอกทาง หลงทิศก็หลงทาง ว่าไหม?
          โดยคติทางพราหมณ์ ถือว่าทิศหลักทั้ง 4 มีเทวดารักษาอยู่ประจำ โดยมีแกนโลกเป็นใจกลาง (แกนโลกอยู่ไหนหนอ...ยังหาคำตอบให้กับตนเองไม่ได้ ใครทราบช่วยบอกที)
          ทิศตะวันออก : มีท้าวธตรฐเฝ้ารักษา พร้อมกับบรรดาคนธรรพ์ที่เป็นบริวาร
          ทิศใต้ : มีท้าววิรุฬหกเฝ้ารักษา พร้อมกับบรรดากุมภัณฑ์ที่เป็นบริวาร
          ทิศตะวันตก : มีท้าววิรูปักษ์เฝ้ารักษา พร้อมกับบรรดานาคที่เป็นบริวาร
          ทิศเหนือ : มิท้าวกุเวรเฝ้ารักษา พร้อมกับบรรดายักษ์ที่เป็นบริวาร
          ทั้งหมดขึ้นตรงต่อพระอินทร์ซึ่งเป็นเจ้าแห่งเทพอีกชั้นหนึ่ง ในคตินี้เป็นกุศโลบายสร้างความเชื่อมั่นทางจิตให้แก่ผู้เลื่อมใสศรัทธา เกิดความรู้สึกปลอดภัย มั่นใจว่ามีผู้คอยดูแลรักษาและรับรู้ในการทำความดีตลอดเวลา ไม่กล้าทำชั่ว ถือได้ว่า เป็นการจัดการกับชีวิตไม่ให้ผิดทิศผิดทางได้อีกนัยหนึ่ง
          ในทางพระพุทธศาสนามีคติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องทิศเป็นอีกนัยหนึ่ง กล่าวคือ มีมากกว่า 4 แต่น้อยกว่า 8 มีเพียง 6 ทิศ (บอกว่า 6 ทิศเซี๊ยะก็หมดเรื่อง พูดให้ยืดยาวไปได้ แน้...ยังมาวงเล็บให้อ่านยาวออกไปอีก) โดยยึดตัวเราเป็นศูนย์กลางแห่งสารทิศ ดังนี้
          ทิศเบื้องบน : หมายเอานักบวชในศาสนาหรือลัทธิแห่งตน
          ทิศเบื้องหน้า : หมายเอาบิดา มารดา
          ทิศเบื้องขวา : หมายเอาครูบาอุปัชฌายาจารย์
          ทิศเบื้องซ้าย : หมายเอาเพื่อสนิทมิตรสหาย   
          ทิศเบื้องหลัง : หมายเอาภรรยา สามี บุตร
          ทิศเบื้องล่าง : หมายเอาข้าทาสบริวาร (ผู้ใต้บังคับบัญชา)
          ในบรรดาทิศทั้ง 6 คือ ทิศเบื้องบน เบื้องหน้า เบื้องขวา เบื้องซ้าย เบื้องหลัง และเบื้องล่างนี้ มีตัวเราเป็นจุดศูนย์กลาง หากจัดการกับจุดศูนย์กลางให้ดีได้ ก็ขับเคลื่อนโลกทั้งโลกได้อย่างไม่ต้องสงสัย
          การจัดการกับจุดศูนย์กลางคือตัวเรา โดยการสร้าง "วินัยในตัวเอง" ครับ เริ่มที่การสำรวจตัวเองก่อน ผมเองใช้วิธีนี้ครับ
          "เมื่อล้มหัวลงนอน ให้นึกย้อนหลังตั้งแต่เช้าตอนตื่นนอนใหม่ ๆ เรียงลำดับตั้งแต่ลุกจากที่นอน เข้าห้องน้ำ ให้อาหารสัตว์ รดน้ำต้นไม้ อาบน้ำ แต่งตัว เดินทางไปทำงาน ทำงาน..............เดินทางกลับบ้าน ถึงบ้าน ล้างรถ ปลูกต้นไม้ พรวนดิน อาบน้ำ ทานข้าว ฟังข่าว ดูทีวี ............ เข้านอน"
          สิ่งไหนเห็นว่าเข้าท่า ดี ตั้งปณิธานไว้เลยว่า "ข้าจะทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก"
          สิ่งไหนเห็นว่าไม่เข้าท่า ไม่ดี ตั้งปณิธานไว้เช่นกันว่า "ข้าจะไม่ทำอีก ข้าจะไปขอโทษเขาในวันพรุ่งนี้" เป็นต้น
          ทำเช่นนี้เรื่อยไป เบา ๆ นาน ๆ เนือง ๆ ชีวิตจะดีขึ้น ๆ ๆ จนรู้สึกได้ และถ้าเมื่อไหร่รู้สึกตนเองว่า "รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล รู้ชุมชน" แล้วหละก้อ เมื่อนั้นแหละ "สัตตบุรุษ" แล้วครับ ท่านพร้อมที่จะขับเคลื่อนโลกทั้งโลกนี้ได้แล้ว และลืมคำว่าเสียใจได้เลย

หมายเลขบันทึก: 119662เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2007 05:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท