ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร : แบบอย่างอาจารย์หมอที่เป็นยอดนักวิจัยและพัฒนา


ท่านมีผลงานวิจัยมากกว่า 250 เรื่อง ทั้งๆที่ยังไม่มีเครื่องมือดีๆและไม่มีทุน
           วันนี้อ่านหนังสือประวัติครูของคุรุสภา เมื่อปี 2541 ที่ผมเป็นคณะทำงานจัดทำด้วย  ได้พบประวัติ ศ.นพ.สุด  แสงวิเชียร  ที่ลูกศิษย์เรียกท่านว่า อาจารย์หมอสุด แล้วเกิดความซาบซึ้งใจในความเป็นครูและความเป็นนักวิจัยตลอดชีวิตของท่าน แม้ท่านจะถึงแก่อนิจกรรมไปนานแล้ว(8 มิย.2538) แต่คุณความดีของท่านยังเป็นแบบอย่างให้เราได้ศึกษาและปฏิบัติตลอดไป  ผมเลยเก็บประวัติบางส่วนของท่านมาเล่าสู่กันฟัง
          ศ.นพ.สุด เกิดเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2450 เป็นคนเมืองสมุทรปราการ  เป็นนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่น 2 พ.ศ.2469 จบเตรียมแพทย์ ก็มาเป็นนิสิตแพทย์จุฬาฯ  ท่านสนใจศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์เป็นพิเศษ  เรียนสำเร็จเมื่อ พ.ศ.2473  โดยมีผลการเรียนยอดเยี่ยม ซึ่งได้รับทุนเรียนดีมาตลอด 
         พ.ศ.2474 ท่านเข้ารับราชการเป็นอาจารย์แผนกกายวิภาคศาสตร์ จุฬาฯ  และในปีเดียวกันก็ได้รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาต่อทางกายภาคศาสตร์ที่
USA. ท่านสนใจศึกษาค้นคว้า วิจัย ทางกายวิภาคศาสตร์อย่างจริงจัง  มีผลงานโดดเด่นทั้งด้านวิทยาเอมบริโอ ด้านจุลกายวิภาคศาสตร์  ด้านมหกายวิภาคศาสตร์(การดองศพ)  โดยท่านมีความเพียรพยายามอย่างยิ่งในการจัดหาจัดทำอุปกรณ์การทดลองด้วยตนเองแทบทั้งสิ้น เช่น 
        
ตอนทำสไลด์เอมบริโอหมูตัดตามขวาง ท่านต้องตื่นเพื่อไปโรงฆ่าสัตว์ที่หัวลำโพงตั้งแต่เวลา 2.00 น. สัปดาห์ละ 2-4 วัน เพื่อขอมดลูกหมูมาล้างหาเอมบริโอ  และนำมาทำเซคชั่น กว่าจะได้เอมบริโอพอเพียงแก่การเรียนการสอนก็ใช้เวลาร่วม 4 ปี  การทำสไลด์เอมบริโอไก่ ท่านก็ซื้อเครื่องฟักไข่มาฟักเอง ต้องนั่งเฝ้าไข่ที่กำลังฟักเป็นตัวเพื่อให้ได้สไลด์ตรงตามชั่วโมงของการเจริญเติบโตที่ต้องการ เป็นต้น
         เมื่อมาเป็นอาจารย์หมอที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านก็ยึดมั่นในมาตรฐานของการสอนกายวิภาคศาสตร์ว่า  ต้องมีอุปกรณ์การศึกษาคือ ศพ  โครงกระดูก  สมอง  ชิ้นเนื้อ  รวมทั้งสไลด์ ให้ครบถ้วนทุกวิชา  ท่านจึงฝึกฝนพนักงานจัดหาจัดทำอุปกรณ์ให้เพียงพอ  แม้ตอนนั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาท่านก็ไม่ย่อท้อ  เมื่อสงครามสงบท่านสามารถผลิตนักศึกษาแพทย์ได้ถึงปีละ 180 คน  ต้องเรียน 3 รอบ สอนถึง 21.00น.ทุกวัน
         ศ.นพ.สุด เป็นครูที่มีวิญญาณแห่งความเป็นครู  ละเว้นอบายมุขทั้งปวง  เป็นครูที่สอนเก่ง  สอนแจ่มแจ้ง  ชัดเจนและลึกซึ้ง  ท่านอ่อนโยนกับนักศึกษา  จะเรียกนักศึกษาว่า
คุณทุกคน
         ท่านมีผลงานวิจัยมากกว่า 250 เรื่อง ทั้งๆที่ยังไม่มีเครื่องมือดีๆและไม่มีทุน   ท่านเป็นหัวหน้าแผนกที่สามารถทำให้แผนกกายวิภาคศาสตร์เจริญก้าวหน้าในทุกด้าน งานอันทรงคุณค่ายิ่งของท่านอย่างหนึ่งคืองานด้านพิพิธภัณฑ์ จนในที่สุดสามารถตั้งพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน(เป็นเกียรติแก่ ศ.คองดอน) ตั้งแต่ พ.ศ.2491 ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีสิ่งแสดงกว่าพันชิ้น และสิ่งแสดงที่มีแห่งเดียวในโลกคือ ระบบประสาททั้งตัวและระบบหลอดเลือดแดงทั้งตัว  นอกจากนั้นท่านยังคิดวิธีทำกล่องพลาสติกในการดองหรือเก็บรักษาสิ่งแสดงต่างๆมาใช้เป็นคนแรก  และผลงานบุกเบิกด้านกายวิภาคศาสตร์อีกมากมาย
        หลังเกษียณราชการท่านยังคงไปทำงานแต่เช้าจนค่ำ ที่พิพิธภัณฑ์และห้องปฎิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์  เป็นเวลาต่อเนื่องอีก 10 ปีเศษ จนอายุ 87 ปี จึงไปทำงานเฉพาะวันพุธ วันละ 4 ชั่วโมง จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.2538  
        ก่อนถึงแก่อนิจกรรม ท่านได้สั่งทายาทไว้ว่า  เมื่อถึงแก่กรรมจะอยู่ที่ตึกกายวิภาคศาสตร์  ดังนั้นภายหลังบำเพ็ญกุศลแล้ว  โครงกระดูกและอวัยวะภายในของท่านจึงอยู่ที่ตึกนี้เพื่อเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ตลอดไป
หมายเลขบันทึก: 144544เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อยากรู้เกี่ยวกับหนังสือเรื่อง กรณีที่ข้าพเจ้าไปเกี่ยวข้องกรณีสวรรคต ที่อ.สุด เขียนอยากศึกษาค่ะสนใจมากอยากทราบว่าหาอ่านได้ที่ไหนคะ

      ตอนเขียนประวัติ ที่ประชุมก็พูดถึงเหมือนกัน แต่ไม่มีใครมีต้นฉบับ  ถ้ามีก็ขออ่านบ้างสิ...

ตอนนี้หนังสือของคุณหมอสุดมีวางที่ร้านหนังสือทั่วไปแล้วค่ะ ขนาดเล่มใหญ่ใช้ได้(เอสี่ค่ะ)รู้สึกจะพิมพ์กับสำนักพิมพ์กรีนปัญญาญาณนะ ที่โลโก้เป็นใบไม้ๆ อ่ะคะ เป็นการเอามารีพริ้นใหม่ค่ะ คงความเป็นต้นฉบับไว้เต็มร้อยเลยค่ะ ซื้อมาอ่านแล้วรู้สึกขนลุกจัง

เห็นมีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อทีวีด้วย ใช่เล่มที่ท่านให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีลอบปลงพระชนม์ฯ ใช่ไหมฦ ช่วยกันอุดหนุนก็แล้วกันนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท