ไปดู "ศูนย์เรียนรวมโรงเรียนขนาดเล็กวังน้ำคู้ศึกษา"


ใจจริงแล้วผมชอบรูปแบบของวังน้ำคู้ศึกษา แต่ก็คงไม่ใช่รูปแบบตายตัว เราสามารถใช้รูปแบบนี้เป็นบทเรียนนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น แล้วเรียนรู้พัฒนากันไป โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับที่นายกฯอบต.วังน้ำคู้ทำ
          ผมได้ไปเยี่ยมชมรูปแบบการจัดการศึกษาที่ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่น่าสนใจมากที่ศูนย์เรียนรวมโรงเรียนขนาดเล็กวังน้ำคู้ศึกษา  ที่เกิดจาก  อบต.วังน้ำคู้ (ท่านนายกฯวิเศษ  ยาคล้าย) อ.เมือง พิษณุโลก เป็นแกนกลางสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยใช้หลักการบริหารจัดการให้โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก 4 โรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้น ขาดครูสาขาวิชาเฉพาะ และขาดแคลนทรัพยากร  คือ โรงเรียนวัดปากพิงตะวันออก  โรงเรียนบ้านวังยาง  โรงเรียนบ้านหนองหญ้า  และโรงเรียนไผ่หลงราษฎร์เจริญ  ให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน 
          โดยมีโรงเรียนมัธยมศึกษา คือโรงเรียนวังน้ำคู้ศึกษา ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ เป็นที่ตั้งศูนย์  แล้ว อบต.จัดรถรับส่งให้มาเรียนที่ศูนย์  ซึ่งสามารถใช้การบริหารจัดการใช้ทรัพยากรร่วมกันทำให้นักเรียนได้เรียนกับครูอย่างครบชั้น  ถึงชั้นละ 2 คน  แถมโรงเรียนวังน้ำคู้ศึกษา(มัธยม) ยังจัดครูช่วยสอนคอมพิวเตอร์ให้ บริการอาคารเรียน ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ให้ฟรีทุกอย่าง   อบต.วังน้ำคู้จ้างครูต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษ สนับสนุนงบประมาณรถรับ-ส่งนักเรียน ประกันอุบัติเหตุนักเรียน  มอบทุนการศึกษา  เสริมอาหารกลางวัน  อาหารนมเสริม  เครื่องเขียน  แบบเรียน  อุปกรณ์คอมพิวเตอร์  และอื่นๆอีกมากมาย(โดยไม่สนใจเรื่องการถ่ายโอน)  สพท.พิษณุโลก เขต 1 สนับสนุนงบประมาณ  ห้องสมุด และการจัดบรรยากาศในห้ห้องเรียน
       3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เรียนรวมโรงเรียนขนาดเล็กวังน้ำคู้ศึกษา ได้เรียนรู้จากบริบทและปรับปรุงพัฒนา แก้ปัญหาต่างๆมาโดยลำดับ  จนเกิดผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจคือ คุณภาพนักเรียนโดยรวมสูงขึ้น  มีครูพอเพียง  สอนตรงตามความถนัด  ผู้ปกครองและชุมชนจากที่ไม่ค่อยพอใจที่เคลื่อนย้ายเด็กจากโรงเรียนเก่ามาเรียนตอนนี้กลับพึงพอใจมาก  และโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ผ่านการประเมินมาตรฐานจาก สมศ.ทั้งสิ้น
        ผลจากการมีส่วนร่วมดังกล่าวทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ทั้งสิ้น คือโรงเรียนประถมขนาดเล็กได้พัฒนาคุณภาพนักเรียนอย่างเต็มที่  เด็กที่มาเรียนเมื่อจบ ป.6 ก็มาเรียนต่อที่โรงเรียนวังน้ำคู้ศึกษา(เพราะมีความผูกพันกับบรรยากาศของโรงเรียน)  ครูโรงเรียนขนาดเล็กบางคนที่มีความชำนาญการในบางสาขาวิชาก็มาช่วยสอนให้โรงเรียนวังน้ำคู้ศึกษาที่ขาดแคลนครูในสาขาวิชานั้นๆ เป็นต้น(
win...win กันทุกฝ่าย)  ด้วยการใช้หลักบริหารจัดการที่มีท่านนายกฯอบต.วิเศษ  ยาคล้าย ที่ผมขอปรบมือให้ด้วยใจจริง
          ผมเคยไปดูการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้นที่นิวซีแลนด์ ซึ่งเขาใช้การสอนแบบคละชั้นหรือรวมชั้น (สพฐ.กำลังสนับสนุนให้นำมาใช้ที่บ้านเรา)  แต่ผมดูโดยบริบทของนิวซีแลนด์ แล้วต่างจากของเรามาก  เพราะที่นั่น  พ่อแม่ผู้ปกครองเอาใจใส่ดูแลลูก ช่วยเหลือโรงเรียนอย่างดี  รัฐก็สนับสนุนด้านสื่อการสอนที่มีคุณภาพ  ครูที่นั่นก็เก่งมาก  สามารถจัดประสบการณ์เรียนรู้จำแนกตามพื้นฐานเด็กได้อย่างดี  และวัฒนธรรมที่นั่นเขาไม่เน้นสอนหนังสือ(8 กลุ่มสาระเหมือนของเรา) แต่เขาใช้กิจกรรมที่เด็กชอบ เช่นวาดเขียน ดนตรี  กีฬา บูรณาการสู่การเรียนรู้  โดยให้ความสำคัญกับการอ่านออกเขียนได้และคิดเลขได้ เป็นพื้นฐาน  แต่บ้านเราค่อนข้างตรงกันข้าม  ถ้านำมาคละชั้นหรือรวมชั้นแล้ว อาจเกิดการสอนแบบปูพรมไปหมดก็ได้
           ใจจริงแล้วผมชอบรูปแบบของวังน้ำคู้ศึกษา   แต่ก็คงไม่ใช่รูปแบบตายตัว  เราสามารถใช้รูปแบบนี้เป็นบทเรียนนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น  แล้วเรียนรู้พัฒนากันไป โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมเช่นเดียวกับที่นายกฯอบต.วังน้ำคู้ทำครับ...

หมายเลขบันทึก: 165718เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่โรงเรียนของดิฉันขณะนี้มีนักเรียน ๑๕ คนครู ๑ คนค่ะกำลังนำมาเรียนรวมกับโรงเรียนบ้านนากวางภาคเรียนที่ ๒ นี่เองอยากให้โรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเป็นอย่างศูนย์เรียนรวมโรงเรียนขนาดเล็กวังน้ำคู้ศึกษา จังค่ะแต่คงอีกหลายปีกว่าจะรวมกันได้เพราะตราบใดที่ยังมีครูหลายๆฝ่ายยังยึดติดกับ คำว่า"บวร" บ้าน วัด โรงเรียน นำมารวมยากมากค่ะ มันเป็นความเจ็บปวดของผู้นำชุมชน ผู้ปกครองตลอดจนผู้เรียนมากพอดูในการที่จะยอมรับเรื่องนี้(ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสามอย่างนี้) แต่แล้วด้วยภาวะจำยอมจึงจำต้องเป็นไป ถ้าเป็นไปได้อยากให้หลายๆภาคส่วนช่วยกันส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กโดยกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักเห็นความสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กๆมากกว่ายึดติดกับความรู้สึกเดิมๆหรือความรู้สึกกลัวเสียหน้าถ้ารักษาโรงเรียนไว้อยู่คู่ชุมชนไม่ได้เช่นทุกวันนี้ และเพื่อให้การเรียนแบบศูนย์เรียนรู้ที่จะเพิ่มมากขึ้นโดยไม่กระทบต่อจิตใจของผู้นำชุมชนและทุกฝ่าย

ชื่นชมกับแนวคิดคุณประไพศรีครับ การบริหารทุกวันนี้ต้องคิดเรื่องเครือข่าย การมีส่วนร่วม ซึ่งจุดเริ่มต้นต้องมีผู้นำที่จะสร้างความตระหนักและมีกระบวนการสร้างเครือข่ายที่เป็นระบบ ต่อเนื่อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท