old teachers never die


        พลเอก Douglas MacArthur เคยกล่าวไว้เมื่อปี 1951 ว่า “old soldiers never die” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่นายทหารมักใช้พูดปลุกใจให้เห็นความยิ่งใหญ่ของความเป็นทหาร แม้จะปลดประจำการไปแล้ว  แต่ก็ยังมีเขี้ยวเล็บ มีศักดิ์ศรีอยู่...ไม่มีวันตาย  ตัวอย่างเช่น พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ประธานองคมนตรี เป็นต้น
          อาจารย์พะนอม  แก้วกำเนิด  (อดีตอธิบดีหลายกรม)  ซึ่งเป็นแบบอย่างของผู้ที่เป็นครูจริงๆ
ปัจจุบันอายุ 77 ปี ได้เคยกล่าวในงานที่ลูกศิษย์จัดแสดงมุฑิตาจิต ให้ท่าน  ที่ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์  จังหวัดกาญจนบุรี ตอนหนึ่งว่า     
      
พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เคยกล่าวว่า old soldiers never die แต่วันนี้ผมอยากจะพูดใหม่ว่า old teachers never dieต่างหาก
      งานวันนั้นผมจำได้ว่ามีลูกศิษย์อาจารย์พะนอม ตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงรุ่นสุดท้ายที่ท่านสอน มากันเต็มหอประชุม  ซึ่งส่วนใหญ่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป จนถึงเกือบ 70 ปี  ลูกศิษย์บางคนถือไม้เท้าเดินกะโผกกะเผกมาก็มี  ล้วนมาจากจังหวัดเพชรบุรี  ราชบุรี  สมุทรสงคราม และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีสมัยนั้น  โดยอาจารย์พะนอมเป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี  เป็นทั้งผู้บริหาร อาจารย์  และนักการไปเบ็ดเสร็จ 
           บรรยากาศของงานวันนั้น คณะศิษย์จัดให้เป็นบรรยากาศที่เป็นวัฒนธรรมไทยอย่างสมบูรณ์แบบ  ทั้งดนตรีไทย  การแสดงต่างๆ  พออาจารย์พะนอมไปถึงลูกศิษย์ทุกรุ่นต่างมากราบอาจารย์ด้วยความเต็มตื้น ผมไม่ได้เป็นลูกศิษย์ท่าน แต่เคยเป็นเลขานุการท่านตอนเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา ยังขนลุกและอดปลื้มใจในความรักความผูกพันอันบริสุทธิ์ที่ศิษย์และครูมีต่อกันไม่ได้ 
           มีลูกศิษย์แต่ละรุ่นผลัดกันมาเล่าเหตุการณ์ในสมัยนั้นที่แสดงถึงความเป็นครูที่อาจารย์พะนอมยังอยู่ในหัวใจของพวกเขา เป็นแบบอย่างวิถีชีวิตของเขา และนำไปถ่ายทอดมาจนทุกวันนี้
           ลูกศิษย์คนหนึ่งบอกว่า  "ท่านนำสร้างพื้นที่ป่าอันแห้งแล้งจนเป็นพื้นที่ชุ่มชื้น สวยงาม  แต่ละคืน ท่านจะนุ่งกางเกงขาสั้นตัวเก่าๆ ใส่เสื้อยืด  ขี่จักรยานตรวจตราความเรียบร้อยบริเวณหอพัก หอนอน อาคารเรียน  บางทีดึกแล้วพวกเราซุกซนไม่ยอมนอนท่านก็มาดึงขา  และยิ้มให้เป็นการเตือน  คำน้อยก็ไม่เคยดุด่าให้พวกเราสะเทือนใจ  เวลาสอนท่านก็สอนสนุก  ไม่มีใครเป็นตัวจับได้เลย จะได้ทั้งความสนุกและเนื้อหาสาระ  พวกเราทุกคนต่างรออยากให้ถึงชั่วโมงท่านเร็วๆ  ท่านเป็นครูที่อยู่ในหัวใจพวกเราจริงๆ"
           ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งบอกว่า   "มีอยู่วันหนึ่งท่านชวนพวกเราปีนขึ้นไปที่เนินเขาในบริเวณโรงเรียน  แล้วให้บุญส่งซึ่งเป็นนักกล้าม ตัวโตและแข็งแรงที่สุด  หยิบก้อมหินขึ้นมาแล้วขว้างออกไปเต็มแรง  ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง  แล้วท่านให้พวกเราลงไปทำหมุด  เราก็ถามว่าท่านจะทำอะไร  ท่านบอกว่า  จะสร้างบ้านพักอาจารย์ใหญ่ตรงนี้  ถ้ามีใครมาขว้างบ้านอาจารย์ใหญ่ ก็มีบุญส่งคนเดียวที่ขว้างถึง  พวกเราก็ฮากันครืน ในอารมณ์ขันและความฉลาดน่ารักของท่าน"
          มีเกร็ดอีกเยอะที่ลูกศิษย์เล่า  ตอนที่ท่านอาจารย์พะนอมขึ้นไปกล่าว  ท่านเริ่มต้นว่า 
         "วันนี้ถ้าผมมาในฐานะอธิบดีก็คงไม่มีใครมา  เพราะการเป็นอธิบดีของผมมันจบไปแล้วเมื่อตอนอายุ 60 ปี..."  
       แล้วท่านก็เชิญชวนพวกเราให้ทำความดี  รักษาความดี  เป็นแบบอย่างความดี  เผยแพร่ความดี  เพื่อความมั่นคงน่าอยู่ของวิชาชีพครูและบ้านเมืองเรา
          นี่คืออาจาย์พะนอม  แก้วกำเนิด แบบอย่างของครูที่ลูกศิษย์รัก (ที่ไม่ใช่รักเพราะความเป็นอธิบดี)         
         ...อีก
ตัวอย่างหนึ่งของครูอาวุโสที่ได้ชื่อว่า old teachers never die  เป็นเรื่องเล่าที่ครูคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า  มีครูสอนวิชาคหกรรมคนหนึ่งท่านเกษียณอายุราชการไปนานแล้ว สมัยก่อนก็ได้รับเงินบำนาญไม่กี่พันบาท  ท่านยังเป็นโสด  และก็อายุยืนด้วย หลังอายุ 70 ปี  ท่านเริ่มเจ็บป่วยลง  ซึ่งการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก   แต่ด้วยอานิสงส์ของการเป็นครูดี ที่อยู่ในใจของศิษย์แต่ละรุ่น  พอลูกศิษย์แต่ละรุ่นได้ทราบข่าวว่าครูเจ็บป่วย ก็จัดทีมไปดูแลครูของเขากันอย่างต่อเนื่อง  โดยมีโปรแกรมจัดคิวพาไปหาหมอ  ดูแลเรื่องการรับประทานยา  อาหาร  เฝ้าไข้  ดูแลความเป็นอยู่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งหมด  จวบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตคุณครู เมื่ออายุเกือบ 90 ปี  ลูกศิษย์ทุกรุ่นได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพให้คุณครูของเขาอย่างสมเกียรติ  นี่คือ old teachers never die
       ครูดีดีที่มีจิตวิญญาณครูอย่างแท้จริงเหล่านี้ท่านอยู่สูงเหนือผลทางวัตถุหรือแม้แต่วิทยฐานะ
ความสุขของท่านคือการได้ฝึก อบรม สั่งสอน ให้ศิษย์เป็นคนดี มีความรู้ และประสบความสำเร็จในชีวิต  
        จึงอยากเสนอแนะ
ก.ค.ศ.เรื่องการประเมินวิทยฐานะครู  อยากให้ประเมินที่ความสำเร็จของผู้เรียน(ดูมูลค่าเพิ่ม) มากกว่าการให้เขียนเอกสารวิชาการ เพราะเราไปมุ่งเอาอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยกัน เลยทำให้ครูเสียเวลากับการมาเขียนเอกสาร  ทำให้ไม่มีเวลามาเอาใจใส่ในการฝึกอบรม สั่งสอนศิษย์อย่างจริงจัง  และควรใช้การสรรหาครูเก่งครูดีจริงๆ มากกว่าการให้ท่านเขียนชมตัวเอง เพราะท่านเป็นปูชนียบุคคล คงไม่อยากทำเยี่ยงนั้น เราก็จะได้ครูที่เป็นแบบอย่างเผยแพร่ความดีให้คนอื่น แล้วจึงเอาวิธีปฏิบัติที่ดีของท่านมาเขียน มาเล่าเป็นแบบอย่างแก่คุณครูท่านอื่นต่อๆไป  วิชาชีพครูเราก็จะได้รับการยกย่องจากสังคมสูงขึ้น  เพราะคนที่ควรได้รับการยกย่องไม่ใช่เป็นเพียง "อยากได้" อย่างเดียว แต่ควรเป็นคนที่ "ควรได้" ด้วย  ครูจะได้ทำหน้าที่หลักของท่าน(ฝึก อบรม สั่งสอนศิษย์)อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมาเสียเวลากับการเขียน เตรียมเอกสารมากมาย แล้วคนตรวจผลงานก็ใช้หลักวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยมาตรวจตามกรอบทางวิชาการหรือแนวคิดของตัวเองเหมือนอย่างทุกวันนี้ ...

หมายเลขบันทึก: 184206เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เห็นด้วยครับ old teachers never die ครูดีดีที่มีจิตวิญญาณครูอย่างแท้จริงยังมีอีกมาก ยังทำหน้าที่ teach tame train ต่อไป โดยไม่ได้มาห่วงทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ แต่ก็ครูบางพวกคิดและสนใจทำผลงานของตนเองอย่างเดียว โดยไม่สนใจการสอน ผมก็ฟังผู้บริหารโรงเรียนบ่นกันมากเลย เปลี่ยนเกณฑ์กันได้หรือยังครับ

ขอบคุณครับ

ผมอ่านก็ขัน การหาตำแหน่งสร้างบ้านพักอาจารย์ใหญ่

เข้ามาเขียนสนับสนุนความคิดเห็นครับ ".......มากกว่าการให้เขียนเอกสารวิชาการ เพราะเราไปมุ่งเอาอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยกัน เลยทำให้ครูเสียเวลากับการมาเขียนเอกสาร  ทำให้ไม่มีเวลามาเอาใจใส่ในการฝึกอบรม สั่งสอนศิษย์อย่างจริงจัง"

ผมคิดว่า ควรจะต่างกัน เด็กนักเรียนต้องการ สิ่งที่บ่มเพาะทางจิตใจ จิตวิญญาณ ในขณะที่วัยรุ่นและก่อนวัยทำงาน(ในมหาวิทยาลัย) ต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อเตรียมตัวออกสู่สังคม

ขออนุญาตนำไปรวมครับ...............................รวมตะกอน

ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ในกลุ่มครู จ.ลพบุรีค่ะ อ่านแล้วซาบซึ้งมาก

สวัสดีครับ

  • ใช่ครับ Old teachers never die. จริง ๆ
  • ครูรุ่นเก่า ๆ ที่ดี ๆ มีเยอะ  นับว่าเป็นปูชนียบุคคลของครูรุ่นหลังครับ
  • ขอบคุณมากครับ ที่นำเรื่องดี ๆ มา ประทับใจมากครับ

*ขอบคุณครับ ที่เข้ามาให้กำลังใจคุณครูที่เป็นปูชนียบุคคลกันหลายท่าน อยากให้ช่วยกันเผยแพร่แบบอย่างของคุณครูที่ดีดีที่ท่านพบเห็นให้กว้างขวางยิ่งขึ้นครับ

ดิฉันเป็นลูกศิษย์อาจารย์พะนอม แก้วกำเนิดและภรรยาของท่านคืออาจารย์ดุษฎี แก้วกำเนิด ทั้งสองท่านเป็นครูที่ดีมากที่สุดในสมัยนั้นค่ะ ทุกวันนี้ดิฉันก็ยังไม่เคยลืมท่านทั้งสอง สำหรับอาจารย์พะนอมฯ ท่านจะสอนลูกศิษย์ให้คิดเป็นและลงมือทำเป็นเพื่อนำความรู้ที่ลงมือทำด้วยตนเองไปสอนเด็กให้เรียนรู้จากของจริงไม่ใช่เพียงแต่เขียนกระดานดำอย่างเดียวค่ะ

ประสบกาณ์ ความรู้ของผู้อาวุโส มีคุณค่าเสมอ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท