ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาสถานศึกษาตามบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(ตอนจบ)


            ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ..2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) .2545  ได้กำหนดหลักการจัดการศึกษาข้อหนึ่งว่า ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยบุคคลแต่ละคน  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมอื่นทั้งหมดต้องมีส่วนร่วมและผนึกกำลังอย่างเข้มแข็ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นพันธมิตรถาวร เพื่อการปฎิรูปการศึกษาที่ยั่งยืน

         การมีส่วนร่วมทางการศึกษาในรูปแบบคณะกรรมการบริหารในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาเป็นวิธีการบริหารอย่างหนึ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายทางการศึกษา ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมได้หลายวิธี เช่น ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมกำกับติดตามการดำเนินงานของสถานศึกษา ร่วมระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา เป็นต้น

         แต่จากการวิจัยติดตามผลการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการศึกษา ของสภาการศึกษาแห่งชาติฯ พบว่า ประชาชนยังเข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษาไม่มากนัก   กรรมการสถานศึกษาจำนวนมากยังมีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะยังไม่ถึงระดับที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล     ซึ่งเท่ากับว่ารัฐได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา แต่ยังขาดมาตรการที่เอื้อต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

             จากประสบการณ์ในการเป็นกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(ผู้ทรงคุณวุฒิ) ของผม 3 โรงเรียน  และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการ และคณะกรรมการสถานศึกษาอื่นๆอีกหลายแห่งทำให้เกิดความคิดที่อยากเสนอแนะแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องถึง...

ปัจจัย(เงื่อนไข)สู่ความสำเร็จในการพัฒนาสถานศึกษาตามบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ว่าน่าจะมีอย่างน้อย 6 ประการคือ
        1.บุคคลในแต่ละสาขาที่จะมาเป็นกรรมการสถานศึกษาต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจด้านการศึกษา และตระหนักในบทบาทหน้าที่  ตลอดจนมีความมุ่งมั่น จริงใจที่จะเข้ามาดูแลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้เยาวชนได้รับโอกาสและความก้าวหน้าทางการศึกษาสูงสุด(ไม่ใช่เป็นเพียงอนุสาวรีย์เท่านั้น) และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีกัลยาณมิตร (ซึ่งข้อจำกัดของเราในขณะนี้คือ ความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ในการสรรหากรรมการ)
       2.สถานศึกษาต้องสร้างโอกาส  เปิดโอกาส  เปิดใจ  และให้เกียรติคณะกรรมการฯได้ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างแท้จริง  ซึ่งปัจจุบันยังพบว่าโรงเรียนหลายแห่งให้ความสำคัญกับกรรมการสมาคมฯ กรรมการมูลนิธิฯ มากกว่ากรรมการสถานศึกษา(ซึ่งเป็นกรรมการตามพรบ.) และสถานศึกษาบางแห่งครูและบุคลากรยังไม่รู้จักกรรมการสถานศึกษาด้วยซ้ำ
      3.สถานศึกษาและหรือ สพท.ควรจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือให้ความรู้ด้านนโยบายทางการศึกษา และความเคลื่อนไหวทางการศึกษาให้แก่คณะกรรมการฯอย่างสม่ำเสมอ   ตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษาแก่กรรมการสถานศึกษาที่ผมเคยทำ คือ  เมื่อ พ.ศ. 2549  ผมได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งคือ
ศัพท์ปฏิรูปการศึกษาที่ควรรู้ ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์องค์การค้าฯ  ด้วยการคัดสรรรวบรวมศัพท์ปฏิรูปการศึกษาสำคัญที่กรรมการสถานศึกษาควรรู้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ที่มีเวลาไม่มากนักได้ศึกษา เพื่อจะได้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฎิรูปการศึกษาในเวลาอันสั้น ก็จะทำให้กรรมการสถานศึกษาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เป็นต้น
       4.คณะกรรมการสถานศึกษาฯควรศึกษาและเอาใจใส่กำกับติดตามดูแลสถานศึกษาเป็นพิเศษอย่างน้อย 7 เรื่องคือ
          4.1 แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา (3-5 ปี) และแผนปฏิบัติการประจำปี
          4.2 หลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน และการวัดผลประเมินผล(คุณภาพผู้เรียน)
         4.3 ระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
         4.4 ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
         4.5 การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน(เช่น ขาดวินัย
,เบื่อเรียน,ติดเกม ฯลฯ)
         4.6 กิจกรรมส่งเสริมสุนทรียภาพนักเรียน เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ
        4.7 การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา  ฯลฯ
           5. คณะกรรมการต้องหากลวิธีที่เหมาะสมในการกำกับติดตาม และให้ข้อเสนอแนะอันเป็นทางออกที่สร้างสรรค์ในการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียน และแผนปฏิบัติการประจำปี  การดำเนินการตามแผน  การติดตามประเมินผล  และการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตามวงจร
PDCA  รวมทั้งติดตามการนำมติที่ประชุมไปปฏิบัติด้วย  ภายใต้บรรยากาศที่ดีอย่างมีกัลยาณมิตร และมีการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น
          6.เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการมีจำนวนครั้งไม่มากนัก  การประชุมแต่ละครั้ง  ประธานการประชุมต้องสามารถนำการประชุมให้มีประสิทธิภาพ  และเกิดคุณค่าสูงสุด โดยให้ความสำคัญกับระเบียบวาระเรื่องพิจารณาเป็นพิเศษ ที่ต้องมีการระดมพลังสมองอย่างทั่วถึง โดยฝ่ายเลขานุการ((ผู้บริหารโรงเรียน)ต้องเตรียมข้อมูลให้กรรมการศึกษาล่วงหน้า   รายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิคการประชุมกรรมการสถานศึกษา  ผมได้เคยนำเสนอไว้ในบล็อกก่อนหน้านี้แล้ว
          ผมเปิดประเด็นไว้เพียง 6 ข้อ... ก็อยากฟังความเห็น  และข้อเสนอแนะจากประสบการณ์เรื่องนี้ของท่าน  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดความรู้ให้กว้างขวาง หลากหลายมากขึ้นอีกครับ
  

หมายเลขบันทึก: 216195เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2008 06:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ  ผมคิดว่าควรเน้นรูปแบบควบคู่กับเนื้อหาให้เกิดความสมดุลย์จึงจะเกิดประโยชน์ต่อสถานศึกษาอย่างแท้จริง

                                        

                                        

ใช่แล้ว "ควรเน้นรูปแบบควบคู่กับเนื้อหาให้เกิดความสมดุล"...เห็นรูปนี้แล้ว คล้ายกับว่า "พระภิกษุ" เป็นประธานใช่ไหม?

สวัสดีค่ะอาจารย์

เดิมที่โรงเรียนบ้านนอกห่างไกล  คนในชุมชนยังไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ที่มีต่อการจัดการศึกษา

คณะกรรมการก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับ พรบ.การจัดการศึกษา  ชุมนและคณะกรรมการไม่ให้ความสนใจกับการมีส่วนร่วมมากนัก เพราะขาดความมั่นใจ  เวลาประชุมก็ไม่อยากมา

ภายหลังโรงเรียนได้ขอสนับสนุนทุนการวิจัย ฯ จาก สกว.ภาคโรงเรียนมีปัญหามากกับการมีส่วนร่วม พยายามอยู่อย่างมาก หาวิธีพูดให้เป็นภาษาชาวบ้าน  ให้เกียรติ ยอมรับความคิดเห็น  ยกย่องและสอดแทรก พรบ. ให้ฟัง  ผลงานวิจัยฉบับนั้นล้มเหลวจากการมีส่วนร่วม

ต่อมา..ได้เปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่  ได้ออกไปเยี่ยมพบปะชาวบ้าน (โรงเรียนนี้ไม่มีครูในท้องถิ่น มีแต่เดินทางเช้าไป เย็นกลับจากอำเภอและจังหวัด) นัดประชุมบ่อย ๆ ประชุมใหญ่ ประชุมย่อย (โฮมรูมผู้ปกครองกับครูที่ปรึกษา)

จัดกิจกรรมที่ให้ชาวบ้านและคณะกรรมการมามีส่วนร่วมเช่น

กิจกรรมค่ายบูรณาการ (โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้โดยชุมชนมีส่วนร่วม)  กิจกรรม CSR กับสิ่งแวดล้อม โดยเชิญคณะกรรมการฯและคนในชุมชนมาเป็นวิทยากร เรียนรู้ร่วมกับนักเรียน (นักเรียนเรียกบุคคลเหล่านั้นว่าคุณครู)

ช่วยกันสร้างปัจจัยภาพใน คือ...ให้นักเรียนเก่งมีความสามารถด้านต่าง ๆ จัดเวทีให้นักเรียน และเชิญคนในชุมชนเข้ามาร่วม

เชิญประธานกรรมการ (ผู้ใหญ่บ้าน/อบต.) มาเป็นประธานแทบทุกงานจัดให้นักเรียนเป็นตัวแทนแสดงแทนครู เช่นการกล่าวต้อนรับ การกล่าวขอบคุณ  ฝึกให้นักเรียนเคารพ กราบไหว้คนทุกคนในชุมชน

กิจกรรมเช่นนี้ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ในปัจจุบันคณะกรรมการศึกษาและคนในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมของโรงเรียนเกือบเต็มร้อย

กิจกรรมทีทำร่วมกันในปัจจุบันคือ กระบวนการสร้างจิตสาธารณะสู่นักเรียนโดยชุมชนมีส่วนร่วม (โรงเรียนต้นแบบคุณธรรมชั้นนำ)

แต่ทุกกิจกรรมยังไม่ได้ยืนยันด้วยระเบียบ หรือกระบวนการวิจัย  แต่ทั้งนี้พวกเรามีข้อสนเทศจากการทำวิจัย PAR มาแล้วเมื่อปี 2547-2548

ขอขอบคุณค่ะที่ได้แสดงความคิดเห็น

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นพวรรณ พงษ์เจริญ  โรงเรียนวิทยสัมพันธ์

สพท.พิษณุโลก เขต 3

ขออนุญาตแสดงข้อมูลในการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมฯ ค่ะ

http://www.krukimpbmind.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538703850

ขอบคุณอาจารย์มากเลยที่แสดงข้อมูลให้เห็นถึงความตั้งใจ ความพยายาม จนบรรลุผล แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม สามารถให้บทเรียนแก่โรงเรียนอื่นได้อย่างดี

...ตอนที่ผมไปติดตามประเมินผล สพท.พิษณุโลก เขต 3 เราได้พบกันแล้วใช่ไหมครับ

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ก็ได้เห็นอาจารย์ห่าง ๆ ได้ทักทายสวัสดีเมื่อเดินผ่านค่ะ

แต่อาจารย์ไม่รู้จักดิฉัน 

ดิฉันรู้จักอาจารย์มานานจากบทความทางวิชาการและจากเว็ปไซท์อื่น ๆ ค่ะ

วันพรุ่งนี้โรงเรียนวิทยสัมพันธ์  ถูกกรรมการไปประเมิน(การประกวด)โรงเรียนต้นแบบคุณธรรมชั้นนำ ของธนาคารออมสินค่ะ

พิษณุโลก 3 เขต มีโรงเรียนต้นแบบคุณธรรมชั้นนำจำนวน 11 โรงเรียนค่ะ

วัฒนธรรมการทำงานของครูที่โรเงรียนมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ค่ะ  ผู้บริหารเป็นผู้ร่วมงานคนสำคัญ ให้โอกาสกับครูและนักเรียนค่ะ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ  ขอให้อาจารย์มีสุขภาพดีค่ะ

ส่งหนังสือ "KM เล่มจิ๋ว" ไปให้แล้วนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ที่เคารพ

ดิฉันขอกราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ

ดิฉัน  จะทำโอกาสรับใช้สังคม  ก่อนที่จะเกษียรอายุราชการ

โดยความตั้งใจอย่างมีเจตนาที่เป้าหมายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท