โครงการพี่หมอขอรักน้องค่ะ


วันนี้ 12 ธันวาคม 2552

นศ.ปี 2 PBL กลุ่ม 7 ทำกิจกรรม "พี่หมอขอเลี้ยงน้อง" ซึ่งจัดเพื่อผู้ป่วยเด็กที่กำลังรักษาตัวในหอผู้ป่วยเด็ก 2 ที่รพ.ชั้น 6 ค่ะ

โครงการ พี่หมอขอเลี้ยงน้อง

หลักการและเหตุผล

                 เนื่องจากในปัจจุบันโรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีผู้ป่วยเด็กที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นเป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้าได้รับการรักษาเป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ ตัวเด็ก ผู้ปกครอง บุคคลากร โรงพยาบาล และผู้ปกครอง โดยเฉพาะผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเด็กเอง ที่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาในการดูแลอย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพจิต และการเรียนรู้ ของผู้ป่วยเด็ก ทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย ความเครียด ขาดกำลังใจ     ทำให้เกิดความซึมเศร้าตามมา จนอาจเป็นผลในการรักษาทำให้ไม่มีประสิทธิภาพที่ดี ส่วนผลกระทบต่อผู้ปกครอง และบุคลากร นอกจากจะทำให้เสียเวลาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ปกครองด้วย อีกทั้งยังเป็นการทำให้ต้องเพิ่มการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยคนอื่น เพราะจะทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลผู้ป่วยคนอื่นในโรงพยาบาลลดลง และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโรงพยาบาลที่ต้องใช้จ่ายไปกับการดูแลผู้ป่วยเด็กเหล่านี้

ดังนั้นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 กลุ่ม PBL 7  จึงเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงได้คิดจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อให้เด็กมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นและเกิดกำลังใจ  ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการพัฒนาที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์สังคมและสติปัญญานอกจากนี้ยังทำให้เด็กได้รับความสนุกสนานและผ่อนคลายความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กเจ็บป่วย ผู้ดูแลหลายคนมักให้ความสำคัญของการดูแลรักษามากกว่ากิจกรรมการเล่น ทั้งที่การเล่นเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและความเจ็บป่วยจากโรคที่เป็นอยู่อีกทั้งยังช่วยให้เด็กมีสัมพันธภาพที่ดีและเกิดความไว้วางใจในบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนลดความเครียดของผู้ป่วย  ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น มีแนวโน้มที่จะหายเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเด็กมีจำนวนลดลง ผู้ปกครองของเด็กมีเวลาว่างมากขึ้น  และทำให้บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยเด็กในส่วนนี้มีเวลาไปดูแลผู้ป่วยคนอื่นอย่างทั่วถึง และลดงบประมาณของโรงพยาบาล    อีกทั้งยังมุ่งหวังให้สถาบันครอบครัวมีความอบอุ่น เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี มีพัฒนาการสมวัย อีกทั้งเสริม ไอคิว และอีคิว เด็กอย่างต่อเนื่อง ด้วยนิทานและเพลง    เสียงสูง- ต่ำ ที่ถ่ายทอดเป็นเพลงหรือการเล่านิทาน ส่งผลดีต่อพัฒนาการภาษาและการสื่อสารของเด็ก รวมทั้งจังหวะดนตรี ที่ได้จากการฟังเพลง ร้องเพลง และเต้นตามจังหวะ ยังทำให้เด็กอารมณ์ดี ฝึกความจำ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสมอง หรือ ไอคิว และอีคิวดี

โครงการที่กลุ่มของข้าพเจ้าได้จัดทำขึ้นสอดคล้องกับโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ดังที่กล่าวไว้ว่า

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับ

(๑) การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้ เกิดภูมิคุ้มกัน โดยพัฒนาจิตใจควบคู่กับการพัฒนาการเรียนรู้ของคนทุกกลุ่มทุกวัยตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยเด็กให้มีความรู้พื้นฐานเข้มแข็ง มีทักษะชีวิต พัฒนาสมรรถนะ ทักษะของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมก้าวสู่โลกของการทำงานและการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ สร้างและพัฒนากำลังคนที่เป็นเลิศโดยเฉพาะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้ ส่งเสริมให้คนไทยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จัดการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงประเทศ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

(๒) การเสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างครบวงจร มุ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างคนไทยให้มีความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ

(๓) การเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคมบนฐานของความมีเหตุมีผล ดำรงชีวิตอย่างมั่นคงทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน พัฒนาระบบการคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วถึง สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ บนพื้นฐานของความยุติธรรมในสังคม เสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมแบบบูรณาการและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังควบคู่กับการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง และความตระหนักถึงคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อลดความขัดแย้ง

ดังนั้นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 กลุ่ม PBL 7 ได้จัดทำกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม และเพื่อเป็นโครงการนำร่อง ให้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาต่อไปในระยะยาว 

จุดมุ่งหมาย / วัตถุประสงค์

1.เพื่อให้เด็กมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นและเกิดกำลังใจ

2.เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

3.ทำให้เด็กมีเพื่อนมากขึ้นและเป็นการเสริมสร้างการเข้าสังคม

4.เพื่อให้เด็กและญาติรู้สึกว่า การอยู่โรงพยาบาลไม่เป็นเรื่องน่าเบื่อ

5.เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสในการรับความรู้และความสนุกสนาน

6.เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าร่วมกิจกรรมและมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

7.เพื่อลดความกังวลของผู้ปกครองในขณะที่เด็กอยู่ในโรงพยาบาลตามลำพัง

8.เพื่อลดความเครียดของผู้ป่วย ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น มีแนวโน้มที่จะหายเร็วขึ้นสามารถเป็นแนวทางให้กับโรงพยาบาลอื่น

9.ช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การใช้เหตุผล และทักษะทางสังคม

 

สถานที่จัดกิกรรมตามโครงการ    

โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แผนกหอผู้ป่วยเด็ก 2

ระยะเวลาการปฏิบัติงาน                  

26 ตุลาคม 2552  -  10 มกราคม 2553

ผู้เข้าร่วมโครงการ      จำนวนทั้งสิ้น   26  คน   ประกอบด้วย

                อาจารย์                         จำนวน   1     คน

                นักศึกษา                       จำนวน   10   คน

                ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย     จำนวน    15   คน 

ขั้นตอนการดำเนินงาน และแผนการดำเนินงานโครงการ

ขั้นวางแผนงาน  

  1. สำรวจปัญหาที่มีความเหมาะสมต่อการนำมาเป็นโครงการประจำกลุ่ม
  2. ประชุมกลุ่มเพื่อสรุปหาหัวข้อโครงการ
  3. ค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่สนใจ
  4. สำรวจสถานที่จริงและกลุ่มเป้าหมาย
  5. พบอาจารย์ที่ปรึกษา
  6. เขียนและเสนอโครงการ

ขั้นดำเนินการ

  1. เตรียมอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม
  2. พบอาจารย์ที่ปรึกษา
  3. ทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับผู้ป่วยเด็ก
  4. จัดกิจกรรมใน 2 รูปแบบ คือ กิจกรรมสร้างเสริมความรู้ และกิจกรรมนันทนาการเพื่อความบันเทิงแก่ผู้ป่วยเด็ก
  5. ประเมินผลระหว่างโครงการ

ขั้นสรุปและประเมินผลการจัดกิจกรรม

1. ประเมินประสิทธิภาพในการจัดโครงการ โดยการสำรวจจากแบบประเมินในผู้ปกครอง และบุคลากร ส่วนเด็กเลือกใช้วิธีสอบถามความคิดเห็น

2. พบอาจารย์ที่ปรึกษา

3. จัดทำรูปเล่มรายงาน

4. นำเสนอโครงการ

5. จัดนิทรรศการ 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

                สภาพจิตใจของเด็กดีขึ้นหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรม

                เพิ่มพูนทักษาความรู้และมนุษยสัมพันธ์

                มีส่วนช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้น เนื่องจากมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นส่งผลต่อร่างกาย

                ทำให้บรรยากาศภายในหอผู้ป่วยเด็กดูมีชีวิตชีวามากขึ้น

                เป็นตัวอย่างโครงการที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงการอื่นๆ ได้ต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 320127เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กำลังติดตามครับ

ว่าเมื่อไหร่ลูกศิษย์จะมาเล่าข่าวเสียที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท