รูแย้


บางครั้งเราตามผู้รู้ เราคิดว่าถูก แต่ที่ไหนได้เรากำลังเดินตามบุคคลสู่จุดอับ หรือ ที่เรียกว่า รูแย้
วันนี้ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาอิสลามเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุคเล่มเล็กๆ ชื่อเดิมว่า “The Dilemma of Muslim Psychologist” (สภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของนักจิตวิทยามุสลิม)   ที่ผมอ่านเป็นภาษามาเลย์

หนังสือเล่มนี้เดิมทีเป็นบทความในหัวข้อ นักจิตวิทยาในรูแย้ ที่ถูกนำเสนอในที่ประชุมผู้เชียวชาญด้านมานุษยวิทยาในอิสลาม (AMSS) ในสหรัฐอเมริกาและคานาดา ในปี ค.ศ.1975

หัวข้อ รูแย้ ที่ค่อนข้างแปลกนี้ มาจาก วจนของศาสดา (หะดีษนบี-ศอลฯ) ที่รู้จักกันดี ที่ว่า

عن أبي هريرة قال : قال رسول الله ( ص ) : ( لتتبعن سنة من كان قبلكم باعا بباع وذراعا بذراع وشبرا بشبر حتى لو دخلوا في حجر ضب لدخلتم فيه ، قالوا : يا رسول الله ! اليهود والنصارى ؟ قال : فمن إذن ) ؟ ความว่า : รายงานจากอะบูฮุร็อยเราะฮฺ ว่า ท่านรซูลุลอฮฺ กล่าวว่า พวกเจ้าจะตามแนวทางขอคนก่อนพวกเจ้า ที่ละวา ทีละศอก ที่ละคืบ จนกระทั่งพวกเขาเหล่านั้นเข้าไปในรูแย้ พวกเจ้าก็จะตามเข้าด้วย บรรดาเศาะฮาบะฮฺก็ถามว่า พวกนั้นคือ ยะฮูดและนะศอรอ (ยิวและคริสต์) ใช่ไหม ท่านก็ตอบว่า จะเป็นใครอีกเล่า (บันทึกโดย อิบนุอะบีไชย์บะฮฺ)                ในทุกวันนี้ไม่ว่าอะไรที่ฝรั่งเขาทำ เราจะเห็นดีเห็นงามไปหมด แม้แต่การรุกรานประเทศอื่นก็ยังเชื่อในข้ออ้างของเขา เห็นดีเห็นงามกับเขา ทฤษฎีต่างๆที่เราร่ำเรียนมาและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็มาจากเขา บางครั้งวัฒนธรรมหรือภูมิความรู้ที่ดีที่คนเก่าคนแก่ของเราได้สืบทอดกันมา เราละทิ้งและหันไปนิยมถือปฏิบัติตามที่เขาสั่งสอน ซึ่งหลายอย่าง และหลายครั้งที่การกระทำของเราเช่นนั้นนำพาเราสู่สภาพที่อับจนเราก็ยังคงตามเขาอีก คงไม่ต่างอะไรกับการอุปมาอุปมัยที่ว่า แม้นว่าเขาจะวิ่งหนีเข้าสู่รูแย้ ที่ทั้งเล็กทั้งอับ ขาดอากาศหายใจ เราก็ยินดีที่จะตามเขาเข้าไป บางคนอ้วนพีอยู่ในนั้นจนไม่สามารถกลับออกมาอีก บางคนอยากออกแต่ก็สายเสียแล้ว แต่หลายคนที่ยังคงรักและชอบสภาพในรูแย้เช่นนั้น

                ในทางจิตวิทยา ส่วนใหญ่แล้วเราจะตามเขา อ้างทฤษฎีเขาในการนำไปใช้กับตัวเราเอง กับคนรอบข้าง กับเด็ก กับเยาวชน หรือบางครั้งเราไม่ได้บอกว่าเราตามเขา แต่ในสมองเรา หลักการคิดของเรา เจตคติของเราที่มีต่อสถานการณ์นั้นๆ ถูกทฤษฎีของพวกเขาครอบงำโดยไม่รู้ตัว  มีผู้ปกครองบางคนเป็นหวงเยาวชนเรา พยายามออกมาทักท้วงพฤติกรรมบางอย่างเยาวชน แต่มีนักต่อสู่เพื่อสิทธิเด็กกลับมาต่อต้านและกล่าวว่า ทำไมต้องโยนความผิดที่เด็ก หรืออย่างที่เราเคยได้ยินบ่อยจากนักจิตวิทยาบางท่านกล่าวว่า เด็กผิดไม่ได้ เพราะตามแนวทฤษฎีของกลุ่มพฤติกรรมนิยมแล้ว พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ในเมื่อสิ่งเร้าเย้ายวนในเด็กตอบสนองเช่นนั้น เด็กก็แสดงพฤติกรรมนั้นออกมา คนผิดจึงจะน่าจะเป็นผู้ใหญ่ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม !!!?

            อัลบัดรีย์ ผู้นำเสนอบทความในเรื่องนักจิตวิทยาในรูแย้นี้ ได้เขียนในตอนหนึ่งว่า..

ฉันได้กล่าวแก่เพื่อนร่วมงานของฉันซึ่งเขานิยมในจิตวิทยาเด็กสมัยใหม่มาก โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในประเทศตะวันตก หรือที่อยู่ในสังคมอิสลามที่ถูกทำให้ทันสมัยว่า ว่า..

ถ้าท่านต้องการให้ลูกๆของท่านเติบโตโดยวางเท้าของเขาบนโต๊ะที่ตรงหน้าของท่านอย่างที่เราเคยเห็นในหนังตะวันตก และถ้าท่านต้องการให้เขานำท่านและมารดาของเขาเข้าสู่บ้านพักคนชราเมื่อท่านแก่เฒ่า ท่านจงทำตามตำราจิตวิทยาอย่างเคร่งครัด แต่ถ้าท่านรักที่จะตามอัลกุรอาน ที่เชื่อมระหว่างการภักดีต่ออัลลอฮฺกับการทำความดีต่อบิดามารดา ท่านจงนึกถึงอัลกุรอานในอายัตต่อไปนี้

وَقَضَى رَبُّكَ أَلاَّ تَعْبُدُواْ إِلاَّ إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَاناً إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا
 أَوْ كِلاَهُمَا فَلاَ تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلاَ تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلاً كَرِيماً
وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ الرَّحْمَةِ وَقُل رَّبِّ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيراً

ความว่า : และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อผู้ใดในทั้งสองหรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ !(แสดงออกถึงความไม่พอใจ)  และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสอง ซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตา และจงกล่าวว่าข่าแต่พระเจ้าของฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย (อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลอิสรออฺ 17/23-24)

และถ้าท่านหวังในวจนของท่านนบี(ศอลฯ) ที่ว่า สวรรค์อยู่ใต้ฝาเท้าของมารดา ท่านจงระวัง ไม่อย่างนั้นท่านจะตกอยู่ในรูแย้อย่างไม่รู้ตัว

 

USM P.Pinang Malaysia

15/11/2006

หมายเลขบันทึก: 60049เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท