ลูกศิษย์ของครู "เรียนรู้" ได้ไหม...?


ภายใต้ความเชื่อหรือที่นักวิชาการเขาเรียก ๆ กันว่า "สมมติฐาน" นั้น ครูต้องคิดว่า "เด็กมีความรู้"

เมื่อครูเชื่อว่าเด็กมีความรู้ ครูก็จะมีหน้าที่ขุด คุ้ย ความรู้ที่มีอยู่ในตัวเด็กนั้นขึ้นมาให้ได้มากที่สุด
ถ้าแต่หากครูคิดว่า "เด็กโง่" เด็กไม่รู้ ครูก็จะทำหน้าที่ "อัดความรู้" เข้าไปในตัวเด็ก

สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงนั้นอยู่ที่ "ความตั้งใจ" เป็นสำคัญ
เราตั้งใจไปอย่างไร ผลก็ออกมาเป็นอย่างนั้น...

ทุก ๆ วันนี้นั้น ครูมัก "ตั้งใจ" ไปก่อนเข้าห้องเรียนทุก ๆ ครั้งว่า "เด็กโง่" ครูก็เลยอัดความรู้ลงไปใน "คนโง่"

อันนี้เป็นประเด็นที่น่าคิดนะ
การที่เราคิดว่า เราจะอัดข้อมูลไปในคนโง่นั้น จะเป็นตัวปิดกั้นความรู้ที่ดีและกว้างขวางไปอย่างมากเชียว

การคิดว่าเด็กโง่ เราก็มักจะคิดว่าเด็กมีระดับ มีขั้น มี Limit ในการรับรู้ "ต่ำ"
ดังนั้น การเตรียมวางแผนการ การวางแผนการสอนนั้นก็จะเตรียมสำหรับวางไว้เพื่อ "คนโง่"

ครูก็จะหาอะไรที่คิดว่าไม่ต้องดีนัก ไม่ต้องยากนัก เอาเท่านี้แหละ เท่านี้ก็ไม่รู้ว่าจะเรียนกันได้หรือเปล่า...?

แต่ถ้าหากว่าครูตั้งต้นที่การขุด การคุ้ย หรือที่ในภาษา KM เขาเรียกว่า "การถอดบทเรียน" ในตัวเด็กนั้น ครูจะรู้ถึง "บริบท" ที่มี "พลัง" อันเป็นสิ่งที่จะสร้างสรรค์ใน "กระบวนการเรียนรู้"

เราจะรู้เด็กว่าเด็กเป็นอย่างไร แทนที่เราจะไปสบประมาทเด็กก่อนเลยว่า เฮ้ย เอ็งเรียนอยู่ ป.3 ก็มีความรู้แบบ ป.3 อย่างนั้นก็ควรจะรู้แค่ ป.3 อย่าไปรู้มาก เรียนมาก เพราะถ้าเรียนมากเอ็งก็ไม่มี "ปัญญา" เรียนได้หรอก...

เด็กในปัจจุบันถึงถูก "ปิดกั้น" ทางความรู้
เด็กที่สามารถพัฒนาได้ก็เลย "พัฒนาไม่ได้"
พัฒนาไม่ได้เพราะครูไปปิดกั้น "พัฒนาการ" ของเด็ก
พัฒนาไม่ได้เพราะครูคิดว่า "เด็กโง่..."

โง่ หรือ ไม่โง่ ต้องลองทำตั้งใจ ตั้งตัวของ "ครู" ให้โง่ก่อน
ถ้าครูคิดว่าครูโง่ก่อน น้ำชาในถ้วยของครูก็จะไม่ล้น
เมื่อไม่ล้นครูก็จะสามารถเรียนรู้กับเด็ก สามารถขุดคุ้ยได้จาก "ลูกศิษย์"

เมื่อมีที่ว่างสำหรับนักชาแก้วที่ชื่อว่า "ครู" นี้
ครูก็จะสามารถนำ "ใจ" ของลูกศิษย์ใส่ลงไปในแก้วนั้น

เมื่อมีใจลูกศิษย์อยู่ในแก้ว ก็เหมือนมีลูกศิษย์เข้ามานั่งอยู่ในใจเสมอ
ดังนั้น ครูจะรู้ใจศิษย์ รู้พัฒนาการที่จะจริงของ "ลูกศิษย์"

การเรียนรู้กับลูกศิษย์นั้นไม่ยาก ต้อง "ตั้งใจ" ให้ดี
ถ้าคิดว่าลูกศิษย์โง่นั้นก็จะเป็นการปิดกั้นพัฒนาการของลูกศิษย์ และเป็นการปิดกั้น "พัฒนาการ" ของตนเองไปในตัว
เพราะครูจะไม่ขวนขวาย เพราะคิดว่าครูเรียนจบปริญญา แล้วเด็กเรียนประถม หรือมัธยม อย่างไรความรู้ระดับปริญญาที่ตนเองจบมาก็ต้องมีมากกว่าอยู่แล้ว
ดังนั้นครูจึงไม่คิดที่จะขวนขวายหาความรู้ เพราะรู้ไปทำเราก็สอนเด็กไม่ได้ รู้ไปก็กลับมาสอนเด็กประถม รู้ไปก็แค่กลับมาสอนเด็กมัธยม

ครูจึงเรียนรู้ไปเพื่อทำตำแหน่งทางวิชาการมากกว่า
เรียนรู้ อบรม สัมมนา เพื่อความท้าทายและความก้าวหน้าในชีวิต

ชีวิตที่สอนหนังสือในปัจจุบันมันไม่ท้าทาย เพราะเรียนรู้ไปก็ได้สอนแค่ "เด็ก ๆ"
สู้เอาเวลาไปทำผลงาน เรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าในชีวิตจะดีกว่า

ดังนั้น การเรียนการสอนในห้องเรียนจึงเป็นแค่งาน "อดิเรก" ทำไปงั้น ๆ ทำไปวัน ๆ ทำไปเรื่อย ๆ
แต่การทำผลงานทางวิชาการนั้นเป็นงานหลัก งานที่สร้างความก้าวหน้า สร้างรายได้ซึ่งจะเป็น "ความมั่นคง" ในชีวิต

ต้องกลับมาตั้งใจเรียนรู้ลูกศิษย์ให้มาก
ถ้าเรียนและรู้ศิษย์มาก สิ่งที่ท้าทายในอาชีพครูจะมีมากตามขึ้นไปด้วย...


(ที่มาจากบันทึก ครู ค่อย ๆงัด ค่อย ๆ แง้ม สิ่งปิดกั้นภายในใจ)

หมายเลขบันทึก: 306283เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2009 07:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านจบแล้วทำให้คิดถึงว่า คำว่า "ต้นทุน"

เด็กแต่ละคนมีต้นทุนของความรู้มามากมาย แตกต่างกันตามที่มา

บางคนเป็นลูกแม่ค้า บางคนเป็นลูกชาวนา

บางคนเป็นลูกหมอ บางคนเป็นลูกกรรมกร

ตามแต่เหตุและปัจจัย การที่จะสัมพันธ์

และถอดรหัสต้นทุนเหล่านี้ เพื่อต่อยอด

แล้วใส่รหัสความรู้เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถครูจริง ๆ

 

ครูอาจจะต้องใช้พลังอันมาหาศาล ที่จะช่วยเหลือบ่มเพาะ

เด็ก ๆ เหล่านี้ เพื่อให้ เข้าใจตนเอง เข้าใจโลก เข้าใจความจริง

 

ท่านเป็นนักปลูก ท่านเป็นนักปั้น ท่านเป็นศิลปิน ท่านเป็นนักวิทยาศาตร์

ที่จะสร้างต้นทุนทรัพยากรมนุษย์ ของโลกอนาคต

สร้างโลก สร้างความดีงามมากมายให้กับโลกใบนี้

ขอน้อมบูชาความเหนื่อยยากของครูเจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท