ทุ่งยั้ง


            

             

พระแท่นศิลาอาสน์                                                บรมธาตุทุ่งยั้งสถาน

เวียงแลงศิลาลาน                                                     อันลึกล้ำอยู่ลับแล

พร้าวหลากแล้วหมากหลาย                                    เย็นสายน้ำลำห้วยแม่

พูลเปี่ยมไป่เคยแปร                                                  มาปรุงเหย้าให้ร่มเย็น

          

ม่อนภูคือภูพระ                                                               พนมมาศบำราศเข็ญ              

รู้ปรับรู้แปลงเป็น                                                             ให้เป็นตัวและเป็นตน

เป็นวัดเป็นศรัทธา                                                            เป็นผืนผ้าอันอำพล

หอมทั่วทั้งมณฑล                                                           พระทองหอมแห่งลับแล


 

 

               

             ชุมชนบ้านทุ่งยั้งใต้ อำเภอลับแล เป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ชุมชนหนึ่ง  จากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า 

             ชื่อหมู่บ้านทุ่งยั้งใต้นี้ถือกำเนิดมาครั้งก่อนพุทธกาล  เชื่อว่ามีการเสด็จมาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อมาถึงทุ่งนาที่กว้างใหญ่พระองค์ทรงหยุดทอดพระเนตรออกไปสู่ทุ่งนาดังกล่าว  จึงเป็นสาเหตุที่ใช้ชื่อเรียกชุมชนที่อยู่ละแวกนี้ว่า "ทุ่งยั้ง" 

             คาดว่าคนกลุ่มแรกที่เริ่มตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนนั้น  เป็นชาวเมืองของเวียงท้าวสามลหรือ  "เวียงเจ้าเงาะ"  ซึ่งแต่เดิมนั้นถูกใช้เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองศรีสัชนาลัย  ในสมัยพระเจ้าพศุจราชและใช้เป็นเมืองหน้าด่าน ป้องกันข้าศึกของทัพเมืองเชียงแสน เพราะพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบกิจกรรมทางการเกษตร และจากความต้องการในการขยายตัวของเมืองจากการเพิ่มของประชากร 

             สมัยหนึ่งเมืองทุ่งยั้งเคยมีหน้าที่สำคัญในการเป็นเมืองหน้าด่านให้กับกรุงสุโขทัยครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของราชอาณาจักรไทย  เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านประเพณีและวัฒนธรรม  มีการใช้ภาษาถิ่นของตนเอง  เรียกว่า "ภาษาทุ่งยั้ง"  ซึ่งเป็นภาษาที่สันนิษฐานว่าเป็นภาษาสมัยสุโขทัย  ที่มีใช้กันมานานตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี  

                คนทุ่งยั้งส่วนใหญ่เป็นคนสุโขทัยแต่เดิม  และเป็นทหารที่มาจับจองที่ทำมาหากิน  จึงได้ตั้งรกรากอยู่นี้จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งคนส่วนใหญ่จะพูดภาษาสุโขทัย

               เมื่อสมัยโบราณอาณาจักรเชียงแสนมีคันคูเมืองหลายชั้น มีกำแพงเมืองชาวบ้านเรียกว่า "บ้านหกเขย"

                 นอกคูเมืองด้านตะวันออกเป็น เวียงเจ้าเงาะ มีร่องรอยคูเมืองปรากฏอยู่ ภายในเมืองทุ่งยั้งเป็นสถานที่เหมาะสมเป็นเมืองอย่างยิ่ง มีบ่อน้ำตื้นมากมาย มีฐานเจดีย์เก่าอยู่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดแตงอ่อน" ภายในวัดมีฐานเจดีย์มีพระธาตุ กระดูก และทับทิม จารึกอยู่บนฐานเจดีย์

              ภายในเมืองทุ่งยั้งมีสระโบราณเรียกว่า "สระเจ็ดนาง" เป็นพระอาบน้ำของธิดาทั้ง 7 ของท้าวสามล 

                บ่อน้ำทิพย์ อยู่ใต้กำแพงศิลาแลงของเวียงเจ้าเงาะ จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโส ที่เรียกว่า น้ำทิพย์ นั้น เป็นเพราะตักเท่าไรก็ไม่แห้ง ทั้งที่เป็นบ่อตื้น น้ำใส สะอาด ใช้ดื่มกินได้ บางรายเจ็บป่วยก็มาเอาไปทำน้ำมนต์  บ้างก็อธิษฐานให้หายป่วย สัตว์น้อยใหญ่มาดื่มกินก็จะปลอดภัย เนื่องจากมีต้นไม้ซ่อนเร้นมิดชิด


ขนบธรรมเนียม  ประเพณีของบ้านทุ่งยั้ง

                ชุมชนบ้านทุ่งยั้งเป็นชุมชนที่เก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ที่มีความเชื่อถือและขนบธรรมเนียม ประเพณีที่เป็นศูนย์กลางความเคารพศรัทธาอยู่หลาย ๆ อย่างด้วยกัน  ประกอบด้วยการจัดงานสักการะศาลเจ้าปู่ประตูเมือง 

                 ศาลเจ้าปู่ประตูเมือง เป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน  มีอายุยาวนานกว่า 20 ปี  เป็นที่สักการบูชาของคนในหมู่บ้าน  มีลักษณะเป็นศาลไม้  ตั้งอยู่ประตูทางเข้าหมู่บ้าน 

                 มีความเชื่อกันว่าสมัยก่อนมีโรคห่าระบาด  คนในหมู่บ้านจึงได้บนบาลไว้ว่าขออย่าให้โรคห่าเข้ามาในหมู่บ้านและโรคห่าก็หายไปไม่มีคนในหมู่บ้านเป็นโรคนี้  จึงเชื่อว่าเจ้าปู่ได้ทำการกั้นโรคห่าเอาไว้ไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน  จึงได้เคารพกราบไหว้และในหมู่บ้านจะมีพิธีการบวงสรวงเลี้ยงหัวหมู  อาหาร  สุรา  และถวายช้าง ม้า วัว ควาย  แก่ศาลเจ้าปู่ประตูเมือง  มีการเข้าทรงโดยร่างทรงทุกปี ประเพณีจะจัดขึ้นในช่วงประมาณสิ้นเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี


 

                 งานอัฎฐมีบูชา  เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา  คือเป็นวันเผาพระบรมศพจำลองของพระพุทธเจ้า  หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้  10  วัน  

 

                 การจัดงานแต่เดิมเป็นลักษณะที่ชาวบ้านนำไม้ไผ่มาสานจำลองเป็นพระพุทธรูป  เมื่อถึงวันวิสาขบูชาหลังจากที่มีการ เวียนเทียนเสร็จก็จะเผาพระบรมศพจำลองของพระพุทธเจ้า  ซึ่งจะมีการเทศน์สรุปประวัติวันวิสาขบูชา

                ภายหลังได้เปลี่ยนให้มีการจัดงานทั้งหมด 10  วัน ให้เอามีการบำเพ็ญกุศล  รูปแบบเมรุก็เปลี่ยนให้เป็นแบบทรงไทย  ซึ่งแต่เดิมเป็นแบบอินเดียในปีนี้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน แล้วทำบุญ 7 วันตามจำนวนของลูกท้าวสามล  ได้แก่  มลิวรรณ์  ถันวิลา   มลุลี ยี่สุ่นเทศ  เกษเมือง  เรืองยศ  รจนา

                วันที่ 8  ก็จะมีการจัดงานสลากภัต ซึ่งการจัดงานสลากภัตนี้ จะให้ชาวบ้านที่ต้องการถวายอาหารกับพระภิกษุสงฆ์ไปจองสลากภัทรที่วัด  ซึ่งทั้งหมู่บ้านจะมีชาวบ้านจองประมาณ  200  ถึง 400  สลาก

                 ใ นการถวายอาหารนี้ชาวบ้านจะถวายให้กับพระภิกษุสงฆ์รูปใดนั้น  พระภิกษุจะเป็นผู้จับสลากที่ทำมาเมื่อตรงกับชื่อชาวบ้านคนไหน  ก็จะให้ชาวบ้านคนนั้นนำอาหารมาถวายพระที่จับสลากได้ 

                

ในวันที่ 9 ของการจัดงานจะมีการ เลี้ยงพระ และ วันที่ 10 ทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง  มีการเลี้ยงพระ  ติดกัณเทศน์  ดอกไม้ดอกบัวบูชา งานอัฐมีบูชาจะมีการจัดงานในเดือน 6 แต่ถ้าปีใดมีเดือนแปด  2  หนจะเลือกจัดงานในเดือน         

                   นอกจากนี้มีเทศกาลออกพรรษา    บ้านหลังใดที่มีลูกชายบวชจนได้ครบพรรษา เมื่อถึงวันออกพรรษาโยมพ่อ โยมแม่ก็จะมีการร้อยพวงมาลัยนำไปถวายพระ 

                  พวงมาลัยนี้จะนำไปพาดที่หลังคาพระอุโบสถ โดยความยาวของพวงมาลัยจะมีความยาวตั้งแต่หลังคาพระอุโบสถจนถึงพื้นดิน  ดังนั้นจึงเรียกพวงมาลัยนี้ว่า  พวงมะโหด 

                  ผู้ร้อยพวงมะโหดจะต้องใช้ความพยายาม และความอดทนในการทำเป็นอย่างมาก  ประเพณีนี้ยังเป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับเวียงเจ้าเงาะ อีกด้วย   ดังนั้นครอบครัวใดที่มีลูกไปบวชที่วัดจึงต้องมีการจัดทำพวงมะโหดตลอดมา จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้านมาถึงปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 42868เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2006 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เมืองลับแล น่าจะเป็นเมืองที่เงียบสงบ ชาวบ้านมีวิถีชิวิตเรียบง่ายในแบบของตนเอง ถ้าได้ไปเยือนสักครั้งคงจะดีครับ

ใช่แล้วครับ

แต่ตอนนี้ไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ครับ เพราะเพิ่งโดนโคนถล่มมา ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติเท่าไหร่ครับ

ขอทบทวนความจำ...คุ้นๆ ว่าเคยไปสมัยเป็นเด็ก เพราะจำรูปได้..แต่ขออาศัยบันทึกท่านรื้อฟื้นความจำก่อนนะคะ

ยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยครับ

ลองนึกถึงงานวัดพระแท่นศิลาอาสน์นะครับ

เพราะอยู่ใกล้ ๆ กันครับ

ทุ้งยั้งน่าสนใจมากเลยค่ะ กะว่าจะลงพื้นที่สำรวจบริเวณนี้ในเสาร์ อาทิตย์นี้

เราก็เป็นเด็กทุ่งยั้งทำให้รักทุ่งยั้งมากขึ้นเลยเราเคยไปมาหมดแล้วสวยมากเลย
ทรงสิทธิ์ ยนต์ศิริ

ไม่ได้กลับบ้านมาหลายปี  แต่ก็ยังติดตามถามข่าวอยู่เสมอ  หลายๆสิ่งในหลายๆปีที่ผ่านมา ดูแล้วมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก  จนกระทั่งแทบไม่เหลือภาพเก่าๆให้ได้เห็น   และเมื่อวันน้ำหลากรู้สึกตกใจและเป็นหวงพ่อ,แม่,พี่น้อง,และเพื่อนมาก เพราะไม่เคยมีเหตุแบบนี้เลย  แต่เมื่อติดตามข่าวก็รู้สึกโล่งใจ  ที่ทุ่งยั้งไม่ได้รับความเดือดร้อนมากนัก  นี่ก็ ขึ้น 9 ค่ำเดือน 3  แล้ว งานประจำปีคงเริ่มแล้ว ใครได้ไปเที่ยวเล่าสู่กันฟังบ้าง  [email protected] 

บทความน่าสนใจมาก ๆ ครับ

^^ 

เคยแต่ได้ยินว่าเมืองลับแลเงียบสงบดีเคยมีคนรู้จักอยู่ที่บ้าน 72 หมู่10ต.ทุ่งยุ้ง คนในบ้านสบายดีทุกคนป่าว

อยากกลับไปเยี่ยมจังพียุทธมีลูกกี่คนแล้วใครอ่านเจอตอบให้ด้วยนะ

 

ได้ไปบ้านมาแล้ว ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างกะตา แม้อะไรจะเปลี่ยนไป ทีนั่นก็เป็นที่ที่อบอุ่นเสมอ เพราะเป็นบ้านเรา เร็วๆนี้คงได้ไปเยี่ยมบ้านอีก

ทรงสิทธิ์ ยนต์ศิริ

เสียดายจังเลย... งานวิสาขะบูชาลำลึกที่วัดทุ่งยั้งไม่ได้ไปเทียว เห็นเขาบอกว่าจัดงานได้ยิ่งใหญ่มาก มีคนมาชมงานล้นหลาม เพื่อนสมาชิกท่านใดได้ไปงานมาและได้ภ่ายรูปไว้ เอามาโพส์ให้ดูบ้าง ผมเองมาอยู่ต่างจังหวัดหลายปี ไม่ค่อยได้กลับบ้านบ่อยนัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท