วิจารณ์นโยบายการศึกษาของรัฐบาลอภิสิทธิ์


แนวทางของการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง คือการพัฒนาจากฐาน ไม่ใช่พัฒนาจากยอดอย่างที่ทำกันมา ๙ ปี และเกิดผลให้ผลการศึกษาเสื่อมลง การพัฒนาจากฐานคือพัฒนาที่โรงเรียน/ครู ที่จัดการเรียนรู้ได้ผลดี โดยส่งเสริมให้ขยายเครือข่ายวิธีจัดการศึกษาที่มีคุณภาพออกไป ส่งเสริมให้ครูที่มีผลงานดีได้ศึกษาต่อ ทำวิทยานิพนธ์เพื่อสร้างความรู้เชิงทฤษฎีจากผลการปฏิบัติ

บันทึกการเมืองไทย : วิจารณ์นโยบายการศึกษาของรัฐบาลอภิสิทธิ์

 

ที่จริงผมเจียมตัวว่าตนเองไม่ถนัดในเรื่องการเมือง   ผมมองว่าความเห็นเชิงนโยบายเรื่องต่างๆ ของผมมักจะไม่ค่อยเหมาะสมต่อสภาพของวิธีคิดแบบเอาการเมืองเป็นตัวตั้ง   จึงไม่ค่อยได้ออกความคิดเห็นเชิงวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล   แต่นี่คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ขอร้องไว้ว่า อยากให้ผมช่วยให้คำแนะนำต่อการทำงานของรัฐบาลด้วย    ท่านคงจะเห็นว่า ในที่ประชุมที่เราเป็นกรรมการร่วมกันนั้น ผมให้ความเห็นแปลกๆ อยูบ่อยครั้ง   เข้าท่าบ้าง ไม่เข้าท่าบ้าง แล้วแต่กรณี

 

ผมเองก็อยากให้รัฐบาลนี้อยู่บริหารประเทศไปนานหน่อย   เพื่อเยียวยาบาดแผลและวางรากฐานเรื่องหลักๆ ของประเทศ   เพราะผมศรัทธาในความเอาจริงเอาจังของท่านนายกฯ อภิสิทธิ์   แม้ว่ารัฐบาลผสมชุดนี้จะขี้เหร่อยู่ไม่น้อย   จึงลองเสนอความเห็นผ่านบันทึกใน บล็อก นี้   โดยไม่รับรองว่าความเห็นนี้จะถูกต้องหรือไม่

 

นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลมี ๘ ข้อ   ที่เด่นที่สุดคือข้อ ๑ ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ    โดยมีข้อความดังนี้ ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และระดมทรัพยากรเพื่อการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา พัฒนาครู พัฒนาระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนหลักรวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง

ที่ว่าเด่น เพราะเป็นเรื่องสำคัญสุดยอดต่ออนาคต แต่แนวทางดำเนินการซ้ำรอย ความผิดพลาดเดิม   คือหลงเน้นปฏิรูปโครงสร้าง   ไม่เน้นปฏิรูปกระบวนการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน   ถ้าทำตามที่เสนอก็จะไม่พ้นผลแบบเดิม คือคุณภาพของผู้จบการศึกษาลดลง ในขณะที่คุณวุฒิและผลประโยชน์ของครูและผู้บริหารการศึกษาดีขึ้น

 

แนวทางของการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง คือการพัฒนาจากฐาน   ไม่ใช่พัฒนาจากยอดอย่างที่ทำกันมา ๙ ปี และเกิดผลให้ผลการศึกษาเสื่อมลง   การพัฒนาจากฐานคือพัฒนาที่โรงเรียน/ครู ที่จัดการเรียนรู้ได้ผลดี    โดยส่งเสริมให้ขยายเครือข่ายวิธีจัดการศึกษาที่มีคุณภาพออกไป   ส่งเสริมให้ครูที่มีผลงานดีได้ศึกษาต่อ ทำวิทยานิพนธ์เพื่อสร้างความรู้เชิงทฤษฎีจากผลการปฏิบัติ   โดยเชื่อมโยงนักการศึกษาระดับยอดในมหาวิทยาลัยเข้าไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา   ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อเด็กไทยยุคปัจจุบัน จากสภาพจริงภายในสังคมของเรา เชื่อมโยงกับศาสตร์ด้านการเรียนรู้ยุคใหม่ของโลก

 

ที่จริงการกล่าวหาว่าแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ใช้กันอยู่เป็นแนวทางที่ผิดพลาดเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้มาก   ไม่สามารถเขียนรายละเอียดออกมาได้ทั้งหมด   ถ้ามีการจัดประชุมระดมความคิดเรื่องนี้ผมยินดีเข้าร่วมด้วย หากนัดล่วงหน้านานๆ เพื่อให้ผมจัดเวลาเข้าร่วมได้

 

ข้อวิจารณ์ของผม เป็นการวิจารณ์วิธีดำเนินการตามนโยบาย ไม่ใช่ตัวนโยบาย   ซึ่งนโยบายข้อ ๑ เชื่อมโยงกับข้อ ๓ คือการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา   ซึ่งมีข้อความดังนี้ พัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานะสูงขึ้น ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน มีการดูแลคุณภาพชีวิตของครูด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เน้นการพัฒนาเนื้อหาสาระและบุคลากรให้พร้อมรองรับและใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างคุ้มค่า

ซึ่งผมก็ว่าที่ผ่านมาดำเนินการผิด   เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ผิดให้แก่วงการศึกษา คือวัฒนธรรมบ้า (คลั่ง) ปริญญา หรือคุณวุฒิในกระดาษ   ไม่เน้นคุณวุฒิในการปฏิบัติหรือผลงานต่อศิษย์   เรื่อง ผลงาน เพื่อปรับตำแหน่ง ก็เป็นผลงานในกระดาษ (บางคนจ้างทำ)    คำว่า ทำผลงาน ไม่เชื่อมโยงกับศิษย์ แต่เชื่อมโยงกับกระดาษ   ครูที่ได้ดีมักไม่ใช้ ครูเพื่อศิษย์ แต่เป็น ครูเพื่อนายหรือ ครูที่มีปริญญา   ผมฟันธงว่า วิธีพัฒนาครู ด้วยวิธีที่ไม่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของศิษย์ เป็นวิธีที่ผิดและไม่คุ้มค่า    แต่อาจได้ผลทางการเมือง ได้คะแนนเสียง

 

ผมเห็นด้วยกับนโยบายข้อ ๕ ที่เน้นส่งเสริมอาชีวศึกษา   แต่ก็กังวลว่าวิธีปฏิบัติจะผิดทาง   คือเน้นพัฒนาจากยอด   ซึ่งจะไม่ก่อผลให้เกิดศักดิ์ศรีความภาคภูมิใจ และยอมรับนับถือ ในทักษะเชิงเทคนิค และความรับผิดชอบเอางานเอาการสู้งานของผู้จบการศึกษา

นโยบายข้อ ๕ เน้นจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และเน้นการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ   ซึ่งผมเห็นด้วย   โดยนโยบายข้อ ๕ มีดังนี้ ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ โดยการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาตามศักยภาพ ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างของการใช้ทักษะอาชีวศึกษาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในงาน ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา

แต่แนวทางดำเนินที่ผ่านมาเน้นการขยายตัวของอุดมศึกษามากกว่าความเป็นเลิศ   และยังไม่มีวิธีจัดการระบบให้มีความเป็นเลิศหลากหลายแบบ เพื่อเป้าหมายที่แตกต่างกัน   แต่ก็มีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในความเป็นเลิศในรูปแบบและเป้าหมายของตน

 

ผมเห็นด้วยกับนโยบายข้อ ๗ ที่มุ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ   โดยมีข้อความในนโยบายดังนี้  ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้  โดยในเชิงปฏิบัติผมว่าภาครัฐมีศักยภาพน้อยมากที่จะทำเรื่องนี้เอง   ภาครัฐควรดำเนินการแบบเชื่อมโยงเครือข่าย และร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมที่มุ่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว

 

นโยบายข้อ ๘ มีว่า เร่งรัดการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้อย่างบูรณาการในทุกระดับการศึกษาและในชุมชน โดยใช้พื้นที่และโรงเรียนเป็นฐานในการบูรณาการทุกมิติ และยึดเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นหลักในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตในชุมชน โดยเชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา

อ่านแล้วผมเกิดความรู้สึกสองด้านที่ตรงกันข้ามไปพร้อมๆ กัน   ที่ชอบใจคือเป้าหมายเป็นหนึ่งในภูมิภาค   แต่ที่เป็นห่วงคือกลิ่นไอของ เทคโนแครต ที่ขีดวงบทบาทหรืออำนาจที่เน้นภาครัฐเป็นหลัก   ยังไม่ได้ร่องรอยของวิธีคิดดำเนินการแบบแนวราบหรือเน้นเครือข่ายเป็นหลัก

 

เอาเข้าจริง ผมไม่ได้วิจารณ์ตัวข้อความในนโยบาย   แต่วิจารณ์วิธีประยุกต์ใช้นโยบายลงสู่การปฏิบัติ   โดยมีสาระสำคัญคืออย่าหลงทางแบบที่เป็นมาแล้ว ๙ ปี  

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๒

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 233386เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2009 07:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นกับข้อวิจารณ์...ใครล่ะคือผู้ใช้นโยบายลงสู่การปฏิบัติปลาตายน้ำตื้นคือการเมืองของเราทุกวันนี้....คงจะหลงทางกันต่อไปแล้วแถมยังปิดประตูตีแมวกันซะอีก

ชอบที่ อ.ว่า "คำว่า “ทำผลงาน ไม่เชื่อมโยงกับศิษย์ แต่เชื่อมโยงกับกระดาษ   ครูที่ได้ดีมักไม่ใช้ ครูเพื่อศิษย์ แต่เป็น ครูเพื่อนายหรือ ครูที่มีปริญญา   ผมฟันธงว่า วิธีพัฒนาครู ด้วยวิธีที่ไม่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของศิษย์ เป็นวิธีที่ผิดและไม่คุ้มค่า    แต่อาจได้ผลทางการเมือง ได้คะแนนเสียง"

เบื่อปริญญาบัตรที่กินไม่ได้ค่ะ

เห็นด้วยค่ะ อยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดอย่างนี้ ได้โปรดพัฒนาคุณภาพเด็กเสียทีเถิด มิไช่มัวแต่พัฒนาเงินให้ครู ที่มากมายมหาศาลอยู่แล้วเลย ผู้ออกกฎหมายทั้งหลาย ก็ยอมเสียผลประโยชน์กันบ้างนิดๆ หน่อยๆเพื่อส่วนรวม อย่าโกยมากนักเลยนะคะ

การศึกษา สำหรับผม คือ การขึ้นราคา ค่าตัว เพื่อให้ ดูดี ในสายตา ของสังคม เพื่อการยอมรับ ทั้งๆ ที่บางที ยิ่งเรียนมาก ยิ่งสะสม ความเห็นแก่ตัวมาก การเสียสละ ยิ่งน้อยลง กว่า ผู้มีการศึกษาน้อย

เพราะรู้จึงกลัว  เพราะกลัว จึงเสื่อม

หนูเพิ่งมีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนหลาน

นี่ขนาดแค่ระดับประถมต้นๆ นะคะ ยัง ...

....

พูดไม่ออก บอกไม่ถูกค่ะ ไม่แปลกใจว่า ?

การศึกษาไทยเมื่อช่วง ๙ ปีที่ผ่านมาล้มเหลวค่ะ

พอมาอ่านบันทึกนี้ของท่านอ. แล้ว ปิ๊งเลยค่ะ

 โดยมีสาระสำคัญคืออย่างหลงทางแบบที่เป็นมาแล้ว ๙ ปี  

... ยังหวัง ยังรอ ... การศึกษา คือ ความหวัง การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขอบพระคุณค่ะ

คงยังไม่สายที่จะออกความเห็น ปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ

ตอนนี้มีข่าวจะจัดตั้ง เขตพื้นที่มัธยมศึกษา ผมมองว่า รัฐบาลกำลังจะซ้ำรอยเดิม แยกประถม มัธยม เอกชน คราวนี้ประถมจะเดินหน้าจัดตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

มันยังไม่สายนะครับที่จะคิดใหม่

การอาชีวศึกษาควรพิจารณาการสร้างบุคลากรด้านการอาชีพไว้เตรียมใน 3-4ปี ข้างหน้า เพราะครูที่มีความรู้และประสบการณ์เริ่มจะลดน้อยลง และวิชาชีพบางสายต้องอาศํยประสบการณ์ และความชำนาญ

รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง คำนี้ยังใช้ได้กับทุกเหตุการณ์ จะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปการศึกษาดูตัวเองก่อนดีมั้ยว่าการศึกษาเราเป็นแบบใดอยามัวแต่เปลี่ยนโดยไม่ดูบริบทอย่างอื่น มันเสียเวลาสิ้นเปลืองงบประมาณค่ะ

ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ครู ICT ยังขาดแคลน การที่นำครูไปอบรม ICT เพื่อมาสอนนักเรียน ไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันต้องลงทุนข้าง บุคลากรที่รู้เรื่องนี้โดยเฉพาะมาสอนดีกว่าครับ มันจะได้หลายอย่าง คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เวลาคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเสียไม่ต้องจ้างร้านข้างนอกทำอีกต่างหาก

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์หนูเห็นด้วยอย่างยิ่งควรพัฒนาที่ตรงจุดแล้วได้ผลเชิงประจักษ์..มีให้เห็นชัดเจน..ผลสัมฤทธ์ทางการเรียนของนักเรียนที่สูงขึ้นมาเพราะไปเน้นจุดการติวเตอร์ ชาแนล..ก็ต้องออกมาดี..แต่ได้รับความรู้ที่แน่นไหม..คงต้องติดตาม..ฝากอาจารย์ผลักดันให้เกิด.."ครูเพื่อศิษย์" ให้เกิดขึ้นมากๆ ต่อยอด KM ลงไปที่โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง.การปฏิรูปรอบสอง..คงชัดเจนค่ะ

โครงการหลายอย่างเดินผิดทางมากครับ...โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดฯในบางเรื่อง

อ่านข้อคิดเห็นของอาจารย์แล้วถึงบางอ้อหลายอย่างครับ

สิ่งที่ต้องสร้างก่อนอย่างอื่นทั้งหมดคือมโนธรรมสำหรับคนที่จะเป็นครุต้องเป็นครูด้วยหัวใจไม่ใช่เป็นครูเพราะไม่มีที่จะไป ต่อจะนโยบายจะเป็นเช่นไรถ้าคนเป็นครูเป็นหัวใจที่ความเข้าใจความหมายของคำว่า "ครู" แล้วลูกศิษย์ต้องได้ดี

เห็นด้วยกับที่ท่านเสนอแต่การประเมินสถานศึกษาก็ดูแต่กระดาษไม่ได้ดูตามสภาพจริงถ้ากระดาษมีไม่ครบการประเมินก็จะตกทันทีและนำโรงเรียนเล็กไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนใหญ่ เห็นว่าให้ครูธุรการมาก็ยังไม่หน้าครูต้องทำเหมือนเดิม

ทั้ง ๆที่รู้อย่างนั้นอย่างนี้ รู้ดีหมดทุกอย่าง แต่ก็ทำผิดพลาดได้อย่างไม่แครืเสียงใคร ไม่สนใจประเทศชาติ ถ้าจะโทษว่าใครผิดที่ทำการศึกษาชาติล้มเหลว ก็ต้องโทษมาตั้งแต่หัวขบวนมานั่นแหละ ที่เห็นแก่ประโยชนืส่วนตัวและพวกพ้อง จนลืมความเจริญของประเทศชาติ

จากคำวิจารณืดังกล่าวเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะว่าในปัจจุบันเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นก็มาจากการแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพรรคพวกกันทั้งนั้น ไม่มีจริงหรอกคนที่ทำเพื่อส่วนรวมร้อยเปอร์เซนต์อ่ะ มีตัวอย่างให้เห็นกันเยอะแยะว่าคนมีอำนาจก็มักจะเปิดทางให้กับพรรคพวกแสวงหาผลประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากการปรับโครงสร้างการศึกษาจะทำให้เด็กมีฐานความรู้ดีขึ้นนั้นมันไม่จริงเลย จากที่เห็นๆกันอยู่ในการเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษามีการเรียกเก็บใต้โต๊ะ เด็กที่เรียนดีกลับไม่มีที่เรียน แต่เด็กที่มีเงิน อยู่ในสังคมมีอำนาจกลับมีที่เรียนโรงเรียนดีๆๆ ทำให้สังคมการศึกษาไทยในปัจจุบันนั้นเด็กไทยมีความรู้ที่ต่ำมากเมื่อนำมาเทียบกับวัยวุฒิที่มี แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไม่เด็กมีความรู้ที่ลดลง จากที่เห็นว่าคะแนนในการวัดความรู้ขั้นพื้นฐานทำไม่คะแนนมันต่ำลงมาเรื่อยๆๆ และเด็กบางพวกเก่งนะ ถามในตำราตอบได้ แต่มักจะเสียรู้ในการใช้ชีวิตในสังคม ทำให้ผู้ที่เกี่ยวของคงจะต้องทำการไตร่ตรองดูอีกนิดว่า ทำไม่การศึกษาของไทยถึงเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี เพื่อที่จะทำให้การศึกษาของเด็กไทยมีมาตรฐานที่สูงขึ้นจากเดิมที่เป็นอยู่

การศึกษาไทยปฏิรูปอีก 2000 ครั้ง ก็อยู่อย่างนี้แหละครับ มีแต่จะถอยหลังเข้ารู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท