บันทึกการเมืองไทย : เงินกระตุ้นความมักง่าย และมักมาก



          ที่จริงเขาเรียกงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งโดยหลักการเป็นสิ่งที่จำเป็น   แต่วิธีดำเนินการ มักอ้างความเร่งด่วนทำงานแบบมักง่าย   และก่อความน่าสงสัยว่าจะตกเป็นโอกาสของคนมักมาก (ในผลประโยชน์อันมิชอบ) หรือไม่


          ในการประชุม “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ” ของมูลนิธิแพทย์ชนบท ที่พัทยา วันที่ ๒๘ ส.ค. ๕๒   มีคนยกตัวอย่างการออกแบบกั้นชั้นล่างของสถานีอนามัย ด้วยงบกระตุ้นเศรษฐกิจ SP2   โดยกำหนดแบบก่อสร้างตายตัวมาจากส่วนกลาง ให้มีประตูเดียว    แก้ไขแบบไม่ได้เพราะต้องก่อสร้างให้เสร็จโดยรวดเร็วเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ    คนเล่า ซึ่งมาจากสถานีอนามัย บอกว่าเท่ากับก่อสร้างเพื่อจะทุบใหม่ เพื่อเจาะประตูและหน้าต่างเพิ่ม 


          มีคนเล่าว่าเงินกั้นผนังนี้ งบ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อหนึ่งสถานีอนามัย   มีงบสำหรับ ๑,๖๐๐ แห่ง   กองแบบแผนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกแบบมาตรฐาน ๓ แบบ   ส่งให้ สสจ. ระบุว่าจะเอาแบบไหนภายใน ๒ วัน    ถ้ามัวชักช้าก็เท่ากับไม่เอา    คือต้องเลือกระหว่าง ๓ แบบกับไม่ได้งบประมาณเลย    สสจ. ก็ต้องกาเลือก ๑ แบบไป    เรื่องเล่านี้รายละเอียดที่ได้บางส่วนอาจไม่แม่นยำนัก


          หมออีกคนหนึ่ง ต้องการทำงานสร้างสรรค์ ลาออกจาก รพช. ไปทำงานเป็นลูกน้องเจ้าหน้าที่ของสถานีอนามัย   ซึ่งปรับเป็น รพสต. (โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประจำตำบล)   เล่าว่า รพสต. คำชะอี  จ. มุกดาหาร    ได้งบประมาณ ๘ แสน โดยมีรายการครุภัณฑ์ให้เลือกว่าจะเอาอะไร   ปรากฎว่ารายการใหญ่ๆ ราคาสูง เป็นสิ่งที่ โรงพยาบาลมีอยู่แล้ว   ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม   แต่ครุภัณฑ์ที่ต้องการอย่างยิ่ง ไม่มีในรายการ    และไม่สามารถเขียนขอเป็นพิเศษได้    ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้อยู่ในงบ SP2 หรือไม่    แต่เขาเอามาเล่าเพื่อให้เห็นความแข็งทื่อในการบริหารของราชการ    หมอคนนี้ชื่ออนุวัตร แก้วเชียงหวาง


          เอามาลงบันทึกไว้ เพื่อจะบอกว่าประเทศของเรายังสามารถใช้เงินภาษีอากรของประชาชนให้ก่อผลดีต่อส่วนรวมได้อีกมาก   หากการบริหารราชการมีความยืดหยุ่นแต่ตรวจสอบ (แบบ postaudit) จริงจัง    สตง. และ กพร. น่าจะได้เอาใจใส่   และพวกเราทุกคนก็ต้องเอาเรื่องที่ควรปรับปรุงมาเล่าต่อสาธารณะ   เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

วิจารณ์ พานิช
๒๘ ส.ค. ๕๒
เชียงใหม่


                

หมายเลขบันทึก: 295490เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2009 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านอาจารย์Prof. Vicharn Panich ที่เคารพ

  • ผมก็ได้ยินเขาเล่าเหมือนกัน คนเล่ายืนยันว่าเห็นมากับตา สัมผัสมากับมือ
  • มีผู้บริหารในหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนกลางใช้วิธีเอาเงินงบประมาณแผ่นดินใส่กระเป๋าแบบนี้
    -มีการอนุมัติโครงการจากต้นสังกัดในส่วนกลางให้ลูกน้องของตนที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่  และมีการบอกกล่าวกันเป็นการส่วนตัวว่า โครงการที่ว่าได้รับอนุมัตินี้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณตามมาก็ต่อเมื่อเจ้าของโครงการ(ลูกน้องของเจ้านายในส่วนกลาง) ส่งเงินสดไปให้ในอัตราร้อยละ  40 ของเงินงบประมาณของโครงการนั้น
    -สมมติว่างบประมาณของโครงการหนึ่ง 1 ล้านบาท  ถ้าเจ้าของโครงการทำเต็มที่ก็คงเหลือเงินทำจริง ๆแค่ 6000,00.00 บาทเท่านั้น
    -แต่ย่อมเป็นไปไม่ได้  ดังนั้นที่แน่ ๆ งบประมาณแผ่นดินจะลงไปเป็นประโยชน์จริงกับสาธารณะจึงน่าจะน้อยกว่า 600,000.00 บาท สำหรับงบประมาณที่จ่ายจริง 1,000,000.00 บาท
  • เอาเรื่องแบบนี้มาพูด กลัวเหลือเกินว่าจะถูกมองว่าไม่สร้างสรรค์ แต่เพราะเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ที่ว่า "ต้องเอาเรื่องที่ควรปรับปรุงมาเล่าต่อสาธารณะ   เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี"
  • สตง. และ กพร.คงตามดูไม่ไหว เพราะคนปฏิบัติเขามีวิธีการทำที่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการทุกอย่าง
  • เรื่องโกงเงินหลวง คนทั่ว ๆไปก็พูดว่าเขารู้กันทั้งนั้นแหละลุง มันเป็นเรื่อง ของไก่ กับงูที่ต่างเห็นตีน เห็นนมกัน แต่ในวงราชการไม่มีใครทำตัวเป็นเจ็กเชือดคอไก่เลย จริง ๆแล้ว เนื่องจากคนระดับเจ้านาย มีตำแหน่งใหญ่ ๆ สูง ๆ นั่นแหละตัวการสำคัญ
  • ตราบใดการเข้าสู่ตำแหน่งบริหารยังต้องมีการวิ่งเต้น  มีการใช้เงินซื้อตำแหน่งกันอยู่ ยิ่งตำแหน่งสูงก็ต้องหาทางถอนทุนมาก ๆ แล้วจะมีใครเป็นเสาหลักของความซื่อสัตย์สุจริตเล่าครับ


paaoobtong
10/09/52
22:13

เรียน อจ.วิจารณ์ พานิช

ต้องขอชื่นชมความกล้าหาญ ที่หมออนุวัตร แก้วเชียงหวาง ออกมาบอกกล่าวเล่าขานให้สาธารณชนได้รับรู้ และจะสามารถเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้ หากพวกเราชาวประชาที่ว่า คนเล็กๆเช่นนี้ ช่วยกันเผยแพร่และบอกต่อ ๆกันไปเรื่อยๆ จากเสียงเล็กๆก็แผ่ขยายกลายเป็นเสียงใหญ่ๆได้ในสังคม คล้ายดั่งระเบิดปรมาณูทางความคิด และเชื่อเหลือเกินว่า ข้าราชการและนักการเมืองกังฉินพวกนี้ จะมียางอายก็ต่อเมื่อถูกจับโกหกได้ เมื่อกลายเป็นข่าว ชาวบ้านบ้านนินทา จากหน้าหนังสือพิมพ์และข่าวลือในอินเตอร์เน็ต นี่คือ action plan แบบ low cost & easy act. สำหรับการปราบคอรัปชั่นยุคนี้ ที่ทุกคนทำได้ แม้แต่เด็กตัวเล็กๆก็ทำได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท