แถลงการณ์คณะกรรมการปฏิรูปว่าด้วยแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ


แถลงการณ์คณะกรรมการปฏิรูป
ว่าด้วยแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ

 

เรียนพี่น้องประชาชนไทยที่รักทุกท่าน

 

          ท่ามกลางความวิปริตแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะข้าวของแพง และความไม่แน่นอนของบรรยากาศทางการเมือง พวกเราทุกคนคงรู้สึกคล้ายกันคือ ชีวิตในประเทศไทยเวลานี้หาความเป็นปกติสุขมิได้

 

          อันที่จริงการเผชิญกับความยากลำบากของชีวิตนั้น นับเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราต่างกันมากในโอกาสเอาชนะอุปสรรค คือการมีอำนาจจัดการตัวเองไม่เท่ากัน

 

          ในสภาพที่เป็นอยู่ คนไทยจำนวนมากล้วนต้องขึ้นต่ออำนาจของผู้อื่น ขณะที่คนหยิบ                  มือเดียวไม่เพียงกำหนดตัวเองได้ หากยังมีฐานะครอบงำคนที่เหลือ ความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้ ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง หากยังเป็นต้นตอบ่อเกิดของปัญหาสำคัญอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม

 

          ความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้นมีหลายแบบ และถูกค้ำจุนไว้ด้วยโครงสร้างทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว โครงสร้างอำนาจที่มีพลังสูงสุดและส่งผลกำหนดต่อโครงสร้างอำนาจอื่นทั้งปวงคือโครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง

 

          แน่ละ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์ดังกล่าวเคยมีคุณูปการใหญ่หลวงในการปกป้องแผ่นดินไทยให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติช่วงระยะผ่านจากสังคมจารีตสู่สมัยใหม่

 

          อย่างไรก็ดี เราคงต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าเมื่อเวลาผ่านไปนานนับศตวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมได้ทำให้การบริหารจัดการประเทศแบบรวมศูนย์กลับกลายเป็นเรื่องไร้ประสิทธิภาพ ในบางกรณีก็นำไปสู่การฉ้อฉล อีกทั้งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สลับซับซ้อนขึ้น

 

          ที่สำคัญคือการกระจุกตัวของอำนาจรัฐได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างสุดขั้วระหว่างเมืองหลวงกับเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้ไม่สามารถเปิดพื้นที่ทางการเมืองได้เพียงพอสำหรับประชาชนที่นับวันยิ่งมีความหลากหลายกระจายกลุ่ม

 

          การควบคุมบ้านเมืองโดยศูนย์อำนาจที่เมืองหลวงทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ กระทั่งดูแลตัวเองไม่ได้ในบางด้าน อำนาจรัฐที่รวมศูนย์มีส่วนทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในหลายที่หลายแห่ง  ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยวิธีกำหนดนโยบายจากส่วนกลางนั้น ยิ่งส่งผลให้ท้องถิ่นไร้อำนาจในการจัดการเรื่องปากท้องของตน 

 

          ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมให้เลวลงด้วยเงื่อนไขของยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ

 

          การที่รัฐไทยยังคงรวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชาสังคมไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่กลับมีอำนาจน้อยลงในการปกป้องสังคมไทยจากอิทธิพลข้ามชาตินั้น นับเป็นภาวะวิกฤตที่คุกคามชุมชนท้องถิ่นต่างๆเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นแทบจะป้องกันตนเองไม่ได้เลย เมื่อต้องเผชิญกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนมากกว่า

 

          เมื่อสังคมถูกทำให้อ่อนแอ ท้องถิ่นถูกทำให้อ่อนแอ และประชาชนจำนวนมากถูกทำให้อ่อนแอ ปัญหาที่ป้อนกลับมายังศูนย์อำนาจจึงมีปริมาณท่วมท้น ทำให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ล้วนต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องที่ล้นเกิน ครั้นแก้ไขไม่สำเร็จทุกปัญหาก็กลายเป็นประเด็นการเมือง

 

          ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงนี้ คณะกรรมการปฏิรูปจึงขอเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการถึงระดับถอดสายบัญชาการของส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่นออกในหลายๆด้าน และเพิ่มอำนาจบริหารจัดการตนเองให้ท้องถิ่นในทุกมิติที่สำคัญ

 

          อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นจะต้องไม่ใช่การสร้างระบบรวมศูนย์อำนาจขึ้นมาในท้องถิ่นต่างๆ แทนการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง หากจะต้องเป็นเนื้อเดียวกับการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชนโดยรวม

 

          กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจมีเจตจำนงอยู่ที่การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งประกอบส่วนขึ้นเป็นองค์รวมของประชาชนทั้งประเทศ และด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องประสานประชาธิปไตยทางตรงเข้ากับประชาธิปไตยแบบตัวแทน มากขึ้น การเพิ่มอำนาจให้ชุมชนเพื่อบริหารจัดการตนเองต้องเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจตั้งแต่ต้น และอำนาจขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นก็จะต้องถูกกำกับและตรวจสอบโดยประชาชนในชุมชนหรือภาคประชาสังคมในท้องถิ่นได้ในทุกขั้นตอน

 

          ส่วนอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลนั้น แม้จะลดน้อยลงในด้านการบริหารจัดการสังคม แต่ก็ยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วนในเรื่องการป้องกันประเทศและการต่างประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีบทบาทสำคัญในการประสานงานและอำนวยการเรื่องอื่นๆในระดับชาติ ดังที่ชี้แจงไว้ในข้อเสนอฉบับสมบูรณ์

 

          คณะกรรมการปฏิรูปขอยืนยันว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในทิศทางดังกล่าวมิใช่การ รื้อถอนอำนาจรัฐ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีผลต่อฐานะความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย   หากยังจะเสริมความเข้มแข็งให้กับรัฐไทย และช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อรัฐไปด้วยพร้อมๆกัน

 

          นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่าการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่นก็ดี และการกระจายอำนาจจากรัฐสู่ภาคประชาสังคมโดยรวมก็ดี ไม่เพียงจะช่วยลดความเหลือมล้ำในสังคม แต่ยังจะส่งผลอย่างสูงต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติ ทั้งนี้เพราะมันจะทำให้อำนาจสั่งการและผลประโยชน์ที่ได้จากการกุมอำนาจในส่วนกลางมีปริมาณลดลง ผู้ชนะบนเวทีแข่งขันชิงอำนาจไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างไปหมด และความขัดแย้งก็ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเอาเป็นเอาตาย กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ แท้จริงแล้วคือการปฏิรูปการเมืองอีกวิธีหนึ่ง 

 

          ในด้านความอยู่รอดมั่นคงของสังคม การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจยังนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการอยู่ร่วมกับกระแสโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้เนื่องเพราะการปล่อยให้ประชาชนในท้องถิ่นที่อ่อนแอตกอยู่ภายใต้อำนาจของตลาดเสรี โดยไม่มีกลไกป้องกันตัวใดๆ ย่อมนำไปสู่หายนะของคนส่วนใหญ่อย่างเลี่ยงไม่พ้น

 

          คณะกรรมการปฏิรูปตระหนักดีว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในระดับลึกซึ้งถึงรากไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่เราก็เชื่อว่าการปรับปรุงประเทศชาติในทิศทางข้างต้นมีความเป็นไปได้ ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่มีฉันทานุมัติว่าสิ่งนี้คือกุญแจดอกใหญ่ที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งโรจน์ของบ้านเมือง

 

          ดังนั้น เราจึงใคร่ขอเรียนเชิญประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า สื่อมวลชนทุกแขนง ตลอดจนพรรคการเมืองทุกพรรคและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มมาช่วยกันพิจารณาข้อเสนอชุดนี้อย่างจริงจังตั้งใจ เพื่อจะได้นำบรรยากาศสังคมไปสู่การวางจังหวะก้าวขับเคลื่อนผลักดันให้การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจปรากฏเป็นจริง

 

 

 


ด้วยมิตรภาพ
คณะกรรมการปฏิรูป
๑๘ เมษายน ๒๕๕๔

 
หมายเลขบันทึก: 436154เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2011 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

อ่านแถลงการณ์แล้ว มีความเห็นด้วยในหลักการแต่ยังไม่มั่นใจในหลักการปฎิบัติที่จะทำให้เป็นจริงได้..เพราะกลัวสภาพที่อาจารย์ได้กล่าวไว้จะเกิดขึ้นคือเมื่อโอนถ่ายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้วจะทำให้เกิดศูนย์อำนาจแห่งใหม่ที่เปลี่ยนจากรัฐบาลกลางเป็นอปถแต่ละแห่งอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ในหลายๆพื้นที่..

อ่านแล้วรู้เลย สำนวนเชยๆ แบบนี้เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

วนเวียนอยู่แต่กรอบคิดเดิมๆ ลอยๆ ไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม ไม่เชื่อลองย้อนกลับไปอ่าน

ปาฐกถาของเสกสรรค์ดูในที่ต่างๆ จะพบว่ามีลักษณะซ้ำๆ ไม่ต่างกัน เชื่อเถอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท