อย่าหลงกลเปิดอ้าซ่า


         ผมเห็นกรณีการใช้เว็บไซต์ YouTube ของ Google ลงเรื่องราวโจมตีเบื้องสูงของประเทศไทย   แล้วกระทรวง ICT ดำเนินการบล็อกเว็บไซต์   ก็ถูกหน่วยงานระหว่างประเทศที่คอยเรียกร้องการเปิดเสรีด้าน ICT โวยวาย   ว่าประเทศไทยทำผิดกติกาการเปิดเสรีด้านการสื่อสารและการแสดงออก

         ทำให้ผมย้อนกลับไปสมัย พ.ศ.2534 - 2540 ที่ประเทศไทยถูกประเทศตะวันตกขุดบ่อล่อว่า ต้องเปิดเสรีการเงิน   แล้วไทยก็จะเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคตะวันออกไกล   ไทยเราหลงกล  เปิดเสรีการเงินโดยไม่มีกลไกควบคุมตรวจสอบ   เศรษฐกิจไทยล่มเพราะการโจมตีค่าเงินจากต่างชาติ   และในที่สุดคนไทยทั้งประเทศก็ต้องร่วมกันรับใช้หนี้ที่คนรวย (บางคน) และคนต่างชาติร่วมกันกอบโกยไป

         นี่คือผลของการหลงกลเปิดอ้าซ่าด้านการเงิน

         ผมหวังว่าประเทศไทยจะไม่หลงกลเปิดอ้าซ่าทาง ICT ซ้ำรอยอีก

วิจารณ์  พานิช
 17 เม.ย.50

หมายเลขบันทึก: 90937เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2007 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 00:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตะวันตกแทรกแซงเรา ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม

รุกรานเราทุกแนว พวกเราต้องช่วยกันครับอาจารย์

 

 

ด้วยความเคารพครับอาจารย์ ผมมีความเห็นดังต่อไปนี้ครับ

ผมเชื่อว่าการเปิดเสรีทางการเงินกับการเปิดเสรีทางการสื่อสารและการแสดงออกนั้นเป็นประเด็นที่ต่างกันอย่างมากครับ

การเปิดเสรีทางการเงินนั้นต้องใช้ความรู้ทางการเงินในการต่อสู้กับกลวิธีทางการเงินจากประเทศที่มีความสามารถทางการเงินมากกว่าประเทศไทย ในช่วงนั้นมีคนไทยไม่เห็นด้วยกันอย่างมากแต่รัฐบาลสมัยนั้นกลับตัดสินใจทำ และปัจจุบันนี้กลุ่มคนที่ตัดสินใจเปิดเสรีทางการเงินยังเดินลอยนวลในประเทศไทยคอยโยนความผิดให้แก่คนอื่นในเรื่องต่างๆ อย่างไม่เดือดร้อน

แต่ในเรื่องเปิดเสรีทางการสื่อสารและการแสดงออกนั้นผิดกัน คนที่เรียกร้องให้เปิดเสรีทางการสื่อสารและการแสดงออกนั้นเป็นคนไทยล้วนๆ ครับ แต่กลุ่มคนที่กุมอำนาจอยู่ไม่ยอมฟัง เราต้องขอร้องต่างชาติให้มาช่วยสะกิดใจกลุ่มคนที่กุมอำนาจ แต่กลุ่มที่กุมอำนาจอยู่ก็ยังไม่ยอมฟังเหมือนเดิม เรื่องนี้น่าหนักใจจริงๆ

สิทธิในการสื่อสารและแสดงออกอย่างเสรีนั้นสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น "ประเทศของประชาชน" มาก หากเรายอมปล่อยให้กลุ่มคนบางกลุ่มมีอำนาจควบคุมสิทธิพื้นฐานเหล่านี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศของกลุ่มศักดินา คนไทยธรรมดาจะเป็นแค่กลุ่มคนที่รอรับคำสั่งและทำตาม ไม่มีความหมาย เป็นแค่ชนชั้นคนทำงาน ไม่มีคุณค่า

เรื่องนี้คือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มศักดินาที่ต้องการครอบครองอำนาจกับกลุ่มประชาชนที่ต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองครับ

เรื่องนี้ต่างชาติไม่เกี่ยวครับ

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

เรียน อ. วิจารณ์

ผมเห็นด้วยกับ อ. ธวัชชัยครับ การเปิดเสรีทางข้อมูลข่าวสารมีผลโดยตรงต่อการจัดการความรู้ที่อาจารย์กำลังทำอยู่ครับ

ความรู้ไม่ได้ล่องลอยอยู่ในโลกของนามธรรม หรือในความคิดของใครคนหนึ่งครับ อันนี้เป็นความหมายของ "ความรู้" ตามหลักของปรัชญาด้าน epistemology ครับ แต่คำว่า "ความรู้" ในแง่ของการบริหารจัดการความรู้ต้องเป็นรูปธรรม สามารถใช้เป็นต้นทุนเพื่อบริการกิจการขององค์กรได้

และความรู้ในแง่รูปธรรมนี้ หากไม่อยู่ในรูปของหนังสือตำรา ก็ในรูปของการพบปะหรือประชุมกัน แต่ปัจจุบันนี้ยอมรับกันว่า IT มีบทบาททั้งเป็นตำรา และเป็นที่ที่เกิดการประชุมกันครับ

นั่นคือความรู้ที่เป็นรูปธรรมกับ IT นั้นแยกกันไม่ออกครับ เรามองอย่างนี้ก็ได้ว่าความรู้รูปธรรมเป็นเหมือนต้นทุน เหมือนกับทรัพยากรทางการเงินที่เป็นต้นทุนให้องค์กรธุรกิจ

แล้วหากมีฝ่ายหนึ่งกักเงินเอาไว้ เช่นฝ่ายบัญชีกักเงินเอาไว้ ไม่ปล่อยให้ฝ่ายอื่นๆเอาไปใช้ในกิจการของบริษัท บริษัทจะไม่เจ๊งทนไหวหรือครับ?

ทำนองเดียวกัน หากประเทศ โดยกระทรวงไอซีทีกักต้นทุนสำคัญได้แก่ความรู้ที่อยู่ในรูปข้อมูลสารสนเทศ ไม่ปล่อยให้ฝ่ายอื่นๆใช้ประโยชน๋์ ประเทศจะไม่เจ๊งหรือครับ?

กระทรวงไอซีทีอาจอ้างว่า ที่เรียกว่าเป็น "ความรู้" นั้นไม่มีประโยชน์ ไร้สาระ ฯลฯ แต่เรื่องนี้กระทรวงตัดสินฝ่ายเดียวได้หรือครับ?

และ่หากเป็นอย่างนั้นจริง สิ่งเหล่านี้จะไม่มีบทบาทอะไรเลยในการจัดการความรู้ เพราะเป็นต้นทุนด้อยคุณภาพ  การกักเอาไว้แปลว่าสิ่งเหล่านี้มีค่าอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งใช่มั้ยครับ?

หากเป็นต้นทุนด้อยคุณภาพจริง ก็ย่อมไม่มีใครเอาไปใช้ หรือสนใจครับ การคัดกรองข้อมูลที่ด้อยคุณภาพ ควรเป็นเรื่องของสมาชิกของอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ไม่ใช่กระทรวงไอซีทีคิดแทนคนอื่นครับ 

ด้วยความเคารพอาจารย์เสมอครับ

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สวัสดีครับ 

ผมเห็นด้วยกับ  Prof. Vicharn Panich  นะครับ ประเทศเราจะอยู่รอดอย่างสงบสุขได้ก็ด้วยองค์ประกอบทางสังคมหลายส่วน การทำลายส่วนใสส่วนหนึ่ง ย่อมเป็นสาเหตุให้ส่วนที่เหลือถูกทำลายได้ง่ายๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท