ประวัติหมากรุกไทยและกติกาการเล่นหมากรุก


หมากรุกไทย ต้องอยู่คู่ชาติไทย โปรดร่วมใจอนุรักษ์และฝึกเล่น

หมากรุกไทยขั้นพื้นฐาน

อุปกรณ์ในการเล่นหมากรุกไทย ประกอบด้วย

ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะนั่งเผชิญหน้ากัน มีกระดานหมากรุกวางอยู่ตรงกลาง
การตั้งตัวหมากรุกและรูปร่างของตัวหมากรุก แสดงไว้ในภาพ มีข้อสังเกตคือ เม็ดต้องตั้งอยู่เบื้อง
ขวาของขุนแต่ละฝ่าย
 
                        

 

ต้องการกลับไปที่เมนูหลักหมากรุกไทยคลิก              

http://gotoknow.org/blog/thaichess

           การเล่นหมากรุกปรากฎว่ามีมาในประเทศอินเดียช้านานนับด้วยพันปี  พวกชาวอินเดียอ้างว่าหมากรุกเกิดขึ้น เมื่อครั้งพระรามไปล้อมเมืองลังกา นางมณโฑเห็นทศกรรฐ์เดือดร้อนรำคาญ ในการที่ต้องเปนกังวลคิดต่อสู้สงคราม ไม่มีเวลาเป็นผาศุก นางรู้ว่าจะชักชวนทศกรรฐ์ ให้พักผ่อนด้วยประการอย่างอื่น ก็คงไม่ยอม จึงเอากระบวรการสงคราม  คิดทำเปนหมากรุกขึ้น ให้ทศกรรฐ์เล่นแก้รำคาญ  มูลเหตุที่จะเกิดมีหมากรุก พวกชาวอินเดียกล่าวกันมาดังนี้ แต่ชื่อที่เรียกว่าหมากรุก เป็นคำของไทยเราเรียก พวกชาวอินเดียเขาเรียกหมากรุกว่า "จตุรงค์  เพราะเหตุที่คิดเอากระบวรพล ๔ เหล่า ทำเปนตัวหมากรุก คือหัสดีพลช้าง (ได้แก่โคน) ๑ อัศวพลม้า ๑ โรกะพลเรือ ๑ (พลเรือนั้นอธิบายว่าเพราะคิดขึ้นที่เกาะลังกา จึงใช้เรือแทนรถ) ปาทิกะพลราบ (ได้แก่เบี้ย) ๑ มีราชา (คือขุน) เปนจอมพล ตั้งเล่นกันบนแผ่นกระดานอันปันเปนตาราง ๖๔ ช่อง (อย่างกระดานหมากรุกทุกวันนี้)

ประวัติหมากรุกไทย
            เมื่อค้นคว้าจากหนังสือหมากรุกเท่าที่จะค้นหาได้ในหอสมุดแห่งชาติ สรุปได้ว่าตำนานหมากรุกมีที่มาคล้ายคลึงกัน และแทบทุกแห่งจะอ้างอิงจากหนังสือเล่มเดียวกันคือ ตำรากลหมากรุก ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณทั้งสิ้น ที่จะมีผิดแผกไปบ้างบางเล่ม เช่น ผู้ดัดแปลงหมากรุกจากเดิมจัตุรงค์ซึ่งมีผู้เล่นสี่คน มาเป็นหมากรุกที่มีผู้เล่นสองคน แทนที่จะเป็นมหาอำมาตย์สัสสะ ในประเทศอินเดีย บางเล่มเพี้ยนไปเป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่กรีก แต่ก็มีรายละเอียดคล้ายคลึงกัน

ประวัติผู้ประดิษฐ์ตัวหมากรุกไทย
            คัดจากบางตอนของบทที่ว่าด้วยตำนานหมากรุก หนังสือหมากรุกไทย ของบริษัทสุรามหาราษฎร จำกัด (มหาชน) พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ไม่แจ้งปีที่พิมพ์  มีข้อความดังนี้
            มีประวัติของหมากรุกไทยกล่าวไว้ว่า ปฐมกษัตริย์จีน ชื่อพระเจ้าฟูฮี  คิดตำราหมากรุกพิชัยยุทธตีเมืองเชนสีของชาวอัลไต หรือชาวไทยในอดีตเมื่อราว 2337 ปี ก่อนพุทธศักราช จนชาวอัลไตได้ถอยร่นไปทางทิศใต้และทางทิศตวันออก และมีการอพยพมาตั้งอาณาจักรอายลาวครั้งแรกเมื่อ 32 ปี ก่อนพุทธศักราช  ต่อมาหลังจากที่อาณาจักรอ้ายลาวแตก ชาวอัลไตก็ถอยร่นข้ามแม่น้ำโขง มาตั้งนครโยนก ประมาณปี พ.ศ.20 มีกษัตริย์ปกครองและได้มีพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามา
            เมื่อ พ.ศ. 301 มีการก่อสร้างเจดีย์และวัดซึ่งทำให้บ้านเมืองมีความเป็นอยู่เจริญขึ้นมาจนถึง พ.ศ. 902  ก็ถูกพวกมอญดำยึดเมือง และไล่ให้ชาวเมืองออกไปหาทองมาส่งส่วยซึ่งก็ได้พบทองร่อนเป็นจำนวนมากจนได้ชื่อว่า สุวรรณภูมิ
            ในปี พ.ศ. 918 พระเจ้าพรหมมหาราชได้คิดตำราพิชัยยุทธนา วางแผนหมากรุกระดมผู้คนทั้งเด็กผู้ใหญ่และคนชราทั้งชายหญิง ขึ้นลุกฮือทำการต่อสู้กวาดล้างพวกมอญดำถึง 6 ปี ตั้งแต่เมืองโยนกเชียงแสนจนถึงกำแพงเพชร ได้ประกาศขอบเขตเป็นอาณาจักรใหม่ของเมืองเชียงราย หากจะนับว่าเมืองเชียงรายเป็นชาวไทยก็ควรจะนับว่าราช
อาณาจักรชาวอัลไตหรือชนชาวไทยตั้งเป็นประเทศไทยโยนกตั้งแต่ พ.ศ. 20 โดยพระเจ้าอนุชิตกอบกู้เอกราชครั้งแรกได้สำเร็จ
            เมื่อ พ.ศ. 924 สมัยพระเจ้าพรหมมหาราช ผู้เจริญพระชนมายุเพียง 16 พรรษาเท่านั้น  ได้ทรงใช้เวลา 6 ปี ในการกรำศึกนั้น จึงเป็นที่เชื่อว่า ชนชาวไทยได้เอาหมากรุกจีนซึ่งเดินหมากตามเส้นเข้ามาประเทศไทยด้วย และตัวหมากรุกไทยได้ประดิษฐ์ในสมัยนี้เอง โดยให้เดินตามช่อง ตัวขุนจำลองมาจากที่ประทับของกษัตริย์หรือพระโกศ ตัวโคนจำลองมาจากพระเจดีย์ใหญ่ ตัวเม็ดจำลองมาจากเจดีย์เล็ก ตัวเรือจำลองมาจากป้อมค่ายทหาร เบี้ยจำลองมาจากหมวกทหาร ส่วนม้า นำมาจากหัวม้าในละครโดยตรง จึงไม่แปลกใจเลยที่มีหลักฐานปรากฎว่า ภาคเหนือและภาคอีสานเป็นต้นกำเนิดของหมากรุกไทยมาก่อน
            อนึ่ง มีผู้กล่าวไว้ว่าชาวเปอร์เซียเป็นผู้คิดค้นหมากรุกเล่นในหมู่นักรบ เพื่อคลายอารมณ์กระหายศึกนั้นไม่สามารถกำหนดชี้ชัดได้ เพราะกล่าวไว้ว่าชาวเปอร์เซียเล่นหมากรุก 4 คนและใช้ลูกเต๋าทอดด้วยแล้วยิ่งยากเชื่อถือ เนื่องจากลูกเต๋าเป็นของประดิษฐ์ชาวจีน จึงมีปัญหาที่น่าสงสัยว่าใครเป็นผู้คิดค้นการเล่นกันแน่ แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักฐานที่ปรากฏเมื่อสมัยโบราณ 4,000 ปีมาแล้วนั้น ชาวจีนได้รวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้ว แต่ในขณะที่ชาวอาหรับยังคงแตกแยกอยู่ ดังนั้นหลักฐานจึงค่อนมาทางจีนมากกว่า
            ประวัติการเล่นหมากรุกไทยสมัยแรกเริ่ม จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 20-2310 ยังไม่พบหลักฐาน ปรากฏว่ามีการกล่าวอ้างถึงการเล่นหมากรุกไทยในยุคนี้ แต่มีการกล่าวว่า  สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระราชสมภพที่เนปาลนั้น มีหมากรุกเล่นกันแล้ว แต่ไม่ได้กล่าวว่าเป็นหมากรุกอย่างใด แต่ที่เนปาลก็อยู่ใกล้จีนและทิเบตมากกว่า หากว่าประเทศไทยมีการเล่นหมากรุกกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าพรหมมหาราชนั้นแล้ว อีกประมาณ 876 ปีก็ถึงสมัยสุโขทัย ก็ยังไม่มีการกล่าวถึงไว้ ณ ที่หนึ่งที่ใด แต่ตามพื้นวัดนั้นมีแผ่นสี่เหลี่ยมอยู่เป็นอันมาก ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่าเป็นกระดานหมากรุก

ประวัติการเล่นหมากรุกไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2310 - 2325
            ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2318 เดือนอ้าย อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าวัย 72 ปี ผู้เหิมเกริมอาสานำไพร่พลฝีมือดี 35,000 คน คิดรุกรานผืนแผ่นดินไทย โดยยกพลเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองสุโขทัย กางตำราพิชัยสงครามเชิงรุก และเริ่มลงมือกวาดต้อนเสบียงอาหารสะสมกักตุนไว้ทันที
            พระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยพระยาจักรีและพระยาสุรสีห์ ทรงทราบยุทธศาสตร์เชิงรุกครั้งนี้เป็นอย่างดี หากแต่ครั้งนั้นมีรี้พลประมาณ 20,000 คนจึงจำต้องวางแผนพิชัยสงครามในเชิงรุกและรับด้วยหน่อยจู่โจมหลีกเลี่ยงการเข้าปะทะศึกใหญ่ โดยใช้แผนถอยเอาเชิง 2 ชั้น
            กล่าวคือ ให้พระยาจักรีและพระยาสุรสีห์  ตั้งหลักอยู่ที่เมืองพิษณุโลก กวาดต้อนเสบียงและผู้คน ตลอดจนรักษาฐานะเมืองเชียงใหม่ไว้ ด้วยหวังตรึงกำลังอะแซหวุ่นกี้ไว้ให้นานที่สุด ส่วนทัพหลวงนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีกลับเป็นฝ่ายเคลื่อนไหวประกอบกับหน่วยจู่โจม และหน่วยกองเพลิงป่า มุ่งหวังตัดเสบียงและจู่โจม รบกวนทำลายรี้พลพม่าทั้งกลางวันและกลางคืน หลังจากปะทะกันมาถึง 4 เดือน ต่างก็ขัดสนเสบียงอาหาร โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกยังมีผู้หญิงและเด็กมากมาย ครั้นกองเสบียงจากทัพหลวงถูกตัดขาด แผนการขั้นที่ 2  จึงได้เริ่มขึ้นโดยพระยาจักรีออกอุบายจำทำการรบใหญ่ ด้วยการเอาปี่พาทย์ประโคมศึกตามป้อมค่าย พร้อมยิงปืนใหญ่กรุยทางตั้งแต่เช้าจนค่ำ ส่วนพระองค์พร้อมด้วยพระยาสุรสีห์ ได้ทรงนั่งเล่นหมากรุกอยู่บนเชิงกำแพงเมือง ร้องเรียกให้อะแซหวุ่นกี้ขึ้นมาประลองฝีมือสักกระดาน
แผนการถอยทัพเอาชัยจึงสัมฤทธิ์ผลในเวลาสามทุ่มคืนนั้นโดยมีผู้หญิงและเด็กแต่งกายคล้ายทหารพกอาวุธทุกคนถอยไปตั้งทัพชั่วคราว ที่เพชรบูรณ์ แล้ววกลงใต้ไปตามแม่น้ำป่าสักและลพบุรีไปยังแถบพระพุทธบาทสระบุรี  แล้วอ้อมขึ้นไปอุทัยธานี ทำหน้าที่เป็นหน่วยจรยุทธหนักคอยตีดัดหลัง
            ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ หลังจากเสียเวลาติดตามไปตีเมืองเพชรบูรณ์ อย่างไร้ผลและขาดเสบียงเพิ่มเติมในที่สุด ก็ตั้งทัพอยู่กับที่ เป็นเวลาหลายเดือนไม่สามารถหาเป้าหมาย (ขุน) สำหรับโจมตีได้ ตัวเองกลับจะตกเป็นเป้านิ่งเลยตัดสินใจถอยทัพกลับพม่า ระหว่างทางถูกดักตีซ้ำเติมเสียรี้พลมากมาย กลับถึงพม่าอย่างสะบักสบอม
            ตำราพิชัยสงครามกล่าวว่า “ กองทัพเดินด้วยท้อง หมากรุกเดินด้วยสมอง “ นับตั้งแต่นั้นมา พม่ามิกล้ายกกองทัพใหญ่ มารุกรานไทยอีกเลย  ด้วยเกรงพระปัญญาบารมีของพระองค์ยิ่งนัก ยิ่งมาทราบว่าพระองค์ 2 พี่น้องทางโปรดกีฬาหมากรุกด้วยแล้ว โดยเฉพาะกลถอยเอาชนะของพระองค์นั้น เป็นที่เทิดทูนเคารพบูชา ที่พวกเราชาวไทยทุกคนทั้งหลายได้อยู่ยั่งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้

ประวัติการเล่นหมากรุกไทยตั้งแต่ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2526
            หลังจากการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 แล้ว ก็ได้ปรากฏว่ามีการเล่นหมากรุกกันมากในหมู่
พระราชวงศ์ ดังจะเห็นมีหมากรุกงาและเขาสัตว์ แสดงความเก่าแก่มานานจนงานั้นผุพังไปก็มี ตัวอ้วนกลมเตี้ยไม่ได้ขนาดก็มี
หมากรุกได้แพร่หลายไปตามหมู่เจ้านาย ไพร่พล หมู่ทหาร ข้าราชบริพาร และยังไปตามวัดวาอารามต่าง ๆ จนในที่สุดเข้าถึงประชาชนโดยทั่วไป  ดังจะเห็นมีตำรากลหอพระสมุดแห่งชาติ และตำราเคล็ดลับทางโคนที่ได้มาจากทางภาคอิสาน
การแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการ คงจะมีขึ้นบ้างเป็นการประลองฝีมือ แต่การพนันรายใหญ่มักจะมีในหมู่เศรษฐี ดังเช่นศึกชิงเรือสำปั้น ระหว่างนายโหมดกับเจ้านายพระองค์หนึ่งทางตำหนักเสาชิงช้า นอกจากศึกชิงเรือสำปั้นแล้ว ยังมีศึกผ้าขาวม้า ศึกสามเส้า ตอนงูกินหางและตอนจับงูอีกด้วย

ข้อมูลจาก กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และตำราพิชัยยุทธ น.ต.มณเฑียร รื่นวงษา

 

คำสำคัญ (Tags): #หมากรุกไทย
หมายเลขบันทึก: 218243เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2008 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สรุปความสำคัญของตัวละครในหมากรุก

อันดัยที่1 ขุน เหมือนแม่ทัพ ตายไม่ได้ ถ้าตายคือแพ้ (ภาษาหมากรุกเรียกว่า จน)

อันดัยที่2 เรือ มีความสำคัญรองจากขุน แต่ถูกกินได้

อันดัยที่3 ม้า มีค่ารองจากเรือ แต่ถูกกินได้

อันดัยที่4 โคน มีค่ารองจากม้า แต่ถูกกินได้

อันดัยที่5 เม็ด มีค่ารองจากโคน แต่ถูกกินได้

อันดัยที่6 เบี้ย มีค่ารองจากเม็ด แต่ถูกกินได้

หลักการเล่นหมากรุก (เหมือนกับตำราพิชัยสงคราม)

1 ต้องนำหมากที่มีค่าน้อยไปแลกกับหมากที่มีค่ามาก(นำทหารเลวไปสู้กับทหารชั้นดี)

2 การขึ้นหมากจะต้องทำให้คู่ต่อสู้เสียเปรียบหรือล่าถอย(เพราะคู่ต่อสู้ไม่อยากนำหมากที่มีค่ามากไปแลกกับหมากที่มีค่าน้อยของเรา)

3 ทำอย่างไรถึงจะทำให้ขุนตายหรือจน โดยที่ทหารของฝ่ายคู่ต่อสู้มากกว่าเราก็ตาม

4 ถ้าแม่ทัพหรือขุนของฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ถูกรุก(กิน)แต่เดินไม่ได้(ถ้าเดินจะถูกกิน)

และไม่มีหมากตัวอื่นเดินได้ อย่างนี้ถือว่าเสมอ (เรียกว่าอับ)

นี่แหละคือสาเหตุที่คนเล่นเก่งจะไม่มีวันแพ้เพราะใช้เทคนิคการอับ

5 เมื่อเบี้ยของฝ่ายที่เป็นรองหงายกลายเป็นเบี้ยหงาย สามารถนับศักดิ์หมากได้ 64 ตา

6 เมื่อฝ่ายที่เป็นรองเหลือขุนเพียงตัวเดียว สามารถนับศักดิ์กระดานได้ 8-64 ตาได้

(นับแค่ไหน ดูสมุนของฝ่ายตรงข้ามว่าเหลืออะไรบ้าง เรือ2ลำนับ8 1ลำนับ16

โคน2ใบนับ22 1ใบ นับ 44 ม้า 2ตัว นับ32 1ตัวนับ64

นี่แหละคืออีกสาเหตุหนึ่งที่คนเล่นเก่งจะไม่มีวันแพ้อย่างมากก็เสมอ

เขียนเรื่อย ๆ นะครับ นาน ๆ จะมีคนเขียนเรื่อง "หมากรุกไทย" สักที

ฤาว่า คนไทยจะลืมเลือนไปหมดแล้วครับ

ขอบคุณมาก :)

กร ( กำลังหัดเล่นครับ )

ถ้าสมุนของฝ่ายตรงข้ามเหลือ เรือ โคน ม้า อย่างละตัวจะต้องนับอย่างไรครับ ขอบคุณมากครับ

คำถามของคุณกร

ถ้าสมุนของฝ่ายตรงข้ามเหลือ เรือ โคน ม้า อย่างละตัวจะต้องนับอย่างไรครับ ขอบคุณมากครับ

ให้ดูศักดิ์ของหมากตัวใหย่สุดเท่านั้นครับ ไม่ต้องดูตัวที่น้อยกว่าดังนี้

เหลือโคน2 กับเรือ1 ก็นับ เรือ คือ 16

เหลือโคน1 กับม้า1 ก็นับ โคน คือ 44

ถ้าหมากหงายหมด เหลือเรือ 2 ไม่ดีนะครับเพราะนับแค่ 8 โอกาสเเสมอ สูงมาก

วิธีแก้คือนำเรือไปแลกกับหมากอื่นจะได้นับ 16 ยาวอีกหน่อย

กรณีเหลือเบี้ยหงาย กี่ตัวก็ได้ หรือมี ม้า อีก 1 ตัว ก็นับ 64 ครับ

หมายเหตุ เวลานับศักดิ์กระดานนับเมื่อคู่ตอสู้เหลือขุนตัวเดียว โดยฝ่ายนันคือคู่ตอสู้

เวลาเริ่มนับให้นับหมากทุกตัวบนกระดานก่อนแล้วจึงนับต่อเมื่อเริมเดินขุน หากนับครบแล้วฝ่ายเป็นต่อไม่สามารถ รุกกินขุนได้ ถือว่าเสมอครับ

นี่คือเทคนิคที่คนเก่งจะมีโอกาสแพ้คนอ่อนน้อยมาก

มี่คนเล่าว่าเซียนหมากรุก คนหนึ่งเล่นกํบผู้เล่นครั้งละ 10 คน (10 กระดาน) คือแกเเดินกระดานที่1 แล้วก็ไปเดินต่อกระดานที่2 ไปเรื่อย โดยไม่ต้องใช้เวลาคิด ปร่กฎว่า ผู้เล่นทั้ง 10 คน ไม่สามารถเอ่ชนะแกได้เลย

มาดูกฏ กติกาจากตำราหอสมุดแห่งชาต ซึ่งถือว่าเป็นตำราหมากรุกเล่มแรกของไทยครับ

คำที่เกี่ยวข้องกับหมากรุกไทย

กลหมากรุก เป็นรูปแบบของหมากรุกทั้งสองฝ่าย ที่ปรมาจารย์หรือผู้ชำนาญได้ค้นคว้า หรือมีประสบการณ์ว่า ถ้าหมากทั้งสองฝ่ายตั้งอยู่ในรูปที่กำหนด ฝ่ายใดเดินก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ และชนะในกี่ทีเรียกว่าเป็นกลหมากรุก และยังมีกุญแจกลเพื่อบอกวิธีการเดินทั้งการไล่ และการหนีที่ดีที่สุดไว้ด้วย มักจะเป็นหมากรุกที่เล่นไปกินไปจนเหลือหมากน้อยตัว เรียกว่า หมากรุกปลายกระดาน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า end play เมื่อสนใจกลหมากรุกใดก็จะตั้งตัวหมากรุกให้ตรงตามกล แล้วพยายามไล่ให้จนตามกำหนด ฝ่ายหนีก็ต้องหนีให้ได้นานตามกำหนด

กลหมากรุก ที่ผู้ชำนาญได้ค้นคว้าไว้นั้น หลายกลจะมีชื่อกำกับไว้ด้วย ชื่อของกลอาจชี้ให้เข้าใจถึง รูปแบบของการตั้งหมาก หรือเป็นคำอธิบายลักษณะการเดิน เช่น จรเข้ข้ามฟาก ปลาดุกยักเงี่ยง พระรามเข้าโกษฐ์ เป็นต้น

หนังสือกลหมากรุกซึ่งมีคุณค่า และถูกอ้างอิงบ่อยที่สุดเล่มหนึ่งคือ ตำรากลหมากรุก ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธรให้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2465 พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไท ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์คำนำ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2465 ซึ่งในบทความนี้ก็ได้อัญเชิญทั้งคำนำ และตำนานหมากรุกไทยไว้ทั้งหมด และเป็นอักขระ สะกด การันต์ตามของเดิมด้วย

การนับ

เมื่อเล่นหมากรุกไปจนทั้งสองฝ่ายต่างเหลือตัวน้อยได้เปรียบเสียเปรียบกันไม่มาก และทั้งสองฝ่ายต้องไม่มีเบี้ยคว่ำ หากจะให้เล่นต่อไปโดยไม่มีกำหนดก็จะเป็นการเสียเวลา จึงกำหนดให้มี การนับ โดยฝ่ายที่เป็นรองจะขอให้มีการนับ และจะเริ่มนับเมื่อมีการร้องขอ ในกรณีนี้จะนับตั้งแต่ 2 เมื่อถูกขอให้นับไปจนถึง 64 เท่ากับจำนวนตาในกระดานหมากรุก เรียกการนับแบบนี้ว่า นับตาม ศักดิ์กระดาน ถ้านับไปถึง 64 แล้วฝ่ายไล่ยังไม่สามารถไล่ให้จนได้ ถือเป็นเสมอกัน

ถ้าฝ่ายเสียเปรียบเหลือ เพียงขุนตัวเดียว ฝ่ายได้เปรียบมีตัวมากกว่าและไม่มีเบี้ยคว่ำ กติกากำหนดให้มีการนับ วิธีนับ ต้องนับตัวหมากรุกทั้งหมดที่มีอยู่ในกระดาน รวมขุนทั้งสองฝ่าย เมื่อฝ่ายหนีเดินครั้งแรกก็ ให้นับต่อจากจำนวนตัวหมากรุกที่มีอยู่ในกระดานขณะนั้น และนับต่อไปจนถึงกำหนดสูงสุดตามศักดิ์ของตัวหมากรุกที่ฝ่ายไล่มีอยู่เรียกว่า ศักดิ์หมาก โดยใช้เกณฑ์ดังนี้ มีหลักจำง่ายๆว่า เรือ 26 โคน 44 ม้า เม็ดหรือเบี้ยหงาย 64 มีรายละเอียดคือ

เรือคู่ 8 เรือเดี่ยว 16 โคนคู่ 22 โคนเดี่ยว 44 ม้าคู่ 32 ม้าเดี่ยว 64 เบี้ยหงายไม่ว่ากี่ตัว 64

(โคน 2 ม้า 2 เบี้ยหงาย 2 นับ 44 ม้า 2 เบี้ยหงาย 3 นับ 64 เรือ 2 เบี้ยหงาย 2 นับ 8 ถือการนับหมากที่มีศักดิ์สูงที่สุด)

ตัวอย่าง ฝ่ายขาวเป็นฝ่ายเดินก่อน รูปที่ 2 ยังไม่เริ่มนับเพราะฝ่ายดำยังมีเบี้ยคว่ำอยู่ สมมติฝ่ายขาวเดินเรือกินเบี้ยคว่ำ จะมีหมากเหลือรวม 5 ตัว ตามรูปที่ 2 ฝ่ายดำเมื่อเดินหนีครั้งแรกจะเริ่มนับ 6 เมื่อนับไปถึงทีที่ 8 ถ้าฝ่ายขาวรุกจนได้ ถือว่าฝ่ายดำแพ้ ถ้าฝ่ายดำสามารถเดินนับ 9 ได้ ถือว่าเสมอกัน โดยไม่ต้องเดินต่อ ตามตัวอย่างนี้ ถ้าฝ่ายขาวยังไม่กินเบี้ยคว่ำในตอนแรก ก็สามารถไล่ให้จนได้โดยไม่ต้องนับ

กิน

หมายถึง การเดินหมากของฝ่ายหนึ่งในเขตอำนาจของหมากตัวนั้น ไปกินหมากฝ่ายตรงกันข้ามได้ โดยฝ่ายกินต้องวางหมากลงไปบนตาของหมากที่ถูกกิน และยกหมากตัวที่ถูกกินออกนอกกระดาน หมากตัวที่จะถูกกินต้องอยู่ในเขตอำนาจของหมากที่จะกิน ฝ่ายตรงข้ามก็จะกินตอบแทนได้ในทำนองเดียวกัน

ในกรณีกินปกติ หมากตัวใดเดินได้อย่างไรก็กินได้ตามตาที่สามารถเดินไปได้แต่มีข้อยกเว้นคือเบี้ยคว่ำซึ่ง เวลาเดินเดินตรงไปข้างหน้าทีละตา แต่เวลากิน ต้องกินตาทะแยงด้านหน้าซ้ายหรือขวาได้สองทิศ แต่ถ้าเบี้ยคว่ำตัวนั้นหงายเป็นเบี้ยหงายแล้ว สามารถเดินและกินตาทะแยงได้ทั้งสี่ทิศ และไม่อาจเดินตรงๆเหมือนเบี้ยคว่ำ

อนึ่ง กติกาหมากรุกไทยไม่ได้บังคับว่าเมื่อถึงตากินแล้ว ต้องกิน จะกินหรือไม่กินก็แล้วแต่ผู้เล่น

กินรุกกิน

ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งกินหมากของอีกฝ่ายหนึ่ง และตาที่กินนั้นเป็นตาที่รุกขุนได้ด้วย เรียกว่า กินรุก(กินด้วย รุกด้วย)

กินสอง

ในการเล่นปกติถ้าฝ่ายหนึ่ง กินหมากของอีกฝ่ายหนึ่งไปหนึ่งตัว อีกฝ่ายหนึ่ง ก็น่าจะกินหมากของปรปักษ์เป็นการตอบแทน เรียกว่ากินแลกเปลี่ยนกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด สามารถกินหมากฝ่ายตรงข้ามได้สองตัว โดยเสียหมากของตนไปเพียงหนึ่งตัวเรียกว่า กินสอง ถือเป็นการได้เปรียบอย่างหนึ่ง ถ้าตัวที่ได้กินสองตัวมานั้นมีศักดิ์สูง ฝ่ายที่เสียหมากไปสองตัว โดยได้กินคืนมาเพียงตัวเดียวเรียกว่า เสียสอง

แก้ที เป็นที

ในการไล่หมากรุกปลายกระดาน จะมีขณะหนึ่งซึ่งตัวหมากจะตั้งเหมือนกัน แต่ถ้าฝ่ายไล่เดินก่อน จะไล่จนโดยเร็ว ฝ่ายหนีเดินก่อนจะยังไม่จน เรียกว่า หมากเป็นที ฝ่ายไล่ถ้ามีประสบการณ์ก็จะมีวิธีแก้ทีได้ ฝ่ายหนีก็ต้องพยายามหนีให้เป็นที เพื่อฝ่ายไล่ที่ประสบการณ์น้อยจะได้ไล่ไม่จนเร็ว

เมื่อหมากเป็นที ฝ่ายไล่จะต้อง แก้ที คือปรับจังหวะการเดินให้ถูก เพื่อให้สามารถไล่จนได้ในเวลาอันรวดเร็ว การแก้ที มีหลักว่า พยายามบังคับขุนฝ่ายหนีให้เดินอยู่ในตาที่จำกัด เช่น ฝ่ายไล่จะเดินขุนให้เป็นรูปสามเหลี่ยม คือเดินตาตรงสองครั้ง เดินทะแยงหนึ่งครั้ง หรือถ้ามีหมากหลายตัว ฝ่ายไล่อาจเดินหมากตัวอื่นเสียหนึ่งครั้ง เป็นการปรับจังหวะ ขุนฝ่ายหนีจำเป็นต้องเดิน และจะเป็นการแก้ที แบบง่ายๆ การแก้ทีนี้ บางกรณีสลับซับซ้อนผู้สนใจต้องดูจากกลหมากรุก ที่ผู้ชำนาญได้ค้นคว้าแสดงไว้

ตัวอย่าง ทั้งสองรูปฝ่ายขาวเดินก่อน ถ้าดำเดินก่อนจะต้องเดินขุนดำเข้ามุม ฝ่ายขาวจะรุกด้วยโคนทีเดียวจน แต่เมื่อฝ่ายขาวต้องเดินก่อน จึงเรียกว่า หมากเป็นที หรือ เป็นที ในรูปที่ 2 มีหมากตัวอื่นด้วย ฝ่ายขาวเพียงเดินเบี้ยหงายหลังโคนไปตาใดก็ได้ ฝ่ายดำก็จะต้องเดินขุนเข้ามุม ฝ่ายขาวรุกด้วยโคนจน เรียกว่า เป็นการแก้ที หรือแก้จังหวะเดินอย่างง่าย ในรูปที่ 2 ไม่มีหมากตัวอื่น ต้องเดินขุนขาวเป็นรูปสามเหลี่ยม คือเดินตาตรงสองครั้งตาทะแยงหนึ่งครั้ง ขุนขาวจะกลับที่เดิม แต่ขุนดำจะเปลี่ยนที่ หายเป็นที ฝ่ายขาวก็จะรุกจนได้

ขาด

หมายถึง ตัวหมากที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของหมากฝ่ายเดียวกัน คือไม่มีหมากตัวอื่นมาผูก ถ้าฝ่ายตรงข้ามมากินหมากตัวนี้ได้ ก็จะไม่มีโอกาสกินตอบแทน ถือว่าถูกกินเปล่า หรือกินฟรี ถ้าหมากตัวนั้นอยู่ไกลจากขุนหรือหมากตัวอื่นฝ่ายเดียวกัน บางครั้งเรียกว่า ลอย หรือหมากลอย

ขึ้น

หมายถึงการเดินหมากรุกตัวแรก ตอนต้นกระดาน อาจมีการเสี่ยงทายว่าใครจะเป็นผู้ขึ้นก่อน หรือเดินก่อน หรือขึ้นหมากก่อน แต่ละคนก็จะมีลีลาการเดินในตอนต้นเกมของตนเอง ตัวอย่างเช่น เปิดหมากหรือขึ้นหมากแบบม้าผูก ในรูปที่ 2 ขึ้นหมากแบบม้าเทียมในรูปที่ 2

ขุนอับ

หมายถึง การที่ขุนไม่สามารถเดินได้ หรือไม่มีตาเดิน โดยไม่ถูกรุก ถ้าขุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอับ และต้องไม่มีหมากตัวอื่นเดินได้ด้วย ให้ถือว่าหมากรุกกระดานนั้นเสมอกัน ไม่ว่าจะมีหมากได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร ตามตัวอย่างในรูปแรก ถือว่าเสมอกัน เพราะขุนอับ และไม่มีหมากตัวอื่นที่จะเดินได้ แต่ถ้ายังมีหมากตัวอื่นเดินได้ตามรูปที่ 2 ก็ต้องเดินหมากตัวอื่น และฝ่ายตรงข้าม อาจเดินหมากมารุกขุนที่อยู่ในที่อับนั้นให้จนได้ และถือเป็นแพ้ ไม่ใช่เสมอ

โคน

เป็นชื่อของตัวหมากรุกไทย ฝ่ายหนึ่งจะมีโคน สอง ตัว บางทีเรียกว่า คน เพราะเข้าใจว่าน่าจะเป็นเหล่าทัพ มีทัพม้า ทัพเรือ และทัพคน แต่ปัจจุบันส่วนมากเรียกว่า โคน บางตำราที่เรียกว่าโคน อธิบายว่าได้พัฒนามาจากตัวหมากรุกสมัยโบราณ เดิมเป็นช้าง

คน ดูโคน

คู่

หมายความว่ามีสองตัว ภาษาหมากรุกมักใช้คำว่า คู่ แทนสองตัว เช่น โคนคู่ ม้าคู่ เรือคู่

จน

หมายความว่า ขุนถูกรุกและไม่มีตาเดิน ไม่สามารถเดินหนีออกจากตารุกได้ถือว่าจน และเป็นฝ่ายแพ้

รุก

หมายความว่า ฝ่ายหนึ่งเดินหมากตัวใดตัวหนึ่ง ยกเว้นขุน เดินเข้าไปถึงตาที่ขุนของฝ่ายตรงข้าม อยู่ในเขตอำนาจของหมากตัวนั้น หรือหมากตัวที่มารุก จะมากินขุนนั่นเอง ขุนฝ่ายที่ถูกรุก จะต้องแก้ไขด้วยการหนีไปจากตาที่ถูกรุกนั้น หรือกินหมากตัวที่มารุก หรือในกรณีเรือ อาจหาหมากตัวอื่นมาปิดทางเรือ เป็นต้น ถ้าไม่มีตาหนี และไม่สามารถแก้ไขให้การรุกยุติได้ ถือเป็นแพ้ เรียกว่า จน ขุนจะรุกขุนด้วยกันเองไม่ได้

จับตัววางตาย

เป็นภาษาพูดหรือกติกา กำหนดว่าถ้าจับหมากตัวไหนต้องเดินตัวนั้น และเมื่อวางลงไปตาไหน ให้ถือว่าเดินไปตานั้นเป็นแน่นอน เปลี่ยนไม่ได้

ตากด

ฝ่ายหนึ่ง เดินเรือไปไว้ในแถวเดียวกับขุนฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า เรือกด เป็นการเดินหมากเชิงได้เปรียบ เพราะขุนฝ่ายที่อยู่ในตากด ไม่อาจเดินหมากตัวที่อยู่หน้าขุนได้ เพราะถูกเรือกดบังคับรุกอยู่ ตามตัวอย่าง

ตาโป่ง

ปกติม้าจะต้องเดินตามแบบตาม้า แต่บางครั้งผู้เล่นมือใหม่ หรือมือเก่าอาจเผลอเดินม้าเป็นตาทะแยงมุม เรียกว่าเดินตาโป่ง หรือตาโปร่ง ตามตัวอย่าง

ถูกมุม

มักใช้กับเบี้ยหงาย หรือเม็ดถ้าเบี้ยหงายตัวใด สามารถเดินเข้าตามุมกระดานได้ เรียกว่า เบี้ยถูกมุม ถ้าไม่สามารถเดินเข้ามุมได้ เรียกว่าเบี้ยไม่ถูกมุม ถ้าเป็นเบี้ยคู่หนึ่งผูกกัน เรียกว่า เบี้ยผูก ถ้าเข้ามุมได้ก็เรียก เบี้ยผูกถูกมุม ตามตัวอย่าง มีประโยชน์ในการไล่ตอนปลายกระดาน เบี้ยถูกมุม ไม่ถูกมุมมีวิธีการไล่แตกต่างกัน

ตามตัวอย่าง เบี้ยหงายขาวถูกมุม ซึ่งจะถูกมุมที่อยู่ตรงกันข้ามด้วย แต่ถ้าเดินมาที่มุมด้านขวา เบี้ยหงายตัวเดียวกันนี้ จะเป็นเบี้ยหงายไม่ถูกมุม และจะไม่ถูกมุมที่มุมตรงกันข้ามด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น บางครั้งการไล่ที่จำเป็น ต้องใช้เบี้ยหงายที่ถูกมุมจึงจะไล่ให้จนได้ ผู้ชำนาญจะหนีไปมุมที่เบี้ยหงายไม่ถูกมุม แต่ผู้ไล่ที่ชำนาญต้องพยายามไล่บังคับฝ่ายหนี ให้ไปมุมที่เบี้ยหงายถูกมุม เรื่องนี้เป็นจุดเด่นน่าสนใจของหมากรุกไทย

นางแพลม หรือ อังแพลม

เบี้ยคว่ำของฝ่ายหนึ่ง ถ้าเดินไปหรือกินหมากของฝ่ายตรงข้าม พอดีถึงแถวตั้งเบี้ยคว่ำของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ก็จะมีสิทธิหงาย และจะมีอำนาจเหมือนเม็ด ในขณะที่เบี้ยคว่ำจะหงายเป็นเบี้ยหงายนั้นเรียกว่า อังแพลม อีแพลม นังแพลม หรือนางแพลม และถ้าเบี้ยคว่ำที่เพิ่งหงายนั้นไปทำหน้าที่ด้วยเช่น รุก หรือว่ารุกจน จะเรียกว่า รุกด้วยอังแพลม หรือรุกจนด้วยอังแพลม

ผูก

หมายความว่า หมากตัวหนึ่ง อยู่ในเขตอำนาจของหมากตัวอื่นคุมอยู่ ถ้าฝ่ายตรงข้ามมากินหมากตัวนั้น หมากฝ่ายเดียวกันที่ผูกอยู่หรือคุมอยู ่ก็จะสามารถกินตอบแทนได้ทันที เช่น เบี้ยคว่ำอาจผูกหรือคุมม้าอยู่ ขุนของอีกฝ่ายไม่อาจมากินม้าได้ เป็นต้น ม้าอาจผูกเรือไว้ เบี้ยหงายคู่หนึ่งของฝ่ายเดียวกัน ถ้าอยู่ในตาทะแยง สามารถคุมหรือผูกกันเองได้ เรียกว่า เบี้ยผูก หรือม้าฝ่ายเดียวกันคู่หนึ่ง ต่างอยู่ในตาม้าของกันและกันก็เรียกว่า ม้าผูก

ฝ่ายไล่

ถ้าสองฝ่ายมีตัวหมากรุกไม่เท่ากัน ฝ่ายที่มีกำลังมากกว่า จะได้เปรียบหรือหมากเป็นต่อ เรียกว่าเป็นฝ่ายไล่

ฝ่ายหนี

ฝ่ายที่มีหมากรวมแล้วมีกำลังด้อยกว่า หรือหมากเป็นรองจะเป็นฝ่ายหนี

เดิน

คือการเคลื่อนกำลังของตัวหมากรุกไปตามเขตอำนาจ แต่ละฝ่ายต้องผลัดกันเดินคนละครั้ง สำหรับการเดินคร้งแรกในการแข่งขันต้องมีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เป็นผู้เดินก่อนหรือขึ้นก่อน เพราะการเดินก่อนอาจช่วงชิงความได้เปรียบได้

เดินก่อน

ในการแข่งขัน ผู้ที่เสี่ยงทายแล้วได้เป็นผู้เดินหมากก่อนเรียกว่าเป็นผู้เดินก่อน

เดี่ยว

หมายถึง มีหนึ่งตัวหรือตัวเดียว ในภาษาหมากรุกมักใช้คำว่าเดี่ยวแทนหนึ่งตัว หรือตัวเดียว เช่น ม้าเดี่ยว โคนเดี่ยว

เทียม

หมายความว่า อยู่เรียงหน้าเสมอกันคู่กัน ถ้าเป็นเบี้ยหงายฝ่ายเดียวกันคู่หนึ่งถ้าเดินมาชิดกันได้เรียกว่าเบี้ยเทียม ถ้าเดินมาใกล้กันในรูปทะแยงจะเรียกว่าเบี้ยผูก หรือเดินม้ามาอยู่เรียงกัน ก็เรียกว่าม้าเทียม ถ้าม้าอยู่ตาม้าด้วยกันเรียกม้าผูก

เบี้ยผูก

เบี้ยสองตัวหรือหลายตัวเมื่อเดินมาใกล้กันไม่อาจมาเรียงติดกันได้ แต่อยู่ตาทะแยง

เบี้ยสูง

หลังจากการขึ้นหมากแล้ว ฝ่ายหนึ่งสามารถเดินเบี้ยคว่ำขึ้นไปสูงอีกหนึ่งแถวได้ เรียกว่าขึ้นเบี้ยสูง ถ้าสามารถรักษาไว้ไม่ให้เสียเบี้ยสูงนั้นไปถือว่าเป็นการได้เปรียบ

เบี้ยหงาย

ตัวหมากรุกตามปกติจะมีเฉพาะเบี้ยคว่ำ แต่เบี้ยคว่ำของฝ่ายหนึ่ง ถ้าสามารถเดินขึ้นไปถึงแถวตั้งของเบี้ยคว่ำของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ก็จะได้รับการสถาปนาเป็นเบี้ยหงาย ทำหน้าที่เหมือนเม็ด ในขณะที่เบี้ยคว่ำเปลี่ยนสภาพเป็นเบี้ยหงายนั้นเรียก อังแพลม

เป็นต่อ

เมื่อเล่นหมากรุกไประยะหนึ่ง ฝ่ายที่เหลือหมากมีกำลังรวมมากกว่า เรียกว่าเป็นต่อ หรือแม้มีหมากไล่เรี่ยกันแต่มีทางเดินที่ดีกว่าหรือได้เปรียบกว่า ก็เรียกว่าเป็นต่อ ฝ่ายตรงข้ามที่มีกำลังน้อยกว่าหรืออยู่ในทางเดินที่ไม่ดี เรียกว่าเป็นรอง

เป็นที

ในการไล่หมากรุกปลายกระดานจะมีขณะหนึ่งซึ่งตัวหมากจะตั้งเหมือนกัน แต่ถ้าฝ่ายไล่เดินก่อนจะไล่จนโดยเร็ว ฝ่ายหนีเดินก่อนจะยังไม่จน เรียกว่าหมากเป็นที ฝ่ายไล่ถ้ามีประสบการณ์ก็จะมีวิธีแก้ทีได้ ดูแก้ที ฝ่ายหนีก็ต้องพยายามหนีให้เป็นที เพื่อฝ่ายไล่ที่ประสบการณ์น้อยจะได้ไล่ไม่จนเร็ว

ตัวอย่าง ทั้งสองรูป ฝ่ายขาวเดินก่อน ถ้าดำเดินก่อน จะต้องเดินขุนดำเข้ามุม ฝ่ายขาวจะรุกด้วยโคนทีเดียวจน แต่เมื่อฝ่ายขาวต้องเดินก่อน จึงเรียกว่า หมากเป็นที หรือ เป็นที ในรูปที่ 2 มีหมากตัวอื่นด้วย ฝ่ายขาวเพียงเดินเบี้ยหงายหลังโคนไปตาใดก็ได้ ฝ่ายดำก็จะต้องเดินขุนเข้ามุม ฝ่ายขาวรุกด้วยโคนจน เรียกว่าเป็นการ แก้ที หรือแก้จังหวะเดินอย่างง่าย ในรูปที่ 2 ไม่มีหมากตัวอื่น ต้องเดินขุนขาวเป็นรูปสามเหลี่ยม คือเดินตาตรงสองครั้งตาทะแยงหนึ่งครั้ง ขุนขาวจะกลับที่เดิม แต่ขุนดำจะเปลี่ยนที่ หายเป็นที ฝ่ายขาวก็จะรุกจนได้

เป็นรอง

ฝ่ายที่เหลือหมากมีกำลังรวมน้อยกว่า หรืออยู่ในทางเดินที่แคบกว่า

ปิดรุก ดูรุก

เมื่อขุนฝ่ายหนึ่ง ถูกอีกฝ่ายหนึ่งรุกด้วยเรือ ฝ่ายที่ถูกเรือรุกเอาหมากตัวอื่นมาปิดทางเรือ เรียกว่า ปิดรุก ถือว่าการรุกด้วยเรือขณะนั้นยุติ

ปิดรุก รุก

ถ้าหมากตัวที่เอาไปปิดทางเรือ นั้น เมื่อปิดแล้ว ทำหน้ารุกขุนอีกฝ่ายหนึ่งในขณะเดียวกัน เรียกว่า ปิดรุก รุก คือปิดรุก แล้วรุกเป็นการต่อสู้ด้วย

ตามตัวอย่างข้างบน เรือขาวรุกขุนดำ ถ้าฝ่ายดำเดินโคนดำมาที่ตาข้างขุนดำ เรียกว่าปิด หรือปิดรุก แต่ถ้าเดินม้ามาที่ตาเดียวกันนอกจากปิดตาเรือแล้วยังทำการรุกขุนขาวเป็นการตอบแทนด้วย เรียกว่า ปิดรุก รุก คือปิดรุก และรุกฝ่ายขาวด้วย

เปิดรุก

เมื่อขุนดำอยู่ในตากด และในทางเรือของฝ่ายขาวมีหมากของฝ่ายขาวขวางอยู่ เช่นโคน ตามตัวอย่าง ถ้าฝ่ายขาวเดินโคนถอยหลังตาทะแยงมาหลังขุนขาว เรือจะทำหน้าที่รุกทันที เรียกว่า โคน เปิดรุก แต่ถ้าเดินโคนตาทะแยงไปที่หน้าขุนขาว ก็เป็นการเปิดรุกเช่นกัน แต่โคนทำหน้าที่รุกด้วย จึงเรียกว่าโคน เปิดรุก รุก คือทั้งเปิดรุกโดยเรือ พร้อมกับรุกด้วยโคนพร้อมกันทำให้ยากแก่การแก้ไข

เปิดรุก รุก ดู เปิดรุก

เปิดหมาก

หมายถึง ลีลาการเดินหมากตอนต้นกระดาน เพื่อวางแผนช่วงชิงความได้เปรียบ มีรูปแบบการเปิดหมากหลายอย่าง เช่น การเปิดหมากแบบม้าผูก หรือแบบม้าเทียม เป็นต้น ดู ขึ้น

เม็ดเดิม

หมายถึง เม็ดตัวเดิมตั้งแต่เริ่มเล่นหมากรุกกระดานนั้น ถ้าสามารถไล่จนด้วยเม็ดที่มีมาแต่แรก เรียกว่าไล่จนด้วยเม็ดเดิม ถ้าเม็ดเดิมถูกกินไป และต่อมาภายหลังเดินเบี้ยคว่ำไปหงายเป็นเบี้ยหงาย ซึ่งมีอำนาจเหมือนเม็ดทุกประการ แต่ไม่เรียกเบี้ยงหงายตัวใหม่ว่า เม็ด หรือเม็ดเดิม คงเรียกว่าเบี้ยหงาย ผู้ชำนาญจะให้ความสำคัญ และรักษาเม็ดไว้เป็นอย่างดี เพราะช่วยคุ้มกันป้องกันขุนได้ในหลายกรณี

เรือลอย

หมายถึง เรือที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของหมากฝ่ายเดียวกัน คือไม่มีหมากตัวอื่นมาผูกหรือมาคุมไว้ ถ้าฝ่ายตรงข้ามมากินเรือตัวนี้ได้ ก็จะไม่มีโอกาสกินตอบแทน ถือว่าถูกกินเปล่า หรือกินฟรี ยิ่งถ้าเรือตัวนั้นอยู่ไกลจากขุนหรือหมากตัวอื่นฝ่ายเดียวกัน บางครั้งเรียกว่า เรือลอย ผู้มีประสบการณ์ จะเดินหมากรุกให้หมากแต่ละตัวผูกหรือคุมอย่างรัดกุมเสมอ มีเรื่องเล่าว่า ขณะที่คุณลุงผู้มีประสบการณ์สูง เล่นหมากไม่เคยขาด กำลังเล่นหมากรุกอยู่อย่างเพลิดเพลินจริงจัง มีเด็กมาบอกว่า ลุง เรือลอย คุณลุงบอกว่า เรือไม่ลอย เอาม้าผูกอยู่ กว่าจะรู้ว่า เรือที่คุณลุงพายมาเล่นหมากรุกจอดไว้ที่ท่าน้ำนั้นโซ่ขาด เรือลอยไป เรือของคุณลุงก็ลอยตามน้ำไปไกล เสียเวลานานกว่าตามเรือได้ ปัจจุบันก็ยังใช้เป็นที่เล่าขานกันอยู่

ตามตัวอย่าง เรือดำลอย ไม่มีหมากตัวอื่นมาผูกหรือคุ้มกัน แต่เรือขาวมีเบี้ยหงายผูกอยู่

ม้าขโมย

เป็นลีลาการขึ้นหมากแบบหนึ่งที่เดินม้าขึ้นสูงสามารถไปจับเบี้ยได้ถึงสองตัว ทำความลำบากให้ฝ่ายตรงกันข้าม ดูรูปประกอบ ฝ่ายดำขึ้นหมากแบบม้าขโมย

ม้าผูก

เป็นลีลาการเดินหมากตอนต้นกระดาน โดยเดินม้าให้อยู่ในตาที่ม้าผูกกัน

ม้าเทียม ดู เปิดหมาก ขึ้นหมาก

เป็นลีลาการเดินหมากตอนต้นกระดาน โดยเดินม้าให้ดาหน้าเรียงกันทั้งคู่

ไม่ถูกมุม

มักใช้กับเบี้ยหงายหรือเม็ด มีความสำคัญในตอนไล่ให้จนในปลายกระดาน การที่เบี้ยถูกมุก หรือไม่ถูกมุมมีวิธีการไล่ต่างกัน ไม่ถูกมุมหมายถึงเบี้ยหงายที่เดินไป ณ มุมนั้นไม่สามารถเดินเข้าตามุมกระดานได้

รุก

หมายความว่า ฝ่ายหนึ่งเดินหมากตัวใดตัวหนึ่งยกเว้นขุน เดินเข้าไปถึงตาที่ขุนของฝ่ายตรงข้ามอยู่ในเขตอำนาจของหมากตัวนั้น หมายความว่า หมากตัวที่ไปรุกนั้นจะกินขุน ขุนฝ่ายที่ถูกรุกจะต้องแก้ไขด้วยการหนีไปจากตาที่ถูกรุกนั้น หรือกินหมากตัวที่มารุก หรือในกรณีเรือ อาจหาหมากตัวอื่นมาปิดทางเรือ เป็นต้น ถ้าไม่มีตาหนี และไม่สามารถแก้ไขให้การรุกยุติได้ ถือเป็นแพ้ เรียกว่า จน ขุนจะรุกขุนด้วยกันเองไม่ได้

รุกกินเรือ

ในขณะที่เดินหมากตัวใดตัวหนึ่งไปรุกขุนฝ่ายตรงข้ามและในชณะเดียวกันกับที่รุกอยู่ก็เป็นตาที่สามารถกินเรือได้ด้วย เรียกการรุกนั้นว่า รุกกินเรือ และเช่นเดียวกัน ถ้ารุกแล้วสามารถจะกินตัวอื่นก็เรียกในทำนองเดียวกัน เช่น รุกกินโคน รุกกินม้า ฯลฯ ถ้าตัวที่รุกเป็นม้ามักเรียกว่ารุกฆาต แต่จะใช้กับหมากที่รุกตัวอื่นด้วยก็ได้

รุกฆาต

มักใช้กับม้า เมื่อเดินม้าไปรุกขุนฝ่ายตรงกันข้าม ขณะที่รุกขุนอยู่นั้น มีหมากตัวอื่นที่อาจจะถูกม้ากินได้อีกด้วย กรณีทั้งรุกและอาจกินตัวอื่นได้นี้เรียกว่า ม้ารุกฆาต เช่น อาจจะรุกฆาตกินโคน หรือรุกฆาตกินเรือ เป็นต้น รุกฆาตอาจใช้กับหมากตัวอื่นนอกจากม้าได้ด้วย ผู้เล่นหมากรุกฝีมือดี จะสังเกตอยู่เสมอว่าขุนกับหมากตัวอื่นของตน โดยเฉพาะเรือจะอยู่ในตาที่เข้าเกณฑ์ถูกม้ารุกฆาตได้หรือไม่ ผู้ที่เดินม้าเก่ง จะสามารถเดินม้าให้รุกฆาตกินเปล่าหมากของฝ่ายตรงข้ามได้บ่อยๆ

ลอย

ลอย หมายถึง ตัวหมากที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของหมากฝ่ายเดียวกัน คือไม่มีหมากตัวอื่นมาผูกหรือมาคุมไว้ ถ้าฝ่ายตรงข้ามมากินหมากตัวนี้ได้ก็จะไม่มีโอกาสกินตอบแทน ถือว่าถูกกินเปล่าหรือกินฟรี ถ้าหมากตัวนั้นอยู่ไกลจากขุนหรือหมากตัวอื่นฝ่ายเดียวกันเรียกว่า ลอย หรือหมากลอย

ศักดิ์กระดาน

ในกระดานหมากรุก มีตาเดินรวม 64 ตา ในการนับ เพื่อเป็นการตัดสินว่าฝ่ายได้เปรียบ จะสามารถไล่ฝ่ายเสียเปรียบให้จนในกำหนดได้หรือไม่ ถ้าไล่จนในกำหนดถือว่าเป็นฝ่ายชนะ ถ้าไม่สามารถไล่จนในกำหนด ก็ถือว่าเสมอกัน ไม่ว่าหมากจะได้เปรียบมากน้อยเพียงใด ถ้าหมากได้เปรียบเสียเปรียบกันไม่มากเรียกว่า คู่คี่กัน เช่น ฝ่ายหนึ่งมีเรือเดี่ยว อีกฝ่ายหนึ่งมีเรือเดี่ยวกับเบี้ยหงายเดี่ยว ฝ่ายเสียเปรียบอาจขอให้มีการนับ และการนับจะต้องนับตามศักดิ์กระดาน โดยเริ่มนับหนึ่ง เมื่อมีการขอร้องให้นับ จนถึง 64 ถ้านับถึง 64 ฝ่ายได้เปรียบไม่สามารถไล่ให้จนได้ ถือว่าเสมอกัน

ถ้ารุกจนในตานับที่ 64 (สุดท้าย)ถือว่าฝ่ายไล่เป็นฝ่ายชนะ และการรุกจนในตานับครั้งสุดท้ายนี้ ใช้เหมือนกันกับการนับตามศักดิ์หมากตัวอื่นด้วย ในขณะที่กำลังนับด้วยศักดิ์กระดานอยู่นั้น ถ้าฝ่ายเป็นรองหรือฝ่ายหนี ถูกกินหมากอื่นจนหมดเหลือแต่ขุน ก็จะต้องเปลี่ยนไปนับตามศักดิ์หมากทันทีที่ฝ่ายหนีเหลือขุนตัวเดียว ไม่นับต่อจากศักดิ์กระดาน และต้องเริ่มนับตามกติการของการนับตามศักดิ์หมาก

ศักดิ์หมาก

ในการไล่หมากรุกปลายกระดาน ถ้าฝ่ายหนีเหลือขุนตัวเดียว ฝ่ายไล่มีตัวมากกว่าและไม่มีเบี้ยคว่ำ (ถ้ายังมีเบี้ยคว่ำเหลืออยู่จะไม่มีการนับ) จะอนุญาตให้นับได้เท่าใดก็แล้วแต่ชนิด และจำนวนของหมากที่มีอยู่เรียกว่า ศักดิ์หมาก โดยมีกำหนดดังนี้ เรือคู่ นับ 8 เรือเดี่ยว นับ 26 โคนคู่นับ 22 โคนเดี่ยว นับ 44 ม้าคู่ นับ 32 นอกจากนั้นนับ 64 และการเริ่มนับ จะต้องนับจำนวนหมากทุกตัวที่มีอยู่ในขณะจะเริ่มไล่ก่อน รวมขุนทั้งสองฝ่าย แล้วนับต่อไปตามเกณฑ์ดังกล่าว ถ้ามีหมากผสมกันให้นับตามศักดิ์หมากที่สูงสุด

สูตรเม็ด

ตอนขึ้นหมากในตอนแรก ถ้าเล่นกันเองไม่ใช่การแข่งขัน เมื่อเดินเม็ดครั้งแรกอาจตกลงกันว่า เฉพาะการเดินเม็ดครั้งแรกให้เดินเม็ดได้คนละสองครั้งคือ เดินทะแยงสองครั้ง ผู้ดูจะเห็นว่าผู้เล่นเดินเม็ดครั้งแรกตรงไปข้างหน้าทีเดียวสองตา เรียกว่า สูตรเม็ด แต่ในการแข่งขันไม่อนุญาตเช่นนั้น ต้องเดินทีละตาตามเขตอำนาจ

เสมอ

หมายถึง ไม่แพ้และไม่ชนะ หมากรุกเมื่อเล่นไป จนแต่ละฝ่ายเหลือขุนกับหมากตัวอื่น ไม่มากพอที่จะไล่ฝ่ายตรงข้ามให้จนได้ สองฝ่ายอาจตกลงขอเสมอกันได้ หรือถ้ามีตัวหมากรุกที่ได้เปรียบเสียเปรียบกันไม่มาก ฝ่ายเสียเปรียบอาจขอให้มีการนับ ก็จะนับตามศักดิ์กระดาน (ดูการนับ) ถ้านับตามศักดิ์กระดานแล้วยังไล่ไม่จน ถือว่าเสมอ หรือฝ่ายหนีเหลือขุนตัวเดียวฝ่ายไล่มีหมากมากกว่า และไม่มีเบี้ยคว่ำนับตามศักดิ์หมากแล้วไล่ไม่จนถือว่า เสมอ หรือฝ่ายไล่เดินหมากและทำให้ขุนฝ่ายหนีอับ โดยไม่ถูกรุก และไม่มีหมากตัวอื่นที่จะเดินได้ ถือว่า หมากรุกกระดานนั้นเสมอกัน

เสียสอง

เสียหมากไปสองตัวโดยได้กินคืนมาเพียงตัวเดียว ดู กินสอง

หงาย

เบี้ยคว่ำของฝ่ายหนึ่ง ถ้าเดินตรงไปข้างหน้าถึงแถวตั้งเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามได้ เบี้ยคว่ำตัวนั้นจะได้รับสถาปนาให้เป็นเบี้ยหงาย โดยหงายเบี้ยตัวนั้น ทำหน้าที่เหมือนเม็ดทุกประการ เบี้ยคว่ำทุกตัวมีสิทธิหงายได้ ขณะจะหงายเบี้ยที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นนั้นเรียกว่า อังแพลม (ดูอังแพลม)

หงายรุก ดู รุก

ขณะที่กำลังหงายเบี้ยคว่ำอยู่นั้นเมื่อหงายทันทีก็อยู่ในตาที่สามารถรุกขุนฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย เรียกว่าหงายรุก

หมากป้อง

เป็นการลดแต้มต่อของผู้มีฝีมือดี โดยฝ่ายที่มีฝีมือดีต่อให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีข้อตกลงกันว่า ถ้าอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถรุกขุนของฝ่ายมีฝีมือดีจนต้องเดินขุน เพื่อให้หนีจากตารุกถือว่าฝ่ายฝีมือดีเป็นฝ่ายแพ้ทันที

คำเต็มน่าจะมาจากคำว่า หมากป้อง(กัน) แต่ฝ่ายมีฝีมือดีจะต้องเดินหรือไล่อีกฝ่ายหนึ่งให้จนตามกติกาเดิม นับว่าเป็นการลดแต้มต่อที่น่าสนใจ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งอาจเอาชนะได้ แม้มีตัวเหลือน้อย เช่น เหลือเบี้ยหงายเพียงสองตัวก็อาจเอาชนะหมากป้องได้ เพราะเพียงแต่ต้องทำให้ขุนเดินหนีจากตารุกเท่านั้น การต่อแบบนี้อาจเรียกว่า การรุกขุนให้เคลื่อนที่ก็ได้ การต่อแบบนี้ ขุนฝ่ายฝีมือดีจะเดินไปได้ เพียงต้องระวังไม่ให้ถูกรุกจนต้องเดินขุนเท่านั้น

เคยมีการต่ออีกแบบว่า ขุนไม่เคลื่อนที่ออกจากที่ตั้งเลย ถ้าอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถทำให้ขุนฝ่ายฝีมือดีต้องเดินออกจากที่ตั้งได้ ก็ถือเป็นชนะ การต่อแบบนี้ ความสามารถของทั้งสองฝ่ายคงแตกต่างกันมาก อาจมีการต่อกันแบบอื่นๆอีกได้ เช่น ลดเบี้ยหน้าเม็ด ลดเบี้ยหน้าโคน ยกเม็ด ยกเรือทั้งคู่ หรือยกเรือเดี่ยว หรือลดเรือเป็นเบี้ยหงาย สุดแต่จะตกลงกัน เพื่อให้การเล่นได้สนุกใช้ความสามารถเต็มที่ทั้งสองฝ่าย

หมากเป็นที หมากรุกเป็นที ดู เป็นที แก้ที

หมากกล ดู กลหมากรุก

หมากรุกกล ดู กลหมากรุก

หมากรุกคน

นับเป็นมหรสพหรือการแสดงอย่างหนึ่ง โดยจะมีผู้ชำนาญเล่นหมากรุกกันอยู่จริงๆ และในสนามข้างล่าง ก็จะจำลองทำเวทีให้คล้ายกระดานหมากรุกขนาดใหญ่ มีตัวหมากรุกซึ่งจะใช้คนแต่งตัวตามแบบนาฎศิลป์ เช่น ขุนก็จะเป็นพระราชา โคนก็จะเป็นนักรบ ม้าก็จะเป็นทหารม้ามีม้าเป็นสัญลักษณ์ เรือก็เช่นกัน เบี้ยก็จะเป็นทหารธรรมดา เม็ดก็จะเป็นขุนนาง เมื่อกระดานจริงเดินหมากตัวใด ปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงให้สมฐานะของหมากตัวนั้น และ ตัวหมากในสนามก็จะเดินหรือรำไปตามลีลาจังหวะของเพลง เป็นที่สนุกสนาน เมื่อถูกรุก ก็จะมีการต่อสู้กัน ถ้าถูกกินก็จะต้องตายมีเพลงโอด และตัวหมากที่ถูกกินจะต้องเดินเข้าฉากไปปัจจุบันหาดูได้ยาก

หมากรุกปลายกระดาน

เมื่อเล่นหมากรุกไป ก็จะมีการกินกันของทั้งสองฝ่าย หมากแต่ละฝ่ายก็จะเหลือน้อยตัวลงไป เมื่อหมากเหลือน้อยตัว ผู้ที่มีความชำนาญในการเล่นหมากรุกบางคน สามารถจดจำได้ว่าถ้าหมากอยู่รูปนั้น ฝ่ายใดจะได้เปรียบ และควรจะไล่อย่างไร เรียกหมากรุกที่เหลือตัวน้อยว่า หมากรุกปลายกระดาน

หมากรุกชั้นเดียว สองชั้น สามชั้น

ผู้ที่เล่นหมากรุกเป็นใหม่ๆ นึกอยากจะเดินหมากตัวไหน หรือเห็นว่าเดินไปแล้วจะดี ก็จะเดินไปเลย บางครั้งอาจเสียเปรียบคู่ต่อสู้ แต่ผู้ชำนาญจะคิดก่อนว่า ถ้าเดินหมากตัวนี้ไปตานั้น ฝ่ายตรงข้ามจะเดินมาอย่างไรได้บ้าง และเราจะแก้ไขอย่างไร คิดต่อไปหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าเดินไปแล้ว จะไม่เสียเปรียบ ถ้าคิดครั้งเดียวแล้วเดิน ก็เรียกว่า เดินหมากรุกชั้นเดียว จะเป็นในมือใหม่ ถ้าคิดสองรอบก็เรียกว่า หมากรุกสองชั้น คิดมากรอบก็จะเป็น หมากรุกสามชั้นสี่ชั้นเรื่อยไป แต่ถ้าคิดนานไป คู่ต่อสู้ก็จะต้องคอยและเบื่อ บางทีก็บ่นเชิงล้อเลียนว่า เก่งไม่กลัว กลัวช้า หรือ เดินเสร็จแล้วปลุกผมด้วย ฯลฯ ในการแข่งขัน จึงกำหนดให้มีการจับเวลา เพื่อป้องกันปัญหาคิดช้าดังกล่าว

อังแพลม

เบี้ยคว่ำจะเดินตรงไปข้างหน้าได้ทีละตา เมื่อเดินไป หรือกินหมากของฝ่ายตรงข้าม พอดีถึงแถวที่ตั้งเบี้ยของฝ่ายตรงกันข้าม จะมีสิทธิหงายเป็นเบี้ยหงาย และถูกสถาปนาให้เป็นหมากที่มีอำนาจเหมือนเม็ด ในขณะที่เบี้ยคว่ำกำลังจะหงายเป็นเบี้ยหงายอยู่นั้น จะเรียกว่า อังแพลม บางทีก็เรียก อีแพลม นางแพลม หรือนังแพลม ถ้าเผอิญทำหน้าที่รุก หรือรุกจน ขุนฝ่ายตรงข้าม ก็จะพูดว่า ขุนฝ่ายตรงข้ามถูกรุกจนด้วยอังแพลม

อับ

หมายถึง การที่ขุนไม่สามารถเดินได้ หรือไม่มีตาเดิน โดยไม่ถูกรุก ถ้าขุนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอับ และต้องไม่มีหมากตัวอื่นเดินได้ด้วย ให้ถือว่าหมากรุกกระดานนั้นเสมอกัน ไม่ว่าจะมีหมากได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร แต่ถ้ายังมีหมากตัวอื่นเดินได้ ก็ต้องเดินหมากตัวอื่น และฝ่ายตรงข้าม อาจเดินหมากมารุกขุนที่อยู่ในที่อับนั้นให้จนได้ และถือเป็นแพ้ ไม่ใช่เสมอ

วันนี้มาอัพเดทเรื่องประวัติหมากรุกไทย โดยเนื้อหาเป็นรูปประวัติหมากรุกไทยที่ค้นพบในประเทศกัมพูชานะครับ สนใจย้อนกลับไปดูด้านบน ในส่วนของเนื้อหา เพราะไม่สามารถลงรูปในบันทึกได้

ถ้าเราเหลือแต่ เรือ กับ ม้า จะมีวิธีใดที่จะชนะคู่ต่อสู้บ้างคะ

ต้องดูว่าคู่ต่สู้เหลืออะไร และมีฝีมือแค่ไหน

-ถ้าคู่ต่อสู้เหลือเรือ 1 ลำแล้วเดินเก่งก็ต้องเสมอกัน ถ้าเดินไม่เก่งก็แพ้เรา

-ถ้าคู่ต่อสู้เหลือเบี้ย 3 ตัวแล้วเดินเก่งก็ต้องเสมอกัน ถ้าเดินไม่เก่งก็แพ้เรา

ไม่เคยเล่นหมากรุก ไม่รู้จะเล่นอย่างงัย มีวิธีการเล่นไหม

หลักการเล่นหมากรุกไทย จากตำราหมากรุกไทย โดยนายกีฬา พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2526

1.เมื่อท่านลงมือเล่นหมากรุกไทยแล้ว ข้อแรกที่ต้องศึกษาก่อนก็คือ ต้องทราบเสียก่อนว่าหมากแต่ละตัวมีวิถีการเดิน

เป็นอย่างไร อย่าได้เดินผิดเดินถูกเป็นอันขาด เพราะการเดินของหมากแต่ละตัวไม่เหมือนกันเลยแม้แต่น้อยจึงต้องเรียน

ให้ทราบเสียก่อนจนแจ่มแจ้งแล้วจึงลงมือเล่นและเดินให้ถูกต้องทุกอย่าง

2.เมื่อท่านเล่นหมากรุก ต้องดูหมากของท่านให้ทั่วทุกตัวว่าการเดินของท่านรัดกุมดีหรือไม่ มีตัวอะไรขาดบ้างพยายาม

เดินหมากให้ทุกตัวติดพันกันในแบบของลูกโซ่ เพื่อมิให้ฝ่ายตรงข้ามทำลายได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องดูว่าฝ่ายตรงข้ามจะกระทำ

อย่างไร เมื่อแน่ใจว่าฝ่ายของตนรัดกุม ไม่มีตัวขาดระหว่างการติดต่อกันแล้ว จึงค่อยพินิจดูหลักการฝ่ายตรงข้ามต่อไปว่าเขา

ดำเนินการรุกหรือรับในแนวใด จะกระทำการรบในแนวใดจึงจะได้ชัยชนะ แล้วจึงดำเนินการตามแผนที่คิดไว้ในใจของตน

3.ดูช่องโหว่ของฝ่ายตรงข้ามที่เราสามารถจะบุกทลวงเข้าไปในดินแดนของเขาได้ เพราะการเล่นของทุกคนย่อมมีจุด

โหว่ด้วยกันทั้งสิ้น หากมองเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามมีจุดอ่อนหรือจุดโหว่ที่ใดแล้วให้รีบฉวยโอกาสกระทำทันทีไม่ควรให้เสีย

เวลาแม้แต่เพียงครั้งเดียว

4.เมื่อฝ่ายตรงข้ามเดินหมากตัวใด และมองเห็นว่าฝ่ายของเราได้เปรียบแล้วอย่าได้แสดงท่าทีผิดสังเกตุให้เขาจับผิดได้

เพราะจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกตัวและเราจะกระทำการเอาชนะได้ไม่ถนัด เมื่อถึงคราวควรกระทำแล้วให้รีบกระทำการทันที

5.ระวังการเดินหลวมตัวของฝ่ายเราเพราะจะเป็นช่องว่างหรือจุดโหว่ให้ฝ่ายตรงข้ามทำการบุกรุกได้อย่างเต็มที่ เมื่อนั้น

เราจะตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ยากแก่การที่จะกู้สถานการณ์ ฝ่ายของตนได้ มีแต่ทางแพ้ฝ่ายเดียว การเล่นหมากรุกไทยจึงต้องถือ

หลักการที่ สำคัญ คือ เมื่อมีการรับแล้วต้องมีการรุกประกอบไปอีกด้วย ซึ่งก็เหมือนกับการรบที่ใช้กำลังพลเป็นเกณฑ์นั่นเหละ

จะผิดกันก็แต่เพียงว่าในกระดานหมากรุกประกอบด้วยตัวหมาก แต่ในการยุทธ์หรือสงครามนั้น ต้องวางแผนโดยเอาชีวิตของ

คนจริงๆ เข้ากระทำการเท่านั้น

6.ดูวิธีการตั้งทัพของฝ่ายตรงข้าม และแนวทางที่จะเจาะทลวง เข้าไปในแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้เราจะทราบผลเมื่อการเล่นดำ

เนินไปไม่นานเท่าใดนัก

ที่กล้ากล่าวเช่นนี้ เพราะผู้เล่นทุกคนย่อมมีช่องโหว่ให้แก่ฝ่ายตรงข้ามกระทำการเอาจนได้ถ้าหากพิจารณากันโดยละเอียดแล้ว

จึงจะทราบเรื่องเช่นนี้ได้ดี

7.การฝึกหัดมากและการจดจำกระบวนการเดินหมากของนักหมากรุกต่างๆ เป็นประโยชน์มากในการที่จะยึดเอาไว้ เป็นแบบอย่าง

เพื่อการฝึกหัดครั้งต่อไป ผู้เล่นควรจะจำกระบวนการของหมากที่ผู้มีความชำนาญได้กระทำเอาไว้ และเมื่อเข้าแบบหรือรูปดังกล่าว

ก็จะสามารถพลิกแพลงนำเอามาใช้ได้เป็นอย่างดี

8.ผู้เล่นต้องรู้คุณค่าของหมาก ในกระดานของตนเพราะหมากรุกทุกตัวย่อมมีคุณค่าและจะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ

การเดินหมากโดยผิดพลาดเพียงส่วนน้อย อาจจะทำให้เกิดความผิดหวัง และพ่ายแพ้แก่คู่ต่อสู้ได้อย่างง่ายดายที่สุด

9.การนำเอาตัวหมากไปแลกโดย การเสียเปรียบฝ่ายตรงข้ามนั้น ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่งเพราะจะทำให้ตัวหมากของตนน้อย

ไปกว่า เดิม และเมื่อนั้นแนวทางการป้องกันของฝ่ายเราก็จะมีความลดน้อยลงไป กลายเป็นช่องโหว่ให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำการได้

อย่างถนัด และเมื่อนั้นก็จะตกเป็นฝ่ายตั้งรับแต่ประการเดียว ยากที่จะกู้สถานการณ์กลับคืนมาได้

10.การเริ่มต้นย่อมนำมาซึ่งความได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ เรื่องเช่นนี้พึงสังวรไว้เสมอว่าการเดินหมากในตอนแรกของกระดาน

นั้นเป็นหลักการสำคัญอย่างมาก การขึ้นต้นดี ย่อมมีแนวทางที่จะนำชัยชนะมาสู่ได้มากกว่า

หลัก 10 ประการของนักเล่นหมากรุกดังกล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนน้อยที่นำมากล่าวถึงเท่านั้น เป็นข้อเตือนใจ

สำหรับบรรดานักหมากรุกสมัครเล่นและหมากรุกที่ที่ต้องฝึกฝนตนเองให้มีความเก่งกล้า ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอและควรแก่การ

ยึดหลักดังกล่าวนี้เอาไว้ด้วย

ศึกษาหัวข้อเว็บไซท์หมากรุกไทยทั้งหมดได้ที่นี่ครับ

http://gotoknow.org/blog/thaichess

อยากทราบว่าเมื่อมีการนับตามศักดิ์กระดานหรือศักดิ์หมากไปแล้ว หากฝ่ายได้เปรียบไห้ฝ่ายเสียเปรียบกินตัวหมากแล้วต้องนับใหม่หรือนับต่อไป

การนับตามศักดิ์กระดานหรือศักดิ์หมากไปแล้ว ขอตอบตามความเห็นของผมดังนี้

1 การนับศักดิ์กระดาน เป็นการนับของฝ่ายรองเพื่อขอเสมอ ดังนั้นไม่มีสิทธิ์ชนะ หากฝ่ายได้เปรียบไห้ฝ่ายเสียเปรียบกินตัวหมากแล้ว น่าจะจบนะ

2 การนับศักดิ์หมากก็คงทำนองเดียวกัน

มารยาทหมากรุกมีอะไรบ้างหรอ

มารยาทหมากรุกมีอะไรบ้าง ก็มีหลายอย่างเช่น

1 จับตัวไหนต้องเดินตัวนั้น (จับตัววางตาย)

2 ห้ามคิดนาน เกิน 2 นาที (เก่งไม่กลัว กลัวช้า)

3 ห้ามเดินใหม่เมื่อเดินผิด (มักเรียกว่าห้ามชักว่าว)

4 เวลาคนอื่นเขากำลังเล่นกัน อย่าไปวิจารณ์ (ถ้าเขาไม่ชอบเขาจะเรียกหมาเห่าข้างกระดาน)

ผมขอถามหน่อยครับว่าถ้าฝ่ายดำเหลือ โคน 1 เบี้ยเทียม 1 เรือ1 แล้วฝ่ายขาวเหลือ เรือ 1 โคน 1 เบี้ยเทียม 3

จะนับได้ยังคับ นับเท่าไร ฝ่ายไหนนับ

ถ้าฝ่ายที่เป็นรอง อยากเสมอก็ต้องนับศักดิ์กระดาน คือ 64 เมื่อไม่มีเบี้ยควำ ทั้ง 2 ฝ่ายโดยเริ่มนับ 1

ผู้ถามใช้คำว่าเบี้ยเทียมหมายถึงเบี้ยหงายใช่ไหม

กำลังทำโครงานเรื่องหมากรุกอยู่ค่ะ

ผมชอบเล่นหทากรุกอยู่แล้วครับ

ได้ความรู้มากครับ ผมไม่เคยเล่น...แต่จะเล่นให้เป็น

ชอบเล่นหมากรุกค่ะ

เล่นตั้งแต่อยู่ป.4

ตอนนี้ อยู่มหาวิทยาลัย ปี 4 แล้ว

(แต่ระยะเวลา ไม่ได้ทำให้เก่งขึ้นเลยค่ะ 555)

ก็ยังคงเล่นอยู่..โดยโหลดเกมหมากรุกไทยมาไว้ในโทรศัพท์

วันนี้เข้ามาหาข้อมูลเพื่อนำไปทำงานนำเสนอในวิชาที่เรียน

.....

ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดหมากรุกไทย ให้อยู่สืบไปค่ะ

พี่ครับแล้วทำไมบางทีผมเห็นคนเขาเล่นกันแบบเอาขุนทั้ง 2 ฝ่ายตั้งในเลนเดียวกันอะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท