KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : (354) ความซับซ้อน


         KM ในปัจจุบันดำเนินการตามปรัชญาใหม่   เปลี่ยนจากการคิดเชิงเส้นตรง เป็นแนวคิดที่ไม่เป็นเส้นตรงและไม่มีรูปร่างคงที่   มีความเชื่อว่าระบบผุดบังเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนภายในสภาพแวดล้อมที่นับวันก็มีความซับซ้อนมากขึ้น   ไม่ใช่เป็นระบบที่ออกแบบตามแนวคิดจากเหตุสู่ผล

         ทฤษฎีกลุ่มหนึ่งทีเรียกรวม ๆ ว่า ทฤษฎีความซับซ้อน (Complexity) ได้สร้างโลกทัศน์ใหม่เกี่ยวกับองค์กรและเกี่ยวกับ KM   คือมององค์กรเป็น "ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว" (complex adaptive systems)  มีระบบซ้อนระบบ   มีอนุระบบอยู่ภายในระบบ   ซึ่งรูปแบบของพฤติกรรมอยู่ในสภาพที่คาดเดาล่วงหน้าไม่ได้   และทำให้เกิดซ้ำก็ไม่ได้

         พฤติกรรมที่ซับซ้อนของระบบเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างหลากหลายกลุ่มของปัจเจกบุคคล   และเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลเหล่านี้กับสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร

         สมมติฐานเดิมว่าผลลัพธ์เป็นสิ่งที่คาดคะเนได้   ถูกแทนที่ด้วยสมมติฐานใหม่ว่าการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งปกติ แต่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานขององค์กร 

        ความมุ่งมั่น (purpose) ขององค์กรไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามสมมติฐาน   แต่เป็นสิ่งที่ผุดบังเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง   ขยายตัวออกไป   แล้วผุดบังเกิดใหม่ในรูปแบบใหม่   ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกขององค์กร กับสภาวะแวดล้อมขององค์กร

         แนวคิดดังกล่าวนำไปสู่การจัดองค์กรแบบใหม่  ที่เน้น "การไม่มีลำดับชั้น" (hyperarchy) เหนือการมีลำดับชั้น (hierarchy) เน้นชุมชนแนวปฏิบัติและทีมงานเสมือน   ไม่ใช่เน้นการจัดการโดยตรง    แนวคิดนี้เปลี่ยนโลกทัศน์ของพนักงานระดับปฏิบัติต่อองค์กร   ไปสู่วงจร map-build-operationalize


ตัวอย่างจริง
         บริษัทที่ปรึกษากฎหมายแห่งหนึ่งต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน   ตระหนักว่าแนวทางปฏิบัติ KM ที่ใช้อยู่มีข้อจำกัด   จึงเปลี่ยนแนว   แทนที่จะพยายามออกแบบกิจกรรมที่ชัดเจนสำหรับอนาคตที่ไม่ชัดเจน   บริษัทหันไปใช้ "emergent KM strategy" โดยเน้นการสร้างบริบทที่ส่งเสริมนวัตกรรม   สร้างความร่วมมือ  ความเชื่อมโยง  และเครือข่าย

Ref. Standards Australia. Knowledge management - a guide. AS 5037 - 2005

วิจารณ์  พานิช
 3 มิ.ย.50

หมายเลขบันทึก: 107165เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Blog ของ gotoknow วันนี้มี คนสร้าง ความรู้ -->ขยะข้อมูล (เขียนบันทึก) เยอะมาก คนมารับความรู้ (อ่านบันทึก) เยอะกว่า แต่ว่าความรู้ที่เกิดจากการ collaboration จนเกิดความรู้ใหม่(อ่านบันทึกแล้วเอาความรู้ตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้) นั้น……

 เมื่อใดหนอจะมีคนเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอาจารย์เยอะๆ จนเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างหลากหลายกลุ่มของปัจเจกบุคคล   และเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลเหล่านี้กับสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร และสุดท้ายเกิดเป็น ความรู้ใหม่

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท