วิถีชีวิตอุบัติใหม่ : วิถีชีวิตเมือง


สาระสำคัญจากการประชุม ปลุกคนไทยให้ตื่นจากความเข้าใจผิด 3 ประการ

วิถีชีวิตอุบัติใหม่ : วิถีชีวิตเมือง

      โชคดีที่ผมได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ ๓  ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม. มหิดล เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 50   ทำให้ผมเข้าใจว่าความเป็นจริงเรื่องประชากรของไทยเปลี่ยนไปแล้ว อย่างมากมาย    และช่วยให้ผมเข้าใจ เรื่องวิถีชีวิตอุบัติใหม่    (ที่ผมจะต้องเข้าไป ลปรร. ในการประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งที่ 6 ในวันที่ 16 ก.ค.) มากขึ้น

        สาระสำคัญจากการประชุม ปลุกคนไทยให้ตื่นจากความเข้าใจผิด 3 ประการ ได้แก่
           1. คนไทยส่วนใหญ่อยู่ในชนบท
           2. คนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
           3. นคราภิวัตน์ (urbanization) เป็นตัวปัญหา

        คุณกิริ กิริธาร์ ผู้แทน UNFPA ประจำประเทศไทย ช่วยเปิดกระโหลกผม    ว่าเราควรมองนคราภิวัตน์ (urbanization)  ด้วยสายตาหรือมุมมองใหม่    ที่เป็นมุมมองเชิงบวก    มองว่า urbanization เป็น transition  เป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์     ไม่ใช่ปัญหา    แต่จะมีคุณประโยชน์ได้ ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า   ให้สังคมเมือง กับสังคมชนบทเกื้อกูลส่งเสริมกัน    คนในสังคมเมืองควรได้เรียนรู้จากวิถีชีวิตชนบทด้วย  

       รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ รมช. ศึกษา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การศึกษากับนคราภิวัตน์และวิถีชีวิตเมือง" ชี้ให้เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของชีวิตเมือง  โดยเฉพาะ proximity      ท่านบอกว่า คนเมืองมีธรรมชาติ faceless, มุ่งอยู่รอด, impersonal     การศึกษาเพื่อวิถีชีวิตเมือง จึงต้องเรียนรู้ 4 เรื่องสำคัญ  
          1. การคบคน โดย รักษาระยะห่างที่ไม่เท่ากัน  - human skill
          2. คิดเป็น  เพื่อไม่ให้ถูก "ล้วงกระเป๋า" โดยระบบตลาด     ตรงนี้ผมมองว่าเป็น "ภูมิคุ้มกัน" จากสิ่งยั่วยวนต่างๆ 
              และการมี Social Intelligence  พูดเป็น  ไม่ตัดรอน ไม่สร้างศัตรู
          3. มีทักษะในการจัดการอารมณ์กับตนเอง  เคารพ เห็นคุณค่าของตนเอง    สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น - Emotional Intelligence
          4. ทัศนคติในการครองชีวิต   ต้องสอนตัวเอง    เพราะชีวิตเมืองถูกชักจูงไปในทางเสื่อมได้ง่าย
 
        ตัวเลขน่าสนใจด้านการศึกษา จากท่านรัฐมนตรี ดร. วรากรณ์  คนที่เกิดรุ่นหนึ่งเรียนจบ ป. 6  74%,  จบ ม. 3  61%,  จบ ม. 6  39%,  และเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา 31%      ตัวเลขนี้บอกอะไรๆ ผมมาก    แต่จะยังไม่กล่าวในที่นี้ 
  
ศ. ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล นำเสนอเรื่องที่ทุกคนรอคอย  คือเรื่อง ระเบิดประชากร 
        ระเบิด 3 ลูก ได้แก่  (1) ระเบิดเกิดล้าน ผ่านไปแล้ว   (2) ระเบิดผู้สูงวัย (คนอายุเกิน 60 ปี >10%) เริ่มปี  2544   (3) ระเบิด คน/ประชากร เมือง ซึ่งหมายถึงคนที่อยู่ในเขตเทศบาล  (>50%) เริ่มปี 2550 
        การประกอบอาชีพ เปลี่ยนไปแล้ว ในภาคเกษตรเพียง 20% และจะลดลงเรื่อยๆ โดยที่ผลผลิตทางการเกษตรไม่ลดลง   

ผศ. ดร. กาญจนา ตั้งชลทิพย์  นำเสนอเรื่อง เมืองโตเดี่ยว   ซึ่งก็คือกรุงเทพ
       สาเหตุหลัก คือ การย้ายถิ่น
     
รศ. ดร. โยธิน แสวงดี  เสนอเรื่อง เมืองชุมทาง - อ. นางรอง  จ บุรีรัมย์   โดย มองด้วย World Systems Theory
      การตัดถนนเส้นทางโชคชัย - เดชอุดม ในปี 2509 นำไปสู่การตัดป่า    และการปลูกมันขายยุโรป  
      ถนนและไฟฟ้า เป็นปัจจัยหลักในการเปลี่ยนที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คน
      จากป่าทึบ  สู่ทุ่งนา   สู่ดงตึก 
 
ดร. อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์  นำเสนอเรื่อง การศึกษา ความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองกับชนบท  
       ยืนยันหลักฐานข้อมูลว่าคนเมืองได้รับการศึกษาที่ดีกว่า    และตัวเลขที่น่าสนใจคือเพศหญิงได้รับการศึกษาดีกว่าเพศชาย 
     
       สำหรับเรื่องการศึกษา ผมอยากพุ่งไปมองที่ "การเรียนรู้" มากกว่า      และอยากให้มองที่คนทุกกลุ่มอายุ 
       มีหลักฐานแน่นอน ว่า คนเมืองมีความสุขน้อยกว่าคนชนบท

        จากการเข้าร่วมการประชุมนี้ครึ่งวัน (ไม่สามารถอยู่ร่วมในช่วงบ่าย) ผมสรุปว่า วิถีชีวิตอุบัติใหม่ที่เป็นภาพใหญ่คือ
            - วิถีชีวิตที่มีผู้สูงอายุในสัดส่วนสูง
            - วิถีชีวิตเมือง
            - วิถีชีวิตโดดเดี่ยว  ตัวใครตัวมัน
            - วิถีชีวิตที่เยาวชนถูกหล่อหลอมให้เป็นผู้ร้ายโดยไม่รู้ตัว
            - วิถีชีวิตที่มีสิ่งล่อใจ   ล่อให้ซื้อ ให้เสพ มากเกินพอดี
            - วิถีชีวิตในสังคมเปิด   ที่การติดต่อสื่อสารคมนาคมเปิดกว้าง     โอกาสเรียนรู้เปิดกว้าง
            - วิถีชีวิตที่คนมีการเคลื่อนไหวเคลื่อนย้าย (mobility) สูง

         ผมจะเอาความรู้ที่ได้ในวันนี้ ไปบอก ผศ. ดร. เทียนทอง ทองพันชั่ง     ให้บูรณาการประเด็นเข้าไว้ในบทความเรื่องวิถีชีวิตอุบัติใหม่     ที่จะนำเสนอในการประชุม สมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ ๖  เรื่อง ว&ท กับประเด็นอุบัติใหม่     ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี วันจันทร์ที่ 16 ก.ค. 2550

วิจารณ์ พานิช
30 มิ.ย. 50

    

หมายเลขบันทึก: 107568เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2007 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบพระคุณครับ

  • อัดแน่นด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ ใหม่ๆ ที่ใช้เป็นชนวนความคิดต่อไป ถึงเรื่อง "จะทำอย่างไรกันได้อีกบ้าง" เพื่อเผชิญกับสภาวะจริงดังกล่าว  ด้วยปัญญา ชนิด ก่อทุกข์  เกิดโทษน้อยที่สุด
  • อยากให้ถึงวันที่ 16 กค. เร็วๆ ครับ

เรียน ท่านอ.วิจารณ์ พานิชค่ะ

  • ดิฉันอ่านบทความของท่านแล้วสะท้อนใจ...
  • ผู้คนชาวเมืองมีปัญหาการดำรงชีวิตเช่นผู้คนชาวบ้าน.....
  • ชาวเมืองหาที่กิน  ที่อยู่สบาย ง่ายๆแต่ใช้วิถีชีวิตดำรงตนให้สุขนั้นยาก...เพราะต้องเผชิญการแข่งขัน..อย่างน้อยก็ต้องแข่งกับความขี้เกียจของตนเอง
  • ชาวบ้านหากินยากหน่อย  ต้องเดินไกล...ไกลความสะดวกสบาย...ไกลความรู้...แต่การใช้วิถีชีวิตที่มีสุขนั้นอย่างง่ายๆน่าสนใจยิ่งนักค่ะ....
  • ถ้านำวิถีชาวบ้านและวิถีชาวเมืองเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้...น่าจะได้วิถีชาวไทยที่มีสุขทั้งกายและใจอย่างแท้จริง....และนั่นคือความพอดีค่ะ
  • ขอบพระคุณสำหรับบันทึกค่ะ

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิจารณ์

        ท่านอาจารย์สบายดีไหมครับ ผมเอาแผนที่ปลามาฝากครับ

P แผนที่ปลา

เผื่อมีคนสนใจเอาไปประยุกต์กับโมเดลปลาทูได้ด้วยครับ

กราบขอบคุณมากครับ รักษาสุขภาพนะครับ

เม้ง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท