KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : (389) พลังวิเศษ – พลัง IC


             ผมกำลังคร่ำเคร่งเขียนต้น ฉบับหนังสือ “ผู้บริหารองค์กรอัจฉริยะ ฉบับนักปฏิบัติ”     ทำให้ต้องลดการเขียน บล็อก ลงไป    ขอนำ “แซมเปิ้ล” ของหนังสือดังกล่าว     มาเรียกน้ำย่อย     หนังสือนี้จะวางจำหน่ายในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 4  วันที่ 30 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2550     ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

            ส่วนหนึ่งของ บทที่ 5  พลังวิเศษ  มีดังนี้

พลัง IC

         องค์กรอัจฉริยะ คือองค์กรที่มีความสามารถพิเศษ ในการจัดการ Intellectual Capital (IC) หรือ “ทุนปัญญา”       องค์กรอัจฉริยะ มีความสามารถพิเศษในการมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่อาจดูเป็นสิ่งธรรมดาๆ เอามาสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่องค์กร      ความสามารถพิเศษนี้มีอยู่ในสมาชิกทุกคนขององค์กรอัจฉริยะ    ผ่านการฝึกฝนอย่างบูรณาการตามที่เสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้     และผ่านการริเริ่มสร้างสรรค์ร่วมกัน หรือการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติในรูปแบบอื่นๆ ที่ผู้เขียนยังไม่มีประสบการณ์   

         กล่าวได้ว่ากว่าร้อยละ 90 ของ “ทุนปัญญา” เป็นสิ่งที่ได้จากประสบการณ์      องค์กรทั่วไปเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วย waste หรือการสูญเสีย     ซึ่งการสูญเสียที่ใหญ่ที่สุด คุณค่ามากที่สุด คือสูญเสีย “ทุนปัญญา”     เป็นการสูญเสียในลักษณะ “ไม่รู้สึก” หรือมองไม่เห็น ไม่รู้ตัว      เพราะองค์กรทั่วไป ใช้คนระดับผู้บริหารเป็นผู้ดักจับ “ทุนปัญญา”     แต่องค์กรอัจฉริยะใช้สมาชิกทุกคน เป็นผู้ดักจับ “ทุนปัญญา”     และยิ่งกว่านั้น องค์กรอัจฉริยะ ใช้สมาชิกทุกคน เป็นผู้สร้าง “ทุนปัญญา”  ในทุกกิจกรรม ทุกที่ ทุกเวลา

         หากจะพัฒนาพลัง   “ทุนปัญญา”  ขององค์กร ต้องคำนึงถึงหลักการต่อไปนี้
1. “ทุนปัญญา” เกือบทั้งหมดไม่ได้อยู่ในความรู้เชิงทฤษฎี (Explicit Knowledge)   แต่อยู่ในความรู้ปฏิบัติ (Tacit Knowledge)
2. ความรู้เชิงทฤษฎี (Explicit Knowledge) ช่วยเพิ่มความแหลมคมของ “ทุนปัญญา”     แต่ถ้ามัวยึดติดกับความรู้เชิงทฤษฎีเกินไป     “ทุนปัญญา” จะด้าน คือไม่ไหลเวียนและสร้างสรรค์อย่างเป็นธรรมชาติ
3. อย่าหลงคิดว่า “ผู้จัดการทุนปัญญา” หลัก คือผู้บริหารระดับสูง     ผู้ปฏิบัติที่หน้างานมีจำนวนมากกว่าเป็นร้อยเท่าพันเท่า    จึงมีพลังของการจัดการทุนปัญญาสูงกว่า
4. มองในมุมหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูง คือผู้เอื้ออำนาจ ให้มีการจัดการทุนปัญญาอย่างอิสระ ในทุกระดับ ทุก sector ขององค์กร 
5. ต้องมีวิธีทำให้มีการจัดการทุนปัญญาแบบ “ข้ามแดน” ได้แก่ cross function, cross level     รวมทั้งการข้ามระดับระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้บริหาร     หรือเป็นการจัดการความงดงามและงอกงามของ “ระบบนิเวศ” ของทุนปัญญา นั่นเอง
6. ต้องหาทางดูดซับ (capture) ทุนปัญญาภายนอกองค์กร มาสร้างคุณค่า และมูลค่า อยู่ตลอดเวลา 
7. ทุนปัญญา มีอยู่ใน “ศัตรู” “ความท้าทาย” “วิกฤต” หรือสิ่งที่ดูผิวเผินเป็นด้านลบ ด้วย
8. ทุนปัญญาอยู่ในสิ่งที่เป็นนามธรรม (subjective) และรูปธรรม (objective)      เมื่อนำมาใช้สร้างคุณค่าและมูลค่า อาจใช้ตามสภาพเดิม หรือแปลงเป็นอีกสภาพหนึ่ง ก็ได้
9. การแปลงกลับไปกลับมาระหว่าง ทุนปัญญาเชิงนามธรรม กับทุนปัญญาเชิงรูปธรรม ผ่านการปฏิบัติ หรือการประยุกต์ใช้ จะช่วยยกระดับทุนปัญญาโดยอัตโนมัติ

วิจารณ์ พานิช
24 ส.ค. 50

หมายเลขบันทึก: 123271เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2007 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท