เป็นห่วงการศึกษาระดับปริญญาเอก


เป็นห่วงการศึกษาระดับปริญญาเอก

         วันที่ 26 ม.ค.49   ผมได้รับจดหมายของ นศ.ปริญญาเอก ม.บูรพาท่านหนึ่ง (นศ. ท่านนี้เป็นอาจารย์  สังกัด มรภ.แห่งหนึ่ง)  บอกว่าตนทำวิทยานิพนธ์เรื่องรูปแบบการบริหาร มรภ.   และได้รับคำแนะนำจากประธานกรรมการซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นประธานกรรมการอาจารย์ที่ปรึกษา (ประธานท่านนี้รู้จักและเคารพนับถือกันกับผมดี)  ให้มาสัมภาษณ์ผม   โดยได้ส่งคำถามมาให้ด้วย   ผมได้ตอบ นศ. ท่านนี้ดังนี้

"เรียน  อาจารย์...
 ผมไม่ตอบคำถามแบบนี้เพราะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผิด   นศ. ควรบอกมาก่อนว่าตนคิดอย่างไร   ได้ค้นคว้ามาอย่างไร   เกิดประเด็นปัญหาอะไรบ้าง   ประเด็นนั้น ๆ ตนคิดว่ามีคำตอบกี่แนว ฯลฯ   แล้วให้ผู้ทรงคุณวุฒิช่วยชี้แนะให้แตกฉาน/ชัดเจนยิ่งขึ้น   ไม่ใช่มาถามแบบ 'ขอความรู้' อย่างนี้
 วิจารณ์"

         ผมขอขยายความว่าในความเชื่อของผม   นศ. ปริญญาเอกต้องเรียนรู้โดยการสร้างความรู้   ไม่ใช่โดยการ "ขอความรู้"    ต้องเน้นการเรียนแบบ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" กับผู้ทรงคุณวุฒิ   ต้องบังคับตัวเองให้ค้นคว้าเองก่อน   อาจารย์ที่ปรึกษาช่วยแนะวิธีค้นคว้าด้วยตัวเองก่อนจนมีความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นในตนเองในระดับหนึ่ง   แล้วจึงไปขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิ   ไม่ใช่ไปขอสัมภาษณ์แบบขอความเห็นเพื่อเก็บเป็นข้อมูล

         ผมเป็นห่วงคุณภาพของการศึกษาระดับปริญญาเอกในปัจจุบัน   หากตั้งอยู่บนฐานของการที่นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์เพียงแค่เก็บข้อมูล  วิเคราะห์ข้อมูล   เขียนวิทยานิพนธ์นำเสนอ   โดยอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ว่านักศึกาเรียนรู้ในฐานะ knowledge consumer  คุณภาพของด็อกเตอร์ทั้งหลายจะต่ำลงไป

         ผมมีความเชื่อว่า นศ.ปริญญาเอกต้องเรียนด้วยท่าทีของ knowledge producer

         ดังนั้น นศ.ปริญญาเอกต้องไม่เน้นความสัมพันธ์กับผู้ทรงคุณวุฒิแบบ "ขอมาสัมภาษณ์"   แต่ต้องมาแบบ "ขอมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้"

         นศ.ปริญญาเอกที่ขอมาคุยกับผมแบบคน "สมองว่าง"   ผมไม่คุยด้วยครับ   ไม่ทราบว่าโหดร้ายไปหรือเปล่า   แต่เจตนาคือต้องการสื่อต่อวงการอุดมศึกษาว่า   อย่าเดินผิดทางและดึงคุณภาพปริญญาเอกให้ตกต่ำ

วิจารณ์  พานิช
 26 ม.ค.49

หมายเลขบันทึก: 13841เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ ถึงแม้ผมจะไม่ได้เรียนระดับปริญญาเอก แต่ผมมีความคิดว่าสังคมเราสอนให้เดินตามหลังผู้ใหญ่ (หมาไม่กัด) เด็กห้ามเถียงผู้ใหญ่ ลุกน้องต้องเชื่อฟังเจ้านาย ถ้าเรายังมีความคิดกันแบบนี้ผมว่ามันเชื่อมโยงไปถึงระบบการศึกษาด้วยครับ ฉะนั้นลูกศิษย์ก้อจะไม่เถียงอาจารย์ การแสดงความคิดเห็นอะไรที่ไม่ถูกใจอาจารย์ก้อถือว่าเป็นการฆ่าตัวตายครับ... อาจารย์สั่งแบบไหนทำไปแบบนั้นจบเร็วกว่า.... ผมไม่รู้ว่าต่างประเทศเขาสอนกันอย่างไร แตกต่างจากไทยมากน้อยแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่านักศึกษาไทยไม่ใช่ไม่เก่งครับ เพียงแต่ไม่มีโอกาส.... อาจารย์เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากน้อยแค่ไหนกันครับ....
       เห็นด้วยกับคุณTinyfrog เพราะเคยมีประสบการณ์ตอนเรียนป.โท ทำข้อสอบโดยตอบคำถามไม่โดนใจหรือตอบเกินขอบเขตของคำถามก็จะได้ 0 คะแนน(ทั้งที่ข้ออื่นๆได้คะแนนเกือบเต็ม)
ของไม่ลงชื่อเพราะกำลังเรียนอยู่

ด้วยความคารวะท่านอาจารย์ค่ะ

เห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์ทุกประการค่ะ

แต่จากประสบการณ์ อาจารย์ฝรั่งจะตกลงเรื่องวัตถุประสงค์กันก่อน จากนั้นก็นัดหมายเป็นเรื่องเป็นราว ทุกสองสัปดาห์ครั้ง แต่ละครั้งต้อง "มีอะไร" ไปแลกเปลี่ยน บางครั้งที่นักศึกษาค้นมามากกว่า อาจารย์ก็ยอมรับ แต่ ขอโทษค่ะ ถ้าเป็นอาจารย์ไทย ให้ไปพบแต่ละครั้งเพื่อสั่งค่ะ ไม่ใช่เพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยน และนัดยากเหลือเกิน ส่งงานเสร็จ ตามงานสามครั้งยังไม่ได้อ่าน เสียเวลาแต่ละครั้งที่รอร่วมสองเดือน เพื่อได้พบแค่สิบนาที แล้วบอกว่า "งานยังใช้ไม่ได้" แต่ที่ใช้ได้เป็นอย่างไรอย่าถามเพราะไม่ได้คำตอบค่ะ 

เข้าใจว่าอาจารย์คงทราบปัญหาแบบนี้ดีนะคะ

ตอนนี้อึดอัดกับระบบปริญญาเอกในประเทศมากค่ะ ดิฉันเรียนแบบแซนวิชโปรแกรมของ มช คือเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เปรียบเทียบได้ว่าการเรียนการสอนเป็นอย่างไร ขณะนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์ ล่าช้าติดค้าง เพราะเรื่อง "อาจารย์ไม่มีเวลาอ่านงานของนักศึกษานี่แหล่ะค่ะ"

เมื่อไหร่ระบบการเรียนในไทยจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้คะ และจะมีวิธีการใดได้บ้าง

  • ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับว่าการเรียนควรเรียนแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเราเรียนแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ มีนักศึกษาจีนมาเรียนด้วยเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ สนุกมากครับ
  • การเรียนแบบสร้างองค์ความรู้จะเป็นผลดีต่อนักศึกษาและประเทศชาติต่อไปในอนาคตครับ

การแลกเปลี่ยนความรู้  หมายถึง  นำความรู้มาพูดคุยกัน  ทำบ่อยค่ะแบบนี้  เพราะศักยภาพ  ประสบการณ์  ความรู้  ทักษะกระบวนการ ฯลฯ ของแต่ละคนแตกต่างกัน  INDIVIDUAL DIFFERENCES จึงทำให้ผู้ฟัง  ได้ฟังเรื่องอย่างหลากหลาย

ผู้มีความรู้คือผู้ฟังที่ดี  ฟังแล้ววิเคราะห์  แยกแยะ  สังเคราะห์  รวบรวมออกมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ ที่เป็นประโยชน์

ดิฉันทราบดีว่าคนเป็นครูต้องตั้งความหวังไว้กับนักเรียนสูงพอสมควร  นักเรียนต้องทำอย่างนั้น  อย่างนี้ให้ได้  ในระดับนั้นนี้  แบบนี้ไม่เหมาะที่จะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก

ก็ดิฉันยังไม่ได้มีความรู้อะไรที่จะคุยได้  หรือไม่รู้ว่าจะคุยอะไร  บางทีเอ๊ะเราเปิ่นหรือเปล่า  แต่จะพยายามทำให้สมภาคภูมิของนักศึกษาระดับปริญญาเอกค่ะ  เมื่อตัดสินใจเข้าศึกษาต่อแล้ว  ต้อง  ต้อง  ไม่ดึงคุณภาพปริญญาเอกใก้ตกต่ำเป็นอันขาด

นายสุรินทร์ แก้วชูฟอง

เรียนท่านอาจารย์ ทุกท่าน ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็น การเป็นคนที่อยากจบการศึกษาในระดับดร.เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุดถ้ามีโอกาส อย่างไรก็ตามถ้าจบมาแล้วไม่มีคุณภาพ หรือทำให้มาตรฐานทางการศึกษาตำไม่รู้ว่าจะโทษใคร ระหว่างหลักสูตร สถาบันทางการศึกษา อาจารย์คณาจารย์ที่ให้เวลามาสอนให้ความรู้ เข้าใจว่าทุกมหาลัยคงไม่อยากให้เหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ผมเรียนจบแล้วทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ตามระเบียบของทางมหาวิทยาลัยแต่รออนุมัติ รู้สึกมีความภาคภูมิใจที่ตนเองสามารถฝ่าฟันอุปสรรคด้านการเรียนจนประสบผลสำเร็จ จะนำความรู้ที่ได้รำเรียนมาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง ต่องานที่ปฏิบัติอยู่และต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป ขอบคุณข้อคิดที่ได้จากท่านอาจารย์มากครับ สุรินทร์ แก้วชูฟอง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านปากห้วย

การเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก เชื่อว่าแต่ละมหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตที่แตกต่างกันตามสาขาวิชาที่เรียน ดังนั้นจึงมีการเน้นในรูปแบบแตกต่างกัน เช่น ด้านที่เกี่ยวข้องกับศึกษาอาจเน้นองค์ความรู้ บริหาร เน้นศาสตร์การจัดการ ศิลปะเน้นการตีความเชิงสุนทรียศาสตร์ ฯลฯ และหากนำศาสตร์แต่ละด้านมาวิเคราะห์และกำหนดคำถามตามกรอบของท่านวิชาญ ก็คงจะเป็นอะไรที่หนักแน่นมีความเป็นไปได้เชิงวิชาการสูง ลองทำดูสิคะ

จากผู้ที่จบปริญญาเอกแล้ว (กลุ่มสังคายนาระบบบริหารเพื่อพิทักษ์ความยุติธรรมในองค์กร)

เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ดี  (เฉพาะกลุ่ม) เท่านั้นครับ  กำลังจะเรียนปริญญาเอก  แต่ลองปรึกษารุ่นพี่หลายท่านที่กำลังเรียนอยู่

A : พี่ครับเรียนปริญญาเอกเป็นอย่างไรครับ  ยากไหมพี่  อาจารย์ท่านเตือนว่า  "เรียนปริญญาเอกหนักกว่าปริญญาโท 500 เท่า"

B: โอ้โห  คำนวณไม่ถูก 2 เท่ายังมองเห็นภาพ

A: เอาน่า  ทำตามอาจารย์  อย่าเถียง  เข้าหาอาจารย์ เดี๋ยวก็จบ

B: อ้าวพี่ครับ  คิดนอกกรอบไม่ทำตามอาจารย์ไม่ได้เหรอครับ5555

การศึกษาไทยส่วนตัวผมสัมผัสได้ว่ายิ่งเรียนยิ่งไม่ฉลาด  ผิดกับต่างประเทศเน้นหน้าที่การงาน  การมีความสุขกับการงานมากกว่าการศึกษา  แต่ทำไมประเทศไทย Citizens มีการการศึกษา High  Educations แต่ทำไมเราอยู่ในกรอบเป็นระเบียบแบบแผนเป๊ะ  เราไม่สามารถเน้น Outputs และ Outcomes มากกว่า Inputs และ Process  ไม่ได้เหรอ  ถ้าอยากนั้นก็ไม่สามารถตอบจุดประสงค์ได้ว่า เราจะเรียนปริญญาเอกทำไม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท