KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : (430) KM คืออะไร (27) เครื่องมือเรียนรู้ Systems Thinking


      - เย็นวันที่ 29 ก.ย.50 ในมหกรรม KM ภูมิภาค ที่ มน.  ระหว่างร่วมกันทำ AAR  ผมได้เรียนรู้ Systems Thinking จากกิจกรรม AAR นั้น
      - มีคนกล่าวยกย่องผม ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิด KM แบบที่ใช้กันอยู่  และเกิดบล็อก Gotoknow
      - ผมนั่งฟังพร้อมกับเถียงในใจว่า "ทั้งจริงและไม่จริง"
      - จริง ๆ แล้ว KM ประเทศไทยมีสภาพอย่างที่เห็น ๆ กัน ด้วยฝีมือของเครือข่าย KM ประเทศไทยทุกองค์กร  และเป็นผลงานของ "คุณกิจ", "คุณอำนวย", "คุณเอื้อ", "คุณประสาน", "คุณลิขิต",  และ "คุณวิศาสตร์" ทุกคน  ขาดหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง  หรือคนใดคนหนึ่ง  ระบบ KM ประเทศไทยจะไม่เป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
      - แน่นอน  ถ้าไม่มี สคส.  ระบบ และ เครือข่าย KM ประเทศไทยจะไม่เป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
      - ภายใน สคส. ถ้าขาดสมาชิกคนใดคนหนึ่ง สคส. จะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
      - มองแบบ Systems Thinking ผมจึงเป็นเพียง "part of the whole" หรือองค์ประกอบหนึ่งของทั้งระบบ
      - หัวใจของ Systems Thinking ในเรื่องนี้ก็คือ  ผมเป็น "วิจารณ์" อย่างที่เห็นในปัจจุบัน  ก็เพราะมี สคส.,  มีเครือข่าย KM ประเทศไทย   ถ้าไม่มี สคส.   ไม่มีเครือข่าย KM ประเทศไทย "วิจารณ์" คนนี้ก็จะไม่เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน   คือใน Systems Thinking คุณสมบัติขององค์ประกอบขึ้นอยู่กับการเป็นส่วนหนึ่งของระบบ  และในขณะเดียวกันคุณสมบัติในภาพรวมของทั้งระบบก็ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบแต่ละชิ้นส่วนด้วย
      - แต่เรื่องมันยังซับซ้อนกว่านั้น   เพราะจริง ๆ แล้วผมยังเป็น "ชิ้นส่วน" ในระบบอื่น ๆ (เช่น ระบบอุดมศึกษา  ระบบวิจัย  ระบบสุขภาพ ฯลฯ)  ด้วยและการที่ผมเป็น "ชิ้นส่วน" ของระบบเหล่านั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงผม   และผมก็เอาสิ่งที่ผมเรียนรู้นั้นมาใช้ในระบบ KM ประเทศไทยด้วย
      - ภายในระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex Adaptive Systems)  คนเราจึงมีบทบาทเป็น "ชิ้นส่วน" อยู่ในหลายระบบ  ทำให้ระบบซ้อนระบบ หรือเกิดการเชื่อมโยงระหว่างระบบ  เกิดอิทธิพลระหว่างระบบ
      - ระบบ KM มันมีช่องว่าง   การก่อเกิด (emergence) จึงเกิดง่ายหน่อย   แต่อีกหลายระบบของสังคมไทยมี "เจ้าของ" มาก   มีโครงสร้างที่แข็งทื่อตายตัว  เกิดการเปลี่ยนแปลงยาก
      - สรุปว่า ในวิธีคิดแบบ Systems Thinking ไม่มีฮีโร่   ไม่มีอัศวินม้าขาว   มีแต่ part of the whole

วิจารณ์  พานิช
 1 ต.ค.50

หมายเลขบันทึก: 141996เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2007 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งเลยครับในเรื่องการคิดเชิงระบบ

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ แต่ขอเสริมสักนิดนะคะว่าอาจารย์เป็น the very important and constructive part of the whole ค่ะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท