สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง


         สถาบันนี้ตั้งขึ้นตามคำสั่งของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ ๑๐๕๒/๒๕๕๐  ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๐    มีนางธุวนันท์ พานิชโยทัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ๘ว. เป็นผู้อำนวยการ     สถาบันฯ มีหน้าที่
1. วิจัยทางด้านวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ได้องค์ความรู้ทางวิชาการและทักษะกระบวนการเรียนรู้
2. พัฒนานักวิชาการส่งเสริมการเกษตรให้มีทักษะและความรู้ความสามารถในการเสริมสร้างและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียงและกระบวนการเรียนรู้
3. ถ่ายทอดความรู้ด้านนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร โดยการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยและกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจริง
4. สนับสนุนการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนา
5. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย

                    ผมลองค้นด้วย Google จึงพบว่าสถาบันได้แนะนำตัวต่อวงการ Gotoknow แล้วที่ http://gotoknow.org/blog/sewii/148355 

         ในการประชุมคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ ๔ ธ.ค. ๕๐ ผมได้รู้จักท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ ที่ดูจะเอาจริงกับเรื่องนี้เต็มที่    ได้รู้จักกับคุณวิเชียร ศรีลูกหว้า ผอ. มูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกรไทย ที่กำลังทำโครงการ “เยาวชนต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง”     ผมจึงได้โอกาสทำตัวเป็น “ช่างเชื่อม” เชื่อมโยงกิจกรรมพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิสยามกัมมาจลทันที  

         งานระยะสั้นของ   สถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเน้นเรื่อง ข้าว  ดำเนินการส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน เป็นโครงการนำร่องในเขตชลประทานภาคกลาง ๘ จังหวัด คือ สิงห์บุรี นครปฐม ชัยนาท อยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และปทุมธานี    โดยสถาบันฯ มีกลไกศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ๔๘ แห่ง ของกรมส่งเสริมการเกษตร  และมีภาคีเครือข่ายอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว     คณะกรรมการเห็นด้วยกับการเน้นเรื่องข้าว และได้แนะนำภาคีเพิ่มขึ้นอีก  เช่น มูลนิธิข้าวไทย  มูลนิธิข้าวขวัญ  มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร  สันติอโศก  รศ. ดร. แสวง รวยสูงเนิน เป็นต้น     และควรทำงานเป็นภาคีร่วมกับสื่อมวลชนด้วย     ใช้สื่อมวลชนทั้งเพื่อเผยแพร่ และเพื่อรวบรวมภูมิปัญญา

         ผมได้แนะนำว่า อย่าเน้นเฉพาะภูมิปัญญาด้านการผลิต ต้องเน้นด้านอื่นๆ ด้วย เช่นด้านการตลาด  ด้านทุน  ด้านแปรรูป  ด้านสิ่งแวดล้อม  เป็นต้น    และได้แนะนำว่า ในระดับชาวบ้านจะมีการใช้และสร้างภูมิปัญญาแบบบูรณาการ ไม่แยกด้าน
  
คณะกรรมการแนะนำให้ทำ เครือข่ายข้าว ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อถวายในหลวง ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๔ คือจนถึงวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมายุ ๘๔ พรรษา  โดยชักชวนหลากหลายหน่วยงานมาร่วมมือกันเป็นเครือข่าย     เท่ากับเป็นงานระยะยาว

         คุณธุวนันท์ เสนอว่าสถาบันฯ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนกรมส่งเสริมการเกษตร จากเน้น Result-based มาเป็นเน้น Knowledge-based    ผมมองว่าสถาบันฯ จะทำหน้าที่ หน่วยวิชาการแนวใหม่ ที่เน้นทำงานวิชาการด้วยเครื่องมือจัดการความรู้     เน้นสืบค้น รวบรวม และยกระดับ นวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง     ผมเสนอ Double Loop Strategy ให้ทีมงานของสถาบันฯ นำไปปรับใช้
     • วงจรแรก เรียกว่าวงจร KM เมื่อรวบรวมนวัตกรรมได้  ทีมงานนำมาใส่คำอธิบาย     เท่ากับว่าตัวนวัตกรรมเป็น Tacit Knowledge หรือ Actionable Knowledge ที่ได้มาจากการเล่าเรื่อง   ทีมงานเติมคำอธิบายหรือการตีความ หรือ Explicit 2Theoretical Knowledge เข้าไป    เมื่อมีเกษตรกรนำไปใช้  ก็เชิญชวนให้เล่าเรื่องผลการใช้และยกระดับนวัตกรรมนั้น    เรื่องดีมีรางวัล แต่จะให้รางวัลหลังจากพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องโม้     วงจรนี้จะหมุนเรื่อยไป ไม่รู้จบ
     • วงจรที่ ๒ เรียกว่าวงจรวิจัย    ถ้าทีมงานอธิบายไม่ได้ หรือได้ไม่ชัดเจน    หาผู้รู้มาอธิบายก็ยังไม่ชัดเจน     ก็จะเป็นโจทย์วิจัย ส่งต่อให้นักวิจัยไปดำเนินการ     อาจตั้งเป็นชุดโครงการวิจัยภูมิปัญญาเกษตรกรรมเศรษฐกิจพอเพียง  

         ในระยะปานกลาง สถาบันฯ จะทำงานสืบค้นและรวบรวมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียงในทุกด้าน    ให้ได้ ๔๗๖ เรื่อง จังหวัดละ ๕ เรื่อง, ศูนย์ปฏิบัติการฯ ศูนย์ละ ๒ เรื่อง) ภายในเวลา ๙ เดือน    จัดเครือข่ายและระบบสารสนเทศ     เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์    และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

         ในระยะยาว ๔ ปี จะสร้างระบบนวัตกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง     ซึ่งคณะกรรมการได้แนะนำให้ทำเรื่องเครือข่ายข้าวดังกล่าวแล้ว

         ผมชื่นใจ ว่าเครื่องมือ KM จะได้เข้าไปรับใช้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการทำงานของสถาบันสร้างเสริมนวัตกรรมภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วย

วิจารณ์ พานิช
๖ ธ.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 151768เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เรียนอาจารย์หมอวิจารณ์
  • ผมเป็นสมาชิกของสถาบันฯ ครับ
  • ขอขอบพระคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็นของอาจารย์หมอที่แนะนำ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการจัดทำเว็บไซต์ของสถาบันฯ
  • เมื่อเช้าทีมสถาบันฯ ได้ทำ AAR ก็ได้แนวคิด ข้อสรุปร่วมกันของทีม ที่จะนำไปดำเนินงานต่อไป

 

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

      ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากคะที่กรุณาให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน   โดยเฉพาะประเด็นการจัดการความรู้และยกระดับความรู้ขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ และคงจะได้รับการแนะนำดี ๆ เช่นนี้อีกนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท