สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๔๔. ชายคาภาษาไทย (๒๓)_๑


ยุกระบัตร / ยกระบัตร / ยกกระบัตร

         คำว่า ยกกระบัตร ที่เขียนแบบอักขรวิธีปัจจุบันนี้ คงเป็นที่คุ้นตาเราท่านอยู่บ้าง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า
        “ตำแหน่งข้าราชการสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี; ตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดี ตรงกับ พนักงานอัยการ หรือ อัยการ ในปัจจุบัน, ยกบัตร หรือ พนักงานรักษาพระอัยการ ก็เรียก; เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร; เขียนเป็น ยุกกระบัตร ก็มี.”

          คำว่า ยกกระบัตร นั้นเขียนหลายรูป แต่ที่มาคุ้นกันมากในสมัยหลังเห็นจะได้แก่ คำว่า ยกบัตรทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งหน้าที่ที่กำหนดตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกรมยุทธนาธิการ ร.ศ. 111 ซึ่งให้จัดตั้งกรมยกบัตรทหารบกขึ้น มีหน้าที่สำคัญดังต่อไปนี้
 1. ให้จัดการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องในโรงทหารบก
 2. ให้จัดการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับป้อมและทางบก
 3. ให้จัดการสืบข่าวคราวราชการยุทธ
 4. ให้จัดการรับส่วงสรรพสิ่งของ กองทหารซึ่งจะรับส่งไปมาในที่ต่างๆ
 5. ให้จัดการชำระพล และเร่งรัดคนที่ควนจะเป็นพลทหาร และหมายหมู่ส่งไปยังกองทหารต่างๆ
 6. ให้เป็นผู้รับคำสั่งผู้บัญชาการยุทธนาธิการ และมีคำสั่งในกรมและกองทหารบกที่เกี่ยวข้องนั้น (1)

         หน้าที่ของยกบัตรข้างต้นนั้นเป็นเรื่องธุรการด้านการจัดการกำลังพลและสรรพภาระ (logistics) เป็นส่วนใหญ่ และมีเรื่องการสืบราชการลับอยู่ด้วย นับว่าเป็นการกำหนดหน้าที่ใหม่ ซึ่งลดความสำคัญและบทบาทของยกบัตรทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมลงมาก

         หน้าที่ของยกกระบัตรที่กำหนดขึ้นใหม่ในสมัยหลังก็ไม่ตรงทีเดียวนักกับหน้าที่เดิมของเจ้าพนักงานท่านนี้ที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์และกฎหมายตราสามดวง ซิมอง เดอะ ลาลูแบร์ ผู้บันทึกเรื่องราวของไทยไว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้เอ่ยนาม “Oc-Prà Jockebtest” (ออกพระยุกระบัตร) และกล่าวถึงหน้าที่ของท่านผู้นี้ว่า
         “เป็นทำนองอัยการแผ่นดิน และมีหน้าที่สอดแนมความเคลื่อนไหวของเจ้าเมืองเป็นที่ตั้ง ตำแหน่งนี้ไม่สืบทายาทถึงบุตร ในหลวงทรงแต่งตั้งจากบุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย แต่ตามที่เป็นมานั้นก็แสดงให้เห็นว่าไว้วางใจคนพวกนี้ไม่ค่อยจะได้นักและพวกขุนนางทุกตำแหน่ง มักจะรู้เห็นเป็นใจร่วมมือกันเบียดเบียนราษฎรอยู่เสมอ” (2)

         ข้อความที่เดอะ ลาลูแบร์เขียนไว้นั้นมาจากข้อมูลที่ท่านสืบทราบมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ และนับว่า ไม่ห่างไกลจากหลักฐานชั้นต้นในกฎหมายตราสามดวง เมื่อดูจากพระตำรา ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติ จุลศักราช 997 พ.ศ. 2178 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแล้ว ยุกระบัตรเป็นเจ้าพนักงานในบังคับบัญชาของกรมวัง เพราะมีความระบุว่า เจ้าพญาธรมาธิบดีวิริยภักดีบดินทรเดโชไชยมไหยสุริยาธิบดีรัตนมลเทียรบาลอัคมหาเสนาธิบดีอไภยพิริยบรากรมภาหุ เจ้ากรมวังเป็นผู้ใช้ตราเทพดาขี่พระนนธิการ “แก่กรมการตั้งขุนยุกระบัตรหัววเมืองโทหัวเมืองตรีเมืองจัตวาแลหัววเมืองเลก” ดูตามพระตำราเห็นว่า เมืองเอกนั้นหามียุกระบัตรไม่ แต่เมื่อไปดูทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองเอกในพระไอยการตำแหน่งนาหัวเมืองกลับปรากฏว่า มี “พระภักดีราช ยุกระบัตร” มีศักดิเป็นนา 1600 เมื่อไปตรวจดูทำเนียบเมืองพิษณุโลกบ้างกลับไม่ปรากฏว่า มียุกระบัตรเลย เพราะฉะนั้นจึงพอสันนิษฐานว่า บางสมัยเมืองเอกมียุกระบัตร บางสมัยก็ไม่มีดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติปีจุงศักราช 822 โทศกในพระไอยการอาชญาหลวง ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงตั้งขึ้นดังความในบานผแนกว่า

         วันอาทิตย์เดือนแปดขึ้นสิบสามค่ำ มโรงนักสัตว โทศก สมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสดจ์เหนือรัตนสิงหาศพระเสาวคนธกุฎีโดยทักษิณาพิมุขขมังคลาวิเสศ จึ่งพระราชวงษาบังคมทูลพระกรุณาขอเรียนพระราชประฏิบัติ ประสงคด้วยนายแวงทังหลายผู้เปนยุกรบัตรแห่งเมืองทังหลาย คือเมืองศรีสัชนาไลย เมืองศุกโขโทย เมืองกำแพงเพชร เมืองพิศณุโลกย์ เมืองไชยนาถบูรี แลเมืองนอกทังปวงภอเอาราชการได้ เปนการยุกรบัตรจะประฏิบัติเท่าใด ข้าขอเรียนพระราชประฏิบัติพระเจ้าอยู่หัว จึ่งสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ ให้ตราเปนฉบับคำนับไว้ดั่งนี้ (3)
 
         พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้ภาษาและสำนวนเก่ามาก อีกทั้งยังมีลักษณะพิเศษไปกว่าพระราชบัญญัติอื่นตรงที่ว่า ผู้กราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้ามีพระราชโองการออก “พระราชประฏิบัติ” สำหรับผู้เป็นยุกระบัตรคือ “พระราชวงษา” หรือเจ้านาย มิใช่ข้าราชการ ปีที่ตราพระราชบัญญัติเรื่องยุกระบัตรนี้ตรงกับ พ.ศ. 2003 อันเป็นปีที่ทางเมืองเหนือยังมีเหตุวุ่นวาย พญายุธิษเฐียรพระโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาบรมปาล ไม่พอพระทัยที่สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้ามิได้ทรงยกย่องพระเกียรติยศเป็นเจ้าประเทศราช จึงได้ไปสวามิภักดิ์แก่สมเด็จพระเจ้าติลกราช มหาราชเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2003 เกิดเหตุพญาเชลียงเอาใจออกห่างไปสวามิภักดิ์เมืองเชียงใหม่อีก ผู้เขียนเชื่อว่า สมัยเมื่อเจ้านายหัวเมืองเหนือได้มายอมอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระนครอินทรราชาธิราชนั้น ฐานะของเจ้าเมืองเหนือยังคงสูงอยู่ และคงเป็นเช่นนั้นมาจนถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิบดี (เจ้าพระยาสาม) เนื่องจากมีความใกล้ชิดกันมากจากการที่พระอัครราชเทวีของสมเด็จพระบรมราชาธิบดีทรงเป็นพระขนิษฐาพระยาบาลราช เจ้าเมืองพิษณุโลก ผู้ซึ่งต่อมาจะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หัวเมืองนา 10000 ทั้ง 4 ฝ่ายที่กฎมณเทียรบาลกล่าวถึงและเป็นบุคคลที่มีฐานะสูงกว่าเสนาบดีในพิธีกรรมของพระนครศรีอโยธยาตอนต้นนั้น น่าจะหมายถึงเจ้าเมืองพิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัยและเชลียง ซึ่งเป็นเจ้าอนุวงศ์ของเมืองเหนือ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีการแต่งตั้งยุกระบัตรไปสอดส่องดูแล แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปในชั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า เพราะทรงเป็น “ทวิวงศ์” (พ่อเป็นฝ่ายอโยธยา แม่เป็นฝ่ายเมืองเหนือ) เหตุนี้จึงมีสิทธิธรรมในการปกครองเมืองเหนืออย่างเต็มที่ ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การที่อำนาจกึ่งอิสระของเจ้าเมืองทั้งสี่จะต้องถูกจำกัดลง ความไม่พอใจจากการถูกลดบทบาทลงในทางการเมืองและเกียรติยศทำให้พญายุธิษเฐียรเอาใจออกห่างก่อน ต่อมาพญาเชลียงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย จึงได้ติดตามพญายุธิษเฐียรไปพึ่งเมืองเชียงใหม่บ้าง

         ผู้เขียนเชื่อว่า สถานการณ์นี้เป็นโอกาสให้สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าทรงปรับปรุงระบบยุกระบัตรให้มีหน้าที่ชัดเจนชึ้น พร้อมกับการขยายอำนาจของพระมหากษัตริย์บนพื้นฐานที่มั่นคงขึ้นในช่วงเวลาที่พระราชอาณาเขตของอาณาจักรอโยธยาขยายตัวออกไป ดังนั้นเมื่อทรงออกพระราชบัญญัติใน พ.ศ. 2003 บรรดาเมืองหลักที่ถูกดึงเข้าสู่ระบบการสอดส่องดูแลของยุกระบัตรจึงเป็นหัวเมืองทั้งสี่ของอาณาจักรสุโขทัย-ศรีสัชนาลัยกับบรรดาเมืองสำคัญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน 


         คราวนี้กลับมายังเรื่องเมืองพิษณุโลกอีกครั้ง พิษณุโลกเป็นเมืองสำคัญเพราะเป็นเมืองหลวงในช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้าทรงขึ้นไปครองราชย์ที่นั่น ในช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรอโยธยามีสงครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ความสำคัญของเมืองพิษณุโลกอาจมีเพิ่มมากขึ้นในสมัยต่อมา ไม่เพียงแต่เป็นเมืองพระมหาอุปราช หากยังเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่คอยดูแลหัวเมืองเหนือทั้งหมดและเหตุการณ์ด้านเมืองมอญและพม่า เพราะฉะนั้น เจ้าเมืองพิษณุโลกแม้ไม่ได้เป็นเจ้านายแล้วก็ยังอยู่ในฐานะพิเศษ ดังจะเห็นได้ว่า ตามทำเนียบพระไอยการนาหัวเมืองล่าสุด เจ้าเมือง คือ “เจ้าพญาสุรศรีพิศมาธิราชชาติพัทยาธิเบศวราธิบดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ เมืองพิศณุโลกเอกอุ” กล่าวคือ เจ้าเมืองเป็นขุนนางระดับ “นา 10000 เอกอุ” หรือ นา 10000 ชั้นสูงสุด (4) ในขณะที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชอาจเป็นเพียงเมืองเอกระดับสามัญ ผู้เขียนเชื่อว่า แต่เดิมเมืองเอกทั้งสองน่าจะได้รับเกียรติไม่ต้องมียุกระบัตรไปกำกับราชการ เพราะเมืองนครศรีธรรมราชเดิมก็นับเป็นเมืองเจ้าอนุวงศ์ หรือ เป็นเมืองกษัตริย์มาก่อน แต่ในภายหลังได้ลดความสำคัญลงในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับพิษณุโลก ผู้เขียนได้พยายามที่จะอธิบายฐานะที่แตกต่างกันระหว่างเมืองทั้งสอง แต่ไม่เห็นเหตุผลอื่นใด นอกจากข้อสังเกตที่ได้จากพลตรี หม่อมราชงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี ที่ว่า เมืองนครศรีธรรมราชไม่มีเมืองโทในกำกับเลย  อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งยุกระบัตรไปเป็นกรมการท่านหนึ่งในกรมการเมืองน่าจะเป็นเรื่องสมัยหลังเมื่อฐานะของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ลดความสำคัญลงแล้ว

         ถ้าพิจารณาเมืองโท เช่น เมืองตะนาวศรี ดูบ้าง พบว่า ยุกระบัตร มีศักดินา 1000 เท่ากับจตุสดมภ์เมือง สำหรับเมืองตรีซึ่งมีหลักฐานให้ตรวจสอบ เช่น เมืองชุมพร พบว่า ยุกระบัตรมีศักดินา 800 หลั่นลงไปอีก ชั้นหนึ่ง ข้อที่น่าสังเกตคือ กรมวังแต่งตั้งยุกระบัตรลงไปถึงระดับเมืองจัตวาและเมืองเล็กด้วย ในระบบการปกครองของไทยโบราณจึงมีลักษณะแบบรวมศูนย์ซึ่งการสอดส่องดูแลของรัฐบาลกลางลงไปถึงเขตการปกครองระดับแขวงที่ขึ้นเมืองจัตวา

         คำว่า ยุกระบัตร นั้นในพระไอยการอาชญาหลวงเขียนว่า ยุกรบัตร ซึ่งควรถือว่า เป็นคำที่เก่าที่สุดและถูกต้องที่สุด พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ทรงสันนิษฐานไว้ทางหนึ่งว่า คำว่า ยุกฺต ใช้เรียกข้าราชการชั้นอาลักษณ์ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญเหมือนตำแหน่งยุกระบัตรของไทย คำว่า ยุกฺต ในภาษาอังกฤษแปลได้หลายความหมาย รวมทั้ง “ถูกต้อง, เหมาะสม, สมควร, อันพิสูจน์แล้ว” (right, fit, proper, proved) ตรงกับคำบาลีว่า ยุตฺต แปลว่า อันควร, สมควร ดังปรากฎความในพระธรรมศาสตร์ว่า “ยุตฺตายุตฺตชานโก” ซึ่งโบราณาจารย์แปลว่า “มีปกติรู้ซึ่งลักษณะอันควรแลมิได้ควร” ข้อความนี้สำคัญเพราะตรงกับหน้าที่หลักของยุกระบัตรในเรื่องของการวินิจฉัยข้อกฎหมายและการตัดสสินความว่า สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร  ส่วนคำว่า บัตร นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “บาตร” แปลว่า “ที่ปรึกษา, อมาตย์ของพระเจ้าแผ่นดิน” (king’s counseller or minister) โดยอนุโลมหมายถึง ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว คำว่า ยุกฺต + บาตร จึงมีนัยได้ทั้งคุณสมบัติและหน้าที่ กล่าวคือ 1 ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัวผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม และ 2 เป็นข้าราชการผู้พิจารณาว่า สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร

         ในข้อแรก พระไอยการอาชญาหลวงมาตรา 139 ระบุว่า
         อนึ่ง อายัดการผู้เปนยุกรบัตรแห่งเจ้าเมืองนอกทุกแห่ง ให้แต่งคอยราษฎร ถ้าจะตั้งยุกรบัตรให้ตั้งผู้มีตระกูลอันเปนราชการ รู้ขนบทำเนียมในเมืองหลวงไป แลผู้เปนยุกรบัตรแลอย่าให้มีใจโลภหลง อย่าเจรจามุสาวาทอำพรางอย่าเหนแก่ความสมเลณุพูนพิโรธแลเสียดข้อความ จงมีใจกรุณาแก่ราษฎร คอยดูผิดแลชอบแห่งเจ้าเมือง
1.  ข้อความที่ยกมามีใจความสำคัญ 4 ประการ คือการอายัด (ภาษาโบราณแปลว่า อำนาจหน้าที่) ของยุกระบัตรประจำเมืองต่างๆ ได้แก่ การแต่งคอย (ระวังคอยดูแล) ราษฎร
2. ให้ตั้งยุกระบัตรจากผู้มีตระกูลอันเป็นราชการ (เป็นข้าราชการ) และเป็นผู้รู้ธรรมเนียมราชการในเมืองหลวง
3. ไม่มีใจโลภหลง เจรจามุสาวาท อำพราง เห็นแก่ความสมเล (5) ณุ (6) พูน (7) พิโรท
4. คอยสอดส่องพฤติกรรมเจ้าเมืองว่า ปกครองราษฎรผิดหรือชอบอย่างไร

         พระราชบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของยุกระบัตรที่ตราขึ้นครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการปกครองหัวเมืองของไทย และเป็นหลักฐานว่า ในสมัย “ศรีอโยธยา”

         ในประวัติศาสตร์ไทยนั้น เมืองหลวงมีอำนาจการปกครองหัวเมืองโดยตรงแล้วทั้งในด้านการแต่งตั้งเจ้าเมืองและการที่ราชสำนักส่งเจ้าพนักงานกรมวังไปเป็นกรมการเมืองด้วยผู้หนึ่ง ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยุกระบัตรต้องทำตาม “พระราชประฏิบัติ” ดังนี้
1 รับทราบกิจราชการทั้งหลายที่พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งเจ้าเมือง
2 เมื่อเจ้าเมืองไปราชการสงคราม นายยุกรบัตรต้องไปด้วยเจ้าเมือง
3 รับทราบกิจของเจ้าเมืองทั้งที่เป็นเรื่องราชการและเรื่องสำคัญอื่นทั้งปวง เช่น ส่งคนไปนอกด่านนอกทาง (หมายถึง นอกเมืองที่ปกครอง) ส่งคนไปค้าขายต่างแดน และส่ง-รับ “สารพิไสย” (หนังสือติดต่อ) กับผู้ใดก็ตาม
4 มีเอกสิทธิ์ที่เข้าเมืองหลวงไปถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวได้ตลอดเวลา โดยเจ้าเมืองห้ามมิได้
5 สอดส่องดูแลเรื่องร้องฟ้องของราษฎร ไม่ปล่อยให้ความบ้านความเมืองเนิ่นช้า หากเรื่องติดขัดให้บอกแก่เจ้าเมือง
6 ในการประกอบพระราชพิธีเผาข้าว ให้สอดส่องเมื่อเจ้าเมืองนำไพร่พลข้าไททั้งหลายออกนอกเมืองไปเสกข้าวเผาข้าว และเลี้ยงดูตามระบินเมือง
7 ห้ามยุกระบัตรแทรกแซงราชการในอำนาจหน้าที่ของตระทรวงการทุกหมู่ ยกเว้นที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
8 เมื่อเจ้าเมืองและกรมการเมืองผู้ใดจะไปกระทำกิจ ณ ที่แห่งใด ให้ยุกระบัตรพิจารณาดูว่า ผิดและชอบ ถ้าเห็นว่า ผิดให้ปราม ถ้าปรามแล้วไม่ฟังให้กราบบังคมทูลแด่พระเจ้าอยู่หัว
9 ให้สอดส่องพิจารณาราชการต่างๆ ของเมือง ถ้าเห็นว่า ดำเนินการผิดก็ให้บอกแก่เจ้าเมือง เพื่อชำระสะสางให้ถูก
10 ให้ยุกระบัตรดูผิดแลชอบงานณรงค์สงคราม
11 ราษฎรร้องฟ้องด้วยเรื่องใด ให้ยุกระบัตรพิจารณาให้ถูกตามพระธรรมนูญ และห้ามเอาความธรรมาธิการและนครบาลมาพิจารณาเอง
12 ให้รับร้องทุกข์ราษฎรและพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของราษฎรโดยสัจโดยธรรม

(มีต่อตอน ๒)

----------------------------------------------------------------------------------------

(1) อ้างถึงใน วรรนไวทยากร, “ยกบัตร”, อภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดพนะท่านจอมพลป. พิบูลสงคราม นายกกัมการ อำนวยการวรรรคดีสมาคมแห่งประเทสไทย 14 กรกดาคม 2485, (กรุงเทพฯ: วรรนคดีสมาคมแห่งประเทสไทย, 2485), หน้า 19. ผู้เขียนได้เปลี่ยนอักขรวิธีเป็นปัจจุบัน
(2) มร. เดอะ ลา ลูแบร, ราชอาณาจักรสยาม, สันต์ ท. โกมลบุตร แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510) หน้า  373.
(3) อักขรวิธีตามต้นฉบับ
(4) ขุนนางชั้นเอกของราชอาณาจักรที่มีศักดิระดับนา 10000 ในสมัยอยุธยายังแบ่งเป็น เอกอุ หรือ เอกอุตม (เอกสมบูรณ์) เอกม. หรือ เอกมัธยม (เอกระดับกลาง) และ เอกส. หรือ เอกสามัญ (เอกสามัญ)
(5) ดูคำว่า “สมเล” ในหนังสือนี้
(6) คำยืมจากภาษาเขมรว่า “นุ” แปลว่า “และ
(7) แปลว่า “เกิด”

หมายเลขบันทึก: 155814เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2007 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 16:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท