ชีวิตที่เรียนรู้ : เรียนรู้คุณค่า


Prince Mahidol Award Conference : เวทีสร้างสรรค์ระหว่างชาติ

         เย็นวันที่ ๙ ม.ค. ๕๑ มีการนัดประชุมผู้ใหญ่ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ     ไปรับฟังความคืบหน้าของการเตรียมจัดประชุม PMA Conference 2008     และหารือหัวข้อของการประชุม PMA Conference 2009     คณะผู้จัดการประชุมทำงานได้ดียิ่งเป็นที่ชื่นชมของผู้ใหญ่ที่ไปร่วมหารือแบบไม่เป็นทางการ ได้แก่ ศ. นพ. วิศิษฏ์ สิตปรีชา กรรมการมูลนิธิฯ และกรรมการรางวัลนานาชาติ, ท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คุณวีระศักดิ์ ฟูตระกูล, อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร, คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศ. พญ. อัจฉรา สัมบุณณานนท์  รองคณบดี มาแทน  เป็นต้น     

         ผมถามทีมผู้จัดว่า ในการประชุม PMA Conference 2007 เรื่อง Access to Health Technology มีการโต้เถียงขัดแย้งระหว่างฝ่ายธุรกิจ กับฝ่าย NGO และฝ่ายนักวิชาการเพื่อสังคมบ้างหรือไม่     คำตอบคือ มีบ้างแต่ไม่รุนแรง     และภาคธุรกิจก็ไม่รู้สึกเสียใจ     เพราะเขาคาดไว้แล้วว่าจะมีแรงเสียดสี    เขาโดนกล่าวหาเป็นจำเลยมามาก    เวทีของ PMA Conference กลับเป็นโอกาสให้เขาได้ชี้แจงข้อจำกัดของธุรกิจ     เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้ช่วยกันคิดหากลไกการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพเพื่อตอบสนองส่วนที่กลไกตลาดเข้าไม่ถึง หรือไม่อยากเข้า   

         คณะผู้จัด PMA Conference แสดงจุดยืนที่เป็นกลาง     ให้โอกาสฝ่ายต่างๆ อย่างเสมอภาคกัน    เพื่อให้เกิดเวทีสร้างสรรค์จริงๆ     ผมจึงให้ความเห็นว่า     เวทีระหว่างชาติที่ไม่เน้นเป็นเวทีการเมืองหายาก    เวทีของ PMA Conference เป็นหนึ่งในนั้น    หากเราจัดการประชุมให้ดี เป็นเวทีสร้างสรรค์ที่ทรงพลัง     จะก่อคุณค่าแก่โลกเป็นอย่างมาก     ยิ่งนับวันโลกก็ยิ่งต้องการเวทีสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่แค่เวทีวิชาการ แต่เป็นเวทีผสมระหว่างวิชาการกับนโยบาย

         สำหรับ PMA Conference คุณค่าไม่ใช่อยู่แค่เป็นเวทีสร้างสรรค์นโยบายสุขภาพระดับโลก     แต่ยังมีคุณค่าเป็นเวทีฝึกนักวิชาการสาธารณสุขไทย ให้มีความสามารถ มีโลกทัศน์ระดับโลก     และเป็นการสร้างความสามารถให้แก่นักวิชาการสาธารณสุขไทยในการแสดงบทบาททางวิชาการระดับโลก อีกด้วย

         นี่คือเวทีฝึกนักวิชาการจากการปฏิบัติจริง     ซึ่งมีเคล็ด (ไม่) ลับอยู่ที่ (๑) การมีเครือข่ายกว้างขวาง  (๒) การมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ    ซึ่งในที่นี้หมายถึงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ    หัวหน้าทีมคือ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ    นักวิชาการนำคือ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว.  และ รศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา รองอธิการบดี ม. มหิดล     หนุนด้วยทีมนักวิจัยของ IHPP (International Health Policy Program), สวรส. และสถาบันอื่นๆ ของประเทศไทย

         คุณค่าของ PMA Conference ในฐานะเวทีฝึกนี้    ยังจะต้องมีการ “ทำเหมือง” แร่ปัญญา เพิ่มขึ้นอีก    ผมจึงเสนอต่อ นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ. สวรส. ให้ตั้งทีมนักวิจัยของ สวรส. มา capture โจทย์วิจัยจากการประชุม PMAC    จริงๆ แล้ว “แร่ปัญญา” ไม่ได้มีอยู่แค่โจทย์วิจัย    แต่ยังมี potential research collaborator และ potential mentor ระดับสุดยอดมาเพ่นพ่านในที่ประชุม PMA Conference นับร้อยคน     คนเหล่านี้ทำเสน่ห์ไม่ยาก     ถ้าเรามีจินตนาการ ความสงสัย และความเอาจริงเอาจังในการทำงานวิจัย    ผู้ใหญ่เหล่านี้จะหลงเสน่ห์ และยินดีให้คำปรึกษาหรือการสนับสนุน 

         ผมเสนอต่อท่านอธิการบดี ม. มหิดลว่า นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร มีคุณค่ามากกว่าที่ใช้กันอยู่ในวงการนานาชาติ และใน IHPP    ประเทศไทยควรใช้ นพ. วิโรจน์ เพื่อการสร้างสรรค์ทางวิชาการได้มากกว่านี้    ทางหนึ่งคือ ม. มหิดลเชื้อเชิญแต่งตั้งให้เป็น Adjunct Professor หรือถ้าเป็น Chair Professor ได้ยิ่งดี     เพื่อทำงานสร้างนักวิจัยและสร้างสรรค์วิชาการได้ถนัดถนี่ยิ่งขึ้น    โดยต้องมีโครงการ มียุทธศาสตร์ มีแผน และเป้าหมายผลสัมฤทธิ์แน่นอน     การเอาคุณค่ามาต่อคุณค่านี้เหมือนเส้นผมบังภูเขา ไม่ค่อยมีคนคิดทำ  แปลกจริงๆ     ราชการไม่เอื้อต่อการทำเช่นนี้    ผมคิดไว้ตั้งแต่เป็นคณบดีคณะแพทย์ แต่ไม่กล้าทำ     เพราะในราชการใช้หลักเท่าเทียม คนเก่งกับคนไม่เก่ง   คนเก่งและขยัน กับคนไม่เก่งแต่ขยัน  ต้องได้รับการสนันสนุนเท่าเทียมกัน     นี่ ม. มหิดล ออกนอกระบบราชการแล้ว     เราควรสร้างผลงานของชาติ และของมหาวิทยาลัยโดยการใช้ยุทธศาสตร์หนุนคนเก่งและดีให้ได้ทำงานแก่บ้านเมือง     เน้นที่ผลงานเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่ที่ความเท่าเทียมหลอกๆ

         คุณค่าของระบบที่ให้โอกาสคนได้ทำงานแตกต่างกันเพื่อประโยชน์ขององค์กร ของบ้านเมือง ยิ่งกว่าประโยชน์ของบุคคล เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับมหาวิทยาลัยที่ออกจากระบบราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

         คุณค่าของระบบที่เสาะหาคนเก่งและดีมาทำงาน ให้โอกาส ให้การสนับสนุนทรัพยากร คือสิ่งที่บ้านเมืองของเราต้องการ    เราต้องออกไปจากกระบวนทัศน์ที่ทำงานตามรูปแบบแน่นอนตายตัว     ไปสู่การทำงานแบบ Chaordic คอยจ้องหาโอกาสหาคนเก่งและดีมาทำงานตามวิสัยทัศน์ขององค์กร    

         คุณค่าของ PMA Conference นี้มีมาก หากเราคิดให้ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ     และผมก็ไม่มีความสามารถพอที่จะคิดได้ครบถ้วน    คุณค่าอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นเครื่องเชื่อมโยงนักวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข กับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกัน    เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกัน

        ที่ไม่ใช่คุณค่าทางวิชาการก็มี     ปีนี้มีบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ มาร่วมประชุม PMA Conference มาก     หลายคนมาเพราะเห็นว่ามีคนเก่งๆ มาร่วมประชุมมาก     เขาอยากมาพบกัน    และบางคนก็ขอมาจัดประชุมกลุ่มเล็กๆ เพื่อขับเคลื่อนงานบางเรื่อง     และยังมีการประชุมแบบ Satellite Meeting ที่เชียงใหม่บ้าง กรุงเทพบ้าง     ได้แก่การประชุม เตรียมการ G8 Summit on Global Health Issues โดย รมช. ต่างประเทศของญี่ปุ่น (๑ ก.พ.  ๗.๓๐ – ๙.๐๐ น.), การประชุมปรึกษาเรื่องบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนต่อระบบสุขภาพ (๑ ก.พ.  ๑๘.๓๐ – ๒๑.๐๐ น.), MBDS Board Meeting (๒ – ๓ ก.พ.) และ ประชุมเครือข่าย Foreign Policy and Global Health     เริ่มเห็นคุณค่าของ PMA Conference ต่อ Conference Tourism รางๆ ขึ้นแล้ว

         PMA Conference 2009 น่าจะเรื่อง Mainstreaming Health in Global Public Policy  โดยจะมีการประชุมหารือเชื่อมโยงนโยบายด้านต่างๆ ระดับโลกเข้ากับผลประโยชน์ด้านสุขภาพ เช่น Education Policy and Public Health, Trade Policy and Public Health, Food Policy and Public Health, Transport Policy and Public Health เป็นต้น

         ขอบันทึกไว้ว่า ที่ฟิลิปปินส์ มีหมอประมาณหมื่นคน หันกลับไปเรียนพยาบาล ใช้เวลา ๒ ปี    เพื่อไปทำงานพยาบาลในต่างประเทศ ซึ่งค่าตอบแทนสูงมาก     เรื่องนี้หมอสุวิทย์เป็นผู้เล่า

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ม.ค. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 158648เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2008 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับที่อาจารย์ช่วยแนะนำตัวอย่างการสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มด้านวิชาการให้ประจักษ์

แม้ผมจะเป็นเพียงบุคลากรตัวน้อยๆในระบบสาธารณสุขไทย แต่ผมก็ชื่นชมและนับถืออาจารย์และงานคิดงานเขียนของอาจารย์อย่างยิ่ง

ติดตามบทความนี้จากเชื่อมโยงในบทความแนะนำอาจารย์วิโรจน์ ประจำ IHPP

นับว่าเป็นการใช้ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์และเครือข่ายข้อมูลได้คุ้มค่า 

ขอร่วมเรียนรู้และถือแนวคิดของอาจารย์เป็นแบบอย่างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท