องค์กรเคออร์ดิค ตอนที่ 37 มิติทางจิตใจ


องค์กรที่ตื่นรู้และเรียนรู้จากการปฏิบัติ สมาชิกองค์กรที่เรียนรู้และตื่นรู้จากการปฏิบัติ โดยมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จะสามารถ “รู้” สิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญต่อกิจการขององค์กรได้ในมิติที่ลึกกว่า ว่องไวกว่า เชื่อมโยงกว่า เป็นรูปธรรมกว่า จึงมีความสามารถปรับตัว พัฒนาตัวเพื่อการทำหน้าที่และการดำรงอยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและคาดเดายากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สกว. กับความเป็นองค์กรเคออร์ดิค (37)องค์กรเคออร์ดิค กับมิติทางจิตใจ

 ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

www.kmi.or.th

http://gotoknow.org/thaikm  

อ่านบทความย้อนหลังได้ที่ http://rescom.trf.or.th 

           องค์กรเคออร์ดิค ใช้ มิติทางจิตใจ ของสมาชิกในการทำงานฟันฝ่า ระบบนิเวศแห่งความไม่แน่นอน ร่วมกัน

           สมาชิกขององค์กรเคออร์ดิค จึงเรียนรู้และประยุกต์ใช้การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (contemplation) ไปพร้อมกัน   กล่าวคือ เอาใจใส่  ประยุกต์ใช้และฝึกฝน มิติด้านจิตใจที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของตนเองและละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้อื่น

           ความรู้สึก ในที่นี้ มีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม     ในส่วนที่เป็นรูปธรรม เป็นความรู้สึกที่ได้มาจากความช่างสังเกต   สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อย  แต่มีความสำคัญยิ่งต่อมิติด้านจิตใจ  ด้านการอยู่ร่วมกัน  ด้านการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

           ความช่างสังเกต  เป็นคุณสมบัติที่ต้องการใช้  และต้องสร้างขึ้น พัฒนาขึ้น ในองค์กรเคออร์ดิค

           ความช่างสังเกต  ใช้ได้ทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม           ส่วนที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดออกมาได้เป็นขนาด  หรือนับจำนวนหรือมีแสงสี  ความชัดเจน  เสียง  กลิ่น  รส  และสัมผัส           ส่วนที่เป็นนามธรรม  สัมผัสได้ด้วยใจ   สื่อสารต่อกันได้ด้วยใจ

           องค์กรเคออร์ดิคที่แท้  สมาชิกจึงสื่อสารกันในหลายมิติและมิติที่ขาดไม่ได้คือ การสื่อสารจากใจถึงใจ   เป็นการสื่อสารที่มีพลังลึกลับ  แต่สัมผัสได้   โดยผู้ที่จะสัมผัสได้ต้องมีความละเอียดอ่อนในการรับรู้

           องค์กรเคออร์ดิค  จึงเป็นองค์กรที่มีการฝึกฝน  และการใช้การสื่อสารและการรับสารที่ละเอียดอ่อน   ที่เป็นการสื่อสารแบบ อวัจนะ (non – verbal)   หรือเป็นการสื่อสารส่วนที่แทรกอยู่ในการสื่อวัจนะ (verbal)   คือ ระหว่างบรรทัด  หรือ ระหว่างถ้อยคำ   และในบางกรณีเป็นการสื่อสารด้วยความเงียบ

           การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (จิตตปัญญาศึกษา Contemplative Education) ประกอบด้วยองค์ 3 คือ

  • การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening)
  • การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (contemplation)
  • การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (meditation) 

            ท่านที่สนใจรายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ  โดยวิจักขณ์  พานิช   สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา 2550

           ผมมองว่า  องค์กรเคออร์ดิค  คือองค์กรที่ใช้พลังธรรมชาติหรือพลังธรรมดาในการขับเคลื่อนองค์กร   และการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ  ก็คือ การเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ   ใช้ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

           จากประสบการณ์ตรงของตนเอง   ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันภายในองค์กร   หรือเมื่ออยู่คนเดียวที่บ้าน   ผมประยุกต์ใช้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของ การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ  หรือบางครั้งใช้หลายองค์ประกอบพร้อม ๆ กัน           มีทั้งใช้คนเดียว  และใช้ร่วมกันหลาย ๆ คน   และหลายครั้งใช้ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายที่อยู่นอกองค์กร 

          เท่ากับ องค์กรเคออร์ดิค รู้จักใช้พลังทางจิตวิญญาณ  พลังปัญญา  หรือพลังแห่งการตื่นรู้  เพื่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร   โดยที่พลังแห่งการตื่นรู้ตามแนวของศาสนาพุทธ  วัชรยาน  จำแนกพลังแห่งการตื่นรู้ออกเป็น 5 พลัง

  1. พลังวัชระ  เป็นพลังความสามารถคิดวินิจฉัยใคร่ครวญได้อย่างลึกซึ้ง   มีความหลักแหลมเฉียบคมทางปัญญา  ตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบถี่ถ้วน   วิเคราะห์เหตุปัจจัย  ผลลัพธ์ ความเป็นไปได้อย่างตรงจุด
  2. พลังรัตนะ   คือพลังแห่งความเผื่อแผ่แบ่งปัน
  3. พลังปัทมะ  คือพลังแห่งการสื่อสารปฏิสัมพันธ์
  4. พลังกรรมะ  คือพลังของการกระทำอย่างต่อเนื่อง  ไม่หยุดยั้ง
  5. พลังพุทธะ  คือพลังของการใคร่ครวญพิจารณาหาคุณค่าและความหมายของสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา   เป็นการใคร่ครวญพิจารณาแบบใจกว้างไม่ยึดติด และไม่ตัดสิน  

           ความพอดีหรือความสมดุลของพลังทั้ง 5 ทำให้เกิดการตื่นรู้ และการเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริง   จากการปฏิบัติงาน  และการดำรงชีวิตร่วมกัน   เป็นทั้งการเรียนรู้ภายในและการเรียนรู้ภายนอก   ก่อผลทั้งต่อจิตใจของสมาชิกองค์กรและต่อวัฒนธรรมองค์กร   รวมทั้งก่อผลเชิงรูปธรรมต่อผลการประกอบการขององค์กร

           องค์กรที่ตื่นรู้และเรียนรู้จากการปฏิบัติ   สมาชิกองค์กรที่เรียนรู้และตื่นรู้จากการปฏิบัติ   โดยมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ   จะสามารถ รู้ สิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญต่อกิจการขององค์กรได้ในมิติที่ลึกกว่า   ว่องไวกว่า   เชื่อมโยงกว่า  เป็นรูปธรรมกว่า  จึงมีความสามารถปรับตัว  พัฒนาตัวเพื่อการทำหน้าที่และการดำรงอยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและคาดเดายากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน          

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ม.ค. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 160215เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 05:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท