ชีวิตที่พอเพียง : 474. ความสุข


     • ความปรารถนาอย่างหนึ่งของผมคือบ้านเมือง/สังคม มีความราบรื่น     ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง    หรือมีสัมมาทิฐิในภาพใหญ่หรือมหภาพ    ความสัมพันธ์ในสังคมดี
     • มีโอกาสทำประโยชน์เพื่อเป้าหมายดังกล่าวเมื่อไร ผมก็ยินดีทำ
     • แต่โลกมันซับซ้อน  มีคนมาชวนทำเรื่องที่ดูเหมือนเป็นไปตามความปรารถนาที่ว่า     แต่วิธีทำมันผิด ผมก็มักบ่ายเบี่ยง     เพราะเป็นการทำงานแบบเกิดผลลัพธ์แบบไม่ไปไหน (entropy)
     • ผมเรียนมาด้านสุขภาพ     โดยตอนเรียนเน้นแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ที่เรียกว่า negative health      แล้วโชควาสนาและเคราะห์กรรมพัดพาเข้าสู่วงการสุขภาพแบบใหม่ ที่เป็น positive health  หรือ comprehensive health โดยไม่รู้ตัว     แนวใหม่นี้เน้นที่ความสุข หรือสุขภาวะ
     • ที่จริงไม่ว่าเรื่องอะไร เกี่ยวกับความสุขทั้งนั้น     แต่เรามักตกหลุมความสุขปลอม ความสุขชั่วคราว/ชั่วครู่  ความสุขเฉพาะด้าน     ที่เมื่อมองความสุขภาพรวม หรือความสุขที่แท้จริงแล้วเราขาดทุน
     • เหมือนอย่างที่เราเห็นชัดเจน ว่าผู้คนในประเทศที่เป็นผู้นำ หรือมหาอำนาจ ของโลก มีความสุขน้อยลง  แม้จะมีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นมากมาย     ตัวชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมลดน้อยลง  มีความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น  หรือกล่าวว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้น    เป็นปัญหาใหญ่ของความสุขในมหภาพ หรือเชิงระบบ
     • ประเทศไทยเราโชคดี ที่มีการตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือ สช. www.nationalhealth.or.th    โดยมีเครื่องมือทำงาน ๔ อย่าง คือ (๑) พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐   (๒) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ  (๓) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จัดทุกปี  ปี ๒๕๕๑ จัดวันที่ ๑๑ – ๑๒ ธ.ค. ๕๑  (๔) actors ที่หลากหลายในสังคม ที่ร่วมมือกันบ้าง แข่งขันกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง มองเหมือนกันบ้าง มองต่างกันบ้าง  ทั้งที่เป็น providers, purchasers, นักสร้างเสริมสุขภาพ,  นักพัฒนาระบบ,  นักการตลาด,  นักวิจัย,  นักต่อสู้เพื่อสังคม,  นักค้ากำไร,  นักสื่อสารเพื่อสังคม,  นักสื่อสารเพื่อสร้างการจับจ่ายใช้สอย  ฯลฯ      ผมมองว่า สช. มีหน้าที่จัดเวที ให้ actors ที่หลากหลายเหล่านี้ได้มามีปฏิสัมพันธ์กันโดยมีเป้าหมายร่วมกันที่ความสุข หรือสุขภาวะของผู้คนในสังคมภาพรวม
     • ผมมองว่าคนเราทุกคน (ไม่ทราบว่ามีข้อยกเว้นไหม  แต่รวมผมด้วยแน่นอน) เป็นทั้งเทพและมารอยู่ในคนคนเดียวกัน    ในขณะที่เราดำรงชีวิตแบบแสวงหาความสุขและเผื่อแผ่แบ่งปันความสุข  เราก็ทำร้ายคนอื่น สิ่งอื่น หรือโลก โดยเราไม่รู้ตัวไปพร้อมๆ กันด้วย    และระบบกลไกต่างๆ ในสังคมก็มีสองหน้าของเหรียญด้วยเช่นกัน    เวทีของ สช. จึงน่าจะช่วยรับใช้สังคมในฐานะเวทีสร้างสรรค์  เพื่อความสุขร่วมกันของคนในสังคมไทย     และความเคลื่อนไหวนี้ยังจะช่วยโลกด้วย เพราะไทยเรากำลังเป็นผู้นำในเรื่องนี้

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.พ. ๕๑

หมายเลขบันทึก: 167224เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท