ชีวิตที่พอเพียง : ๔๘๕. นั่งรถไฟไปชุมพร


 

          ปลายสัปดาห์ที่แล้วน้องชายโทรศัพท์มาจากเชียงราย บอกว่าป้าบู่ (นางสำรวย รจนา อายุ ๘๔ ปี) ตายเสียแล้ว    จะเผาวันพฤหัสที่ ๑๓ มีนาคม   ป้าบู่เป็นป้าสะใภ้ที่สนิทสนมกับครอบครัวเรามาก   บัานอยู่ใกล้บ้านผมที่ชุมพร    ลุงที่เป็นสามีของป้าบู่ชื่อนายขุ้น รจนา ที่เราเรียกว่าแปะขุ้น (เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพ่อ) เสียชีวิตไปนานแล้ว 

          ผมโทรศัพท์ไปถามเวลาเผาจากน้องชายที่ชุมพร    ได้ความว่าเผาเวลาบ่ายโมง   ที่นั่นเขามีประเพณีเผาเวลาบ่ายอย่างนี้   ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ตอนเผาพ่อเมื่อกว่า ๓ ปีที่แล้วก็เผา ตอนบ่ายโมง     แต่พอไปคุยกับน้องชายเมื่อไปถึงบ้านแล้ว นัองบอกว่าศพพ่อเผาตอนเช้า เพราะตอนบ่ายต้องเผาอีกศพหนึ่ง     แสดงว่าความจำของผมเลวมาก

          ภรรยาช่วยเข้าอินเทอร์เน็ต หาเวลารถไฟไปกลับชุมพร   และโทรศัพท์ไปถามประชา สัมพันธ์ ของการรถไฟ   ได้ความว่าซื้อตั๋วล่วงหน้าที่สถานีรถไฟไหนก็ได้ระหว่างเวลา ๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.   เราจึงไปซื้อที่สถานีหลักสี่เพราะใกล้บ้าน
    
          วันที่ ๑๒ มี.ค. ๕๑ ภรรยาขับรถมาส่งที่สถานีหัวลำโพง   ตั้งแต่ยังไม่ค่ำ   จึงได้เห็นว่ามี สถานีรถใต้ดิน อยู่ติดกับสถานีรถไฟหัวลำโพง สะดวกมาก    บรรยากาศหน้าสถานีหัวลำโพง สะอาดเรียบร้อยใช้ได้    มีฝรั่งและคนไทยขี้ยาออกมาสูบบุหรี่นอกอาคารจำนวนมาก เต็มหน้า อาคาร   แม้ที่ที่โล่งที่เป็นระเบียงหน้าอาคารก็มีป้ายห้ามสูบบุหรี่ของ สสส. ไปปักอยู  ฝ่าฝืนปรับ ๒,๐๐๐ บาท   ผมเข้าไปข้างใน มีที่นั่งรอจำนวนพอควร   สถานที่สะอาดกว่า ๑๐ - ๒๐ ปีก่อนมาก   ด้านขวาเป็นร้านอาหาร ๘ - ๙ ร้าน  ด้านในสุดเป็นสำนักงานประชาสัมพันธ์   ชั้นบนเป็นระเบียง ตั้งโต๊ะเก้าอี้ให้คนนั่งกินอาหารหรือเครื่องดื่ม    บรรยากาศในภาพรวมทันสมัยและสะอาด สงบไม่จอแจหรือโหวกเหวก  
          ด้านทางเข้ามีตู้ตำรวจรถไฟ  ถัดไปเป็นตู้บริการจัดหางาน ของกรมการจัดหางาน   ถัดไปเป็นเครื่องเบิกเงินอัตโนมัติ Aeon    ถัดไปเป็นพระพุทธรูปองค์สูงเมตรเศษอยู่บนแท่น สูงเมตรเศษ ปิดทองเหลืองอร่าม มีพวงมาลัยดอกไม้ธูปเทียนบูชาแบบสวยงามพอดี ไม่รกสกปรก รกรุงรัง แสดงว่ามีการดูแลความสะอาดดี   ถัดไปเป็นเครื่องถอนเงินอัตโนมัติของหลากหลาย ธนาคาร อีก ๔ - ๕ เครื่อง
          ฝั่งซ้ายเป็นร้านตัดผม ร้านหนังสือ  ธนาคารกรุงเทพซึ่งปิดแล้ว แต่มีตู้เอทีเอ็มให้บริการ   ถัดไปเป็นร้านนวดแผนไทย  ร้านโทรศัพท์ของทรู และร้านอาหาร เครื่องดื่มอีก ๔ - ๕ ร้าน    ทั้งสองฟากมีลำโพง Bose ติดข้างละ ๓ ให้เสียงทีวีที่สดใส  โดยมีจอทีวีขนาดเกือบ ๒ เมตร สว่างสดใส ติดอยู่ด้านขวาบนเมื่อหันหน้าเข้าสถานี
          ตรงกลางเป็นบริเวณนิทรรศการสมเด็จกรมหลวงฯ กินเนื้อที่สัก ๒๐๐ - ๓๐๐ ตารางเมตร มีไฟสปอตไลท์ส่องอย่างสวยงาม    มีฝรั่งนั่ง-นอนอยู่กับพื้นในบริเวณนิทรรศการจำนวนมาก แต่ไม่จอแจ  
          ด้านในเป็นช่องจำหน่ายตั๋วจำนวนมากเรียงราย    ตรงพื้นด้านในมีคนนั่งนอนกับพื้นมาก และอากาศร้อน    
          ถ้าจะให้ผมให้ข้อเสนอแนะ ผมเสนอให้ทำป้าย i ตัวใหญ่ๆ ไว้ตรงกลางด้านบนของห้องโถงให้คนเห็นได้ จากทุกทิศทาง บอกว่าจะหาข้อมูลได้จากที่ไหน   ผมเห็นฝรั่งพอเดินเข้ามาเจอตู้ จัดหางาน ก็เข้าไปถามทาง  
       
          ด้านนอกอาคารด้านหน้าตรงที่เคยเป็นที่หลบภัยสมัยสงครามโลกที่เป็นโครงสร้าง รูปครึ่งทรงกลม ไม่อยู่แล้ว  แทนที่ด้วยโครงสร้างคล้ายๆ จะเป็นชิ้นศิลปกรรมผมดูไม่ถนัดเพราะมืด
          มองทิวทัศน์ด้านนอกซ้ายมือเป็นห้องแถว ๒ ชั้นทรงโบราณที่อาจถูกขึ้นทะเบียนอนุรักษ์    ไกลออกไปข้างหน้ามีอาคารสูง ๒ หลัง    บริเวณระเบียงด้านหน้านี้สะอาด พื้นเป็นหินขัด ดูเรียบร้อย    และมีป้ายห้ามสูบบุหรี่ของ สสส. อยู่ ๒ ป้าย
          รถไฟออกทุ่มครึ่ง   พอทุ่มหนึ่งผมก็เดินเข้าไปในชานชาลา   สิ่งที่พบคือเสียงอึกทึกของ เครื่องยนต์ ปั่นไฟและฉุดเครื่องแอร์จากตู้รถไฟ เสียงมันดังจริงๆ 
          ตู้รถไฟยังคงมีสภาพเหมือนเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย    ๔๐ ปีนะครับ ที่ตู้รถไฟ ยังเหมือนเดิม    นั่นคือเวลาที่ผมประสบด้วยตนเอง    สภาพของตู้รถไฟชั้น ๒ นอนแอร์ อาจจะเป็นเช่นนี้มา ก่อน ๔๐ ปีก็ได้  
          ตอนบ่ายวันนี้ (พุธที่ ๑๒) ลูกชายกลับมาบ้าน    เมื่อรู้ว่าพ่อจะนั่งรถไฟไปชุมพรก็พูดว่า   พ่อนั่งรถไฟเป็นด้วยหรือ    เขาไม่เคยเห็นพ่อนั่งรถไฟ   เพราะเมื่อเขาเกิดผมก็นั่งเครื่องบินไปกลับ หาดใหญ่แล้ว    เลิกนั่งรถไฟแล้ว    แสดงว่าในสายตาของลูกผมอาจจะดูเป็นคนสำรวย    ลูกเขาไม่รู้ว่าผม มีความสามรถในการปรับตัวสูง เพราะเกิดมาจน ชีวิตยามเด็กยากลำบาก   และผมชอบฝึกตัวให้รับ สภาพชีวิตง่ายๆ ได้    ถือเป็นความสนุกสนานที่ได้ฝึกตัวเอง

          อย่างเช่นการเดินทางด้วยรถไฟคราวนี้ก็ ถือเป็นการเรียนรู้ที่ดี    ผมได้เห็นว่ารถไฟ อย่างน้อยก็ใน โบกี้ชั้น ๒ นอนแอร์ของขบวนที่ ๘๕ ที่ผมไปนี้ก็มีฝรั่งหลายคน และพนักงานขายอาหารของรถไฟก็สนใจบริการเฉพาะฝรั่ง เขาไม่ถามผมเลยว่าต้องการอะไรบ้าง   
          อยู่บนตู้รถไฟมีเสียงเครื่องยนต์ที่อยู่ใต้ท้องดังมาก จนน่ารำคาญ หรือผมอาจจะติดสภาพ ปลอดเสียงจนชิน    ผมควักหูฟังตัดเสียงภายนอก (Acoustic Noise Cancelling Headphones)ยี่ห้อ Bose Model QuietComfort 2 ที่ลูกขายซื้อมาฝาก ต่อกับ iPod Shuffle ที่ลูกสาวซื้อมาฝาก ฟังเพลงและแก้เสียงดังสุโขไปเลย   ลดความรำคาญจากเสียงดังลงได้ในระดับหนึ่ง    แต่เมื่อรถไฟออกเมื่อ ๒๐.๐๕ น. (กำหนดออก ๑๙.๓๐) ผมก็พบว่าเสียงดังเกิดจากตัวชานชาลามันมีหลังคาปิด ทำให้เสียงก้อง   พอรถออก เสียงดังของเครื่องยนต์หายไปหมด   แทนด้วยเสียงล้อบดรางตรงรอยต่อของราง    ผสมกับแรงเหวี่ยงของตู้โดยสาร   เหมือนสมัยก่อนไม่มีผิด    เราคงจะไม่ได้พัฒนา ช่วงล่างของตู้รถโดยสารเลยในช่วง ๔๐ - ๕๐ ปี    ผมสงสัยจังว่าวิศวกรรถไฟเขาทนความเย้ายวน ที่จะเอาเทคโนโลยีก้าวหน้ามาประยุกต์ใช้พัฒนาตู้โดยสารได้อย่างไร   
          ผมได้มีโอกาสได้ชมทัศนียภาพตึกรามบ้านช่องริมทางรถไฟ และวิวถนนตัดกับทางรถไฟ     ผมว่าบ้านเมืองของเราสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ ๒๐ ปีก่อน     เมืองไทยสมัยนี้ตอนกลางคืนสว่างกว่าสมัยก่อนมาก    มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่สว่างไสว   ร้านค้าและถนนก็ตามไฟสว่างขึ้นมากว่าเมื่อ ๒๐ ปีก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้เลย   นั่นหมายความว่า เราใช้พลังงานหมดเปลืองขึ้นมากด้วย   
          ห้องน้ำก็เหมือนเดิม แต่ดูจะสะอาดขึ้นหน่อยหนึ่ง
          ผมบอกกับพนักงานปูเตียงว่าผมลงชุมพร (ตู้นอนนี้ไปสุราษฎร์)    พนักงานบอกด้วย ความอารีว่า "ไม่เป็นไรครับ คุณลุงนอนให้สบาย   คนลงที่ชุมพรเยอะ  ผมจะปลุกเอง" 
          ผมนอนหลับๆ ตื่นๆ ไปที่เตียงนอนชั้นบน และบอกตัวเองว่าช่างเหมือนสมัย ๔๐ ปีก่อนอะไรเช่นนี้   ที่ไม่เหมือนคือตัวผมเอง เปลี่ยนสภาพจากหนุ่มน้อยเป็นลุงไปแล้วตามธรรมชาติ 
          พอตีสามเศษๆ ผมก็ตื่นเอง    ที่จริงผมเอานาฬิกาปลุกมาด้วย แต่ได้ปิดเสียหลังจาก พนักงานยืนยันกับ "คุณลุง" ว่าจะช่วยปลุก    มีฝรั่งตื่นขึ้นมาหลายคน และมีคนมาถามผมว่า ถึงไหนแล้ว ซึ่งผมก็ไม่รู้    ผมจึงมีข้อเสนอข้อที่ ๒ ต่อการรถไฟ ให้ทำป้ายไฟฟ้าบอก ที่ทุกตู้โดยสาร ว่าสถานีหน้าคืออะไร ถึงเวลาใด ทำได้ไม่ยาก    จะช่วยให้ผู้โดยสารสบายใจเพราะ ได้รับทราบข้อมูลที่ตนต้องการ    information เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้รับบริการพึงพอใจ   เป็นองค์ประกอบหนึ่งของคุณภาพ
          พอตีสี่ครึ่งรถทำท่าจะจอด ผมเข้าไปถามพนักงานคนเดิมว่าจะถึงกี่โมง แกบอกว่า ๗ – ๘ โมงเช้า    ผมถามว่าทำไมช้านัก   แกบอกว่าช้านิดเดียว    ผมว่ากำหนดถึงชุมพรเดิมคือก่อนตีสี่ไม่ใช่หรือ    แกตอบว่าชุมพรกำลังจะถึงแล้ว    ผมจึงถึงบางอ้อว่าพนักงานคนนี้แกลืมไปแล้วว่าผมจะลงที่ชุมพร    ถ้าผมรอให้แกมาปลุกก็จะได้แถมไปสุราษฎร์
          น้องชาย ๒ คนและน้องสะใภ้และหลานสาวยกโขยงกันมารับ   ได้ความว่าน้องสะใภ้มารับลูกสาวที่มารถทัวร์ในเวลาไล่ๆ กันแล้วชวนกันมารับผม  
          ถึงบ้านตีห้า แม่ได้ยินเสียงก็ตื่นขึ้นมาคุย  พวกเราดีใจมากที่แม่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง    คือกินอาหารอร่อย กินอาหารรสจัดขึ้น ชอบออกไปเดินมากขึ้น   แม่เป็นเบาหวาน แต่ก็ไม่ต้องกินยามานานแล้ว    น้องชาย (วิโรจน์) ลองเจาะเลือดดูระดับน้ำตาล ได้ ๑๓๒ เราก็บอกแม่ว่ากำลังพอดี   ไม่ต้องกินยา    เราคุยกันจนได้เวลาอาหารเช้าที่แสนอร่อย   มีแกงไก่เหมงมะพร้าว  ใบเหรียงผัดไข่  ปูดำต้ม  และกุ้งลอกคราบและหมึกต้มหวาน (ผมใช้ศัพท์ปักษ์ใต้)    ต่อด้วยขนมที่หากินยาก คือปลาแนม กินกับใบทองหลางอ่อน   ผมไม่ได้กินปลาแนมมากว่า ๒๐ ปี   
          พีธีเผาศพจัดที่วัดท่ายางเหนือ ชื่อทางการคือวัดตะเคียนทอง    แต่เราไม่เห็นต้นตะเคียน    เราเรียกกันว่าวัดเหนือ ที่เดียวกันที่เผาศพพ่อ    มีญาติมิตรมาร่วมพิธีเกือบร้อยคน    พี่น้องผม ๖ คน มาร่วม ๕ คน    คนที่อยู่ไกล (และเป็นหมอ) ๓ คน มาร่วมทุกคน    พิธีจัดง่ายๆ แบบบ้านนอก   บ่ายสองโมงเศษๆ ก็เสร็จ น้องชายที่อยู่สุราษฎร์ (วิโรจน์) ขับรถกลับทันที
          น้องชายคนที่เป็นเพื่อนกับ ดร. แสวง (วิเชียร) ชวนไปดูกระท่อมปลายนา     ลมพัดเย็นสบาย  บอกว่า ดร. แสวง กะจะมาพักที่นี่ระหว่างขับรถไปเยี่ยมบ้านภรรยาที่พัทลุง    ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจปาล์มน้ำมัน   ว่ามันเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน  และน้ำมันแพง    โยงกับข้าวโพดแพง ปลายข้าวแพง   หมูแพง ข้าวแพง โยงกันเป็นลูกโซ่   น้องชายยกร่องที่นาปลูกปาล์มน้ำมัน   ต้นปาล์มงามมาก ยิ่งได้ปุ๋ยที่ใส่ลงไป แค่ ๒ ปีเศษก็ได้ผลผลิต   ผลวิจัยบอกว่าปลูกปาล์มน้ำมันในที่ลุ่มแบบนี้ ได้ ผลผลิตสูงกว่า การปลูกแบบทั่วไป ๒ เท่า
          น้องชายคนที่ทำสวนเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว (วิจัย) บอกว่าผลงานวิจัยด้านการเกษตรของ สกว. ที่ผมส่งมาให้เป็นระยะๆ มีประโยชน์มาก แต่สงสัยว่าความรู้เหล่านี้จะไม่ถึงเกษตรกรโดยทั่วไป    ผมชี้ให้เห็นว่า กลไกนำความรู้ทางวิชาการไปให้แก่เกษตรกรคือกรมส่งเสริมการเกษตร    ไม่ใช่ สกว. ซึ่งเป็นองค์กรเล็กนิดเดียว
          พี่นุ้ย (ประหยัด) อายุ ๗๓ ปี เป็นอัมพฤกษ์มาเป็นสิบปี แวะมาคุย   เล่าเรื่องสมัยเด็กบ้านอยู่อีเล็ด หมายถึงคลองลัดอีเล็ดตัดจากแม่น้ำชุมพรออกทะเล ผ่านบริเวณป่าชายเลน   ตอนจบ ป. ๔ แล้ว ไปเรียนโรงเรียนช่างไม้ที่อยู่ในตัวเมืองชุมพรห่างออกไป ๘ ก.ม.    โดยต้องพายเรือข้ามฟากมาอาศัยรถโรงน้ำแข็งของ “หม่อมเริง” มรว. เริงวรรณ วรวรรณ ไป    พี่นุ้ยเป็นช่างไม้ฝีมือดี ประณีต แต่คิดกำไรขาดทุนไม่เป็น    จึงมีฐานะพออยู่ได้เท่านั้น    บ้านที่พ่อแม่ผมอยู่และเวลานี้น้องอยู่ สร้างโดยพี่นุ้ยเมื่อ ๔๐ ปีก่อน    ยังมีสภาพดีเยี่ยม    บ้านที่บางขุนนนท์ที่เวลานี้หลานๆ อยู่ ก็สร้างโดยพี่นุ้ยเมื่อ ๒๕ ปีก่อน และสภาพดี   พ่อแม่ของพี่นุ้ยคือลุงย้อย ป้าเล็ก นับถือกันกับพ่อแม่ผมเหมือนญาติ    และด้วยความที่พี่นุ้ยมาใกล้ชิดครอบครัวผม    จึงแต่งงานกับหลานสาวของแม่ – เจ๊ไร (อุไร) ที่แม่ผมชวนมาจากเพชรบุรี มาช่วยงานบ้าน    พี่นุ้ยกลายเป็นพี่เขยผมด้วย    แม้จะเป็นอัมพฤกษ์ พี่นุ้ยก็แข็งแรง เดินไปไหนมาไหนได้    และเป็นคนอารมณ์ดี คุยเสียงดัง
          ผมได้มีโอกาสฟื้นความจำเรื่องผู้คน ที่ผมมีจุดอ่อน จำคนไม่ค่อยได้   จึงรู้ว่าคนชาวบ้านที่นี่ดูอยู่กันง่ายๆ สนิทสนมกัน   และสุขภาพดี อายุยืน   หลายคนมีลูกที่ได้รับการศึกษาสูง จบปริญญา     
          เรารีบกินอาหารเย็น แล้วไปงานสวดทำบุญบ้านหลังเผาศพ   เป็นการสวดให้เป็นมงคลแก่บ้านและญาติมิตร    มีคนมาร่วมพิธีประมาณ ๒๐ คน    พวกเราพี่น้องมากันพร้อมเพรียงเพื่อจะแสดงว่าเรารักแปะขุ้นและป้าบู่สามีภรรยาผู้ล่วงลับไปแล้วทั้งสองคน    ในฐานะหลานเรามาร่วมงานศพเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที    ที่สมัยเด็กๆ พวกเราได้รับเมตตาจากท่านทั้งสองมาก    เราจะร่วมกันระลึกความสนุกสนานเวลาเรามาเที่ยวที่บ้านแปะขุ้น และน้องชาย (นพ. วิชัย) ได้รับการปรนเปรอจากแปะขุ้นเป็นพิเศษ   ผมเล่าให้น้องฟังเรื่องแปะขุ้นซ่อมรถจักรยานสามล้อเด็ก เอามาให้น้องผมถีบเล่น    โดยมีผมเป็นผู้ช่วยรุน (ภาษาใต้) เพราะถนนเป็นดินทราย    รถสามล้อนี้เล็กเกินไปที่ผมซึ่งในขณะนั้นอายุ ๘ - ๙ ขวบจะร่วมขี่ได้    เรื่องนี้น้องชายจำไม่ได้ เพราะตอนนั้นเขายังอายุน้อยเพียง ๒ – ๓ ขวบ    สมัยนั้นบ้านแปะขุ้นป้าบู่เป็นแหล่งของกินของเรา    เราจะขออนุญาตแม่ไปเที่ยวบ้านป้าบู่    ป้าบู่ก็จะเก็บลูกย่าหมู (ภาษาใต้) บ้าง  ละมุดสีดา  ชมพู่  เชอรี่  ลูกจาก ไว้ปรนเปรอเรา    บางครั้งแปะขุ้นจะเดินมาชวนเอง  โดยชวน “ตาเล็ก” (วิชัย) เพราะท่านหมายตาชวนไปเป็นลูกท่าน   และในที่สุดน้องชายก็ไปอยู่บ้านแปะขุ้นเป็นการถาวรอยู่ระยะหนึ่ง    จนน้องเจ็บออดๆ แอดๆ และผมเป็นตานขะโมย    พ่อจึงไปรับกลับ เพราะเกรงจะตาย    แปะขุ้นมีชื่อเสียในเรื่องเลี้ยงและตามใจเด็ก   ลูกของท่านเอง ๒ คน เสียชีวิตหมด
          บางครั้งแปะขุ้นจะพาเราลงเรือลำน้อย พาไปลอยปู (ปูดำ) ใช้จั่นใส่เหยื่อลอยเป็นระยะๆ   ได้ปูคราวละหลายตัว    บางครั้งท่านพาไปตัดเครือลูกจากเอามาเฉาะกิน อร่อยมาก   น้ำในคลองท่ายางสมัยนั้นสะอาด ใช้อาบและซักเสื้อผ้าได้สบาย    มีปลาตัวเล็กๆ ชื่อปลาบู่ พวกเราชอบมาก เพราะชื่อตรงกับป้าบู่   บางครั้งแปะขุ้นก็ช้อนให้เราเอาไปเลี้ยง    ซึ่งก็แน่นอนว่า ตายหมด   มีลูกไม้ชายเลนลอยน้ำมาให้เราเก็บเอาไปเป็นของเล่น เช่นลูกตะบูน เป็นต้น
          บ้านของแปะขุ้นสบายกว่าบ้านผมมาก    ทุกคนอยู่บ้าน ไม่ต้องทำงาน   ต่างจากที่บ้านผมโดยสิ้นเชิง ที่ทั้งพ่อและแม่ทำงานตัวเป็นเกลียว และเหน็ดเหนื่อยปวดเมื่อยในยามค่ำ   ให้ผมทำ หน้าที่หมอเหยียบแผนไทยอยู่เสมอ   ที่บ้านแปะขุ้นมียายเงาะ แม่ยายของแปะขุ้น คือแม่ของป้าบู่ กินหมากปากแดง    ผมเพิ่งทราบจากน้องชายว่า ยายเงาะและป้าบู่เดิมเป็นชาวประจวบ    และมีญาติที่เคยอยู่ประจวบด้วยกัน ย้ายมาอยู่ที่ท่ายางด้วยกัน    แต่ต่อมามีความขัดแย้งกัน จนเมื่อป้าบู่เสียชีวิตก็ไม่มีญาติทางฝ่ายนั้นมางานสวดศพและงานเผาเลย   ที่ว่าตัดญาติไม่เผาผีกันเป็นอย่างนี้เอง 
          ก่อนงานสวดเพื่อเป็นมงคลที่บ้าน เราไปดูร่องรอยการเป็นตัวจังหวัดชุมพรในสมัยร้อยปีก่อน   ไปดูท่าน้ำโรงเหล้า ซอยโรงเหล้า ท่าน้ำโรงสี  ร่องรอยของโรงสี  ร่องรอยของ “ตึก” ซึ่งเป็นอาคารตึกแห่งเดียวในตำบลท่ายางในสมัยนั้น    และเป็นที่เกิดของ พี่วิชา  พี่วิรัช  และผม    สองคนแรกเสียชีวิตไปแล้ว เหลือแต่ผม   เรา ๓ คนเป็นหลานเศรษฐีของตำบล    พี่วิรัชและพี่วิชาเป็นลูกอาไม (ละไม พยัคฆพันธุ์ ยังมีชีวิตอยู่) น้องคนถัดจากพ่อ   ซึ่งมีสามีเป็นข้าราชการ มีฐานะทางสังคมสูง   ผมเป็นลูกคนจน ไม่มีฐานะทางสังคมในช่วงเป็นเด็ก   แต่ก็เป็นหลานเศรษฐี (หลานระดับหลานทวด)
          เราไปดูที่ดินที่ยังคงมีญาติผู้ใหญ่ของเราเป็นเจ้าของ    ทั้งหมดนั้นเป็นหลักฐานที่แสดงความมั่งคั่งของตระกูลบุษราทิจ (ตระกูลของย่าผม และเวลานี้ผู้ใหญ่ที่สุดของตระกูลคือ ศ. นพ. สมพร บุษราทิจ) ในสมัยก่อนและสมัยนี้ ในตำบลท่ายาง   และในสมัยนี้ความมั่งคั่งส่วนหนึ่งเป็นของตระกูลพานิช จากฝีมือการสร้างฐานะของพ่อแม่ผม
          บริเวณตลาดท่ายางที่เป็นตัวเมืองชุมพรสมัยร้อยปีก่อนนี้    เข้าตำราเมืองอยู่กับแม่น้ำ     คือ ถนนขนานไปกับคลองท่ายาง    มีถนนผ่ากลางหมู่บ้าน   บ้านแถวที่อยู่ริมคลองก็จะทั้งหันหน้าสู่คลอง และสู่ถนน    สมัยผมเด็กๆ เป็นถนนดิน สำหรับคนเดินหรือขี่จักรยาน    แต่เวลานี้เป็นถนนคอนกรีตอย่างดี มีท่อระบายน้ำ    สร้างโดยเทศบาลตำบลท่ายาง    บ้านป้าบู่อยู่บนถนนสายนี้ โดย มีที่ทั้งด้านติดคลอง และด้านตรงกันข้ามถนน
          ท่าน้ำสาธารณะ ที่ผมเคยไปหัดว่ายน้ำ และไปล้างถั่วงอกตอนเช้ามืด ถูกคนสร้างบ้านปิดหม  ดสภาพท่าน้ำสาธารณะไปแล้ว   บริเวณนี้เป็นที่วัดร้าง จึงเป็นที่ราชพัสดุ 
          ผมได้คุยกับคนโน้นคนนี้    มีการคุยกันเรื่องคอรัปชั่นในวงการทหาร ที่เวลาซื้อของ จะเรียกค่าคอมมิสชั่นสูงมาก เป็นที่รู้กันทั่วไป   และยังดำรงอยู่จนปัจจุบัน    คุยกันเรื่องขับรถโดนตำรวจจับ ปรับโดยไม่มีใบเสร็จ เป็นต้น   เป็นเรื่องที่ในครอบครัวเรารังเกียจ     
          น้องชาย (วิชัย) น้องสะใภ้ (ต้อย และกัลยา) และหลาน (กิ๊ก กอล์ฟ) มาส่งที่สถานีรถไฟ    มีฝรั่งมารอขึ้นรถไฟหลายคน   เขากลับจากไปเที่ยวเกาะเต่า    รถไฟเสียเวลาประมาณ ๑๕ นาที    ขากลับนี้ผมได้ที่นอนชั้นล่าง นอนสบายกว่าชั้นบนมาก     ผมนอนหลับดี อาจเป็นเพราะขาไปอดนอน บวกกับที่นอนล่างนอนสบาย    ถึงสถานีสามเสนช้าประมาณ ๑๕ นาที   ภรรยามารับ 


         
         
        

หมายเลขบันทึก: 171444เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2008 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปลาแนมผมก็ไม่ได้กินมานานแล้วครับ ตอนเด็กๆ ชอบมากครับ เลยสงสัยว่าเป็นขนมที่มีเฉพาะแถวชุมพรไหมครับ?

ส่วนเรื่องการรถไฟนั้น อาจารย์คิดอย่างไรถ้าจะแปรสภาพการรถไฟไทยแล้วให้เอกชนเข้ามาแข่งขันอย่างสมบูรณ์ครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆเลยค่ะ สำหรับบันทึกบรรยายภาพชิ้นนี้ เคยนึกอยากรู้ว่าตอนนี้หัวลำโพงเป็นยังไงบ้าง รถไฟไทยเป็นอย่างไรแล้ว ได้รู้อย่างละเอียดละออ นึกภาพออกเลยค่ะ หันซ้ายหันขวาหลับตานึกออกเลยค่ะ จำได้ว่าภาพสุดท้ายที่ติดตาก็คือครั้งที่รถไฟพุ่งทะลุชานชาลาออกไป นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ใช้บริการรถไฟไทยค่ะ อยากกลับไปลองใช้บริการอีกสักทีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท