ชีวิตที่พอเพียง : ๔๘๗. สุขจากการรับใช้


          การได้ทำงานรับใช้สังคม ในส่วนที่เป็นงานที่มีคุณค่า และตัวผมพอจะมีทักษะที่เป็นประโยชน์    ทำให้ผมมีความสุข    ประโยชน์ที่ได้คือความสุขใจ    ความพอใจทางจิตวิญญาณ
          อย่างกรณีเป็นกรรมการแผนกแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล ที่ผมเป็นติดต่อกันมากว่า ๑๐ ปี    ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลย แม้แต่ค่าน้ำมันรถก็ไม่มี    แต่ผมก็ยินดีทำ    เพราะที่จริงผมได้รับประโยชน์จากการทำงานนี้    อย่างน้อยก็ ๓ ด้าน


๑. ปิติสุข จากการได้ทำงานที่มีคุณค่าต่อสังคม คืองานสร้างสรรค์คนดี  คนเก่ง    สำหรับทำงานรับใช้สังคม ด้านการแพทย์    เป็นงานจรรโลงสังคม จรรโลงโลก
๒. ได้ความรู้ใหม่ๆ ด้านการแพทย์ ทำให้ผมไม่ล้าหลังมากนัก
๓. ได้พบปะคนดีคนเก่ง ในการทำงานนี้

 

          ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ มี.ค. ๕๑ ผมอ่านเอกสารสมัครขอรับพระราชทานทุนส่งเสริมบัณฑิต จำนวน ๒๑ ชุด (คน)    อ่านแล้วอิ่มเอิบมีความสุขใจ    เพราะได้เห็นอาจารย์แพทย์รุ่นหนุ่มสาว ที่ตั้งใจอุทิศตนให้แก่หน้าที่สร้างสรรค์วิชาการและเอาใจใส่อบรมสั่งสอนนักศึกษาแพทย์    มีหลายคนที่เก่งในระดับอัจฉริยะ   แต่ไม่ไปทำงานอื่นที่ค่าตอบแทนสูงกว่าที่ได้รับอยู่ (๑.๕ – ๒.๕ หมื่นบาท) นับสิบเท่า    ผมเดาว่าอาจารย์แพทย์เหล่านี้สนุกอยู่กับการทำงานค้นคว้า และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงวิชาการ   เงินจาก ทุนส่งเสริมบัณฑิต เพียงเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท นับว่าน้อยมาก เมื่อมองในด้านจำนวนเงิน   แต่มีค่ามาก เมื่อมองในแง่เกียรติยศ และการแสดงความยอมรับนับถือในคุณค่าของงานที่อาจารย์แพทย์ผู้นั้นกำลังทำอยู่    การได้เห็น ได้สัมผัส คนดีและเก่ง   ได้สัมผัสความดี เช่นนี้ ถือเป็นบุญ    น่าจะช่วยให้ผมมีสุขภาพดี    ผมได้ประโยชน์จริงๆ
          ผมได้เรียนรู้ว่า มทส. จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดและยีนบำบัด”  นำโดย ผศ. ทนพญ. วิไลรัตน์ ลี้อนันต์ศักดิ์ศิริ   หน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา  สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานอื่นภายในประเทศ    มีผลงานที่น่าชื่นใจมาก    ผมปิ๊งแว้บว่า หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยด้านสุขภาพน่าจะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการวิจัย เทคโนโลยีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดและยีนบำบัด ในลักษณะที่เน้นการลงทุน (ลงแรง) ด้านการจัดการเครือข่าย    ผมเห็นโอกาสทำงานให้แก่ประเทศมากมายในด้านการจัดการงานวิจัยเรื่อง stem cells นี้   เห็นไหมครับว่า การทำงานนี้ผมได้อะไร 
          ใบสมัครของ รศ. ดร. นพ. พรพรต ลิ้มประเสริฐ  สาขาพันธุศาสตร์  ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มอ.  ก็ทำให้ เอ็นดอร์ฟิน หลั่งออกมาจากสมองของผมด้วยความปิติยินดี    เพราะท่านเป็นลูกศิษย์ผม และได้ทำงานร่วมกันมา    ผมดีใจอย่างยิ่งที่ อ. หมอพรพรต ได้ทำให้หน่วยพันธุศาสตร์ที่ผมสร้างมาตั้งแต่แรก (แต่ไม่ค่อยมีผลงานโดดเด่น) มามีผลงานโดดเด่นในผู้นำ generation ที่สอง    โดยเป็นผู้นำของงานวิจัยด้าน Neuropsychiatric Genetics    ที่ผมดีใจมาก คือ มีการทำงานเป็นเครือข่ายกันทั่วประเทศ และเชื่อมโยงร่วมมือกับต่างประเทศแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กันด้วย    ขอย้ำคำว่าร่วมมือแบบเคียงบ่าเคียงใหล่หรือเท่าเทียมกันนะครับ   นี่ก็เหมือนกัน ที่ผมมองเห็นโอกาสในการจัดการงานวิจัยของประเทศ ที่จะเข้าไปสนับสนุนเชิงการจัดการให้เกิด synergy ทางวิชาการ
          ผมตื่นตาตื่นใจ ที่มี “นักวิจัยปราบแมลงวัน” ที่คณะแพทยศาสตร์ มช. ครับ   ได้แก่ รศ. ดร. นพ. คม สุคนธสรรพ์  ภาควิชาปรสิตวิทยา    ผมยิ่งชอบใจที่ท่านจะวิจัยใช้วิธีปราบแบบไม่ฆ่า    ผมปิ๊งขึ้นมาว่า โครงการวิจัย/โจทย์วิจัยที่ดีที่สำคัญอยู่รอบๆ ตัวเรา หรือใกล้ชิดกับตัวเรานั่นเอง    อยู่ที่ว่าเรามี “ตาใน” ที่คมเพียงพอที่จะเห็นมันหรือไม่  
          ผมได้ความรู้ใหม่เรื่อง โรคเท้าช้าง จากข้อเสนอโครงการของ รศ. ดร. พญ. สุรางค์ นุชประยูร  ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ    ว่าการเกิด “เท้าช้าง” เกิดจากกลไกที่ซับซ้อนมาก และยังมีความรู้ไม่เพียงพอ   ความรู้เพิ่มที่น่าตื่นตาตื่นใจคือการค้นพบ แบคทีเรีย โวลบาเกีย (Wolbachia) ที่อยู่ภายในตัวพยาธิโรคเท้าช้างอีกทีหนึ่ง    แบคทีเรียตัวนี้มีส่วนร่วมทำให้เกิด “เท้าช้าง” แค่ไหน เป็นประเด็นวิจัยที่น่าสนใจมาก    ผมปิ๊งแว้บว่า ที่จริงแล้วธรรมชาติมีความซับซ้อนมาก    เรามักตกหลุมความรู้    พอรู้อะไรเข้าหน่อย ก็คิดว่า “รู้แล้ว”    ไม่ได้ตั้งคำถามว่าเรายังมีส่วนที่ไม่รู้ซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง    พูดใหม่ในภาษา KM ว่า เราไม่ได้เอาใจใส่คิดถึงประเด็นที่เรา “ไม่รู้ว่าเราไม่รู้”    ทำให้พลาดโจทย์วิจัยดีๆ ไปมากมาย    การฝึกฝนนักวิจัยส่วนที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่ประเด็น “ทำส่วนที่ไม่รู้ให้เด่นชัด”
          นพ. ธีรพงษ์ กระแจะจันทร์  ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี  เป็นอีกท่านหนึ่งที่ให้ความรู้ใหม่แก่ผม   ในเรื่องโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ชนิดหนึ่ง ชื่อ Pythiosis  http://www.cueid.org/content/view/924/71   เป็นโรคจากสัตว์สู่คนอีกชนิดหนึ่ง   

          ผมมีความสุขที่ได้เห็น อ. นพ. นรัตถพล เจริญพันธุ์  ภาควิชาสรีรวิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  มม. เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่จับทำงานวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับกระดูกและ  แคลเซี่ยมอย่างจริงจัง    มีผลงานในระดับ impact factor สูง   งานวิจัยด้านนี้ สกว. สมัยผมเป็น ผอ. ให้การสนับสนุน ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน และโดนนักวิชาการคู่แข่ง (ตายไปแล้ว) บอกหมอผู้ใหญ่ไปขอให้ไทยรัฐโจมตี สกว. ว่าใช้เงินสนับสนุนการวิจัยที่ไม่จำเป็น   ผมดีใจที่ผลงานชุดนั้น นำมาสู่การวิจัยต่อเนื่องอีกมากมายจนปัจจุบัน   และเป็นเครื่องเตือนเราว่า อย่าได้ปักใจเชื่อว่าความรู้หรือผลการวิจัยในฝรั่งจะเป็นจริงในคนไทยหรือสังคมไทย 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ มี.ค. ๕๑

           
           
            
                 
                 
         



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท